TEA TIME TRAVAL มนต์สะกดแห่งรสนิยม ‘ชา’ เครื่องดื่มยอดนิยมอันดับ 2 ของโลก กับประวัติศาสตร์การเดินทางที่ยาวนานหลายพันปี : Scoop

TEA TIME TRAVAL มนต์สะกดแห่งรสนิยม ‘ชา’ เครื่องดื่มยอดนิยมอันดับ 2 ของโลก กับประวัติศาสตร์การเดินทางที่ยาวนานหลายพันปี : Scoop

TEA TIME TRAVAL : มนต์สะกดแห่งรสนิยม

ปัจจุบันเป็น “ชา” เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมอันดับ 2 ของโลกรองจากน้ำเปล่า ด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนานหลายพันปีนี้เอง ชาจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณี วัฒนธรรม ของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก นอกจากนี้ชายังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย

MiX Magazine ฉบับที่ 193 ได้รวบรวมเรื่องชา ตั้งแต่ประวัติศาสตร์จุดเริ่มต้นการเดินทางของชาไปในประเทศต่าง ๆ รวมถึงเรื่องราวของชาอีกมากมายให้ติดตามกัน


บทที่ 1 : ต้นกำเนิดและการเดินทางของชา

ชา เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่แพร่หลายไปทั่วโลก เป็นที่ยอมรับกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนมากกว่า 2,000 ปี ก่อนคริสตกาล บางตำนานกล่าวว่า จักรพรรดิเสินหนิง (Shen Nung) กำลังต้มน้ำอยู่ใต้ต้นชา ด้วยความบังเอิญใบชาถูกกระแสลมพัดตกลงในกาต้มน้ำ เมื่อได้ชิมชาก็ชื่นชอบเป็นอย่างมาก การแพร่หลายของชาจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น

ในเวลาต่อมามีการเขียนตำราเกี่ยวกับชาเล่มแรกของโลกชื่อว่า ฉาชิง (Cha Ching) ซึ่งรวบรวมเอากระบวนการทำชาตั้งแต่ต้นจนจบ ที่ถือว่าเป็นพื้นฐานการศึกษาเรื่องชาที่สำคัญของวัฒนธรรมจีน ในสมัยราชวงศ์ถัง ยังมีการบันทึกถึงเรื่องการเก็บภาษีชาเป็นครั้งแรก ในยุคราชวงศ์หมิงมีการนำชามาตากแห้งและอบไอน้ำ เพื่อการส่งออกไปยังพื้นที่อื่นอีกด้วย

ชาจึงถูกเผยแพร่ไปยังประเทศต่าง ๆ ข้างเคียงในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น ส่วนชาในยุโรปนำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวโปรตุเกสและดัตช์ในศตวรรษที่ 16 และ 17 นอกจากนี้ชายังเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ผ่านเส้นทางการค้าต่าง ๆ อย่างเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าโบราณที่เชื่อมระหว่างจีนกับเอเชียกลางและยุโรป

ในโซนของประเทศแถบตะวันออกเฉียงใต้ ถูกน้ำเข้ามาทั้งทางบก และทางทะเล ผ่านการค้าขายรวมถึงการอพยพของชาวจีนในหลายยุค ในช่วงล่าอาณานิคมชาถูกเผยแพร่ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยชาวตะวันตก ได้นำชาจากจีนไปปลูกในอาณานิคมของตน เช่น อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย ฯลฯ ในส่วนของทวีปแอฟริกาเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษได้นำชาไปปลูกที่เมืองเคปในทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1687 ก่อนขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วแอฟริกา

ในทวีปอเมริกาชามีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์ของอเมริกา เริ่มขึ้นในช่วงยุคอาณานิคมของอังกฤษ ชาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในหมู่ผู้อพยพจากยุโรป โดยเป็นสินค้าหลักที่นำเข้าผ่านอังกฤษ เมื่อเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น การขัดแย้งทางผลประโยชน์ และความไม่เป็นธรรมทางการค้าก็เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1773 จึงเกิดการประท้วงเพื่อต่อต้านภาษีชาของอังกฤษ เรื่องของชาจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกา

การเดินทางของชา จากจุดเริ่มต้นในประเทศจีน ปัจจุบันกลายเป็นเครื่องดื่มนิยมที่แพร่หลายไปทั่วโลก มีการปรับปรุงสายพันธุ์และความหลากหลายของประเภทชาจำนวนมาก  ตั้งแต่ชาดั้งเดิมไปจนถึงชาดัดแปลงแต่งเติมแบบสมัยใหม่ ความเป็นชาจึงไม่เพียงแต่เป็นเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของพิธีกรรมวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนอย่างแยกไม่ออกไปแล้ว


บทที่ 2 : สายพันธุ์และประเภทของชา

ชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี ชาที่ผลิตทางการค้าส่วนใหญ่มาจาก 2 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ

1. ชาสายพันธุ์จีน (Camellia sinensis var. sinensis) มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน ชาสายพันธุ์จีนเป็นชาที่ใบมีขนาดเล็กและแคบ พุ่มเตี้ย 2-6 เมตร ทนทานต่อสภาพอากาศหนาวเย็น นิยมปลูกในแถบเอเชียตะวันออกและบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2. ชาสายพันธุ์อัสสัม (Camellia sinensis var. assamica) มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เป็นชาที่ใบมีขนาดใหญ่กว่าชาสายพันธุ์จีน เป็นไม้ยืนต้น 6-8 เมตร ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนชื้น นิยมปลูกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้

เมื่อมีสายพันธุ์ชาหลักแล้ว เรามาดูประเภทของชากันบ้าง ในความจริงแล้วมีอยู่หลายประเภทสามารถแบ่งได้ดังนี้ คือแบ่งตามกรรมวิธีในการผลิต

ชาแต่ละชนิดมีความต่างตรงที่ขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การเก็บเกี่ยว การบ่มทำให้มีสีและรสชาติที่ต่างกัน ทำให้เกิดเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) กับอากาศยิ่งบ่มนานมากแค่ไหนสีของใบชาก็จะยิ่งเข้มมากขึ้น ส่วนรสชาติฝาดขึ้นอยู่กับการใช้ความร้อนในการอบหรือคั่ว ชาแม้มาจากต้นเดียวกันแต่กระบวนการผลิตต่างกันก็ทำให้รสชาติต่างกันได้

ในความจริงแล้ว มีอยู่หลายประเภทเราอาจแบ่งประเภทของชาตามกรรมวิธีในการผลิตได้ดังต่อไปนี้คือ

1. ชาที่ไม่ผ่านการบ่ม เช่น ชาขาว (White Tea), ชาเขียว (Sencha / Green Tea), ชามัทฉะ (Matcha)

2. ชาที่ผ่านการบ่มกึ่งหนึ่ง เช่น ชาอู่หลง (Oolong Tea)

3. ชาที่ผ่านกระบวนการหมักอย่างสมบูรณ์ 100% เช่น ชาดำ (Black Tea), ชาแดง (Red Tea)

Did You Know

ในบางครั้งยังมีการเรียกชาตามแหล่งการเพาะปลูกเช่น

- ชาซีลอน (Ceylon Tea) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของการผ่านกระบวนการหมักแบบ 100% คือชาดำ มีการปลูกในประเทศศรีลังกา นิยมนำไปแต่งกลิ่นเพิ่มเติม อย่างดอกไม้ น้ำมันหอมระเหย หรือเครื่องเทศ

- ชาอัสสัม (Assam Tea) เป็นชาที่นิยมมาทำเป็นเครื่องดื่ม ผ่านกระบวนการหมัก แต่งเติมกลิ่นสี มักนำมาผสมกับนม เป็นชานมที่คนส่วนใหญ่ชอบดื่มกันอยู่ทุกวันนี้นั้นเอง

