The Spirit of Tea นักวิจัยผู้เดินตามรอยเท้าพ่อหลวง ผศ. ดร. ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล
ผศ.ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล หรืออาจารย์จิ๊บ ท่านเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาที่มีผลงานวิจัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา อาจารย์จิ๊บ ได้ทุ่มเทให้กับงานวิจัยเรื่องชาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ กระบวนการผลิต คุณภาพ และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาชาไทยให้มีคุณภาพ ให้คำแนะนำ สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการชา จนได้รับรางวัลจากต่างประเทศมากมาย ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชาไทย ให้เติบโตและก้าวไกลต่อไป
นอกจากเรื่องงานวิจัยแล้วอาจารย์จิ๊บยังเป็นผู้สอนที่ถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์เรื่องชาให้กับนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในนามของหัวหน้าสถาบันชาและกาแฟ แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ท่านยังส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชาไทยให้กับสังคมไทย โดยได้จัดอบรมสัมมนาให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไปอีกด้วย
เส้นทางชีวิตนักวิชาการผู้มุ่งมั่นพัฒนาชาไทย
“ตัวของอาจารย์จิ๊บเอง เกิดในครอบครัวที่อยู่ในวงวิชาการมาโดยตลอดค่ะ คุณพ่อทำงานด้านป่าไม้ ส่วนคุณแม่ทำงานด้านการศึกษาในศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ตอนเด็ก ๆ เราเรียนหนังสือเก่ง คือฝึกในเรื่องของการคิดที่เป็นระบบมาโดยตลอด แม้ว่าเราจะอ่านหนังสือเรียนและเรียนพิเศษอย่างหนัก แต่ก็ทำกิจกรรมไม่เคยขาด คือใช้กิจกรรมเป็นตัวปลดปล่อยความเครียดจากการเรียน การทำกิจกรรมทำให้เราได้ทักษะในเรื่องของการทำงาน มนุษยสัมพันธ์ การรู้จักแก้ปัญหา เพราะตั้งแต่เรียนสมัยประถม หรือมัธยม ก็จะเป็นรองหัวหน้าห้อง เวลาเรามีกิจกรรมก็จะเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมมาโดยตลอด
“ในช่วงที่เข้ามหาวิทยาลัยก็ทำงานสโมสรของนักศึกษา คือเป็นผู้หญิงห้าว ๆ ถ้ามีงานที่ผู้ชายไม่ทำเดี๋ยวฉันทำเอง เพราะเรามีความรู้สึกว่าการทำกิจกรรม มันทำให้เราปลดปล่อยในโลกที่เราเครียดจากการอ่านหนังสือ ช่วงที่เรียนปริญญาตรี ถือว่าเรียนหนักเพียงแต่ไม่ได้คาดหวังเกียรตินิยม จุดมุ่งหมายของการเรียนมหาวิทยาลัยเราอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี ในช่วงที่เรียนอยู่ปี 2 มีโอกาสไปฝึกงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ก็คิดว่าความรู้ไม่ได้อยู่เฉพาะตำรา ในโลกของการทำงานเราอยากรู้ว่าจะเอาสิ่งที่อยู่ในตำราไปใช้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพอเรียนจบปริญญาตรีก็ทำให้รู้ว่าชีวิตการทำงานอยู่กับบริษัทไม่ใช่คำตอบของเรา
“หลังจากเรียนจบปริญญาตรี ได้มาเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในกรุงเทพ ซึ่งตอนแรกไม่อยากไปเพราะอยากอยู่เชียงใหม่ ซึ่งคุณพ่ออยากให้เรามาเรียน แต่ก็บอกท่านว่าไม่ขอเรียน Food Science แล้วนะ ขอเรียนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยความที่อยากรู้ว่าทำผลิตภัณฑ์อาหารออกมาแล้วเราจะไปขายยังไง เราจึงอยากมาต่อยอดแนวคิดในการทำ Marketing ซึ่งรวมเอากระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์เอาไว้ด้วย
“ระหว่างที่เรียนปริญญาโท ก็ได้รับโอกาสจากอาจารย์ให้เป็น TA (Teaching Assistant) คือผู้ช่วยสอน มาดูแลน้อง ๆ ระดับปริญญาตรี ที่ทำงานอยู่ในห้องแล็บ และช่วยอาจารย์ตรวจรายงาน ก็ทำให้เรารักเรื่องการสอนไปด้วย พอใกล้เรียนจบก็คิดว่าคงไม่ได้ทำงานกับบริษัทเอกชนแล้ว คืออยากกลับภาคเหนือ อยากมาพัฒนาอะไรในพื้นที่ แล้วพอดีรุ่นพี่ที่เขาเป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาลำปาง ชวนให้มาเป็นอาจารย์สอนที่นี่เพราะมีการเปิดรับตำแหน่งใหม่พอดี จึงได้มาสอนเรื่องพัฒนาผลิตภัณฑ์ 1 ปี หลังจากนั้นก็ย้ายมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรียกว่าใช้ทักษะที่เราเป็น TA ตอนที่เราเรียนมาอย่างเต็มที่เลยตอนนี้เลยค่ะ
“เหตุผลที่อาจารย์จิ๊บมีพลังและความมุ่งมั่นสูงทั้งเรื่องการเรียน ทำกิจกรรม และทำงาน ต้องขอบคุณคนรอบข้าง ปัจจัยแรกคือครอบครัว ที่คอยส่งเสริมสนับสนุน ให้มีความสุขในการทำงาน โดยเฉพาะคุณพ่อถึงแม้ว่าท่านจะไม่อยู่แล้วก็ตาม ส่วนคุณแม่ท่านจะคอยถามวันนี้ไปไหนทำอะไรมีงานเยอะเหรอ ดูแลสุขภาพตัวเองด้วย อย่างที่ 2 ก็คือกัลยาณมิตรที่อยู่รอบข้างดี พวกเขาพร้อมส่งเสริมสนับสนุน มันคือพลังที่ช่วยส่งเสริมในการทำงานของเรา เพราะเราให้เขาด้วยใจด้วยไม่หวังผลตอบแทน”
สถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ศูนย์กลางการพัฒนาชาและกาแฟไทย
“สถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ ซึ่งตอนนั้นท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดี ด้วยวิสัยทัศน์ของท่านที่มองว่าจังหวัดเชียงรายมีพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศคือชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยจึงนำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาถ่ายทอดเพื่อยกระดับ แล้วพัฒนาคุณภาพชาและกาแฟของเกษตรกรในพื้นที่ สถาบันของเราเหมือนเป็นที่พึ่งพิงของเกษตรกรผู้ปลูกและผู้แปรรูป สมมุติชาวบ้านเขาอยากรู้เรื่องชาแต่ไม่รู้จะไปที่ไหน ก็เข้ามาในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ แล้วเราเป็นหน่วยงานเดียวที่เป็นสถาบันชาและกาแฟในประเทศไทยด้วยนะคะ มันเหมือนกับเป็นหนึ่งจุดหมายที่คนต้องการมาหาคำตอบ
“ตอนที่อาจารย์จิ๊บเข้ามารับตำแหน่งของสถาบันนี้ใหม่ ๆ โจทย์ของตัวเองคือทำยังไงให้หน่วยงานนี้และชาไทยในพื้นที่ของจังหวัดเชียงรายและภาคเหนือตอนบน เป็นที่รู้จักของคนไทยและชาวโลก เพราะฉะนั้นสิ่งแรกทำคือการสร้างเครือข่าย จึงมีการจัดการประชุมเครือข่ายชาและกาแฟของประเทศไทย และงานระดับสากลTea and Coffee International Symposium เพื่อดึงผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงในวงการชาทั่วโลก มารู้จักจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นแหล่งปลูกและผลิตชาที่สำคัญที่สุดของประเทศ ซึ่งทำให้คนต่างชาติรับรู้และพร้อมจะบอกต่อเรื่องราวชาของประเทศไทยให้คนทั่วโลกฟัง ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เป็นผู้ผลิตชายักษ์ใหญ่ ไม่ได้มีพื้นที่มาก แต่เราสร้างคุณค่าและนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าขึ้นได้
“ปี 2014 เป็นปีแรกที่สถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ของเราเคยเข้าร่วมประชุมเรื่องชาโลกที่ประเทศจีน ตอนนั้นมีผู้แทนจากสถาบันทั่วโลก 14 สถาบัน ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งเดียวที่เป็นสถาบันขึ้นตรงกับมหาวิทยาลัย ส่วนประเทศอื่นขึ้นตรงกับรัฐบาล แม้เราไม่ได้เป็นองค์กรใหญ่ แต่เราก็ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และความสามารถที่เรามีได้เช่นกันค่ะ”
พืชเศรษฐกิจที่ทรงคุณค่า จากโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9
“ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มีพืชดั้งเดิมที่ชาวบ้านนิยมบริโภคอยู่แล้วคือเมี่ยงหรือเมี่ยงหมัก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชาหมักชนิดหนึ่ง ผลิตจากสายพันธุ์ชาอัสสัมดั้งเดิม ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านมานานแต่ไม่สามารถต่อยอดอะไรได้มากนัก เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จลงพื้นที่ พระองค์ท่านได้ยกระดับและพัฒนาเรื่องชาและกาแฟ นำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาให้ความรู้อยู่หลายปี ในท้ายที่สุดโครงการในพระราชดำริของพระองค์ท่านก็เป็นผลสำเร็จ เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจตรงที่ว่า ประเทศไทยประเทศเดียวในโลกที่เราใช้พืชชาและกาแฟมาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหายาเสพติดได้
“อีกหนึ่งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาของประเทศไทย คือในยุคคอมมิวนิสต์ พื้นที่บริเวณดอยแม่สลอง มีชาวจีนอพยพเข้ามาปักหลักตรงชายแดนภาคเหนือของไทย โดยเป็นกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่เราเรียกว่ากองพล 93 ของนายพลต้วน ซึ่งเราต้องขอบคุณพวกเขาที่ช่วยปกป้องชายแดนต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ให้ประเทศไทย เวลาที่นายพลต้วนไปสู้รบที่ไหนเขาจะเก็บดินบริเวณที่รบชนะเอาไว้ โดยนายพลต้วนได้มอบถุงดินให้นายหลวงรัชกาลที่ 9 แล้วพูดว่าผมเอาแผ่นดินนี้มาคืนให้พระองค์ท่าน ภาพเหตุการณ์นี้ยังอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติภาคเหนือ ประเทศไทย บนดอยแม่สลอง
“ภายหลังสงครามจบลง กลุ่มของนายพลต้วนบางส่วนได้กลับไปอยู่ไต้หวัน แต่บางส่วนขอปักหลักทำมาหากินอยู่ดอย ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงสนับสนุนเรื่องอาชีพการเกษตร โดยเฉพาะสิ่งที่พวกเขาถนัดคือการปลูกและแปรรูปชา พระองค์ท่านสนับสนุนนำองค์ความรู้เรื่องชา โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เข้ามาภายในประเทศไทยตรงส่วนนี้ด้วย”
“แม้ว่าถึงพระองค์ท่านเสด็จสวรรคตแล้ว แต่พระองค์ท่านได้สร้างคุณูปการหลายอย่างไว้ให้เกษตรกร ตัวเองก็เลยคิดว่าสิ่งที่ต้องทำต่อคือ การสานต่อที่พ่อทำ ทำยังไงก็ได้ให้เราช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรที่อยู่บนดอย ได้ทำอาชีพตามวิถีชีวิตดั้งเดิมคือชาหรือใบไม้ ที่สร้างรายได้ให้กับพวกเขา ให้อยู่ดีกินดีมาจนถึงทุกวันนี้”
ลงพื้นที่รับรู้ถึงปัญหาปรับแก้และพัฒนา สู่ความสำเร็จของชุมชน
ศาสตร์พระราชาที่นำไปสู่ความยั่งยืน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” การสร้างให้คนในพื้นที่นั้นเกิดความ “เข้าใจ” ต้นชาในพื้นที่และนำความรู้มาถ่ายทอดให้คนในพื้นที่ได้ “เข้าถึง” และมีส่วนร่วมในการปฏิบัติได้จริงและนำไป “พัฒนา”ต่อยอด สุดท้ายก็นำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้อย่ายั่งยืน
“เกษตรกรหรือผู้แปรรูปหลายคน มักเข้ามาหาอาจารย์จิ๊บด้วยน้ำตาหรือความเจ็บปวด พร้อมกับปัญหามากมาย แต่สิ่งที่ทำได้คือการลงไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน คือเราไม่สามารถช่วยพวกเขาได้ตลอดชีวิต มีเพียงองค์ความรู้ไปปรับใช้ในพื้นที่ให้เหมาะสม แล้วเวลาทำงาน อาจารย์จิ๊บจะไม่เป็นผู้นำ คือเดินนำหน้าเกษตรกรหรือคนที่อยู่ในพื้นที่ แต่เราจะเดินเคียงข้าง เป็นเพื่อน เป็นพันธมิตร เรียกว่าเป็นคู่ทุกข์คู่ยากต่อกัน
“การลงพื้นที่กับชาวบ้าน ในอดีตบางโครงการเราไปยัดเยียดในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ชาวบ้านก็ทำตามแต่พอจบโครงการนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเดินออกมา ผ่านไปสักพักชาวบ้านทำต่อไม่ได้ แต่การทำงานกับอาจารย์จิ๊บคือเข้าไปนั่งคุยกับเขาก่อนว่าอยากได้อะไร อยากทำอะไร อยากรู้เรื่องอะไร เราถึงกลับมาเขียนโครงการของบประมาณสนับสนุน เพื่อตอบสนองให้ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ อาจารย์จิ๊บไม่ได้คิดเองจากความถนัดของเรา แล้วไปยัดเยียดความถนัดของเราให้กับพวกเขาทำ เราต้องสอนให้เค้าเก่งในแบบของเขา ไม่ใช่เก่งตามแบบของเรา
“เพราะฉะนั้นโครงการที่เราทำกับชาวบ้านเราจะเก็บข้อมูลก่อน แล้วนำไปเขียนโครงการเพื่อให้ตอบโจทย์กับสิ่งที่ต้องการจริง ๆ ในระหว่างการทำโครงการตลอดระยะเวลาหลายปี ก็ต้องชวนให้เขาคิดว่าถ้าอาจารย์จิ๊บเดินคนเดียวเหนื่อย แต่ถ้าคุณเดินไปกับอาจารย์ ทำงานพร้อมกับอาจารย์ มีปัญหาคุยกัน ทำได้หรือไม่ได้ค่อยว่ากันอีกทีไปปรับกันหน้างานเอาเราก็จะโตไปด้วยกัน
“ปัญหาสำคัญอีกอย่างนึงคือ คนรุ่นใหม่ที่เรียนจบมักเข้าไปทำงานในเมือง อาจด้วยรายได้ที่มากกว่า แต่อาจารย์จิ๊บคิดว่าถ้าเราไม่ดึงลูกหลานคนในพื้นที่กลับมา สวนชาจะถูกปล่อยทิ้งร้าง วิถีทางวัฒนธรรมจะหายไป ความจริงประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าผลิตชาเยอะมากก็ยังพบกับปัญหาเดียวกับบ้านเรา คือวัยรุ่นไม่ทำเรื่องการแปรรูปชา ไม่สืบทอดกิจการจากพ่อแม่ ซึ่งไร่ชาของบ้านเราพ่อแม่สร้างสิ่งที่รักไว้ให้แล้ว คุณจะทิ้งผืนแผ่นดินที่พ่อแม่ทำได้เงินมาเลี้ยงพวกคุณจนคุณมีการศึกษาที่ดี คุณจะทิ้งไปหรอ เวลาเราทำงานในพื้นที่ต้องทำให้เขาเห็นโอกาสในการทำงานจนเห็นผลลัพธ์ ชาวบ้านบางคนมาเจออาจารย์จิ๊บก็เข้ามาขอบคุณ ที่มีส่วนทำให้ลูกเขากลับมาทำงานที่บ้าน แม้เงินอาจไม่ได้เยอะมาก แต่ครอบครัวเขาได้ความสุขในชีวิตคืนมา”
รางวัลการันตี ชาไทยดีมีคุณภาพ
“ต้องขอบอกข้อมูลก่อนว่า สายพันธุ์ชาในประเทศไทยส่วนใหญ่มีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์อัสสัมดั้งเดิม (Camellia sinensis var. assamica) สายพันธุ์ชาจีน (Camellia sinensis var. sinensis) โดยจุดอ่อนของเรา คือ เรามีสายพันธ์ชาไม่หลากหลายเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เมื่อมีโอกาสเข้ามาทำงานเรื่องชาอย่างจริงจังที่สถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จึงพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการชาลองส่งเข้าประกวดในระดับเวทีสากล ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นการพิสูจน์คุณภาพของชาประเทศไทยว่าจะสู้ชาติอื่นได้มั้ย ผู้ประกอบการชาแต่ละคนก็พิสูจน์ให้เห็นว่าประเทศไทยเราได้รางวัลมาตลอดเวลา3 ปี ทั้งในระดับ Grand Gold Prize คล้ายกับการได้แชมป์โลกเรื่องชา และ Gold Prize มีกรรมการจากญี่ปุ่นเคยมาถามว่าอาจารย์จิ๊บมีเทคนิคยังไง เพราะประเทศไทยได้รางวัลมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจารย์ก็บอกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
“แต่ขออธิบายให้ฟังว่า เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญชาของโลก โดยคำพูดของท่านทำให้เรารู้สึกมีแรงลุกขึ้นมาทำงานคือ เธอไม่ต้องคิดว่าชาเขียวที่ดีที่สุดคือประเทศญี่ปุ่น ชาดำที่ดีที่สุดคือประเทศอินเดีย ให้เธอเข้าใจว่าต้นชาที่ปลูกในบ้านเธอมันมีลักษณะคาแรคเตอร์ยังไง เสร็จแล้วเป็นเรื่องของกระบวนการผลิต เธออยากไปดูประเทศไหนเธอบอกฉันมาแล้วฉันจะพาไป
“คือสิ่งที่ท่านสอน ไม่ได้บอกให้เราเดินตามคนอื่น แต่ท่านกำลังบอกว่าให้เรากลับมามองคุณค่าของทรัพยากรในบ้านเรา จากนั้นเอาองค์ความรู้มาพัฒนาหากระบวนการผลิตที่เหมาะสมกับตัวเอง อาจารย์ท่านยังสอนอีกว่า ต่อให้เธอมีเงินซื้อเครื่องจักรราคาเป็น 10 ล้านบาท ซื้อเทคโนโลยีขั้นสูงนำเข้ามา แต่วัตถุดิบต้นทางคุณไม่ดี แล้วคุณจะไปแปรรูปให้มันดีได้อย่างไร ก็กลับมาสะท้อนให้เห็นว่าใช่ เราต้องกลับไปในเรื่องของการบริหารจัดการแปลงปลูกชาให้ดีที่สุด วัตถุดิบที่ดีเมื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปที่ดี แล้วจะได้สินค้าที่มีคุณภาพดี
“สุดท้ายเรื่องของการได้รางวัล พอเราทำงานกับผู้เชี่ยวชาญของโลก ก็กลายเป็นว่าเราเป็นคนที่ถูกเอ็นดูจากคนในวงการชาของโลกไปโดยปริยาย เวลาที่ไปต่างประเทศอาจารย์จิ๊บจึงได้มีโอกาสชิมตัวอย่างชาหลาย ๆ ประเทศ ทำให้บอกได้เต็มปากว่าชาของบ้านเราก็มีคุณภาพดีไม่ต่างกับประเทศอื่นเลย”
