ประกิต (จิตร) บัวบุศย์

ประกิต (จิตร) บัวบุศย์

ใครที่ไม่ได้เป็นนักแกะรอยที่ดีจะไม่มีโอกาสได้ชื่นชมชีวิตและผลงานข่าวคราวความเคลื่อนไหวของศาสตราจารย์ประกิต (จิตร)บัวบุศย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ.2545 ที่เงียบหายไปนานกว่า 10 ปีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพจิตรกรรมชุดใหม่ที่ผู้คนรุ่นหลังเฝ้ารอคอย จะมีก็แต่ศิลปินแห่งชาติ รุ่นกลางลูกศิษย์ ทั้งอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำอาจารย์กมล ทัศนาญชลี อาจารย์เดชา วราชุน และดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา นายกสมาคมศิษย์เก่าเพาะช่าง ที่เพิ่งจัดงานกิจกรรมวันประกิต (จิตร) บัวบุศย์ ครบรอบ 97 ปี ขึ้น ณ วิทยาลัยเพาะช่าง เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการมุทิตาจิตเสาร์หลักของโรงเรียนเพาะช่างเป็นความตั้งใจของศิลปินอาวุโสที่ได้รับการเรียกขานจากลูกศิษย์ลูกหาที่มีอยู่ทั่วประเทศว่า “ครูจิตร” “อาจารย์จิตร” “อาจารย์ปู่” และเป็นความปรารถนาของคนรักงานศิลปะที่จรรโลงความงามไว้คู่กับโลกอย่างไร้ขอบเขต ผลงานของท่านมีมูลค่ามหาศาลชนิดที่คนไม่ซาบซึ้งแล้วคงไม่เชื่อว่าจะมีราคาสูงปานนั้น ภาพเขียนบางครั้งท่านให้ฟรีๆ แต่ก็หลุดออกไปจำหน่ายในราคาหลายล้านบาทก็มีชีวิตในอดีตแห่งความทรงจำที่ผ่านมาของอาจารย์จิตรนั้นเป็นบุตรของหลวงชาญหัตถกิจ นายช่างใหญ่กรมราชทัณฑ์ ท่านสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่างในปี พ.ศ.2473 แผนกฝึกหัดครูและได้รับเกียรตินิยม Tokyo Academy of Fine Art ด้านจิตรกรรมในปี พ.ศ.2486 และปริญญาเกียรตินิยม ด้านประติมากรรมอีก 2 ปีต่อมา ท่านเป็นครูศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างมาตลอดชีวิต ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ใหญ่ในปี พ.ศ.2499 และได้วางรากฐานมาจากวิทยาลัยชั้นนำของอารยประเทศมาประยุกต์ปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเรื่อยมาจนได้มาตรฐานเป็นแนวทางการเรียนการสอนให้กับนักศึกษารุ่นต่อๆ มาจนถึงปัจจุบันนับได้ว่าทำประโยชน์นับอเนกอนันต์ให้กับสถาบันศิลปะแห่งนี้ได้อย่างมาก

ก่อนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.2514 ท่านจึงได้ถูกขอตัวไปช่วยราชการที่กระทรวงมหาดไทย ดูแลทางด้านการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุของประเทศมากมายเหลือคณานับ อีก 10 ปีให้หลังจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต สาขาวิจิตรศิลป์ ในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านเป็นผู้บุกเบิกสร้างผลงานแนวใหม่ที่เรียกว่าแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism)เข้ามาสู่สยามประเทศ และนำสีน้ำมันมาใช้วาดภาพเป็นคนแรกของประเทศ เพื่อสอนสานุศิษย์ ด้วยการใช้พู่กันตวัดสี เข้ม สว่างตามธรรมชาติการใช้เกรียง กด ป้าย เพ้นท์ติ้ง ให้ดูนุ่มนวล และอีกมากมาย

