A Gem of a Leader แม่ทัพผู้ส่งเสริมอัญมณีไทย สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย

A Gem of a Leader แม่ทัพผู้ส่งเสริมอัญมณีไทย สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย

ย้อนกลับไปในยุคล่าอาณานิคม ฝรั่งเศสได้ทำการยึดพื้นที่ในการปกครองของประเทศไทยเอาไว้ โดยเฉพาะ 2 จังหวัดที่มีคนไทยอยู่จำนวนมากอย่างจันทบุรีและตราด จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2450 (ค.ศ.1907) รัฐบาลไทยกับฝรั่งเศส ได้ตกลงทำสัญญาแบ่งปันดินแดนกันขึ้นใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 50,000 ตารางกิโลเมตรเพื่อแลกกับการถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรีและให้คืนเมืองตราด ซึ่งมีพื้นที่เพียง 2,819 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ของจังหวัดจันทบุรีและตราดกลายเป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากรทางบกและทางน้ำ โดยเฉพาะขุมทรัพย์ใต้ดินอย่างอัญมณีและแร่มีค่าที่สร้างรายได้เข้าประเทศไทยอย่างมหาศาล

โดยในปี พ.ศ.2566 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีมูลค่าถึง 14,636.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ประมาณ 497,653.92 ล้านบาท) ซึ่งหน่วยงานหลักที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนก็คือ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT โดยมีหัวเรือใหญ่ที่ขับเคลื่อนการทำงานคือ ผู้อำนวยการ สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้ที่พยายามผลักดันทุกภาพส่วนให้อัญมณีและเครื่องประดับไทยให้ก้าวขึ้นไปสู่ระดับโลก

ถ้าพูดถึงเรื่องของอัญมณีโดยเฉพาะพลอยสีประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาและฮ่องกงเท่านั้นถ้าไปดูตัวเลขการส่งออกพลอยสีจะเห็นว่าเราสร้างมูลค่าการส่งออกอันดับต้น ๆ ของประเทศมาโดยตลอด แต่ถ้าภาพรวมเรื่องอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เราน่าจะอยู่อันดับ 10-14 ของโลกครับ”

GIT มุ่งสู่เป้าหมายศูนย์กลางอัญมณีโลกด้วยมาตรฐานสากล

 “พันธกิจหน้าที่หลักของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT คือ ส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีเครื่องประดับ เรามีห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและโลหะมีค่าแห่งชาติ เป็นสถาบันฝึกอบรมสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องของอัญมณี เรามีหลักสูตรที่พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการมในทุกมิติ อาทิ หลักสูตรนักอัญมณีศาสตร์ หลักสูตรการออกแบบ หลักสูตรการตลาด และเรายังมีศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้มาศึกษาเรื่องราวของอัญมณีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งขอบข่ายในการทำงานของเรากว้างมากเรียกว่าครอบคลุมทุกอย่างเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับไทยครับ

“GIT ตั้งอยู่อาคาร ITF ชั้น 1 เป็นห้องสมุดเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับ ชั้น 2 เป็นพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ ชั้น 3 เป็นสถาบันฝึกอบรม เรามีเครื่องมือการตรวจสอบ ตัวอย่างอัญมณีและอุปกรณ์ในการเรียนการสอนครบครัน ชั้น 4 เป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและโลหะมีค่าและส่วนงานวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนชั้น 6 เป็นที่ทํางานของฝ่ายบริหารครับ

 “เมื่อปี พ.ศ.2561 มีมติ ครม.ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีโลก แต่การเป็นศูนย์กลางประเทศไทยยังขาดหลายอย่างเช่นห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ GIT จึงได้สร้างมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย  ตั้งแต่เรื่องของห้องปฏิบัติการตรวจสอบ รวมถึงมาตรฐานการตรวจสอบอัญมณี เราเป็นสถาบันระดับสากล และยังได้การรับรองมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่งเป็นองค์กรส่วนกลางที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการโดยปกติภาคเอกชนบางราย ที่ค้าขายพลอยเขาจะออกใบเซอร์เองเพื่อรับรองอัญมณีของทางร้านเองซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ถูกต้องครบถ้วนได้ GIT จึงเป็นสถาบันกลางมาช่วยในส่วนของมาตรฐานกลางด้านการตรวจสอบ

