Life and Art Photography  ชายเงียบงันผู้ลั่นชัตเตอร์ คุณเกรียงไกร ไวยกิจ

Life and Art Photography ชายเงียบงันผู้ลั่นชัตเตอร์ คุณเกรียงไกร ไวยกิจ

ถ้าให้ช่างภาพหลายคนใช้กล้องแบบเดียวกัน ถ่ายรูปมุมเดียวกัน มองผิวเผินจะเห็นว่าเป็นภาพที่ออกมาคล้ายกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือ เส้น แสง เงา รวมถึงความรู้สึกที่ไม่มีทางเลียนแบบกันได้แม้จะถ่ายภาพกี่ครั้งก็ตาม และใครได้ชมภาพถ่ายของชายที่ชื่อว่า ‘เกรียงไกร ไวยกิจ’ ศิลปินช่างภาพอิสระที่ถ่ายภาพมามากว่า 30 ปี จะพบว่าทุกภาพที่เขาถ่ายมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยความละเมียด ละเอียดอ่อน ซ่อนไหวด้วยอารมณ์ และความรู้สึกอยู่เสมอ

เขาเป็นศิลปินอิสระด้านการถ่ายภาพมาแทบทั้งชีวิตจึงมีผลงานมากมาย อาทิ การตีพิมพ์ 50 ช่างภาพบันทึกแผ่นดินทองฉลองกาญจนาภิเษก, หนังสือภาพแห่งความทรงจำในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, หนังสือเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงผลงานการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายระดับประเทศหลายครั้ง

คุณเกรียงไกร ไวยกิจเกิดและเติบโตที่จังหวัดราชบุรีในครอบครัวทหาร มีพี่น้องทั้งหมด 8 คนโดยท่านเป็นลูกชายคนที่ 5 ด้วยความที่มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวเยอะจึงมีเงินไม่มาก เขาเป็นคนที่ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก เรียกว่าความฝันคือการเป็นศิลปินวาดภาพ หลังเรียนจบมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศจึงเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนศิลปะที่วิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากร โดยผลงานระหว่างเรียนได้สร้างความฮือฮาให้กับวงการศิลปะในสมัยนั้นด้วยการเชิญม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (อดีตนายกรัฐมนตรี) มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองในชื่อ “12 Arts 20” ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดราชบุรี

แต่เนื่องจากการเรียนศิลปะมีค่าใช้จ่ายสูง เขาจึงต้องทำงานวาดภาพส่งประกวดและออกแบบลายถุงเท้าและเสื้อผ้าเด็กเพื่อมาใช้จ่ายระหว่างเรียน หลังเรียนจบคุณเกรียงไกรได้เข้าทำงานกับบริษัทที่เคยช่วยออกแบบเสื้อผ้าเด็ก แต่แค่ 3 เดือนก็ต้องลาออกเพราะไม่ใช่วิถีทาง

หลังจากนั้นจึงนำภาพวาดของตัวเองไปเดินขายที่แกลเลอรี่เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ จนกระทั่งมาพบกับอาจารย์ปริญญา ตันติสุข ท่านแนะนำให้ไปทำงานในบริษัทภาพยนตร์โฆษณาบริษัทหนึ่งจนได้เขียนการ์ตูนแอนิเมชั่นอยู่หลายปี

มีอยู่วันหนึ่งคุณเกรียงไกรขอลางานไปพักร้อน จึงนั่งรถไฟไปหาคุณพ่อซึ่งย้ายไปรับราชการที่เชียงใหม่ ทำให้ชอบวิถีการเดินทางแบบผจญภัยเนื่องจากได้พบเจอผู้คนหลากหลาย ระหว่างนั้นได้ยืมกล้องหัวหน้าไปถ่ายภาพและเขียนเรื่องราวส่งหนังสือแนวท่องเที่ยว จนกระทั่งได้ซื้อกล้องตัวแรกในชีวิตจึงรู้ว่างานศิลปะนั้นเกิดจากแผ่นฟิล์มได้เหมือนกัน ประมาณปี พ.ศ.2530 คุณเกรียงไกรลาออกจากบริษัทมารับงานฟรีแลนซ์เต็มตัวตั้งแต่จัดทำอาร์ตเวิร์ค วาดภาพ ถ่ายภาพ ซึ่งการถ่ายภาพนี้เองได้ทำมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