ผลงานที่ปรากฏมีอยู่หลายชิ้นและมีไม่น้อยที่ถูกระเบิดลงในช่วงสงครามได้รับความเสียหายไปอย่างน่าเสียดาย นอกจากนั้นท่านยังมีความชำนาญในการปั้นและงานทางด้านสถาปัตยกรรม ด้วยการออกแบบควบคุมการก่อสร้างอาคารกลางเพาะช่างและการวิจัยค้นพบแหลมทอง สุวรรณภูมิ ซึ่งถือได้ว่าเป็นอารยธรรมสยามที่เก่าแก่ที่สุดของโลกมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศไทย ท่านกล้าตั้งทฤษฏีขึ้นมาใหม่ด้วยนัยที่ว่า จะต้องเป็นที่สนใจแก่นักวิชาการต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงมาแล้วทั่วโลก แต่นักวิชาการกลับไม่ยอมรับได้แต่ทักถาม ทักท้วงและคัดค้านเพราะไม่มีใครสนับสนุนแนวความคิด เจ้าของทฤษฏีจึงมีภาระที่จะต้องปกป้องทฤษฏีของตนเองคือต้องหาหลักฐานทุกทางเพื่อไว้พิสูจน์ตรงกับความเป็นจริง ไม่ใช่เลื่อนลอย จนกระทั่งปัจจุบัน สังคมเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นแม้ความทรงจำครั้งอดีตของอาจารย์จิตร จะเจือจางแผ่วเบาไปบ้าง ด้วยอายุอานามเกือบ 100 ปีก็ตาม แต่ก็ได้รับการเติมเชื้อฟืนและแต่งแต้มสีสันจากคุณจิตตรา บัวบุศย์ คู่ชีวิตวัย 74 ปี ที่คอยประคับประคองดูแลสารทุกข์สุกดิบ ลำดับเรื่องราวให้สมบูรณ์สำหรับคนรุ่นหลังที่โหยหาใคร่ครวญหวนถึงอดีตอันทรงค่าของศิลปินมือทองสมองเพชร นามระบือท่านนี้ นี่คือบทสัมภาษณ์ที่ทรงคุณค่าที่สุด

ตามรอยอารยธรรมสยาม

“ผมรับรับราชการครั้งแรกที่โรงเรียนเพาะช่าง สอนเกี่ยวกับ อิมเพรสชั่น แลนสเค็ป ประวัติศาสตร์ศิลป์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่ผมต้องการชำระใหม่ เพราะตามธรรมดา เวลาผมไปที่ต่างประเทศ สถาบันของเขาก็ว่าของเขานั้นเก่าแก่ที่สุด แต่ผมก็บอกว่าของเราเก่าแก่ที่สุด เพราะมีประวัติจากจารึกของรัชกาลที่ 4 ที่จารึกไว้ในแผ่นประดับไว้ที่ผนัง ที่จังหวัดนครพนม สมัยแหลมทองสุวรรณภูมิ ผมจึงติดใจเรื่องสุวรรณภูมิ จึงลงไปทำวิจัยศึกษาเพื่อนำมาส่งเสริม

“ศิลปหัตถกรรมที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุดที่ชื่อว่า ‘เซียมมอยด์’ มาจากมนุษย์สมัยแรกเมื่อล้านปีมาแล้ว ซึ่งมาจากคำว่า ‘สยาม’ อันเป็นชื่อเดิมของแผ่นดินนี้ที่สร้างอารยธรรมของตนขึ้นมาก่อนในโลก สยามจึงเป็นศูนย์กลางอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีหลักฐานพิสูจน์ได้จากเครื่องเคลือบดินเผา และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ มีอายุเก่าแก่กว่าของชนิดเดียวกันที่ขุดพบที่ประเทศอื่นๆ ในโลก สุวรรณภูมิคือแผ่นดินทองเป็นของประเทศไทย ที่ผมศึกษาวิจัยมานานตั้งปี พ.ศ.2489-2520 เป็นเวลา 31 ปี นี่เป็นการขัดแย้งกันแล้ว ผมจึงโดนต่อว่าจากฝ่ายตรงข้ามว่าทำไมถึงศึกษาลึกลงไปอย่างนั้น