ยกตัวอย่างทับทิมที่ดีต้องมี “สีเลือดนกพิราบ” (Pigeon Blood) และมีความสะอาด มีมลทินน้อยมากแทบจะมองไม่เห็น และไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งหากเป็นตามที่กล่าวมา ถือว่าทับทิบเม็ดนี้ เป็นของธรรมชาติ (Rare item) หาได้ยากมาก ดังนั้นราคาก็จะสูงมากเช่นเดียวกัน แต่ถ้าทับทิมที่มีสีไม่แดงสด หรือสีผิดไปจากมาตรฐานเดิมนิดเดียวจะบอกว่าจากราคาหลักล้านอาจเหลือหลักหมื่นก็เป็นไปได้ เพื่อเป็นการพิสูจน์ความแตกต่างนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดทำ GIT Standard ซึ่งสถาบันเราจะใช้เป็นมาตรฐานกลาง มาตรฐานเดียวกันในการตรวจสอบ ซึ่งทำให้สามารถเชื่อมั่นได้ว่า ทับทิม ที่นำมาตรวจสอบนั้น มีคุณภาพ หรือมาตรฐาน ตรงตามที่ระบุไว้ใน GIT Identification Report

 ไข่มุกแห่งภาคตะวันออก

“แร่ธรรมชาติส่วนใหญ่เราจะเรียกโดยรวมทั้งหมดว่าเป็นอัญมณีเช่น เพชร พลอย อำพัน หรือ ปะการังมุก พวกนี้ถือเป็นอัญมณีหมดนะครับเพชรก็คือแร่ธาตุชนิดหนึ่ง อัญมณีแยกได้เป็น 2 ประเภทเป็นคือ 1 พลอยเนื้อแข็ง (Precious Stone) เช่นทับพิม ไพลิน บุษราคัม มรกต กับ 2 พลอยเนื้ออ่อน (Semi-Precious Stone) เช่นหยก ทัวร์มารีน โกเมน

“ ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรีมีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องอัญมณีเนื่องจากเป็นเมืองที่มีสายแร่อัญมณี รวมถึงจังหวัดตราดแถวตำบลบ่อไร่ บ่อพลอย และบางกะจะ ซึ่งในอดีตก็เป็นแหล่งกำเนิดพลอยแหล่งใหญ่ที่เคยมีการขุดค้นพบเช่นกัน

ในอดีต “ทับทิมสยาม” นับได้ว่าสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และจังหวัดจันทบุรี ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นพลอยที่หาได้ยากมาก ทับทิมสยามจะมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง โดยทับทิมที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันจะเป็นสีแดงเลือดนกพิราบซึ่งเป็นสีแดงสด แต่ทับทิมสยามมีสีออกแดงทอง ซึ่งเกิดจากธาตุองค์ประกอบภายในและแหล่งกำเนิดที่หาได้เฉพาะในแหล่งจันทบุรีและตราดเท่านั้น

“นอกจากจังหวัดจันทบุรีจะมีการทำเหมืองแร่อัญมณีแล้ว ยังมีชื่อเสียงมากในเรื่องของภูมิปัญญาในการปรับปรุงคุณภาพพลอย โดยการเผาพลอย หรือหุงพลอย และฝีมือการเจียระไน ซึ่งพลอยดิบที่นำเข้ามาบางครั้งมีสีที่ยังไม่สวยงาม ไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็จะมีการปรับปรุงคุณภาพด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ ให้ได้สีดีขึ้น พวกนี้เป็นภูมิปัญญาจากช่างฝีมือในจันทบุรี ซึ่งเป็นรายแรก ๆ ในโลกที่สามารถปรับปรุงสีพลอยจากธรรมชาติให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นตลาดอัญมณีที่สำคัญของประเทศ เรียกได้ว่าจันทบุรีเป็นนครแห่งอัญมณีแห่งหนึ่งของโลก

“นอกจากนี้ ทางสถาบัน GIT ยังดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและแหล่งการค้าในจังหวัดตราดด้วย โดยมีโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ การพัฒนาด้านการออกแบบและการตลาด รวมทั้งการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อัญมณีที่จังหวัดตราด แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้คนทําพลอยในตราดมีจำนวนลดลงและมีการย้ายการค้าการลงทุนมาที่จันทบุรี โดยเฉพาะวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ที่ตลาดพลอยจันทุบรี จะสังเกตได้ว่าจะมีผู้ประกอบการ ผู้ซื้อมาเลือกซื้ออัญมณีกับเยอะมากโดยเฉพาะคนต่างชาติ”

