ยุทธศาสตร์จันทบุรีสร้างชาติ

ยุทธศาสตร์จันทบุรีสร้างชาติ

จังหวัดจันทบุรีตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงามเหมาะเป็นแหล่งการท่องเที่ยว และที่สำคัญยังเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพโดยหากพิจารณาจากโครงสร้างเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2563จังหวัดจันทบุรีพึ่งพาภาคเกษตรกรรมและภาคบริการเป็นสำคัญ โดยมีรายได้หลักมาจากภาคเกษตรกรรมร้อยละ 56 รองลงมาคือภาคบริการร้อยละ 38 และมีรายได้จากผลไม้เขตร้อนและกึ่งร้อนซึ่งมีบทบาทสำคัญถึงร้อยละ 94 ของรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรในจังหวัดจันทบุรี และร้อยละ 77 ในภาคตะวันออก โดยเฉพาะทุเรียนที่เป็นแหล่งผลิตและมีรายได้มากที่สุดในประเทศไทย

ผมได้วิเคราะห์และเสนอมานานแล้วว่า จันทบุรีควรกำหนด Niche จังหวัดเป็น “World Fruit Capital” ซึ่งก็เห็นด้วยกับข้อเสนอผมมานานแล้ว โดยทิศทางของภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมประเทศไทยเป็นชาติมหาอำนาจด้านการค้าผลไม้เมืองร้อนของโลก(World Tropical Fruit Trading Nation) ภาคตะวันออกเป็น “มหานครผลไม้โลกและ จันทบุรีเป็น นครผลไม้ของโลก จากทิศทางดังกล่าว จันทบุรีจึงควรมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลไม้ ที่ครอบคลุมทั่วโลกผมจึงเสนอยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาจันทบุรีให้เป็น “World Fruit Capital” ได้จริงดังต่อไปนี้

1. สร้างรายได้จากผลไม้ตลอดปี (Fruit Diversification)

สถานการณ์ปัจจุบันผลไม้ออกสู่ตลาดในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้มีปัญหาล้นตลาดและราคาตกต่ำทุกปี และเกษตรกรมีรายได้เพียงปีละครั้ง เนื่องจากมีผลไม้ส่วนน้อยที่ออกผลนอกฤดูกาล เพราะการผลิตผลไม้นอกฤดู ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย นอกจากนี้ยังพบว่าผลผลิตเกือบทั้งหมดของผลไม้ที่สำคัญ ถูกส่งออกไปขายให้กับประเทศจีนเพียงประเทศเดียว หากเกิดภาวะวิกฤตที่ท้าทายให้ไม่สามารถส่งผลไม้ดังกล่าวไปจีนตามปกติได้ จะเกิดผลกระทบต่อเกษตรกร และเศรษฐกิจของจังหวัดอย่างมาก

ผมจึงเสนอแนวทางว่า ควรมีการส่งเสริมด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่บังคับให้ผลไม้ออกผลนอกฤดูกาลและมีการเพาะปลูกที่หลากหลาย เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดปีรวมถึงการส่งเสริมการเพาะปลูกผลไม้อื่นที่ออกผลทุกฤดูกาล และร่วมมือกับภาครัฐในการเปิดตลาดผลไม้ใหม่ เป็นต้น

2. สร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้ (Fruit Value Addition)

การขายผลไม้ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในรูปแบบผลไม้สดเกือบร้อยละ 90 ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งเนื่องจากผลผลิตมีน้ำหนักมาก และปัญหาการเก็บรักษาทำให้ต้องเร่งขายผลผลิตให้เร็ว เพื่อไม่ให้สินค้าเสียหาย และเมื่อมีการแข่งขันสูงจะทำให้ราคาขายผลไม้ต่ำลงค่อนข้างมาก