“จาก ‘เซียมมอยด์’ จึงมาเรียกว่า ‘โปรโตออสตราลอยด์’ ซึ่งมีหลักฐานแน่ชัดว่าได้อพยพเคลื่อนย้ายมาจากแหล่งต้นกำเนิดเดิมที่แอฟริกาตะวันออกในยุคเปลอิสโตซีน และมาตั้งถิ่นฐานแน่ชัดที่แหลมทอง อาณาจักรไทยปัจจุบันประมาณอย่างต่ำ 500,000 ปีมานี้และวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึง 20,000 ปี จึงเปลี่ยนจากวัฒนธรรมล่าสัตว์ จับสัตว์น้ำ มาเป็นวัฒนธรรมเกษตรกร เกิดชาวนาขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งมนุษย์เผ่าพันธุ์โปรโตออสตราลอยด์นี้ ผมให้ชื่อใหม่ว่า ‘เซียมมอยด์’ ตามการแบ่งผิวกาย จนกระทั่งรัชกาลปัจจุบันท่านให้ชื่อสนามบินหนองงูเห่าว่าเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ อันนี้จึงมีคนเริ่มสนใจ และหายสงสัย ไม่อย่างนั้นผมคงถูกต่อว่าต่อไป (หัวเราะ) เพราะจากหลักฐานที่ขุดค้นพบที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็เคยมีข่าวมาแล้วว่าของเราเก่าแก่ที่สุด แต่เขาไม่แน่ใจว่าเก่าแก่จริง จึงต้องใช้เวลาสืบค้นหาหลักฐานที่สูญหายถูกค้นพบที่ภูเขาสูงสุดในอุบลราชธานี เป็นรูปสมเด็จพระแม่เจ้า ยุคหินใหม่ เป็นมนุษย์ถ้ำที่เรียกว่ายุคน้ำแข็งยุคสุดท้าย ผมได้ประสานไปยังกรมศิลปากรแล้ว

“รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระมกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้จารึกไว้ในแผ่นศิลา ท่านเก็บไว้ในแผ่นผนังที่จังหวัดนครพนม ก่อนหน้านั้นเราพบซากไดโนเสาร์สมัยดึกดำบรรพ์ฝังอยู่ในประเทศไทยเหมือนกัน ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีประเทศไทย แต่ผมต้องเชื่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ประกาศออกมาว่าสุวรรณภูมิ ผมจึงภูมิใจ นี่จึงเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญเพราะตอนนี้ผมอายุมากถึง 97 ปีแล้ว แต่ผมก็อยากมีอายุอยู่ให้ถึงแบบ “ปู่เย็น” ที่มีอายุถึง 108 (หัวเราะ) เพื่อจะได้ฟังพวกนักปราชญ์ทั้งหลายทั่วโลก ยอมรับว่าประเทศไทยคือสุวรรณภูมิ เอาแค่นั้นพอ”

หนีภัยสงคราม..เผาเฟรมทำฟืน

เมื่ออาจารย์เรียนจบจากเพาะช่างแล้ว ก็เข้ารับราชการครูสอนวาดเขียนที่นั่นในปี พ.ศ.2473 จนในที่สุดได้เป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้ ต่อมาได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นที่ Tokyo Academy of Fine ด้านจิตรกรรมในระดับปริญญาตรีและศึกษาต่อจนจบหลักสูตรเทียบเท่าปริญญาโท สาขาประติมากรรม

ในช่วงที่เรียนจบการศึกษาที่นั้น พอดีเป็นช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สนามบินปิดกลับประเทศไทยไม่ได้ ต้องผจญภัยอาศัยอยู่แบบอดๆ อยากๆ ในญี่ปุ่นนานถึง 5 ปี อาจารย์ต้องหลบหนีภัยสงครามไปยังเมืองต่างๆ อย่างทุลักทุเล ผลงานที่สร้างขึ้นที่นั่นต้องสูญเสียเพราะถูกทำลายไป บางทีความสูญเสียนั้นก็เกิดขึ้นจากตนเองที่ต้องเลาะเอาไม้เฟรมที่ใช้เขียนรูปมาทำเป็นฟืนเพื่อหุงหาอาหาร