สไตล์การถ่ายภาพ

“จุดเริ่มต้นในงานศิลปะคือการวาดรูปตอนเด็ก ไม่รู้ว่าทำไมเราต้องวาดรูปมากมายขนาดนั้น รู้อย่างเดียวแค่ว่าเรามีความสุขกับการได้จับพู่กันจับดินสอ รู้เท่านั้นเองนะครับ แต่วันหนึ่งที่เราได้มาถ่ายรูปซึ่งผมถ่ายรูปเยอะมาก ๆ ก็มองย้อนกลับไปว่าสมัยก่อนทำไมเราถึงชอบวาดรูปขนาดนั้น มันได้คำตอบแล้วว่าการถ่ายภาพเราทำมาจากพื้นฐานเดียวกับการวาดรูปนั่นคือเราทำมาด้วยความรักจริง ๆ ผมถ่ายรูปแทบจะทุกวันนะครับ แล้วก็ไม่รู้ว่ามันจะต้องเอาไปใช้ประโยชน์อะไร

เรารู้อย่างเดียวว่าเรามีความสุขกับการได้เห็นมุมมอง มีความสุขกับการได้สร้างสรรค์ ได้คิด ได้เดินทาง ได้มองบางอย่างซึ่งคนอื่นมองข้ามแล้วบันทึกเก็บมันไว้ และสิ่งเหล่านี้มันเป็นมูลค่าที่ตอบแทนไม่ได้ด้วยตัวเงิน นี่คือคำตอบ มันเป็นความสุขในสิ่งที่เรารัก ในสิ่งที่เราถ่ายรูป

“คราวนี้ก็มีคำถามอยู่มากมายถามว่าเกรียงไกรมีสไตล์การถ่ายรูปแบบไหน ผมค้นพบในที่สุดว่าผมไม่มีสไตล์ในการถ่ายรูปเลย จะให้ถ่ายอะไรแบบไหนก็ได้ จุดหมายของการถ่ายรูปไม่ได้ต้องการที่จะเป็นศิลปินใหญ่ ไม่ได้ต้องการที่ต้องพอเห็นรูปปุ๊บก็รู้สึกว่านี่เป็นลายเซ็นของเกรียงไกร ไวยกิจ ไม่จำเป็นอย่างนั้นเลย รู้อย่างเดียวว่าทุกรูปของการถ่ายมันคือตัวเราเอง ใครจะเห็นหรือไม่เห็นอันนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นมันเลยไม่มีสไตล์ คำว่าไม่มีสไตล์นั่นหมายความว่าเราจะถ่ายได้ทุกแบบ ถ่ายนก หมา กา ไก่ ทิวทัศน์ แลนด์สเคป สถาปัตยกรรมหรือผู้คนเราถ่ายได้หมดนะครับ เพียงแต่ว่าในทุกครั้งของการถ่ายเราคิดอะไรกับมันใช่ไหมครับ เช่น เราจะถ่ายคนสักคนหนึ่ง เราคิดว่าคนคนนี้มีจุดเด่นตรงไหนหรือเราเห็นอะไร

“มีรูปหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของผมคือ ตอนนั้นรถไปติดอยู่ที่ตรงสะพานนวลฉวีทางฝั่งที่จะข้ามไปปทุมธานี ช่วงจังหวะที่รถติดใต้สะพานเราก็เห็นคนคนหนึ่งนั่งแบบสิ้นหวังเป็นเงามืดอยู่ตรงนั้นและแบ็กกราวด์ก็เป็นความยุ่งเหยิงของเมือง สิ่งที่เรารู้สึกตอนนั้น เฮ้ย! นี่มันคือชีวิตนะ ทุกชีวิตต่างที่จะต้องพยายามดิ้นรน เรารู้สึกว่าในมุมที่เราเห็นตอนนั้นมันถ่ายทอดความสิ้นหวังของเขาได้ค่อนข้างจะเยอะ แต่ว่ามันจะมีด้านหนึ่งของความคิดในการถ่ายรูปก็คือเราไม่ชอบถ่ายด้านลบ ผมไม่ชอบถ่ายด้านลบของผู้ค ถึงจะถ่ายก็ถ่ายเก็บไว้แต่จะไม่อยากเอาไปเผยแพร่ เพราะชีวิตมันเลือกไม่ได้จริง ๆ ฉะนั้นเราจะรับได้เฉพาะในสิ่งที่มันเกิดขึ้นจากภาพที่เห็น