ในส่วนของชาชนิดอื่นที่มีการเรียกกันเช่น

- ชาเบลนด์ (Blend Tea) คือชาที่เกิดจากการนำใบชาตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปมาผสม (Blend) เข้าด้วยกัน เช่น สมุนไพร ผลไม้ หรือดอกไม้อบแห้ง

- ชาอโรม่า (Aromatic tea) หรือชาแต่งกลิ่น คือการนำชาดำ ชาขาว หรือชาเขียว มาเติมกลิ่น เช่น ลาเวนเดอร์ อบเชย เปลือกส้ม เพื่อสร้างกลิ่นและรสชาติใหม่


บทที่ 3 : กว่าจะมาเป็นชา

จากจุดเริ่มต้นของชาที่เรียกว่าแทบจะมาจากแหล่งเดียวกัน ก่อนนำไปปลูกยังพื้นที่อื่นทั่วโลก ด้วยสภาพดินฟ้าอากาศทำให้กลิ่น สี และรสชาติของชาต่างกัน นอกจากยังนี้ยังเป็นเรื่องของกระบวนการผลิตที่ทำให้องค์ประกอบทางเคมีของชาเปลี่ยนไปเช่นกัน เรามาดูกันว่ากว่าจะมาเป็นชาหนึ่งถ้วยนั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง

1. การเก็บใบชา (Tea plucking) ต้องเก็บให้ถูกวิธีคือเด็ดจากยอดให้ได้ 1 ยอด 2 ใบ เพราะสาระสำคัญ (polyphenols) นั้นอยู่ส่วนนี้

2. การผึ่งชา (Withering) เพื่อทำให้น้ำระเหยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเกิดปฏิกิริยาเคมี ทำให้ชามีสี กลิ่น และรสชาติที่แตกต่างกัน

3. การนึ่งชา (Steaming) หรือ การคั่วชา (Pan firing) เพื่อทำลายเอนไซม์ Polyphenol Oxidase ทำให้หยุดปฏิกิริยาการหมักชาได้

4. การนวดชา (Rolling) เพื่อให้เซลล์ของชาแตกออก สารต่าง ๆ จึงไหลออกมาด้วย

5. การหมักชา (Fermentation) เริ่มตั้งแต่กระบวนการผึ่งและนวดชา จนมาถึงการใช้ความร้อน ทำให้ชาเกิดกลิ่น สี และรสชาติที่แตกต่างกัน

6. การอบแห้ง (Drying) ส่วนใหญ่จะลดความชื้นที่ประมาณ 5 % เพื่อให้เก็บไว้ได้นานขึ้น

7. การคัดบรรจุ (Sorting and packing) เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่คัดกิ่งก้านหรือสิ่งจือปน ก่อนนำออกจำหน่าย

ชาเขียว : ผ่านกระบวนการ เก็บใบชา, ผึ่งชา, คั่วชา, นวดชา, อบแห้ง, คัดแยก, บรรจุ

ชาอู่หลง : ผ่านกระบวนการ เก็บใบชา, ผึ่งชา, หมักบางส่วน, คั่วชา, นวดชา, อบแห้ง, คัดแยก, บรรจุ

ชาดำ : ผ่านกระบวนการ เก็บใบชา, ผึ่งชา, นวดชา, หมัก100%, อบแห้ง, คัดแยก, บรรจุ

กระบวนการผ่านความร้อนกับเวลา

ชาขาว (กลิ่นผลไม้) ความร้อน 70 ºC / เวลา 1-2 min

ชาเขียว (กลิ่นหญ้า,ถั่ว) ความร้อน 80 ºC / เวลา 2-3 min

ชาอู่หลง (กลิ่นดอกไม้, สมุนไพร, ธัญพืช, ผลไม้, นม) ความร้อน 90 ºC – 100 ºC / เวลา 3-4 min

ชาแดง (กลิ่นผลไม้) ความร้อน 100 ºC / เวลา 3-4 min

ชาดำ (กลิ่นสมุนไพร,ต้นไม้) ความร้อน 100 ºC / เวลา 3-4 min

ประโยชน์ของชามีมากมายอาทิ

ต้านอนุมูลอิสระ ชามีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ

ช่วยลดน้ำหนัก ชาสามารถช่วยเพิ่มการเผาผลาญและลดการดูดซึมน้ำตาลและไขมัน

ลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง ชาช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง

ช่วยผ่อนคลาย ชามีสารแอล-ธีอะนีน ซึ่งช่วยผ่อนคลายและลดความเครียด

ข้อควรระวังในการดื่มชา

ชามีปริมาณฟลูออไรด์สูง ผู้ที่ดื่มชามากเกินไปอาจเสี่ยงต่อโรคไตวาย กระดูกพรุน โรคข้อ และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระดูก

ชามีกรดออกซาลิกสูง ผู้ที่ดื่มชาเป็นประจำอาจเสี่ยงต่อโรคนิ่วในไต

ชามีคาเฟอีนซึ่งกระตุ้นหัวใจ ผู้ที่มีปัญหาหัวใจควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา

ขอบคุณ : ข้อมูลจากสถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และภาพจาก www.sciencelean.org.nz


บทที่ 4 : วัฒนธรรมการดื่มชาของแต่ละประเทศ

หลายประเทศได้รับเอาอิทธิพลของชาเข้ามาอย่างยาวนาน ชาจึงมีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม ฯลฯ เกิดการผสมผสานเปลี่ยนแปลงไปตามความชอบของประเทศนั้น ๆ เรามาดูว่าประเทศที่มีชื่อเสียงเรื่องชามีจุดเด่นอะไรบ้าง

จีน

ประเทศจีนคือแหล่งกำเนิดชาแห่งหนึ่งที่สำคัญของโลก มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี ชาในประเทศจีนมีหลากหลายชนิด บางส่วนพัฒนากลายเป็นพิธีกรรมที่มีชื่อเสียง อย่างพิธีชงชาจีนหรือที่เรียกว่า “กงฟูฉา (Gongfu)” คือวัฒนธรรมการชงชาแบบดั้งเดิมไปสู่การดื่มที่พิถีพิถัน ชาในประเทศจีนเป็นมากกว่าเครื่องดื่ม เพราะอยู่ในทุกช่วงวัยของชีวิต เป็นสื่อกลางในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมาตลอดระยะเวลาหลายพันปี

ญี่ปุ่น

ถือเป็นอีกหนึ่งเจ้าตำรับในเรื่องวิถีแห่งชา ญี่ปุ่นเองมีชื่อเสียงในเรื่องการบริโภคมัทฉะ ซึ่งเป็นชาเขียวบดละเอียดคุณภาพสูง โดยได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนานิกายเซน ซึ่งนำพิธีชงชาหรือ “ชะโนยุ” เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่เก่าแก่ พิธีชงชาของญี่ปุ่นไม่ได้เป็นเพียงเกี่ยวกับการดื่มชาเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของศิลปะ โดยเฉพาะการชงชาด้วยอุปกรณ์ที่ประณีตพิถีพิถัน กับบรรยากาศอันเงียบสงบตั้งแต่เริ่มต้นชงไปจนถึงการดื่มนั่นเอง