“ผมได้แรงบันดาลใจในการเรียนที่ญี่ปุ่นคือศิลปะแบบแผนประเพณีที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทย แม้แต่ในอเมริกาหรือยุโรปก็ไม่มีผมนำไปเผยแพร่ ผมจะใช้พู่กันและเกรียงในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพราะผมถือว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่เก่าแก่ที่สุด การวาดภาพในประเทศญี่ปุ่นของผมนั้นมีอยู่จำนวนมากมาย ส่วนมากเป็นภาพธรรมชาติ ด้วยเทคนิคเฉพาะตัว ภาพเหล่านั้นถูกนำไปเผยแพร่และเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยที่โอซาก้า เท่าที่จำได้มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่โปรเฟสเซอร์ซื้อไว้ เป็นรูปช่อดอกไม้ บางรูปที่ออกไปจากผมไปแล้วถึงมือใครเขาคนนั้นก็นำไปขายต่อ”

“ช่วงนั้นเป็นช่วงเกิดสงครามโลก ผมยังหนุ่มๆ อยู่ การกินอยู่ที่นั่นเริ่มอดอยาก ต้องเขียนภาพดอกซากุระกำลังออกดอกสะพรั่งท่ามกลางหิมะ เขียนวิวทิวทัศน์ไปเรื่อยๆ ตอนนั้นหิมะตกหนามาก เพราะเข้าหน้าหนาว จึงนำอาหารใส่ปิ่นโตเถาไปกินกับแฟน แต่ไม่มีช้อน ไม่มีน้ำล้างพู่กัน จึงใช้เกรียงเขียนภาพ จิ้มขิงดองป้อนแฟน (ยิ้ม) ใช้เกรียงดีที่สุด ถ้าคิดว่าอยู่บ้านเรา ผมคงได้กินเป็ดย่างแล้ว เวลานั้นสถานการณ์มันบังคับ ต้องสะสมเสบียงในช่วงสงคราม บางคนเขานึกว่าผมหายสาบสูญไปแล้ว

“เราต้องรู้เรื่องของศิลปะของไทย เรามีของดีที่ประเทศอื่นไม่มี แต่ปัจจุบันทำไมศิลปะไทยจึงไม่โด่งดังไปทั่วโลก เรื่องนี้ต้องโทษนักปราชญ์ของเราที่ไม่ไปกระตุ้นทางการให้เผยแพร่ หรือการที่ศิลปินไทยคิดอยากจะไปศึกษาต่อยังต่างประเทศที่เป็นต้นแบบของศิลปะอย่างที่ประเทศอิตาลี ผมคิดว่าเรายังไม่ยอมเชื่อว่าประเทศไทยคืออารยธรรมสูงสุด ก็สุดแท้แต่เขา เพราะนั่นคือศิลปะแบบยุโรป ผมเคยเขียนลงในหนังสือเล่มสุดท้ายไปแล้วคือหนังสือ อารยธรรมสยามศูนย์กลางอารยธรรมของโลก บทสรุปก็คือคนไทยส่วนหนึ่งไม่เชื่ออารยธรรมของตัวเอง แม้แต่คนแก่ๆ อย่างผมนี่ยังมีความเชื่อเพราะผมเรียนรู้มาด้วยตัวเอง ก่อนที่ผมจะจากโลกนี้ไปผมกำลังจะเขียนหนังสือเล่มสุดท้ายชื่อ ‘เรื่องสุวรรณภูมิ’ อาศัยประสบการณ์จากการค้นคว้า ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไร

กระบี่อยู่ที่ใจ

“โดยมากผมมักจะเขียนรูปจากธรรมชาติที่ตาเห็น เริ่มแรกใช้พู่กันก่อน ต่อมาใช้เกรียงขูดภาพระบายสีทับกัน บางภาพระบายนูนให้ภาพออกมานุ่ม คนที่ศึกษาจะดูออกว่าเป็นผลงานของผม ผมเขียนเยอะมาก หากใช้พู่กันต้องล้างให้สะอาดๆ สีถึงจะสดใส มีคนเคยบอกว่าผมเป็นคนแรกของประเทศไทยที่นำเกรียงมาใช้ในการวาดภาพ เขาว่าอย่างนั้น แต่ของต่างประเทศมีมาก่อนแล้วเป็นศิลปินพวกอิมเพรสชั่นนิสม์ แต่ถ้าเป็นที่ 1 ของโลกเขามักจะใช้แปรงสร้างสรรค์ แต่สำหรับผมแล้ว ถ้าไม่ใช้แปรงหรือเกรียงผมก็สามารถใช้ฝ่ามือและนิ้วมือละเลงสี ลงไปบนเฟรมจนเสร็จ ช่วยในการสร้างสรรค์ ทำให้ภาพมันนุ่มนวลอีกด้วย

“มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนนั้นอายุ 86 ปี กมล ทัศนาญชลี ลูกศิษย์ พาไปเขียนรูปที่สวนในแคลิฟอร์เนีย แต่ลืมนำพู่กันกับเกรียงไป ผมก็ใช้มือ บางครั้งก็ใช้แผ่นป้ายพลาสติกที่เขาใช้เขียนอธิบายพันธุ์ไม้ในสวนนั่น ใช้แทนเกรียง ชื่อภาพ ‘ดอกซากุระในสวนฮันติงตัน’ ผมตระเวนเขียนภาพที่อเมริกากับกมล นานกว่า 3 เดือน ได้ผลงานมากว่า 30 ชิ้น นำกลับมาเปิดแสดงที่ประเทศไทย ไปที่อเมริกา 3-4 ครั้งเหมือนไปเติมไฟให้ลุกโชน สำหรับผมกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีความสนิทสนมกัน ท่านจะไม่ใช้เกรียงเขียนภาพเหมือนผม ท่านจะถนัดช่างปั้น ผมนับถือท่านมาก เพราะผมสอนหนังสืออยู่ที่เพาะช่าง อาจารย์ศิลป์สอนอยู่ที่โรงเรียนประณีตศิลป์ศิลปากร ตอนนั้นยังไม่สถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร สมัยนั้นช่างศิลป์ส่วนใหญ่เป็นลูกศิษย์วัดบ้าง เพราะความรู้ด้านต่างๆ ทางศิลปะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก การศึกษายังไม่ค่อยเจริญ เราก็อาศัยวัดเป็นสถาบันการศึกษาเสียส่วนใหญ่ให้การศึกษา อาจจะเรียกว่าสำนักตักศิลาก็ได้ หากเป็นศิลปะแบบอินเตอร์เนชั่นแนลหรือแบบสากลแล้ว เราต้องเป็นหนี้บุญคุณของตะวันตกเหมือนกับทุกๆ ประเทศของตะวันออก

“แม้แต่ประเทศ อิยิปต์ ศิลปะเขาทำให้จิตใจสงบ อารยธรรมของโลกที่เจริญก้าวหน้าทำให้เราทราบที่มา เพราะเมื่อก่อนเราไม่รู้จักพีระมิด แต่ตามความเชื่อของผมคือศิลปะของสัตว์ เขาจะดิ่งไปอีกพวกหนึ่ง ที่เกิดจากความเชื่อ แต่ผมถือว่าผมศึกษามามากจึงมีความเชื่อมั่นอย่างนั้น”

คุณจิตตรา ภรรยากล่าวเพิ่มเติมว่า “ แต่ก่อนอาจารย์จิตร เขียนภาพเสร็จ ภายใน 2 ชั่วโมง เดี๋ยวนี้ประมาณ 1 ปี จึงจะเขียนสัก1 รูป ราคาภาพเคยขายได้สูงสุด 7-8 แสนบาท จนกระทั่งงานสุดท้ายเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา คุณก่อเกียรติ เจ้าของบริษัทโพรพัฒน์ ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ ทราบข่าวว่าอาจารย์จะถูกหลวงฟ้อง เรื่องใช้เงินผิดประเภทสร้างโรงเรียนเพาะช่าง คุณก่อเกียรติท่านมีภาพสะสมของอาจารย์อยู่ 1 ภาพ จึงจัดประมูลเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ให้กับโรงเรียนเพาะช่างการประมูลในครั้งนั้นได้เงินถึง 1 ล้านบาท จึงปลดหนี้ประกาศความเป็นไทแก่ตัวได้ สาเหตุมาจากการที่อาจารย์ไม่เคยตั้งงบประมาณ คิดอยากทำอะไรก็ทำเพื่อประโยชน์กับโรงเรียน จึงกลายเป็นหนี้สิน ซึ่งหลวงก็ช่วยด้วยส่วนหนึ่ง เพราะทราบว่าอาจารย์จิตรไม่ได้โกง