เรื่องของเอกลักษณ์ คุณภาพ และคุณค่าที่มีต่อสุขภาพ
“เรื่องของชาไทยในกลุ่มตลาดแมสที่เราดื่มกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าพูดกันตามจริงผลิตภัณฑ์ชาไม่อนุญาตให้เติมสี แต่เหตุผลที่ชาไทยมีสีส้มคือการเติมสีแต่งกลิ่นเข้าไป ให้คิดว่ามันคือเครื่องดื่มที่สดชื่นแก้กระหาย ปัจจุบันผู้ประกอบการหลายเจ้าก็ใช้กระบวนการผลิต โดยเลือกใช้กระบวนการผลิตชาดำให้เกิดสีธรรมชาติแล้วก็มีการปรุงแต่งหรือเติมกลิ่นลงไป ทำให้ชาไทยมีเอกลักษณ์ที่ตราตรึงใจของคนทั้งโลก คือเป็นเครื่องดื่มที่เราทำให้รู้สึกมันหอมหวานสดชื่นอยากดื่ม
“ส่วนกลิ่นหอมนั้นคือกลิ่นวานิลลา เป็นกลิ่นที่คนทั้งโลกคุ้นเคยกับมันมานาน อย่างพวกชานมไข่มุกไต้หวัน ก็จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับชาไทยเพียงแต่เขาไม่ได้เติมสี การแต่งเติมตัวชาของเขามาจากกระบวนการทำชาแดง แล้วปรับปรุงเติมกลิ่นลงไปเช่นกลิ่นบราวน์ชูก้า กลิ่นคาราเมล เป็นต้น เพราะฉะนั้นที่ชาไทยมันโตเพราะเราสร้างจุดขายความแตกต่างของคาแรคเตอร์สินค้า
“ความเป็นจริงชามันให้เรื่องของคำว่า เครื่องดื่มสุขภาพ (Health benefit) โดยผู้ประกอบการหลาย เริ่มสนใจในเรื่องของสารสำคัญที่มีประโยชน์ซึ่งอยู่ในชา แล้วนำมาให้เราวิเคราะห์ เพราะฉะนั้นเมื่อปลายทางเขากำลังตื่นตัว หน้าที่ของเราซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับต้นทาง จึงต้องทำให้ชาวบ้านหรือผู้ปลูกชาตื่นตัว เพื่อทำให้เขากลับมาสนใจวัตถุดิบในประเทศไทย แต่สิ่งที่อาจารย์จิ๊บเจออีกอย่างคือ บ้านเราไม่ค่อยให้ Value หรือให้มูลค่า บ้านเราชอบแข่งขันกันในเรื่องราคาทำของให้ถูก ซึ่งของถูกคุณภาพดีไม่มีในโลก
“เพราะฉะนั้นชาที่คนไทยที่คนดื่มทุกวันนี้มันคือตลาดแมส เราหาความแตกต่างไม่ได้ แต่ถามว่าแล้วอาจารย์จิ๊บจะไปเปลี่ยนทิศทางของตลาดได้ยังไง ก็ต้องสร้างการตระหนักและรับรู้ในสิ่งที่อาจารย์ทำมากับผู้ประกอบการชา คือทำงานส่งประกวดอย่างสม่ำเสมอ ในมุมมองของผู้ประกอบการคือการพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ ในมุมมองของตลาดคือผู้บริโภคก็จะเริ่มหันมามอง คนไทยทำชาได้คุณภาพดีขนาดนี้เลยเหรอ”
สารสกัดจากชานวัตกรรมแห่งอนาคต
“คนที่ทำงานวิจัยต้องสร้างนวัตกรรมที่มีตลาดรองรับคือขายได้จริง เราถึงจะเรียกว่านวัตกรรมหรืออินโนเวชั่น(Innovation) ถ้าทำอยู่ในห้องแล็บไม่มีตลาดขายไม่ได้จริง จะเรียกว่าสิ่งประดิษฐ์หรือหรืออินเวนชั่น (Invention) เราไม่อยากทำของที่เป็นอินเวนชั่น เป็นงานวิจัยที่อยู่บนหิ้งอยู่ในมหาวิทยาลัย ที่สำคัญคืออย่าไปติดกับคำว่าเทคโนโลยีที่ล้ำ ๆไม่อย่างนั้นคือมันจะไม่เกิดการพัฒนาหรือมีตัวสินค้าใหม่ ๆ เราต้องพัฒนาสินค้าด้วยแนวคิดนวัตกรรมและเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สามารถทำได้จริง ขายได้จริง และมีกำไร มันจะส่งไปถึงความยั่งยืนของธุรกิจ