อังกฤษ

ชาได้กลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมอังกฤษ ในช่วงศตวรรษที่ 19 ในยุคที่อินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จึงทำให้มีการเริ่มดื่มชาในอังกฤษ ส่วนแนวคิดเรื่องการดื่ม Afternoon Tea เกิดขึ้นปี 1840 ได้รับคำแนะนำจาก แอนนา ดัชเชสแห่งเบดฟอร์ดที่ 7 ซึ่งการรับประทานอาหารเย็นในยุคนั้นประมาณ 2 ทุ่ม ทำให้เธอรู้สึกหิวในเวลากลางวัน จึงนำของว่างรวมถึงชาเข้ามาดื่มกิน ทำให้วัฒนธรรม Afternoon Tea ได้รับความนิยมในเวลาต่อมา โดยทั่วไปแล้วคนอังกฤษชอบดื่มชาดำ และมักจะดื่มร่วมกับนม น้ำตาล และขนมอบอีกหลายชนิด

ตุรกี

ชาถูกนำมาใช้แพร่หลายในตุรกีช่วงศตวรรษที่ 20 ชาถือเป็นเครื่องดื่มประจำชาติ ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตทางสังคมของตุรกี จุดเด่นของชาตุรกีคือใช้กาต้มน้ำซ้อนกันสองใบที่เรียกว่า “Caydanlık” และเสิร์ฟในแก้วเว้าขนาดเล็ก ชาตุรกีมีความเข้มข้น ดื่มได้ตลอดทั้งวัน ชายังเป็นสัญลักษณ์ของการต้อนรับและมิตรภาพ

รัสเซีย

วัฒนธรรมชาของรัสเซียถือกำเนิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 17 เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความหนาวมาก ทำให้มีการคิดค้นกาต้มน้ำโลหะอันเป็นเอกลักษณ์เรียกว่า “ซาโมวาร์ (Samovar)” เป็นกาต้มน้ำชาโดยใช้ถ่านเป็นวัสดุให้ความร้อน ด้านล่างของกาจะมีก๊อก และตรงกลางระหว่างส่วนที่ติดกับขาตั้งจะมีช่องให้ใส่ถ่านเพื่อต้มน้ำให้เดือด

นอกจากรัสเซียแล้ว ยังนิยมใช้กันในประเทศที่ชนพื้นเมืองเป็นชาวสลาฟ ในอิหร่าน แคชเมียร์ และ ตุรกี โดยทั่วไปจะเสิร์ฟชาในแก้วหรือแก้วขนาดใหญ่ และมักเติมความหวานด้วยน้ำตาลหรือแยม ชาในรัสเซียไม่ได้เป็นเพียงเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังหมายถึงวิถีชีวิต การรวมตัวพูดคุยสร้างความสัมพันธ์อันดีแก่กันอีกด้วย

ชาอาจเป็นเครื่องดื่มที่คนทั่วโลกชื่นชอบ แต่การบริโภคจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรมประเทศ สะท้อนให้เห็นในหลายเรื่องตั้งแต่ ประวัติศาสตร์ บรรทัดฐานทางสังคม สุนทรียศาสตร์ การพบปะสังสรรค์อย่างอบอุ่น และประสบการณ์ร่วมกันของมนุษย์


บทที่ 5 : จากจุดเริ่มต้นสู่ชาที่มีชื่อเสียง

จากจุดกำเนิดชาที่มาจากสองสายพันธุ์หลักคือจีนกับอัสสัม ชาได้เดินทางแตกไลน์ไปในหลายประเทศ มีการทำชาให้หลายกรรมวิธี ดัดแปลง ปรุงแต่ง ให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งชาของประเทศไทยก็เป็นเครื่องดื่มที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยาวนาน จวบจนปัจจุบันชาไทยกลายเป็นที่รู้จักในระดับโลกถึงขนาดเว็บไซต์ TasteAtlas จัดอันดับให้ชาไทยติดอันดับที่ 7 ในรสชาติความอร่อยในหมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ดีที่สุดในโลก