“ผลงานสำคัญนอกเหนือจากวิจิตรศิลป์ อาจารย์จิตรยังมีความชำนาญด้านการปั้น งานสถาปัตยกรรมที่สร้างสรรค์ไว้ในแผ่นดินจำนวนมากได้รางวัลมากมาย ผลงานที่เด่นชัดสร้างชื่อเสียง เท่าที่จำได้มีการออกแบบพานรัฐธรรมนูญที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออกแบบบูรณเจดีย์ยอดบรรพต ภูเขาทอง วัดสระเกศวรวิหาร งานปั้นดินเหนียว พระยาพหลพยุหเสนา อดีตนายกรัฐมนตรี งานปั้นดินเหนียว เจ้าแก้วนรรัตน์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พ.ศ.2476 ออกแบบอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยวิทยาเขตเพาะช่าง ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล จังหวัดนราธิวาส ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระบรมธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย งานปั้นพระพุทธรูปจังหวัดชลบุรี ออกแบบควบคุมการก่อสร้างอาคารกลางเพาะช่าง ทรงไทยประยุกต์ สร้างและปั้นหลวงปู่ทวด โดยไม่เคยเห็นภาพมาก่อน งานประติมากรรมรูปนางเงือกที่แหลมสมิลา จังหวัดสงขลาและอีกมากมาย”

หน้าชื่น...อกตรม

อาจารย์จิตรลำดับเรื่องราวการสร้างสรรค์พานรัฐธรรมนูญที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ว่าไม่ได้เกิดจากอาถรรพณ์อะไร เวลาประชาชนมาเรียกร้องประชาธิปไตย

“การสร้างพานรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ส่งงานมาให้ท่านให้เหตุผลว่าทำให้ไม่ทันเพราะสมัยนั้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่มีแผนกโลหะ หลวงสั่งว่าต้องทำให้เสร็จภายใน 90 วัน จะต้องทำให้ได้ ตอนนั้นเข้าหน้าฝน พิมพ์ก็ไม่แห้ง เราก็เอาพิมพ์ออกมาไม่ได้ อากาศมันชื้น ใครก็ไม่กล้ารับงานในสมัยโน้น เพราะแบบที่ทำไว้มันไม่แห้ง จึงเททองลงไปไม่ได้ ทีนี้ผมดันไปรับปากว่าจะทำ มันเหมือนการถูกบังคับ (หัวเราะ) เมื่อไม่มีใครทำแล้ว เขาก็มาจี้ผมให้ทำให้เสร็จเร็วๆ ที่เพาะช่าง ตอนนั้นผมยังหนุ่มๆ อยู่ยังมีไฟ จำได้ว่าสมัยนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านให้ค่าจ้างรับงานสมัยนั้นงบประมาณไม่ถึง 3 แสนบาท ผมทำให้หลวง เสร็จแล้วยังเป็นหนี้เขาอีก (หัวเราะ) เพราะระหว่างที่ทำงานก็นำเงินไปใช้จ่าย มากินอยู่ จ้างช่าง ตอนนั้นผมไม่เคยคิดถึงเรื่องเงินเลย อยากให้งานเสร็จ

“ต่อมาผมได้ทำการออกแบบก่อสร้างอาคารเพาะช่าง ช่างมาขอเงินซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ผมก็ออกเช็คล่วงหน้า ผมจึงเป็นหนี้โรงเรียนเพาะช่างอยู่หลายแสนบาท มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมมีความชื่นใจ เมื่ออาจารย์ศิลป์ไปพูดกับหลวงท่านว่า ‘นายจิตร เขาไม่ได้โกง’เพราะศิลปินด้วยกัน เขาจะรู้ว่าเราทำแต่งานให้แล้วเสร็จเพื่อต้องการชื่อเสียง ไม่ได้ต้องการเงิน อีกอย่างช่วงนั้น มักมีคนทักว่าชื่อเดิมมันไม่ค่อยดี มีแต่เรื่อง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ประกิต’ แต่เสียดายชื่อเดิมจึงวงเล็บ ‘จิตร’ ไว้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“การสร้างสรรค์งานศิลปะที่เรียกว่า Artistic คือการสร้างสรรค์งานขึ้นของมนุษย์ มีความงามจรรโลง สร้างสรรค์ให้เกิดความสุนทรียะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแบบ Abstract ที่สวัสดิ์ ตันติสุข ลูกศิษย์ผมที่เพาะช่างอีกคนหนึ่งที่นำเข้ามาสอนในบ้านเราหรือพวกเพลง งานวรรณกรรมล้วนแต่เป็นเรื่องของความงาม เราจะเห็นว่าศิลปินในปัจจุบันชอบเขียนแนวAbstract ไม่ค่อยเขียนภาพเหมือน นามธรรมก็เป็นนามธรรมอยู่วันยังค่ำ แมททีเรียลหรือ Realistic ที่สัมผัสได้ วัตถุ 2 อันนี้เพื่อการสร้างสรรค์ของมนุษย์ แต่บางครั้งเราต้องท้วงติง บางทีอะไรที่สัมผัสไม่ได้ก็ต้องมานั่งอธิบายถึงบรรยากาศ จะดีหรือไม่ดี ก็ต้องอธิบายความรู้สึกหลักให้ได้ เพราะมันไม่ใช่วัตถุ อันนี้คือ Abstract ดูแล้วมีความรู้สึกนึกคิดมีบรรยากาศ จะสร้างสวรรค์วิมานอะไรก็ได้ ฉะนั้นพวกศิลปินที่มีชื่อเสียงต่างๆ เขาก็อธิบายรูปของเขาเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ไม่นำเอาวัตถุมาอธิบาย มันคนละเรื่องกัน

“สมัยผมเรียนเพาะช่างปี 4 ผมเรียนสีน้ำมันและเริ่มสนใจในการทำงานแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ จึงฝึกฝนด้วยตนเองมาตลอด หลังเลิกเรียนก็ไปเขียนรูปตามแม่น้ำลำคลอง สถานที่ทั่วกรุงเทพฯ โดยมี เฟื้อ หริพิทักษ์ ติดตามไปด้วย อาจารย์จิตร กล่าวถึงอาจารย์เฟื้อซึ่งเป็นเพื่อน”

อย่าคิดว่าพอแล้ว

“นักเรียนศิลปะสมัยปัจจุบันเขาถือความมีประชาธิปไตยของตัวเองเป็นหลัก จะเรียนอะไรก็แล้วแต่มักจะบอกว่าฉันต้องรู้เรื่อง ชีวิตนี้นึกว่าตัวเองดีแล้ว มันก็จบ การทำงานทุกอย่างอย่านึกว่าพอแล้วหรือทำงานเสร็จแล้ว จะบอกว่าดีแล้ว ถ้านึกว่าดีแล้วจะหยุดคิด หยุดพัฒนา จะต้องพัฒนาสร้างสรรค์ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก จนกว่าจะตาย บางคนชอบทำตามใจตัวเองศึกษาไม่ลึกซึ้งและตัวอาจารย์เองก็ศึกษาไม่ลึกซึ้ง เช่นเดียวกัน เพราะคติความคิด เวลาเปลี่ยนไป เขามักจะมองเรื่องเชิงพาณิชย์ เรื่องเงินเป็นหลักกว่าการสร้างสรรค์ผลงานหรือเกียรติยศชื่อเสียง เหมือนกับเป็นศิลปินใหญ่ เขียนอย่างนี้ได้แล้ว ถือว่าขึ้นต้นไม้ถึงสุดยอดเขามักจะคิดอย่างนั้น แต่ของผมไม่คิดอย่างนั้น การขึ้นต้นไม้อาจจะล่วงลงมาได้ กับการขึ้นถึงยอดไม้ ทั้งที่มันยังไม่หมด มันยังมียอดที่สูง ต้นที่สูงต่อไปอีก จึงอย่าทระนง นั่นคือความก้าวหน้า