ที่ผ่านมาการแปรรูปผลไม้ยังมีไม่มากและไม่หลากหลาย การแปรรูปผลไม้ที่เป็นความต้องการของตลาดโลกมีอยู่บ้าง เช่น ทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนอบแห้งฟรีซดราย เป็นต้น ผมเสนอว่าจังหวัดควรพัฒนาสวนผลไม้อินทรีย์ เพื่อพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพสูง และสร้างคุณค่าเพิ่มในผลไม้ด้วยการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ที่มีเอกลักษณ์ พร้อมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ และสร้างสินค้าแปรรูปหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มาจากผลไม้ เช่นถ่านดูดกลิ่นจากเปลือกทุเรียน และสร้างคุณค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่นการท่องเที่ยวเกี่ยวกับผลไม้และการเลี้ยงผึ้ง เพื่อผลิตน้ำผึ้งที่มีกลิ่นและรสผลไม้ เป็นต้น

3.ยกมาตรฐานอุตสาหกรรมผลไม้ (Fruit Standard)

เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ส่วนใหญ่ เป็นเกษตรกรรายย่อย มีพื้นที่ปลูกทุเรียน เฉลี่ย 6.2 ไร่ต่อครัวเรือน (2563)[1] จึงมีผลต่อการควบคุมปริมาณ และคุณภาพของผลผลิตปัญหาของการส่งออกทุเรียนไทย คือ การส่งทุเรียนอ่อนซึ่งเกิดขึ้นทุกปีเนื่องจากมีโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้งผลไม้) นอกระบบจำนวนมากข้อมูลในปี 2560 โรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้งผลไม้) ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร (ได้มาตรฐาน GMP) 389 รายได้แก่ ล้งทุเรียน 210 ราย ล้งผลไม้อื่น ๆ 179 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นล้งจีน เพียง 17 ราย ขณะที่ข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้า ระบุว่ามีล้งจีนมากกว่า 1,000 รายรวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปทุเรียน ยังขาดมาตรฐานส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน กระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐานสุขอนามัยส่วนใหญ่เป็นการบริโภคภายในประเทศ

ผมเสนอให้มีการพัฒนาความรู้และความเป็นผู้ประกอบการของเกษตรกร และสวนผลไม้ทุกแห่งให้ได้รับมาตรฐาน (GAP) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) มีระบบตรวจสอบย้อนกลับและให้ตรารับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผลไม้พัฒนาตราสินค้า (Branding) ผลไม้ของไทย

4.จัดโซนการปลูกผลไม้ (Fruit Production Zoning)

เกษตรกรหันมาเพาะปลูกผลไม้ที่มีความต้องการมากขึ้นช่วงปีพ.ศ. 2554-2563 มีการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 หรือ 186,000 ไร่ส่งผลให้ช่วงปี พ.ศ. 2559 – 2563 ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปีและปี 2564 ผลผลิตรวมทั้งประเทศประมาณ 1.24 ล้านตัน ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีนประมาณร้อยละ70 รองลงมาคือ ฮ่องกง และเวียดนามคาดว่าในปี พ.ศ. 2568 ผลผลิตทุเรียนไทยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ83 ทำให้ผลผลิตทุเรียนไทยมากเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน แต่เนื่องจากปัจจุบันมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกทุกเรียนมากขึ้น ทั้งในไทย มาเลเซีย และเวียดนาม โดยเฉพาะมาเลเซียที่เป็นคู่แข่งสำคัญส่งออกทุเรียน ทั้งลูกและแช่แข็ง สู่ตลาดจีนได้แล้ว ซึ่งอนาคตอาจเกิดปัญหาทุเรียนล้นตลาดได้

จันทบุรีควรวางแผนการเพาะปลูกผลไม้และพืชพันธุ์ในระยะยาว โดยคาดการณ์ผลผลิตและความต้องการในตลาดโลกจัดโซนการปลูกผลไม้ให้เหมาะกับสภาพดิน น้ำ และอากาศ รวมถึงตลาดส่งสัญญาณและให้ข้อมูลและมาตรการจูงใจแก่เกษตรกรพร้อมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น ระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำ (Water Grid) เพื่อควบคุมปริมาณการผลิต ไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด ป้องกันความเสี่ยง และสามารถปรับตัวได้ทันในอนาคต