ภูมิปัญญาไทยสู่สากล

 “พลอยที่เราเห็นว่าสวยงามมีการส่งออกนำเงินเข้าประเทศ ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณภูมิปัญญาในการทำพลอยของชาวจันทบุรีและตราด เพราะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านคิดค้นแล้วสืบต่อกันมา ซึ่งต่างชาติก็พยายามเข้ามาเรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ ของเรา อย่างเช่นการเผาพลอยมีเรื่องเล่าว่าเกิดจากอุบัติเหตุที่ตลาดพลอยเมืองจันท์นี่แหละ คือเกิดไฟไหม้ในตลาดค้าพลอย พอหลังจากไฟสงบลงเจ้าของบ้านก็เข้าไปดูทรัพย์สินของตัวเองซึ่งเก็บอยู่ในตู้เซฟ พอเปิดออกมาปรากฏว่าพลอยที่อยู่ข้างในเมื่อผ่านความร้อนกลับสวยขึ้น หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการศึกษาค้นคว้าพัฒนากระบวนการต่าง ๆ จนสามารถผลิตพลอยที่สวยงามออกสู่ต่างประเทศได้

“ในบางประเทศเขามีพลอย ไพลินจํานวนมากตอนนี้ก็เริ่มทำการฝึกเผาแต่คุณภาพของการเผาของเขายังสู้ประเทศไทยไม่ได้ บางครั้งเผาแล้วยังต้องส่งมาปรับปรุงคุณภาพที่ไทยก็มี เนื่องจากเรามีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นภูมิปัญญาที่ไม่มีใครยอมถ่ายทอดนะครับ เป็นเอกลักษณ์ความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล จะถ่ายทอดกันเฉพาะในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น ต่างจากการเจียระไนที่สถาบัน GIT ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง และได้ร่วมบูรณาการจัดหลักสูตรการเจียระไนเพื่อให้คนเข้ามาฝึกฝนครับ

“เนื่องจากตอนนี้อุตสาหกรรมอัญมณีได้ประสบปัญหาอย่างหนึ่งคือ ช่างเจียระไนพลอยที่เหลืออยู่ล้วนแต่อายุมาก GIT เราก็เข้าไปคุยและบูรณาการร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อหาวิธีการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่อยากเข้ามาทำในสายงานนี้เพิ่มมากขึ้นซึ่งรายได้ต่อเดือนสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ นะครับขึ้นอยู่กับฝีมือของน้องๆ เองด้วย จึงอยากจะเชิญชวนให้เข้ามาทำงานในสายนี้กันเยอะ ๆ และยังเป็นงานที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานหรือจินตนาการในการพัฒนาทักษะการเจียรไนได้อีกด้วย”

CEO ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา

 “วัยเด็กของผมเกิดและใช้ชีวิตย่านตรอกจันทร์ ในสมัยนั้นเรียกว่าสะพาน 5 ใกล้เหรียญทองกิมไป๊ ไม่นานก็ย้ายมาอยู่ย่านวัดไผ่เงินแถวสะพาน 2 ผมเข้าเรียนระดับประถมที่โรงเรียนชาญสิรินุสรณ์ เรียนจนจบ ป. 7 เข้าเรียนมัธยมระดับ มศ. 5 ที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม และมาจบปริญญาตรีด้านการตลาด

“ผมทำงานหนักตั้งแต่เด็ก ๆ ต้องช่วยคุณแม่ในฐานะพี่ชายคนโตซึ่งมีพี่น้องรวม 5 คน เริ่มทำงานหลังจากคุณพ่อเสียชีวิต ตอนผมอยู่มัธยมปลายจึงทำงานและเรียนไปพร้อม ๆ กัน น้อง ๆ ก็เช่นกันในวัยนั้น ๆ