ชาในประเทศไทยถูกนำเข้าชาจากประเทศจีน โดยเฉพาะในภาคเหนือของไทยซึ่งมีการติดต่อทางการค้าและวัฒนธรรมกับจีนมาอย่างยาวนาน ตามประวัติศาสตร์ชามีอยู่แล้วในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากหลักฐานจดหมายเหตุของท่านลาลูแบร์ ในปี พ.ศ. 2230 กล่าวว่า ..... “พูดถึงการดื่มชาในสยามประเทศ ชามีให้ดื่มกันเฉพาะในเมืองหลวง ช่วงนั้นคนไทยรู้จักดื่มชากันแล้วและชอบชงน้ำชารับแขก ....คนสยามไม่ใส่น้ำตาลในชา ดื่มชาร้อน ๆ แบบคนจีน การปฏิเสธไม่ดื่มชาในสยามถือว่าไม่มีมารยาท ต้องนั่งดื่มกันเมื่อได้รับการเชื้อเชิญ”

ในส่วนของอุตสาหกรรมชาในไทย เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังเมื่อราวศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งสภาพแวดล้อมและอากาศเหมาะสมกับการเติบโตของต้นชา ทำให้มีบริษัทเอกชนเริ่มเข้ามาสร้างโรงงานชาขนาดเล็กขึ้น ในปี พ.ศ. 2480 คือบริษัท ใบชาตราภูเขา จำกัด ซึ่งช่วงแรกมีปัญหาเรื่องความรู้เรื่องชาทำให้ผลผลิตตกต่ำไม่มีคุณภาพ แต่ต่อมาแก้ปัญหาโดยการนำผู้เชี่ยวชาญมาสอนจากประเทศจีน

จากนั้นเป็นต้นมาอุตสาหกรรมชาเริ่มได้รับความนิยมจากเอกชนรายอื่น มีการขยายพื้นที่สัมปทานการปลูกชาให้หลายบริษัทเช่น บริษัทชาระมิงค์, บริษัทชาบุญประธาน, บริษัทชาสยาม สร้างมูลค่าและการจ้างงานในพื้นที่มาโดยตลอด

ชาไทยมีหลายประเภท โดยปกติแล้วชาไทยไม่ได้มีสีส้ม แต่เหตุผลที่มันเป็นสีส้มมาจากการใช้ใบชานำมาปรับแต่งสี กลิ่น และรสชาติให้หอมหวานนั่นเอง หรือเราอาจจัดประเภทของชาไทยเป็นกลุ่มของเครื่องดื่มที่ใส่สารปรุงแต่งก็ได้ ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะชาชื่อดังในหลายประเทศก็ใช้หลักการเดียวกันนี้

ในส่วนของการใส่นมลงในชา บางตำราคาดว่าได้รับอิทธิพลมาจาก “มสาลาจาย (Masala Chai)” ของอินเดีย ซึ่งเป็นเครื่องดื่มชาที่ผสมผสานรสชาติของเครื่องเทศต่าง ๆ เช่น ขิง, อบเชย, พริกไทย, และกานพลู เข้ากับชาและนม

ชาไทยสีส้มมีรสชาติเข้มข้น มักเติมน้ำตาลและนมข้นหวานเพื่อให้ได้รสชาติที่หวานมัน นิยมดื่มเย็นโดยใส่น้ำแข็ง แต่ไม่นิยมใส่เครื่องเทศอื่นเข้าไปด้วย

แม้จะมีการดัดแปลงตัดแต่งรสชาติและสีสันลงไปในชา แต่ต้องบอกว่ามันกลายเป็นเอกลักษณ์ ที่สร้างชื่อเสียงและมูลค่าการส่งออกให้กับประเทศไทย และหากใครต้องการดื่มชาที่ไร้การปรุงแต่ง ชาในประเทศไทยก็ยังมีให้เลือกดื่มอีกมากมายเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.refresherthai.com/article/teaHistory.php


