จิรวิชญ์ ชยวรประภา
เดินตามรอยเท้าพ่อ
แม้ว่าคุณพ่อ ไทฟ้า ชยวรประภา ซึ่งเป็นเหมือนเสาหลักของครอบครัวจากไปอย่างกะทันหัน แต่ทายาทคนที่สองอย่างคุณโจ้ จิรวิชญ์ ก็ต้องพร้อมรับมือกับเหตุการณ์และธุรกิจต่างๆ ในเครือบัดดี้ กรุ๊ป ร่วมกับพี่ชายคนโต (เจนวิทย์ ชยวรประภา) จนวันนี้เขาสามารถสานต่อเจตนารมณ์บนถนนสายธุรกิจที่ผู้เป็นพ่อได้วางรากฐานไว้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
“รู้สึกว่าเร็วกว่าที่คิดไว้ เพราะว่ามันเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งถ้าพูดถึงคุณพ่อ ผมก็จะนึกถึงบรรยากาศต่างๆ ที่ผมได้มีโอกาสนั่งฟังคุณพ่อคุยงาน ฟังว่าเขาขยายร้านเพราะอะไร ทำไมถึงต้องทำอย่างนี้ ณ ตอนนั้นถามว่าเข้าใจไหม อาจจะยังไม่เข้าใจทั้งหมด แต่มันค่อยๆ ซึมซับมาเรื่อยๆ ถือว่าเป็นการเรียนรู้ความคิดของผู้ใหญ่
“มาวันนี้ก็ต้องยอมรับว่าหลังจากท่านเสียไปมุมมองการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไปบ้าง จะคิดทำอะไรต้องรอบคอบขึ้น เราต้องมีผู้นำคนใหม่ และต้องพยายามขับเคลื่อนบริษัทต่อไปเรื่อยๆ โดยมีตัวแทนแต่ละฝ่ายมานั่งคุยกัน เพราะเราก็ไม่ได้รู้ทุกอย่าง แต่ละคนอาจมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราก็ต้องเปิดใจรับฟังมุมมองอื่นด้วย
“เนื่องจากบัดดี้ กรุ๊ป มีธุรกิจใหญ่ 2 อย่าง คือ โรงแรม ซึ่งผมก็จะรับผิดชอบอยู่ และจะดูแลฝ่ายขายกับการตลาดด้วย ส่วนร้านอาหาร ผับ บาร์ พี่ชายของผมก็จะเป็นคนดูแลในส่วนของการบริหารงาน แล้วก็จะมี CEO ของแต่ละบริษัทดูแลอีกทีหนึ่ง ภาพรวมคือจะแบ่งกันดูคนละอย่าง แต่มีอะไรก็จะช่วยกัน แชร์ไอเดียกันเสมอ
“ต้องบอกก่อนเลยว่าสมัยก่อนที่บ้านไม่ได้มีฐานะอะไร ตอนคุณพ่อยังเด็ก ท่านขายกระดาษหอมที่สนามหลวง พอโตมาก็เปลี่ยนมาขายก๋วยเตี๋ยว ขายเทปเพลงซึ่งขายดีมาก เพราะเขามีเทคนิคการขายในแบบของเขา ซึ่งมีการปรับกลยุทธ์ตลอดเวลา ท่านเคยบอกว่า ‘เทคนิคการขายที่ใช้ได้ดีในวันนั้น แต่อีก 10 ปี อาจใช้ไม่ได้แล้ว’ ดังนั้นสนามหลวงจึงสอนให้คุณพ่ออดทน สอนให้ท่านรู้จักลูกล่อลูกชน
“นอกจากนี้คุณพ่อยังเคยทำร้านถ่ายรูป สมัยนั้นยังใช้ฟิล์มถ่าย เวลาจะใช้ก็ต้องมาอัดรูป ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็มีทั้งนักข่าวและชาวต่างชาติ ทำให้คุณพ่อมีเพื่อนเยอะ ท่านเป็นคนสนุกสนาน และมีเพื่อนใหม่ใหม่ๆ ได้ไม่รู้จบ จนหลายคนเรียกคุณพ่อผมว่า ‘มิสเตอร์บัดดี้’ มันจึงเป็นที่มาของชื่อธุรกิจนี้
“ถ้าถามว่าเบื่อไหมเวลาไปไหนมาไหนก็มีแต่คนถามเรื่องคุณพ่อ ผมกลับยิ่งรู้สึกว่าท่านเป็นคนน่ารัก งานศพคุณพ่อพวงหรีดเยอะมาก ทุกคนเดินมาบอกว่าไม่เคยเห็นงานไหนพวงหรีดเยอะขนาดนี้ เพราะท่านมีแต่คนรัก คุณพ่อสอนผมว่าอย่าไปคิดว่าใครเป็นศัตรู ให้คิดว่าทุกคนเป็นเพื่อนกัน ทำธุรกิจช่วยกันได้ก็ช่วยกัน เมื่อไหร่ที่ผูกขาดธุรกิจคนเดียว เมื่อนั้นคุณจะมีแต่ศัตรู เพราะฉะนั้นมีอะไรให้ได้ก็ให้ไปเถอะ ถ้าเราให้แล้วเขาก็จะให้เรากลับมาเอง
“อีกอย่างที่ท่านสอนคือ อย่าเอาเปรียบใคร ใช้ได้กับทุกอย่างแม้กระทั่งเรื่องการบริหารลูกน้อง ถ้าคุณไม่แฟร์ ลูกน้องทำผิดแล้วคุณไม่ว่าหรือลำเอียงเข้าข้าง อย่างนี้ใครจะเชื่อถือคุณ กับลูกค้าก็เช่นเดียวกัน ต้องไม่เอาเปรียบเขา ไม่อย่างนั้นแล้วใครจะอยากกลับมาเป็นลูกค้าของคุณอีก ทำธุรกิจต้องคิดก่อนว่าจะให้อะไรกับลูกค้า อย่าเพิ่งไปมองผลกำไร แต่ให้มองว่าลูกค้าเขาจะได้อะไรจากเรา แล้วกำไรมันก็จะยิ่งมาเอง”
บ้านหลังที่สอง
ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เขาคนนี้เติบโตมาเป็นคนร่าเริง สนุกสนาน เฮฮา แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้และสัมผัสได้ตลอดช่วงเวลาที่ได้พูดคุยกันคือความผูกพันอันยาวนานกับเรื่องราวที่ต่างๆ บนถนนข้าวสาร ถนนยามค่ำคืนที่ไม่เคยหลับใหล
“ผมเติบโตมาบนถนนข้าวสาร ถนนข้าวสารเป็นถนนที่มีเสน่ห์ ผมวิ่งเล่นที่นี่ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เห็นวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าที่ผมเป็นแบบนี้เพราะเกิดบนถนนเส้นนี้หรือเปล่า (หัวเราะ) ผมเป็นคนสนุกสนาน เฮฮา สมัยเรียนเซนต์คาเบรียลโดดเรียนบ่อย มีเพื่อนเยอะตั้งแต่เด็ก มีเพื่อนอยู่หลายโรงเรียนทั้งสวนกุหลาบ เทพศิรินทร์ กรุงเทพคริสเตียน อัสสัมชัญ คุณแม่ผมก็ยังสงสัยว่าไปรู้จักเพื่อนต่างโรงเรียนได้อย่างไรทั้งๆ ที่เรียนอยู่แค่ม.3 ผมมีเพื่อนเยอะเพราะไปลงเรียนพิเศษ ไปเจอที่นั่นแล้วก็ชวนกันโดดเรียน ไปเตะบอล เล่นบาสเก็ตบอล ชวนกันไปผับ บาร์ของที่บ้านบ้าง ผมจบโรงเรียนเซนต์คาเบรียลสำหรับผมสิ่งที่ได้คือ เพื่อนและคอนเน็กชั่น (หัวเราะ) ส่วนความรู้ก็พอมีติดตัวมาบ้าง แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยเราก็บอกตัวเองว่ามีเพื่อนเยอะแล้ว หมดเวลาสนุกแล้ว ต้องตั้งใจเรียนคือมันต้องรู้ลิมิตตัวเอง
“คนเราต้องตั้งเป้าหมายไว้แล้วทำให้ได้ อย่าหลุด แล้วห้ามผัดวันประกันพรุ่ง ไม่อย่างนั้นมันจะยืดไปเรื่อยๆ คิดไว้เลยว่าตื่นเช้ามาจะทำอะไร แล้วผมจะมีกฎของตัวเอง ถึงจะเที่ยวเละเทะอย่างไร แต่ถึงเวลาทำงานต้องรู้ตัวเอง เพื่อนๆ ผมจะรู้ดีว่าต่อให้แฮงก์ขนาดไหนก็ต้องตื่นมาทำงาน เพราะผมถือว่าถ้าเราเข้างานสายแล้วลูกน้องของเราล่ะ ถ้าพวกเขาเห็นผมเละเทะ เขาอาจจะยิ่งเละกว่าอีก เพราะอย่างนั้นเราต้องทำให้เขาเห็นเป็นแบบอย่างที่ดี แล้วเราก็จะได้ความเคารพจากลูกน้องเอง