“ผมเรียนจบปริญญาตรีใช้เวลา 3 ปีครึ่ง พอเรียนจบผมเริ่มต้นทำงานในกลุ่มของบริษัทโอเชียนกรุ๊ปได้ทำงานกับบริษัทโอเชียนกลาส จำกัด (มหาชน) อยู่ที่นี่ได้ 3-4 ปี จากนั้นมาอยู่บริษัทอโศกอินเตอร์เนชั่นแนลเทรดดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทในเครือและเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศ ที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น ผมอยู่ในตําแหน่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อทำงานอยู่หลายปี และต่อมาได้เป็นผู้ช่วยรองผู้อำนวยการบริษัท และเป็นรองผู้อำนวยการในปี พ.ศ. 2548 ก่อนหน้านั้นเกิดเหตุการณ์ต้มยำกุ้งในปี 40 แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร หลังจากนั้นผู้ใหญ่ขอตัวผมกลับมาที่บริษัทโอเชียนกลาสแล้วมาเกษียณที่บริษัท โอเชียนกลาส จำกัด (มหาชน) ตอนอายุ 55 ปีในตำแหน่ง Senior Director Customer Channel Development และยังรับผิดชอบบริษัทในกลุ่มอีกกว่า 15 บริษัท

“ก่อนที่จะเกษียณประมาณ 5 – 6 เดือน ผมนั่งคิดอยู่ว่าจะทําอะไรดีเพราะมีหลายบริษัทติดต่อเข้ามาให้ไปช่วย แล้วมีผู้ใหญ่คนนึงโทรมาหาผมบอกว่าที่สถาบัน GIT รับสมัครรองผู้อำนวยการให้ผมลองมาสมัคร ซึ่งตอนที่มาสัมภาษณ์คณะกรรมการบอกว่า “เราคงไม่ต้องสัมภาษณ์ผู้สมัครท่านอื่นแล้ว เพราะเราเจอแล้วแต่เราติดปัญหาเรื่องอัตราเงินเดือนเก่าของคุณ” และได้มีการถามผมว่า “รู้ไหมอธิบดีเงินเดือนเท่าไหร่” ผมบอกว่า “ผมไม่ทราบครับเพราะผมไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับราชการเลย คือผมยินดีที่อยากนำประสบการณ์ที่มีเข้ามาช่วย” วันนั้นผมไม่คุยเรื่องเงินเดือนเลย มันเป็นความชาเลนจ์ที่อยากสนุกกับงานมากว่า

“ปรากฏว่าผมได้รับการคัดเลือกจึงได้เข้ามาทำงาน ช่วงนั้นผู้อํานวยการท่านดวงกมล เจียมบุตร ท่านซัพพอร์ทผมเต็มที่ ความยากของการทำงานคือที่สถาบัน GIT เป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์การมหาชน ที่มีขั้นตอนซับซ้อน แต่ผมทำงานเอกชนมาก่อนความมันคล่องตัวจึงมากกว่า ซึ่งผมก็ได้ปรับเปลี่ยนอะไรในองค์กรหลายอย่างให้เหมาะสมขึ้นและต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2563 ผมได้รับผ่านกระบวนการสรรหาขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)”

อนาคตอัญมณีและเครื่องประดับไทย

“ผมเองมองว่าในอนาคตของวงการอัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ดีมาก ให้ดูที่โจทย์คือ Product มันเป็นสินค้าที่สร้างความสุข มันเป็น Emotional Item ซื้อมาเพื่อประดับเพื่อความสวยงามเพื่อเพิ่ม Value เพิ่ม Status ของคนสวมใส่ มีคนยอมจ่ายเงินเป็นล้านเพื่อให้ได้สิ่งนี้นะครับ

“ถ้าเข้ามาศึกษาจะเห็นชัดคือ ไม่ว่าเกิดวิกฤติอะไรขึ้นที่ทำให้เศรษฐกิจในโลกเสียหาย แล้วสินค้ามูลค่าตกลงไปแต่สินค้าที่ในกลุ่ม Luxury Item เหล่านี้สามารถกลับขึ้นมาในจุดเดิมได้เร็วที่สุด เพราะนอกจากมันจะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ยังรวมถึงเรื่องการลงทุนด้วยเพราะมันคือสมบัติที่คงอยู่กับมนุษย์

“ผมอยากแนะนำให้ผู้ที่จะลงทุนซื้อพลอย คุณต้องลงให้มันสุดคือคุณต้องซื้อแรร์ไอเทม (Rare Item) คุณต้องซื้อของที่ล้ำค่าที่สุดเช่น ถ้าเป็นพลอยต้องไม่ผ่านการเผาหรือซื้อเม็ดใหญ่ สิ่งเหล่านี้ถ้าซื้อมาแล้วไม่มีทางขาดทุน

“ผมเคยจัดงานที่จังหวัดจันทบุรี ได้ทำการขอทับทิมสยาม 20 กะรัตมาโชว์ ซึ่งทับทิมสยามเม็ดนี้มีคนบอกว่าเคยขายออกไป 10 กว่าล้านบาท มีการซื้อขายผ่านไปหลายมือภายหลังได้ซื้อกลับเข้ามาใหม่โดยราคาที่ประเมินที่จัดโชว์มีราคา 80 กว่าล้านบาทนะครับ หรืออย่างทับทิมพม่าธรรมชาติไม่ผ่านการเผาที่ประมูลในต่างประเทศขนาด 20 กว่ากะรัตมีมูลค่าถึง 30.3 ล้านเหรียญ หรือกว่า 1 พันล้านบาท นี่คือโอกาสทำกำไรของคนที่ซื้อของดีจริง

“ทุกวันนี้ทับทิมดีๆ แพงกว่าเพชรอีกนะครับสิ่งนี้เป็น Investment (การลงทุน) ผมคิดว่าอนาคตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับยังไปได้ไกลนะครับ ถ้าเรายังมีฐานการผลิตแล้วก็การสร้าง Value (มูลค่า) และValuation (การประเมินมูลค่า) ขึ้นมา

“ผมอยากให้เมืองไทยมี Secondary Market เป็นตลาดตัวกลางการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยน ถ้าทุกท่านซื้อจิวเวลรี่อย่างเดียวก็คงเอาไปเก็บไว้เต็มตู้ แต่ถ้ามีตลาดนี้ขึ้นมาก็สามารถนำไปเทิร์นออกแล้วซื้อของใหม่เข้ามา ตลาดมันจะหมุนเวียนแล้วก็เกิดไซเคิลที่ใหญ่มาก วันนี้เราจะเห็นกลุ่มโรงรับจํานําหรือกลุ่มโรงเรียนที่เปิดสอน เริ่มเปิดชอปนำของเหล่านี้ออกมาทำการซื้อ – ขาย หลายสำนักส่งคนเข้ามาเรียนกับสถาบัน GIT เรียนการประเมินค่าประเภทของพลอยอะไรต่าง ๆ เพื่อไปตั้งราคาขายของเหล่านี้

“สถาบัน GIT เราเป็นห้องปฏิบัติการแห่งชาติที่น่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบอัญมณีว่าแท้หรือปลอมได้ในราคาที่ไม่แพง ชิ้นหนึ่งเริ่มต้นที่ 300 บาท แต่ถ้าตรวจอย่างละเอียดแบบพิเศษเริ่มต้นที่ 1,600 บาท ทางสถาบันก็ออกใบรับรองให้ สามารถตรวจได้ทุกประเภท ทั้ง เพชร พลอย มุก และหินสีต่างๆ

เตรียมพบกับสุดยอดงานอัญมณีแห่งปี

“ผมอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจ วันที่ 5 - 9 ธันวาคม 2567 นี้ จะมีการจัดงาน เทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2024 เราจัดงานช่วงนี้ของทุกปีติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 แล้ว เพื่อสร้างให้จันทบุรีเป็น นครอัญมณี “City of Gem”เราจัดงานบนพื้นที่กว่า 3,500 ตารางเมตรครอบคลุมรัศมีในย่านทองคำของเมืองจันทบุรี กว่า 1 กิโลเมตร 

อยากจะเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมกันมาซื้อของดีราคาถูกครับ

“ส่วนอีกงานคือ Bangkok Gems and Jewelry Fair ซึ่งจะจัดในช่วงปีหน้าที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ เข้าชมไม่น้อยกว่า 3 – 4 หมื่นคน สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศไทยมหาศาล

“แล้วทุกปีเราจัดงานประกวดออกแบบเครื่องประดับนานาชาติ GIT’s World Jewelry Design Awards ครั้งที่ผ่านมาแล้วมีผู้ส่งชิ้นงานเข้าประกวดจากทั่วโลก ประมาณ 900 กว่าชิ้นงาน ถือว่าเป็นงานที่ได้รับการยอมรับจากนักออกแบบในระดับนานาชาติ เรามีเงินรางวัลพร้อมโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ก็อยากจะเชิญชวนคนที่สนใจอุตสาหกรรมนี้ลองเข้ามาสมัครกันครับ”

ถ้าพูดถึงเรื่องของอัญมณีโดยเฉพาะพลอยสีประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาและฮ่องกงเท่านั้น