“เพราะฉะนั้นเมื่อสรุปก็คือว่า เกรียงไกรไม่มีแนว ไม่มีสไตล์ ไม่มีลายเซ็น เกรียงไกรถ่ายรูปแบบที่เกรียงไกรชอบที่จะเห็นและสัมผัสมันได้เท่านั้นเองครับ”

การเปลี่ยนผ่านของกล้องฟิล์มสู่ดิจิตอล

“สมัยก่อนที่ผมเข้ามามีการใช้กล้องฟิล์ม มันเริ่มมาจากกล้องฟิล์ม 135 หลังจากนั้นเป็นต้นมาจะใช้ฟิล์ม 120 ฟิล์ม 120 ก็มีหลายรุ่นที่ใช้ไม่ว่าจะเป็น Bonica Pentax 6x7  Linhof  Horseman อะไรพวกนี้ แต่ส่วนใหญ่ผมเช่าเขานะครับ ผมใช้กล้องมาหลายรุ่นจนท้ายที่สุดก็มาจับกล้องฮัสเซิลบลอด (Hasselblad) เราบอกตัวเองว่านี่มันเป็นกล้องแห่งชีวิตเราจริง ๆ เพราะว่ามันมีความพิถีพิถัน มีความละเอียดอ่อนมาก บางครั้งการที่เราจะถ่ายสถาปัตยกรรมในมุมมองที่กดลงไป ถ้าเราใช้เลนส์  Wide Angle นึกออกใช่ไหมครับ มันจะต้องลู่ลง แต่กล้องลินฮอบตัวนี้มันดีไซน์ให้มีชิปเลนส์ในตัว มันไม่ใช่ชิปเลนส์ที่แยกมาเหมือนทั่วไปที่เราใช้กันในปัจจุบัน

“นอกจากความพิถีพิถันในการถ่ายในการสร้างของผู้ผลิตแล้ว กล้องฟิล์มอย่าง 6 x 17 cm. ฟิล์ม 1 ม้วนเราจะถ่ายได้แค่ 4 รูปเท่านั้นเอง ส่วน 6 x 12 cm. ฟิล์ม 1 ม้วนเราจะถ่ายได้ 6 รูป เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่พิถีพิถันกับมันก็จะเสียฟิล์มเปล่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เรานิ่ง ทำให้เราสงบ ได้คิด ได้พิถีพิถัน ได้มุมมอง แล้วก็ได้วาง Composition ให้ละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้นครับ

“คราวนี้พอมาเป็นฮัสเซิลบลอดก็ไม่ต่างกัน แต่ฮัสเซิลบลอดมันมีข้อจำกัดที่ไร้ขอบเขต คำว่าไร้ขอบเขตในความคิดผมก็คือการที่มันเป็นฟอร์แมตสี่เหลี่ยมจัตุรัส 6 x 6 cm. เราไม่จำเป็นต้องไปถ่ายรูปแนวตั้งเพราะทุกช็อตของการถ่ายมันจะเท่ากันหมด และข้อดีมาก ๆ คือถ้าหากเราพูดถึงกล้องแล้ว เราจะพูดถึงงานที่ต้องนำไปใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยจึงต้องเผื่อเอาไว้ เช่น สำหรับวางเต็มหน้า สำหรับวางเป็นพาโนรามา 2 หน้า แต่ตลอดเวลาที่ถ่ายด้วยกล้องฮัสเซิลบลอดผมไม่เคยคิดตรงนั้นเลย ไม่เคยคิดว่าผลงานเราจะต้องไปเตรียมไว้สำหรับสิ่งเหล่านั้น เราคิดอย่างเดียวว่าจะต้องทำให้มันดีที่สุดกับฟอร์แมตสี่เหลี่ยมจัตุรัส นั่นก็คือว่า Composition การจัดทุกอย่างต้องดีอยู่ในนั้น ส่วนจะเอาไปใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ที่มันจำเป็นต้องแนวตั้งหรือแนวนอนอะไรช่างมัน อันนั้นเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง นี่คือข้อดีที่กล้องฮัสเซิลบลอดไร้ขีดจำกัดและเรารู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หลังจากนั้นกล้อง 135 ก็เลิกใช้เลยเพราะเราตั้งใจแล้วว่าจะต้องทำมันให้ดีที่สุดกับกล้อง ฮัสเซิลบลอดในมีเดียมฟอร์แมตขนาด 6 x  6 cm. ครับ