“ผมจะเป็นคนที่คิดไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านในหลายๆ เรื่อง ซึ่งก็ไม่มีผิด ไม่มีถูก ขึ้นอยู่กับว่าถูกหล่อหลอมมาแบบไหน เห็นผมเป็นคนสบายๆ สนุกสนานอย่างนี้แต่ก็จะมีโลกส่วนตัวสูงเหมือนกัน บางอารมณ์ก็อยากจะอยู่เงียบๆ คนเดียว อยากพักผ่อนก็จะไปนอนอยู่ที่โรงแรมของตัวเอง เอาหนังสือมาอ่าน บางทีเครียดจากงานก็สั่งอะไหล่รถมา แล้วหยิบประแจขึ้นมาขัน ซ่อมรถโบราณก็แฮปปี้แล้ว ซึ่งผมจะใช้เวลาไปอย่างไม่รู้ตัวอยู่กับการซ่อมรถ สะสมรถคลาสสิก อ่านหนังสือและถ่ายรูปได้ทั้งวัน
“สิ่งเหล่านี้อาจพูดได้ว่ามันเป็นชีวิตของผมก็ได้นะ แต่มันเป็นในส่วนของงานอดิเรกเท่านั้น จะไม่คิดเอามาเป็นอาชีพโดยเด็ดขาด ผมมองว่าถ้าเราต้องหาเงินจากงานอดิเรกเมื่อไหร่ ชีวิตมันจะไม่สนุกอีกต่อไป การที่ผมคิดได้อย่างนี้เพราะได้ลองทำมาแล้ว ผมเคยลองเป็นช่างภาพมาบ้าง สิ่งที่ได้คือมันก็ไม่สนุกเหมือนเคย ดังนั้นเราต้องมองหาว่าอาชีพของเราคืออะไร แยกจากกันให้ออกแล้วเราก็จะยังคงมีความสุขกับอีกพาร์ทนึงของเราได้ (หัวเราะ) ผมคิดอย่างนี้นะ”
หน้าที่ที่ต้องแบกรับ
การก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทที่คุณพ่อสร้างมากับมืออันมีมูลค่ามากมายมหาศาล ต้องยอมรับว่างานและภาระหน้าที่ที่เขาคนนี้ต้องแบกรับไว้เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลยสำหรับชายหนุ่มที่มีอายุเพียงยี่สิบกว่าๆ
“ผมคิดว่าคุณพ่อท่านเป็นคนมีวิสัยทัศน์ อย่างที่ผมซ่อมรถเองได้ทั้งคัน ก็เพราะตอนม.3 ผมอยากขับรถ คุณพ่อเลยให้รถ BMW E30 มา แต่เครื่องพัง ท่านบอกว่าถ้าอยากขับก็เอาไปซ่อมเอง ผมก็ต้องหาทางให้ได้ จนโดนอู่หลอกเข้าให้ พอขับได้สักพักก็เสียอีก จึงเริ่มหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตศึกษาจนรู้ว่าชิ้นส่วนไหนเรียกอะไร ต้องซ่อมที่ไหน ไปนั่งเฝ้าทั้งวันจนสนิทกับที่อู่ มีเวลาก็ไปใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่ที่นั่นจนสามารถประกอบรถเองได้หมด แม้กว่าจะซ่อมเป็นมันใช้เวลาพอสมควร โดนอู่หลอกบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะนั่นถือว่าเป็นประสบการณ์ นี่คือวิธีสอนของคุณพ่อ คือไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ คุณต้องลงมือทำด้วยตัวเอง
“อย่างช่วงที่ผมเข้ามาทำงานในบัดดี้ กรุ๊ป ตอนแรกก็ไปดูโปรเจ็กต์หนึ่ง คุณพ่อให้ไปคิดรายละเอียดมา พอคิดเสร็จก็เอาให้ท่านดู ท่านก็บอกว่าไม่ได้เรื่อง ทำธุรกิจต้องคิดให้มากกว่านี้ การทำธุรกิจมันมีแค่ Success กับ Fail ถ้าคุณคิดมากกว่าคนอื่นเปอร์เซ็นล้มเหลวก็จะน้อยลง แต่ถ้าคุณคิดน้อยกว่าคนอื่น โอกาส Fail ก็มากขึ้น หลังจากนั้นคุณพ่อก็ค่อยๆ ให้โจทย์มาเรื่อยๆ ให้ลองทำเหมือนเป็นสนามซ้อมก่อนลงสนามจริง
“หลังจากพ่อไม่อยู่แล้ว โปรเจ็กต์ทั้งหมดเราก็ต้องคิดเอง ทำเอง แต่ก็ยังอาศัยวิธีคิดของท่านอยู่ บางมุมมองอาจไม่เหมือนกันแต่ก็พยายามเอาสิ่งที่ดีมาใช้ บางอย่างจะรู้อยู่แล้วว่าอะไรคือจุดแข็ง ก็จะดึงตรงนั้นออกมา อะไรที่เป็นจุดอ่อนก็จะพยายามปิดเอาไว้
“พ่อผมบอกเสมอว่าการทำธุรกิจ ตำแหน่งสามารถให้กันได้ แต่บารมีต้องสร้างเอง เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถซื้อหรือมอบให้กันได้ บารมีจะได้มาก็ต่อเมื่อลูกน้องเขาเคารพคุณ ซึ่งก็ต้องมาดูว่าทำอย่างไรลูกน้องถึงจะรักและเต็มใจที่จะทำงานให้ ถ้าคนทำงานจะรู้ว่าผมเป็นคนใจดีมาก แต่ถ้าทำผิด ผมก็จะบอกว่าผิด ผิดน้อยผิดมากก็ว่าผิด ฉะนั้นเราก็ต้องแฟร์ แล้วลูกน้องก็จะรัก เคารพคุณเอง
“นอกนั้นก็เป็นเรื่องของน้ำใจ อย่าไปหวังว่าเขาจะให้อะไรคุณ ถ้าคุณไม่ให้อะไรเขาก่อน ผมว่าการให้มันไม่เสียอะไรเลย การยกมือไหว้ สวัสดีก็เหมือนกัน มันไม่มีต้นทุนอะไรเลย มีแต่คนจะรักและเอ็นดู ผมจึงไม่ชอบที่จะรับจากใครและชอบที่จะเป็นผู้ให้มากกว่า
“ผมว่าการทำธุรกิจมันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป วิ่งไปสักพักอาจเจอหลุม พอผ่านไปช่วงหนึ่งอาจมีจังหวะให้เร่งสปีดได้ คุณก็ต้องกอบโกยตรงนั้นให้ได้มากที่สุด อย่างธุรกิจ ของผมเป็นธุรกิจโรงแรมกับเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ตั้งแต่ที่มีการ ชุมนุมมันก็ส่งผลกระทบเหมือนกัน เมื่อคนเครียดจากการเสพสื่อการเมืองก็จะลดการใช้บริการพวกนี้ลง แล้วก็จะยิ่งเสพข่าวมากขึ้น ผมแนะว่าให้ปล่อยวาง อย่าไปคิดถึงมัน ในช่วงนี้ที่ลูกค้าน้อย ผมก็จะไปพักผ่อน แต่เมื่อไหร่ที่ลูกค้าเยอะๆ ผมก็จะเดินหน้าเต็มที่ เรื่องพวกนี้มันเป็น Business Cycle ซึ่งมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีขึ้นก็ต้องมีลง อย่าไปมองว่ามันเป็นวิกฤติ แต่ให้เตรียมพร้อมรับมือกับมัน เช่น บริหารต้นทุนให้ดี ปรับโครงสร้าง แล้วก็ภาวนาให้มันผ่านไปไวๆ เท่านั้น”
เคล็ดลับกับธุรกิจครอบครัว
เคยมีคนบอกว่าการทำธุรกิจแบบครอบครัว หรือ Family Business ถ้าวางระบบไม่ดี ส่วนมากมักจะอยู่ได้ไม่เกิน 4 เจนเนอเรชั่น ซึ่งคุณโจ้ จิรวิชญ์ ในฐานะตัวแทนของคนรุ่นใหม่จะมาบอกเล่าเคล็ดลับในการรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว ที่ยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนให้ MiX MAGAZINE ได้อ่านกันแบบเอ็กซ์คลูซีฟ
“การทำธุรกิจครอบครัวที่บางคนอาจเรียกว่า ‘กงสี’ สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ Family Business อยู่ได้ต่อไปเรื่อยๆ ก็คือ ‘ธรรมนูญครอบครัว’ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่บอกว่าอะไรในครอบครัวทำได้และอะไรที่ครอบครัวไม่ควรทำ ถ้าทุกคนรับได้ ตกลงคิดเห็นตรงกัน ก็ให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและช่วยกันผลักดันให้มันดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ
“ส่วนมากการทำธุรกิจครอบครัว ลูกๆ มักจะทะเลาะกัน เพราะธรรมนูญครอบครัวไม่ชัดเจน บางครอบครัวมีปัญหาพี่น้องฆ่าแย่งสมบัติกัน เพราะพี่ไม่แบ่งปันให้น้อง ดังนั้นการมีธรรมนูญครอบครัวที่แข็งแรงมากพอจะช่วยรักษาธุรกิจให้ Survive ได้ นี่เป็นเคล็ดลับที่ผมอยากจะบอก
“ในฐานะที่ผมเป็นเจนเนอเรชั่นที่สองที่ต้องเข้ามาสานต่อธุรกิจของคุณพ่อ ผมเชื่อว่าคนเจนเนอเรชั่นอื่นที่ต้องเข้ามารับช่วงต่อก็คงมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือเหมือนกัน เพราะมุมมองของคนแต่ละรุ่นก็ไม่เหมือนกัน คนรุ่นพ่อเขาเป็นคนสร้างมากับมือ ซึ่งก็ต้องหวงมากเป็นธรรมดา คนทำรุ่นที่สองหรือรุ่นต่อๆ ไปจึงมีหน้าที่ต้องรักษาและพิสูจน์ความสามารถให้ได้ ต้องมีเหตุผลและตรรกะ จะทำอะไรใหม่ๆ ก็ต้องเตรียมข้อมูลเตรียมทุกอย่างให้พร้อม ซึ่งบางครั้งก็เกิดแรงเสียดทานภายในองค์กรขึ้น
“สิ่งที่เราต้องทำคือพิสูจน์ตัวเองว่า สิ่งที่เรานำมาใช้ในการตัดสินใจมาจากวิธีที่เราคิดที่เป็นเหตุเป็นผล บางครั้งเขาอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ซึ่งเขาก็จะคอมเม้นต์กลับมา หลังจากนั้นเราก็ต้องกลับมาคิดดูว่าสิ่งที่เราทำเป็นอย่างที่เขาพูดจริงหรือเปล่า ต้องกลับมาปรับวิธีคิดใหม่หรือไม่ เราสามารถลดแรงเสียดทานเหล่านี้ได้โดยการชักจูงให้เขาเห็นด้วยกับข้อมูลที่เรามีอยู่”
ณ วันนี้ที่หลายคนจับตามองกับก้าวต่อไปของ บัดดี้ กรุ๊ป แน่นอนว่าผู้บริหารหนุ่มไฟแรงอย่างเขา ย่อมสามารถพาเรือลำใหญ่นี้ออกเดินทางไปยังจุดหมายใหม่ๆ ได้อย่างไม่ยากนัก และส่วนคนข้างกายที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งร่วมเป็นแรงผลักดันในทุกๆ ก้าว ของเขานั้น แม้ในวันนี้เขาจะยังสนุกกับงานและยังไม่รีบร้อน แต่เขาก็ยังเชื่อว่าคงจะเจอคนที่ใช่ในสักวัน
“การทำงานอย่างผม ต้องพบเจอผู้คนมากมาย ทำงานไม่เป็นเวลา คนที่จะมาอยู่ข้างๆ ผมต้องเข้าใจและเชื่อใจกันพอสมควรนะ ความสัมพันธ์มันถึงจะดำเนินไปได้ในระยะยาว ซึ่งตอนนี้ผมก็ยังอยากลุยเรื่องงานก่อน ยังมีความคิดที่จะสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ยังมองเรื่องการพัฒนาขยายธุรกิจต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสานต่อในสิ่งที่คุณพ่อได้วากรากฐานเอาไว้ อิฐก้อนต่อไปผมจะค่อยๆ สร้างมันขึ้นมา ... ไม่ให้ท่านผิดหวังแน่นอนครับ”