บทที่ 6 : ชาไทยกับการเติบโตสู่ตลาดโลก

ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีมนต์ขลังและเป็นที่นิยมทั่วโลก ปัจจุบันมีการพัฒนาให้มีความหลากหลายมากกว่าเป็นเพียงใบชาดั้งเดิม มีการเปิดร้านขายชาในรูปแบบต่าง ๆ มีผลิตภัณฑ์ชาสำเร็จรูปทั้งแบบผงและพร้อมดื่มจำนวนมาก

จากข้อมูลการประชุมเครือข่ายชา-กาแฟประเทศไทย พ.ศ.2 566 ที่ผ่านมาได้ให้ข้อมูลในประเทศที่มีตลาดค้าชาใหญ่ที่สุดในโลก คือจีนมีมูลค่า 99,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.4 ล้านล้านบาท) ตามมาด้วยอินเดีย 15,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (540,276 ล้านบาท) ส่วนประเทศไทย แม้จำนวนประชากรไม่มากแต่ได้อันดับ 7 คือ 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (196,151 ล้านบาท)

โดยในส่วนของการบริโภคชามากที่สุด จากรายงานของ International Tea Committee (ITC) หนีไม่พ้นประเทศที่ผลิตชาและมีประชากรเยอะอย่าง จีน อินเดีย ตุรกี อิหร่าน และรัสเซีย ประเทศเหล่านี้มีวัฒนธรรมการดื่มชาที่ยาวนานและหลากหลาย ชาจึงเป็นเครื่องดื่มประจำชาติแทบทุกเชื้อชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างแยกไม่ออก

กลับมาที่ประเทศไทยเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมชาที่ยังเปิดกว้าง โดยสิ่งที่ทำให้ชาไทยได้รับความนิยมมาจากปัจจัย เริ่มตั้งแต่

ภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง ต้องยอมรับว่ามีหลายบริษัทที่เข้ามาทำธุรกิจชาในยุคแรก ๆ พวกเขาได้ส่งออกชาไทยออกไปสู่โลกภายนอก หรือแม้แต่นำชาสายพันธุ์ดีเข้ามาพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับ มีการปรับปรุงแต่งเติมให้ชาไทยเป็นเอกลักษณ์คือสีส้ม ซึ่งอาจเป็นชาที่แต่งเติม แต่กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ

ภาครัฐช่วยสนับสนุน การเติบโตของวงการชาในประเทศได้นั้น มีภาครัฐบาลเข้ามาช่วยส่งเสริมด้านความรู้ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะโครงการในพระราชดำริสร้างงานและอาชีพกับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่คนปลูกคน รับซื้อ แปรรูปจนถึงการส่งออก โดยเฉพาะเรื่องของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ปัจจุบันมีการลดภาษีนำเข้าสร้างความได้เปรียบให้กับชาของประเทศไทย

ร้านอาหารไทย กระจายอยู่แทบทุกมุมโลก ตรงนี้ก็มีส่วนช่วยให้ชาไทยได้รับการเผยแพร่ เพราะนอกจากอาหารซึ่งเป็นที่รู้จักแล้ว เครื่องดื่มก็ถูกนำมาปิดท้ายเมนูด้วยเช่นกัน

การเติบโตของชาพร้อมดื่มและร้านชา เรียกได้ว่าเป็นที่รู้จักเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อที่เข้าถึงคนจำนวนมาก นอกจากนี้ร้านชาที่มีเมนูยอดฮิตนมไข่มุกก็มีให้เห็นแทบทุกสถานที่

ชาไทยเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก (โดยเฉพาะชาที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ) เรื่องเทรนด์การบริโภคชาแบบพรีเมียม เนื่องจากคุณภาพของชาไทย ชาไทยมีรสชาติและกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นที่ยอมรับ

นอกจากนี้ชาไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตในตลาดโลกได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของชาไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะการรักษาเรื่องของคุณภาพสินค้านั่นเอง

‘TEA TIME TRAVAL มนต์สะกดแห่งรสนิยม’ สกู๊ปหลักประจำนิตยสาร MiX Magazine ฉบับที่ 193