ชาญฉลาด กาญจนวงศ์
ไม่เพียงคาร์แร็กเตอร์ภายนอกที่ชัดเจน มุมมองความคิดของหนุ่มคนนี้ก็เป็นเช่นนั้น ความเป็นคนชอบตั้งคำถามกับทุกอย่างรอบตัวมาแต่ไหนแต่ไร ทำให้เหตุและผลดูจะมีอิทธิพลสำหรับตัวเขา การตัดสินใจทำอะไรสักอย่างจึงต้องอาศัยเวลาในการค้นข้อมูล เพื่อก่อให้เกิดเป็นรูปธรรมที่แข็งแรง
ก่อนหน้านี้เขามีแผนจะขยายสาขาโรงเรียนสอนศิลปะ Arthouse Institute ที่ตัวเองก่อตั้งขึ้นตามโมเดลธุรกิจแบบเดิมๆ กระทั่งเมื่ออ่านหนังสือของคุณโชค บูลกุล เล่มหนึ่งที่ว่า เวลาจะขยายธุรกิจ มีหลักการขยายได้หลายวิธี เช่น ถ้าไม่ขยายจากภายนอก ก็สามารถขยายจากภายในได้ดูตัวเราว่ามีวัตถุดิบอะไร ที่สามารถต่อยอดต่อไปได้ นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของ Grey Ray Stationery แบรนด์เครื่องเขียนสัญชาติไทยที่ดูเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยประโยชน์ใช้สอยในแบบของตัวเอง
“ปรัชญาของ Grey Ray คือทำเรื่องที่ง่ายจนคนอื่นคิดไม่ถึง มีคนถามว่าทำไปทำไม เวลาครึ่งปีที่หมดไปกับการคิดและปรับปรุงโปรดักส์แต่ละตัว รีเสิร์ชกันไม่รู้กี่รอบ พัฒนาแม่พิมพ์กว่าจะฉีดขึ้นรูปได้ เลยรู้สึกว่าตัวเองเป็นพวก Serious Nonsense ซึ่งเจอคนแบบนี้ เยอะในกลุ่มวัฒนธรรมย่อย (Sub Culture) ทั้งหลาย”
เขาเล่าว่าชื่อของ Grey Ray มาจากตัวตนของเขา คนเกเรมันไม่ได้ไม่ดีและไม่ได้เลว มันกลางๆ ไม่ขาวไม่ดำซึ่งตรงกับความหมายของคำว่าสีเทา (Grey) คนเกเรอาจจะดูเป็นคนหัวแข็งไม่ยอมเชื่อฟังใครง่ายๆ แต่จริงๆ คนประเภทนี้ชอบตั้งคำถามกับชีวิต และต้องได้ลองทำมันจนเจอเหตุผลที่จะทำให้เชื่อได้แบบสนิทใจและจะทำแบบทุ่มสุดตัว
ชื่อแบรนด์เลยมีบุคลิกเป็นผู้ชายแบบนี้ หรือจะเรียกรวมๆ ประมาณว่าเป็นแบรนด์ของ ‘คนเกเร’ ก็ไม่ผิด
เมื่อถามว่า ชื่อแบรนด์และฟังก์ชั่นของโปรดักส์ดูจะแตกต่างกันสิ้นเชิง เขากลับมองว่า โปรดักส์ที่ปล่อยออกมาแต่ละตัว มันไปเกเรกับวิธีคิดและเปลี่ยนมุมมองคนทั้งหมด เช่น เมื่อตั้งคำถามกับดินสอของเราว่า ในเมื่อไม่มีใครได้ใช้ไส้ที่เหลือ 2 ซม. นั้น แล้วโรงงานผลิตออกมาทำไม ทั้งที่ไส้ดินสอคือกราไฟท์ที่มีประโยชน์กับอุตสาหกรรมใหญ่อีกมากมาย เขาก็ไปเกเรกับระบบการผลิตใหม่ทั้งหมดจนได้ดินสอที่ไม่มีไส้ที่ปลายดินสอนั้นจนสำเร็จ แถมยังจับถนัดมือ แม้ดินสอจะใช้งานมาจนสั้นเหลือเพียง 2 ซม. ปลอกชิ้นนี้สามารถต่อได้ เพราะด้วยปลอกดินสอที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำมาเพื่อคนชอบใช้ดินสอ และอยากพกติดตัวเหน็บกระเป๋าเสื้อออกไปข้างนอกได้
ที่สำคัญราคานั้นถูกสวนทางกับคำว่า งานดีไซน์โดยชิ้นเชิง นี่คืออีกความตั้งใจที่เขาอยากให้ทุกคนสามารถหามาครอบครองและใช้งานได้เป็นปกติ
“เคยเห็นงานดีไซน์ดีๆ ที่ทำออกมา เช่น เก้าอี้ของดีไซน์เนอร์ชื่อดัง แต่ขายแพงมาก ถามว่าคนชอบไหม แน่นอน ทุกคนชอบ แต่มีกี่คนที่ได้ซื้อไปนั่งที่บ้านจริงๆ เพราะมันแพง ผมไม่ได้บอกวิธีคิดแบบนี้มันผิด แต่ผมไม่อยากเป็นแบบนั้น ต้องทำให้คนได้ใช้สิ ถึงจะบอกได้ว่าดีจริง ไม่ใช่บอกว่าดีเพราะสื่อบอกว่าดีทั้งที่ยังไม่เคยใช้
“ผมอยากทำอะไรออกมาให้ทุกคนได้ใช้ จนรู้สึกเป็นของสามัญ เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน จนวันหนึ่งไม่มีคนรู้ว่าใครเป็นคน ดีไซน์มันออกมา”
วิธีคิดที่แข็งแรงเช่นนี้จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์สามารถยืนได้ด้วยตัวมันเอง และไม่มีทีท่าว่ามันจะหยุดเดินหน้าลงไปง่ายๆ
“เคยเลยลองถามเด็กที่โรงเรียนสอนศิลปะของผมว่าของยี่ห้อนี้ใช้ดีหรือเปล่า (ปลอกดินสอของ Grey Ray) เขาก็บอกว่าใช้ดีมาก ชอบ ผมพูดว่า ถ้าผมเป็นคนทำหละจะเชื่อไหม เด็กหัวเราะกันใหญ่ มองหน้าแล้ว บอกไม่ใช่ มันเป็นของญี่ปุ่น พี่จะทำได้ไง พอเป็นอย่างนี้ผมหัวเราะชอบใจมากเพราะผมไม่เคยบอกใครเลยว่าผมทำ แต่อีกมุมหนึ่งเลยมองได้ว่าแบรนด์มันไปไกลกว่าตัวเราแล้ว มันโตมันมีชีวิตของมันไปแล้ว”
โดยเฉพาะปลอกดินสอ EE Defender Pencil Cap ที่กวาดรางวัลในด้านการออกแบบทั้งในและนอกประเทศมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรางวัล DE Mark (Design Excellence Award) ของกรมส่งเสริมการส่งออก หรือรางวัล G-mark (Good Design Award) จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงตัวเขาเองยังคว้ารางวัล Best Product Designer Of The Year 2013 ของกรมศิลปากรอีกด้วย
ถึงอย่างนั้นรางวัลอันเป็นผลพลอยได้จากความคิดสร้างสรรค์ แทบจะไม่มีผลอะไรต่อตัวเขาเลย เขายอมรับตรงไปตรงมาว่าไม่ได้ตื่นเต้นกับรางวัลเหล่านั้นเท่าไรนัก เพราะมันได้หลังจากโปรดักส์ถูกปล่อยออกมาระยะหนึ่งแล้ว หากจะตื่นเต้นก็คงเป็นในช่วงกระบวนการคิดและพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์มากกว่า
แต่การที่มีคนเห็นในสิ่งที่เขาคิด ยิ่งทำให้มั่นใจในทิศทางที่กำลังมุ่งไป หลังจากใครคนหนึ่งในงานประกวดมาบอกกับเขาว่ากรรมการชาว ญี่ปุ่นพูดถึงโปรดักส์ของ Grey Ray เมื่อวันตัดสินผลงาน DE Mark ว่าโปรดักส์แบบนี้ยังไม่มีใครทำ มันเรียบง่ายและเป็นการทำเพื่อพัฒนาการใช้งานของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้โดยเฉพาะจริงๆ
“ตอนนั้นดีใจมากว่ามีคนเห็นสิ่งที่เราทำ เราไม่ใช่คนบ้าในสายตาคนอื่นอีกต่อไปแล้ว”
น้ำเสียงและสีหน้าท่าทางขณะหล่นประโยคนี้ออกมา ฟังดูชัดเจนราวเพิ่งผ่านมาเมื่อวาน และมันยังคอยกำชับตัวเขามาโดยตลอดว่าชิ้นงานต้องมีมาตรฐานมากขึ้นไปอีก จะไม่ปล่อยอะไรออกมาถ้ายังไม่ตกผลึกจริงๆ
ก่อนที่เขาจะย้ำว่า “Grey Ray ในตอนนี้เป็นเหมือนเด็กที่กำลังโตไปพร้อมกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน เราแค่พยายามเลี้ยงเขาให้ดี เดี๋ยวเขาจะโตเป็นคนดีเอง ผมเชื่ออย่างนั้น”