“อีกอย่างที่อยากจะฝากถึงกระทรวงวัฒนธรรม การพิจารณามอบตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ น่าจะมอบขณะที่เขายังแข็งแรงอยู่ ผมได้รับตำแหน่งนี้เมื่ออายุ 91 ปีแล้ว แล้วจะไปสร้างสรรค์อะไรไหว เขาจะให้พวกศิลปินที่มาจากต่างประเทศมาแวะเยี่ยมบ้านศิลปินแห่งชาติ คือกระทรวงวัฒนธรรมต้องเข้าใจว่าศิลปินแห่งชาติอายุเยอะแล้วจะสอนอะไรได้ สตูดิโอก็ไม่มี ผลงานก็เหลือน้อย ยิ่งตอนนี้ไม่มีเรี่ยวแรงแล้ว”

“ผลงานของผมมีเยอะมากที่ออกไปสู่ตลาด แต่จำไม่ได้แล้วว่ามีใครสะสมไว้บ้าง เพราะรูปของผมราคาไม่แพงมากนัก แค่ 3-4แสนบาท มีหลายชุดที่สร้างสรรค์เอาไว้ เช่น รูปชุดที่ญี่ปุ่นชุดวิวทิวทัศน์ รูปป่าแดงของต้นเมเปิ้ลที่กำลังเปลี่ยนใบเป็นสีเหลืองภาพชุดแวนคูเวอร์ แคนนาดา ภาพชุดฤดูใบไม้ร่วง วนอุทยานแห่งชาติไซออน ยูท่าห์ ภาพเขียนใส่กรอบอยู่ที่บ้านยังมีอีกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ขายเพราะเสียดาย นับว่าโชคดีที่งานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งคือภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบชื่อ ‘Opulent Autumn at Kurobe Gorge’ ที่เขียนเมื่อปี พ.ศ.2485 ซึ่งคุณนิธิ ทรรภดิษ เป็นผู้สะสมไว้และได้กรุณาให้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ยืมติดตั้งแสดงในนิทรรศการถาวรอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจและต้องการศึกษาสามารถเข้าชมได้อีกท่านหนึ่งที่เป็นนักสะสมภาพเขียนของผมโดยเฉพาะ เขาสร้างเป็นมิวเซียม ติดแอร์ให้รูปอยู่เลย คือคุณเยาวนี นิรันดร์ สาวสังคมตระกูลใหญ่นักสะสมภาพ มาเยี่ยมเยียนที่บ้านเป็นประจำ บางครั้งท่านก็พูดติดตลกว่ามาเยี่ยมรูป ไม่ได้มาซื้อรูป (หัวเราะ)เราพูดคุยถูกคอกัน เขารับผมไปทานข้าวบ้างบางครั้งเขาก็นำเหล้าสาเกมาให้ ผมมอบภาพให้ฟรีๆ แต่เขาก็ไม่รับของเราฟรีๆ เขาเขียนเช็คมาให้ 1 ล้าน”

รางวัลสุดท้ายของชีวิตอาจารย์คือความสงบสุขกับวิมานหลังน้อยที่แวดล้อมด้วยลูก หลาน เหลน ท่ามกลางหมู่มวลธรรมชาติ ได้อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ฟังเพลง ดูภาพเขียนของตน ที่ฝากผลงานความสุนทรียะและความงามแด่มวลมนุษยชาติไว้ให้กับโลกเพราะสิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงก็คือการสะสมคุณงามความดีอย่างถ่องแท้แน่นอน

ศิลปินที่ดำรงชีวิตได้ยืนยาวและยังคงสร้างสรรค์ศิลปะ