“ด้วยความที่ว่าห้องแล็บของสถาบันเราสามารถวิเคราะห์ในเรื่องของสาระสำคัญต่าง ๆ มีการทดสอบสารสกัดต่าง ๆ เช่น สารคาเทชิน (Catechins) มีผลต่อเซลล์มะเร็งเซลล์ผิวหนัง มะเร็งลำไส้ หรือมีข้อดีอะไรก็ต้องวิจัยและพัฒนากันต่อไป ซึ่งมันมีมูลค่า เมื่อพบกับเกษตรกรอาจารย์จิ๊บพูดกับเขาว่าไม่ต้องตั้งโรงสกัดสารในชา หน้าที่ของคุณคือเตรียมวัตถุดิบเบื้องต้นเพื่อหาอุตสาหกรรมที่รับวัตถุดิบของคุณต่อไป เอาไว้ใช้ในการผลิตสารสกัดก็พอ
“การทำอุตสาหกรรมชาดั้งเดิมของเรา ชาวบ้านทำชาแห้งคุณภาพดีส่งขายคาเฟ่หรือจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป บางทีเราอาจมองข้ามหรือไม่รู้ว่าการผลิตสารสกัดจากชาออกมาตลาดทั้งโลก ในแต่ละปีมีมูลค่าเกือบ 15.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเทศจีนหรือญี่ปุ่นทำมาก่อนแล้ว ยิ่งทั่วโลกตลาดโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ประเทศไทยไม่มีเรื่องนี้เลย กลับนำเข้าสารสกัดจากชาจากต่างประเทศเข้ามา 100% แล้วทำไมเราถึงไม่ใช้วัตถุดิบบ้านเราที่สามารถผลิตได้นำมาทดแทนการนำเข้า แค่เพียง 10% ก็ดีใจแล้ว ให้เงินมันไหลกลับมาประเทศไทยบ้าง”
วงการชาไทยกับอนาคตที่ควรจะเป็น
“วงการชาไทยถ้าให้อยู่ในทิศทางที่ดี ต้องใช้คำว่า Less is More คือทำน้อยแต่ได้มาก เพราะชาไม่ใช่พืชที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศ ชาเลือกที่จะเติบโตเฉพาะบนพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เพราะฉะนั้นการทำของดีมีคุณภาพ ตลาดยังต้องการแม้พื้นที่ปลูกไม่ได้เยอะ
“ทางด้านการแข่งขันในตลาดโลก เราไม่สามารถสู้ผู้ผลิตในแง่ปริมาณอย่างจีน อินเดีย หรือ ศรีลังกา ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือ ทำของให้น้อยแต่มีคุณภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ให้ต่างชาติมาชิมผลิตภัณฑ์ชาของประเทศไทยแล้วได้ของดี ได้สิ่งที่ปลอดภัยต่อการบริโภค เพราะว่าตอนนี้กระแสในเรื่องของเกษตรปลอดภัยอาหารปลอดภัยหรือคำว่า Food Safety ที่เราพูดกันในโลกนี้กระแสมาแรงมาก
“แล้วเรามี DNA ของการผลิตชาในตัวของเกษตรกรที่มีความประณีตละเอียดพิถีพิถัน ซึ่งมักอยู่ในตัวคนไทย ในเรื่องของเกษตรบ้านถือเราเป็นแรงงานชั้นชั้นเลิศที่มีการยอมรับ มันจึงแสดงออกมาจากทักษะที่เราทำออกมา
“ความได้เปรียบอีกอย่างคือ พื้นที่ของบ้านเราไม่ได้ประสบปัญหาในเรื่องของอากาศที่รุนแรงมาก ไม่ร้อนจัด ไม่หนาวจัด ไม่ฝนจัด คือถ้าน้ำเยอะใบชาก็จะจืดจางเวลานำไปแปรรูป ถ้าฝนจัดมีหิมะเกษตรกรจะเก็บใบชาได้ปีละ 1-2 ครั้ง แต่ประเทศไทยเก็บชาได้ 4 รอบต่อปี เพราะฉะนั้นคุณภาพของตัวใบชา วัตถุดิบเริ่มต้นหลักของเราดี เราจึงควรทำชาที่ดีและมีคุณภาพ โดยเน้นไปที่ความปลอดภัยกับผู้บริโภคจะทำให้อุตสาหกรรมชาไทยมั่นคงยั่งยืนค่ะ”
ประวัติการศึกษา ของผศ.ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล
ปริญญาตรี วท.บ. เทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (2542)
ปริญญาโท วท.ม. พัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2546)
ปริญญาเอก ปร.ด.การพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2555)