“พอมาถึงยุคดิจิตอล พอเรารู้ว่าถ้างานส่วนหนึ่งที่เราจะถ่ายด้วยความรักมันเริ่มมีปัญหาแล้วเพราะฟิล์มหาซื้อยาก ดังนั้นผมก็จะถ่ายด้วยฟิล์มสไลด์เป็นหลัก ร้านรับล้างฟิล์มที่มีคุณภาพก็ปิดตัวไปเรื่อย ๆ มันเป็นไฟท์บังคับที่เราไม่สามารถจะทำแบบนี้ได้อีกต่อไป มันเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างการรับงานด้วย ลูกค้าเริ่มไม่สนใจฟิล์มแล้ว ในที่สุดพอถึงจุดหนึ่งเมื่อจำเป็นที่จะต้องใช้ดิจิตอล ผมจึงเริ่มต้นจากการไปเช่าร้านเพื่อนฝูงก่อนและเราจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจซื้อกล้องเป็นของตัวเราเอง เพราะท้ายที่สุดเรารู้แล้วว่ามันไม่ได้แตกต่างกันมากนักในแต่ละแบรนด์ เราตัดสินใจซื้อมาใช้ยี่ห้อหนึ่ง เอ่ยนามได้ว่าคือกล้อง Sony ซึ่งเป็นกล้องดิจิตอลตัวแรกในชีวิตครับ เหตุผลในการเลือกใช้กล้องตัวนี้เพราะรู้สึกว่าเราถูกจริต รู้สึกว่าเราจับแล้วเรา Happy แล้วรู้สึกว่าเลนส์บางตัวของ Sony เป็น

เลนส์ที่เราเคยชอบมาก ๆ คำว่าถูกจริตก็คือการที่เราจับมัน การที่เราคอนโทรลมัน พอใจกับปุ่มควบคุมทั้งหลายในกล้องตัวนี้นะครับ นี่เป็นตัวจุดประกายที่เราหันมาใช้กล้องยี่ห้อนี้ แล้วก็ใช้มาจนถึงปัจจุบัน 

“คราวนี้พอถามว่ามันแตกต่างกันยังไงกับความเป็นฟิล์ม คือความเป็นกล้องดิจิตอลเนี่ย มันแทบไม่พลาดอีกต่อไปแล้ว แต่สิ่งที่แตกต่างมาก ๆ ก็คือ งานหายไปเกือบหมดนะครับเพราะทุกคนใช้กล้องดิจิตอลเป็นราคาของงานจึงมีการแข่งขันทำให้ราคาถูกลง”

ไม่มีรูปที่ดีที่สุด

“จริง ๆ พอถึงตอนจุดนี้เนี่ย ผมรู้แล้วว่าเราจะต้องถ่ายรูปไปทำไม ฐานของความรู้ที่เรารู้ มันก็คือความรักนั่นเอง ความรักที่ได้กดชัตเตอร์ ความรักที่ได้เดินทางความรักที่ได้สร้างสรรค์มุม ความรักที่ได้รอคอยทั้งหมดเป็นองค์ประกอบที่เรารับรู้มัน เพราะฉะนั้นความรับรู้เหล่านี้ มันจะไม่มีดีไปกว่านี้แล้ว ต่อให้เราถ่ายรูปดีสักเท่าไหร่ก็ตาม ในชีวิตมันไม่มีรูปที่ดีที่สุดในชีวิตหรอกครับ เพราะเราบอกไม่ได้ว่ารูปที่ดีวันนี้กับพรุ่งนี้มันจะต่างกันยังไง แต่ในชีวิตนี้เรารู้แล้วว่า เราถ่ายรูปไปเพราะอะไร ไอ้ตรงนี้มันก็จะไม่มีรูปที่ดีในชีวิตเราต่อไปแล้ว ทุกรูปของการถ่ายมันดีต่อเราหมดในมุมมองของเรา ซึ่งอันนี้สำคัญที่สุด

“คราวนี้ถ้าถามว่ารูปอะไรที่มันกินใจมากที่สุดในชีวิต ที่เรากินใจนะครับไม่ใช่ว่าดีที่สุด คือเราไม่สามารถถ่ายภาพอย่างนั้นได้อีก เป็นภาพ ถ้ามองไปชัด ๆ จะสังเกตว่าในมุ้งมีหมากับลูกตัวเล็ก ๆ ประมาณ 7-8 ตัว อยู่ในนั้น ภาพนี้ถ่ายประมาณปี พ.ศ.2534-35 นะครับ เป็นภาพที่ใช้กล้อง Pentax 6x7 ตอนนั้นผมไปทำงานที่หนึ่งแล้วมาจอดรถเดินเล่นที่ตรงบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า พอไปเดินเล่นแล้วเห็นมุมนี้ เฮ้ย! มีมุ้งกางอยู่ ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรนะครับ ก็เดินไปดูเพราะอยากรู้ว่าเป็นอะไร ปรากฏว่าภาพที่เราเห็นในมุ้งนั้นมันเป็นหมา พอเดินมาอีกฝั่งหนึ่งทำไมคนนอนนอกมุ้ง แล้วหมานอนในมุ้ง ตอนนั้นเรารู้แล้วว่า โอ้โห หัวใจของคนมันมีความเสียสละมากขนาดนี้เลยหรอผมขนลุกเลยนะครับ ก็เลยขับรถกลับมาเอากล้อง

“ตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงจังหวะที่เช่าบ้านอยู่ที่สุทธิสาร มาเอากล้องกลับไปถ่ายโดยที่ไม่มีการเซ็ตใด ๆ ทั้งสิ้นนะครับ พอถ่ายปุ๊บวันรุ่งขึ้นก็กลับไปอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ได้มีโอกาสเจอคุณยาย ทราบว่าชื่อยายผอมส่วนหมานี่ชื่อเจ้านวล ก็บอกกับคุณยายว่า คุณยายครับวันนี้ผมจะขอถ่ายรูปคุณยายกับหมานะครับ คุณยายก็ใช้ชีวิตตามปกติ ก็ขออนุญาต วันนั้นที่ไม่ได้ขออนุญาตเพราะคุณยายหลับแล้วก็ขออนุญาตถ่าย แล้ววันที่ 2 นี้คุณยายผอมและหมานอนนอกมุ้งไม่ได้กางมุ้ง แต่พอวันที่ 3 นี่ไปอีกครั้งหนึ่ง ทั้งยายผอมและเจ้านวลนอนอยู่ในมุ้งด้วยกัน นี่เป็นช็อตที่ประทับใจที่สุดนะครับ ที่มันแสดงถึงความเอื้ออาทรที่มนุษย์มีกับเพื่อนร่วมโลก ซึ่งทุกวันนี้ผมยังไม่เคยถ่ายภาพที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกได้ดีเท่าภาพแบบนี้อีกมาเลยเกือบ 30 ปีแล้วนะครับ”

ศิลปะภาพถ่ายมาจากใจ

“งานศิลปะในมุมที่ผมค้นพบ หรืออาจจะมีใครค้นพบแล้วก็ตาม ผมว่าศิลปะงานถ่ายภาพ มันเป็นงานสร้างสรรค์อีกแบบหนึ่ง เราอาจจะรู้ว่างาน Painting เป็นการสร้างสรรค์ผ่านผืนผ้าใบ กับพู่กัน ผ่านสติปัญญาความคิดสร้างสรรค์ แต่พอมาถ่ายรูปเรารู้แล้วว่า ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างงานศิลปะเนี่ย มันไม่ได้สามารถทำได้เฉพาะแต่งาน Painting ประติมากรรม จิตรกรรมเท่านั้น แต่มันสามารถสร้างสรรค์ผ่านฟิล์ม ผ่านเซนเซอร์ ผ่านเลนส์ของตัวกล้องได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง ความสร้างสรรค์ตรงนี้มันคืออะไร มันคือความคิดในสิ่งที่เราเห็น แน่นอนว่าถ้าเราไปยืนในจุดเดียวกัน 10 คน เราถ่ายภาพในภาพที่เป็น Subject เดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วในความคิดที่เรามีกับคนทั้ง 10 คนที่มองกับภาพ ผมเชื่อว่ามันไม่เหมือนกัน ภาพอาจจะใกล้เคียงกัน แต่จิตวิญญาณที่คนมองไปสิ่งเหล่านั้นเนี่ย ไม่เหมือนกันเพราะฉะนั้น นี่คือเสน่ห์ของงานศิลปะภาพถ่าย

“ถามว่าคนในสายงานจิตรกรรม ก็อาจจะมองว่าภาพถ่ายมันก็คืองาน Copy สิ่งที่เราเห็นข้างหน้า แต่ในมุมมองผม ซึ่งไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่ทราบ แต่ผมเห็นว่าภาพถ่ายมันคืองานสร้างสรรค์ที่มันมีองค์ประกอบในแบบของมันเอง องค์ประกอบในความคิด เรากำลังคิดอะไรกับสิ่งที่มันอยู่ข้างหน้า เรากำลังอยากให้ภาพมันเป็นแบบไหน เรากำลังคิดว่าถ้าขยับตรงนี้นิดนึงเนี่ยเรื่องราวมันก็อาจจะเปลี่ยนไป ถ้าเรารอแสงหน่อยหนึ่งเรื่องราวมันก็จะเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้บางครั้งมันไม่ได้ปรากฏอยู่ในภาพ แต่สิ่งเหล่านี้มันฝังอยู่ในความคิดของคนถ่ายและแน่นอนว่ามันฝังอยู่ในภาพด้วยเพราะฉะนั้นการดูภาพถ่ายที่ดีผมเชื่อว่าถ้าเราดูนาน ๆ ในแต่ละรูป คิดมันเยอะ ๆ เราก็จะเห็นว่าช่างภาพแต่ละคน ซ่อนอะไรไว้ในภาพถ่าย

“ถ้าถามว่าผมคิดอะไรไปมากกว่านั้น ผมไม่ชอบกับการที่จะต้องไปแบ่งภาพ ให้เป็นประเภทโน้นประเภทนี้ เช่นต้องไปแบ่งเป็น Portrait, Landscape, Street หรือเป็นแนวสร้างสรรค์ ผมไม่ชอบแบบนั้น ผมเชื่อว่าทุกภาพมันมีขบวนการของมัน แล้วทำไมเราจะต้องไปกำหนดขอบเขตจาก

เรื่องราวหรือจากสไตล์การถ่ายภาพ เราจะไปกำหนดมันทำไมเราไม่ไปกำหนดมันจากเซนเซอร์ที่มีอยู่ กำหนดมันจากความคิดสร้างสรรค์ และใส่ลงไปในรูปที่เราเป็นคนถ่าย

“เพราะฉะนั้นในมุมมองความคิดผมก็คือ ภาพถ่ายมันไม่มีประเภท มันเป็นอะไรก็ได้ที่มันกว้างเหลือเกิน ในการที่จะบันทึกเรื่องราวเหล่านั้น และเป็นในแบบที่เราคิด ผมไม่เคยปฏิเสธในการที่เราไปถ่ายกันมาก ๆ กับ Subject เดียวกัน เพราะทุกคนมีจุดมุ่งหมายในการถ่ายไม่เหมือนกัน บางคนก็อาจจะเริ่มต้นด้วยการถ่ายรูป แล้วอยากจะได้ภาพ บางคนก็มีความสุขในการไปพบปะเพื่อนฝูงผู้คนในกลุ่มที่จะไปถ่ายรูป อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งในการถ่ายรูป แน่นอนว่าอาจจะมีคำถามว่า เฮ้ยภาพมันก็เหมือน ๆ กัน แต่อย่าลืมนะครับว่าฐานความคิดของแต่ละคนที่ไปถ่าย มันไม่เหมือนกันเลย ตรงนั้นต่างหากที่มันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นภาพถ่ายจึงมีสไตล์ในแบบเป็นงานศิลปะสร้างสรรค์ในแบบที่มันเป็น ซึ่งมันแตกต่างจากงานศิลปะแบบอื่นนะครับ ผมเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น

“ตอนนี้ผมอายุมากแล้ว ถ้านับถึงวันจับกล้องวันที่ซื้อเป็นของตัวเองประมาณ พ.ศ.2527 ผมถ่ายรูปมาเยอะมากนะครับ พอจุดหนึ่งพอค้นพบว่า เราถ่ายรูปไปทำไม เราถ่ายรูปเพราะอะไร เราค้นพบตรงนี้แล้ว เพราะฉะนั้นพอค้นพบตรงนี้ เราไม่มีรูปที่ดีที่สุดอีกต่อไปแล้ว เราอาจจะมีรูปที่ประทับใจที่สุด แต่รูปที่ดีที่สุดในชีวิตจะไม่มีแล้ว”

 

เขาเป็นศิลปินอิสระด้านการถ่ายภาพมาแทบทั้งชีวิตจึงมีผลงานมากมาย