โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ 48 เข้าสมรภูมิรบ
แต่เดิมการเดินทางเข้ากัมพูชานั้น เราสามารถเดินทางด้วยรถไฟจากอรัญประเทศหรือปอยเปตไปถึงพระตะบองได้ แต่การเดินทางด้วยรถไฟได้เลิกไป เมื่อเกิดภาวะสงครามในประเทศกัมพูชา แต่เราก็ยังสามารถเดินทางเข้าประเทศนี้ได้โดยทางรถยนต์ ระยะทางเพียง 60 กิโลเมตร เพื่อจะให้ถึงพระตะบองนั้น เราจะต้องใช้เวลานานกว่า 10 ชั่วโมง แต่บางที่อาจจะตายเสียก่อนที่จะถึงเมืองนี้ได้
แตกต่างไปจากปัจจุบัน เราสามารถเดินทางไปถึงพระตะบองได้โดยใช้เวลาเดินทางเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นเอง ในเวลาตอนนั้นสงครามทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ไม่มีรถไฟ ถนนหนทางก็เป็นเพียงทางเกวียนหรือทางเดินของวัวควาย ทางที่ชาวบ้านใช้รถยนต์กลายเป็นเพียงต้องค่อย ๆ คลานเพื่อให้พ้นหลุมบ่อและปลักโคลน
ระหว่างสองชั้นทางเข้าก็เป็นทุ่งนาที่ไร่ต้นข้าว ทุกอย่างดูแห้งแล้งราวกับทะเลทราย นาน ๆ จะผ่านบ้านของชาวนาที่ปลูกใต้ถุนสูง คงไว้ป้องกันเวลาน้ำหลากหรือน้ำท่วม บ้านที่รวยหน่อยก็จะมุงหลังคาด้วยสังกะสี ที่ยากจนก็ยังคงมุมด้วยหญ้าแฝก เมืองแรกที่เราเดินทางไปถึงคือ “เมืองมงคลบุรี”
เมืองมงคลบุรีเป็นเมืองเล็ก ๆ มองดูเหมือนอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของบ้านเรา แค่อีกไม่กี่ สิบกิโลฯ เราก็ถึงเมืองใหญ่คือ “ศรีโสภณ” ที่เห็นเป็นสำคัญคือภูเขาใหญ่ทางซ้ายมือก่อนเข้าตัวเมือง ภูเขานี้มีประวัติเล่าว่าในสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพไทยเราเคยโจมตีเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ถือเป็นการรบครั้งใหญ่ นักบินไทยใช้ระเบิดทิ้งใส่เมืองศรีโสภณ ภูเขาที่เราเห็นเป็นฐานรบของทหารฝรั่งเศส ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะมีรายชื่อทหารไทยที่เสียชีวิตในการทำสงครามที่ศรีโสภณนี้ จากเมืองศรีโสภณ เราจะผ่านเมืองเสียมราฐ เมืองที่ฉันตั้งใจจะได้เห็นปราสาทนครวัด เป็นฝันของฉันตั้งแต่เด็ก แต่ตรงทางแยกเข้าเมืองมีด่านทหารตั้งอยู่ เราไม่สามารถเข้าเมือง
เสียมราฐได้
ทหารบอกว่ารอบ ๆ ปราสาทนครวัดและปราสาทนครธมถูกทหารเขมรแดงยึด ทางการไม่สามารถโจมตีได้เพราะเสียหายต่อสิ่งสำคัญอันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา และเป็นสิ่งอัศจรรย์ระดับโลก เราจึงต้องเดินทางต่อไปยังเมืองพระตะบองซึ่งเป็นเมืองใหญ่ เป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจสำคัญเป็นอันดับสองรองจากเมืองพนมเปญซึ่งเป็นเมืองหลวง และที่สำคัญเมืองนี้คือเมืองที่คนไทยตระกูล “อภัยวงศ์” เคยปกครองมาเป็นเวลานับร้อยปี
“สันติ เศวตวิมล”
นักเขียนบรรณาธิการอาวุโส
เจ้าของรางวัลนักเขียนรางวัลนราธิปประพันธ์พงศ์ 2565