5.พัฒนาตลาดผลไม้จันทบุรี (Fruit Market)

“ล้งจีน” มีบทบาทสำคัญในตลาดส่งออกผลไม้ของไทย มากกว่า 1,090 ราย (ข้อมูลปี 2559) โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกและจังหวัดจันทบุรี มีล้งลำไย 473 รายล้งทุเรียน 556 รายและล้งมังคุด 65 ราย การมีล้งจีนเข้ามาในตลาดช่วยให้เกษตรกรได้รับราคาที่ดีและมีผู้รับซื้อที่แน่นอน พร้อมลดต้นทุนการผลิตผลไม้ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการต่อรองราคาและสัญญาให้เป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรไทย

ผมเสนอแนวทางส่งเสริมการลงทะเบียน และเพิ่มจำนวนล้งในระบบเกษตรผลไม้ และสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรผ่านสหกรณ์ใหม่ (Neo-Cooperatives) เพื่อควบคุมคุณภาพและเก็บภาษีได้เต็มเม็ด มีการจัดตั้งตลาดผลไม้ล่วงหน้า (Fruit Future Market) เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและให้เกษตรกรมีราคาอ้างอิงในการซื้อขายผลไม้ นอกจากนี้ควรพัฒนาแหล่งเงินทุนและประกันภัยผลผลิตผลไม้ และสนับสนุนระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เพื่อคุ้มครองคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย มีการแสวงหาตลาดใหม่ เพื่อเพิ่มการพึ่งพาและเผยแพร่ผลไม้ไทยในระดับสากล และนำเสนอผลไม้ไทยในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการส่งออกระยะไกล รวมถึงการพัฒนาพันธุ์ทุเรียนที่เป็นที่นิยมในตลาดโลก ในท้ายที่สุดควรสนับสนุนการพัฒนาเงินทุนในการพัฒนาธุรกิจ เช่น เงินกู้โดยใช้ผลผลิตในอนาคตค้ำประกันหรือการระดมทุนจากผู้บริโภค รวมทั้งควรพัฒนาระบบประกันภัยผลผลิตผลไม้ในอนาคตอีกด้วย

6.มหาวิทยาลัยผลไม้ (Fruit University Consortium)

เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ในจันทบุรี เราควรสร้าง "มหาวิทยาลัยผลไม้" (Fruit University Consortium) โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดจันทบุรี โดยที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีความเชี่ยวชาญทางผลไม้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถใช้ความรู้และเทคโนโลยีในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ได้ และส่งเสริมด้านการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งโฟกัสที่ความเชี่ยวชาญของตน เช่นเกษตรเน้นการเพาะปลูกผลไม้ การตลาดเน้นการตลาดผลไม้ การสาธารณสุขเน้นด้านโภชนาการและสุขอนามัยผลไม้ และศิลปวัฒนธรรมเน้นศิลปวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงผลไม้ เพื่อจะช่วยเพิ่มความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านผลไม้ของจันทบุรีอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

ผมมองว่าหากภาครัฐมีการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้จันทบุรีเป็น “นครผลไม้ของโลก”ได้สำเร็จ จะช่วยเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมผลไม้ในพื้นที่ ที่สามารถสร้างสรรค์คุณค่าและออกสู่ตลาดโลกได้ เพื่อสร้างการอยู่ดีกินดีและมีความสุขให้คนไทยในภาคตะวันออก และพื้นที่อื่นได้ยั่งยืนในอนาคตต่อไปครับ

 


[1]คำนวณเองจาก ปี 2563 จำนวนเนื้อที่เก็บเกี่ยว 195,126 ไร่ (น.13) และ มีครัวเรือนที่เกี่ยวข้อง 31,277 ครัวเรือน (น.16)

http://www.chanthaburi.go.th/files/com_news_devpro/2021-10_3d35f8fe821076f.pdf

จังหวัดจันทบุรีตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงาม