Repetition in Arts สร้างศิลปะพิจารณาความทุกข์ ปรานต์ ชาญโลหะ

Repetition in Arts สร้างศิลปะพิจารณาความทุกข์ ปรานต์ ชาญโลหะ

ภาพพิมพ์เป็นศิลปะที่มีอายุเก่าแก่ มีกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยใช้แม่พิมพ์เป็นหลักถ่ายทอดภาพลงบนกระดาษหรือวัสดุอื่นๆ เหล่าศิลปินใช้งานภาพพิมพ์เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวประเด็นทางสังคม หรือทดลองเทคนิคใหม่ๆ แม้ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานก็ตาม

อาจารย์ปรานต์ ชาญโลหะเป็นอีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะภาพพิมพ์ ได้แสดงเรื่องราวของตัวเองผ่านการสร้างสรรค์และทดลองเทคนิคใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง ปัจจุบันนอกจากทำงานศิลปะแล้ว ชีวิตอีกด้านหนึ่ง ท่านยังเป็นอาจารย์ประจำสอนวิชาเอกภาพพิมพ์ กระบวนการภาพพิมพ์ร่องลึก ของคณะศิลปะวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อีกด้วย

วัยเด็กกับศิลปะ

“ผมเกิดและเติบโตในซอยแสงเพชร ย่านตลาดบางแค –เพชรเกษม อยู่ในครอบครัวใหญ่ตอนเด็กเรียนหนังสือชั้นอนุบาลในซอยแสงเพชร จำได้ว่ามียายเป็นคนคอยดูแล จากนั้นผมก็เข้าเรียนต่อชั้นประถมที่โรงเรียน อัสสัมชัญธนบุรีผมสนใจศิลปะตั้งแต่ตอนเด็กๆ ประมาณ ป. 2 – ป.3 จำได้ว่ามีบ้านลุงคนหนึ่งใกล้บ้าน ลุงแกทำว่าวจุฬาขายและลูกชายของลุงก็เรียนศิลปะ พี่คนนี้เขาชอบวาดรูป ผมก็ไปชอบนั่งดูพี่เขาวาดรูปเกือบทุกวัน ก็เริ่มชอบวาดรูปมาตั้งแต่ตอนนั้น พออายุประมาณ10 ขวบ ด้วยความที่เราชอบขีดๆ เขียน ๆ ก็วาดรูปพระพุทธรูปรูปรัชกาลที่ 5 ที่อยู่บนหิ้งพระพอวาดเสร็จก็เอามาให้คนในครอบครัวดู

“ตอนหลังครอบครัวของผมย้ายบ้าน ได้มาเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนเพชรรัชต์ในพระอุปถัมภ์ ฯ ย่านประชาชื่นหลังเรียนจบชั้นมัธยมผมก็ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยอาชีวศิลป์ศึกษา แถวศรีย่านตอนนั้นก็เริ่มชอบเขียนรูปสีน้ำ แต่ไม่ได้สนใจเรื่องภาพพิมพ์เป็นพิเศษ พอเรียนจบปวช. สอบเอ็นทรานซ์ไม่ติด ก็ไปเข้าเรียน ปวส.ที่วิทยาลัยช่างศิลป ก็เริ่มได้มีโอกาสเรียนภาพพิมพ์ แต่ผมกลับมาสอบเอ็นทรานซ์ เริ่มต้นเรียนปริญญาตรีใหม่อีกครั้ง  ที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้นผมก็เรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศิลปากร พอเรียนจบก็ได้มีโอกาสเป็นอาจารย์พิเศษ สาขาวิชาภาพพิมพ์ คณะศิลปวิจิตรแล้วก็มาเป็นอาจารย์ประจำสอนนักศึกษาที่คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มาจนถึงปัจจุบัน”

 

เรื่องของภาพพิมพ์

“ตอนที่ผมเรียนคณะจิตรกรรมฯ ช่วงตอนขี้นปี 3 ก็เลือกเรียนในภาควิชาภาพพิมพ์ ตอนเรียนผมชอบทำเทคนิคภาพพิมพ์โลหะ ผมชอบทำแม่พิมพ์ชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาพิมพ์ประกอบรวมกัน บางชิ้นก็ฉลุแม่พิมพ์ ต่อมามีการทดลองทำกระดาษเองซึ่งใช้เส้นใยเสื้อผ้าคนในครอบครัวมาผสมกับกระดาษสา  ซึ่งเป็นการทดลองหาอะไรที่เป็นไปได้มาเรื่อย ๆ

“โดยหลักการแล้วศิลปะภาพพิมพ์ที่เรียนกันแบบดั้งเดิม มีอยู่ด้วยกัน 4 กระบวนการ คือ1. ภาพพิมพ์ผิวนูน 2. ภาพพิมพ์ร่องลึก 3. ภาพพิมพ์พื้นราบ 4. ภาพพิมพ์ตะแกรงไหม

“จริง ๆ แล้วจุดมุ่งหมายหลักของภาพพิมพ์ มันออกแบบมาให้สามารถผลิตสิ่งพิมพ์ได้ในจำนวนที่เยอะแล้วคนเข้าถึงได้ง่ายงานภาพพิมพ์จึงมีการแบ่งเป็น 2 ทางคือเรื่องศิลปะที่เราเรียนกันอยู่ กับสิ่งที่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวันจากสินค้าจำนวนมากอย่าง เสื้อผ้า หนังสือ หรือสิ่งพิมพ์อย่างอื่นอีกหลากหลาย เทคนิคต่าง ๆ ก็พัฒนาเกิดขึ้นมาใหม่ตามยุคสมัย

“สิ่งที่ทำให้ผมชอบงานภาพพิมพ์อันดับแรกคือ ศิลปะภาพพิมพ์มันต้องคิดต้องวางแผนขั้นตอนการทำ คือการถอดแบบจากสเก็ตซ์มาลงบนแม่พิมพ์ ว่าเราจะเริ่มต้นทำสิ่งใดก่อนหลัง โดยที่เรายังไม่สามารถเห็นผลงานจริงได้เลยนอกจากจะทำแม่พิมพ์เสร็จ แล้วเข้าสู่กระบวนการพิมพ์ออกมา ภาพจึงปรากฏให้เห็น อันนี้เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมชอบ แต่ความจริงแล้วศิลปะทุกอย่างดีหมดแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน”      

“ส่วนมากคนจะชอบงานศิลปะที่ผลสำเร็จ แต่ผมมีความรู้สึกว่าระหว่างทางที่เราทำ มันมีอะไรให้เราต้องค้นหาอะไรบางอย่างที่มันเป็นคำถามกับชีวิตเรา ศิลปะของผมอาจจะเป็นการทดลองอะไรเล็กๆน้อยๆเพราะว่าถ้าย้อนกลับไปเรียนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยผมก็พยายามต่อยอดจากสิ่งที่ได้เรียนจากครูอาจารย์ ค้นหาแนวทางในการทำงานภาพพิมพ์ในรูปแบบเฉพาะของผมเองคือผมอาจจะไม่ได้เก่งแบบเพื่อน ๆ หรือคนอื่นที่ทำเทคนิคไปจนถึงที่สุด แต่ผมจะค้นหาอะไรที่มันที่มันเหมาะกับผมในช่วงเวลานั้น ๆ ”

ผลงานสะท้อนสังคม

“ภาพด้านหลังของผมคืองานที่ผมทำในช่วงสถานการณ์โควิด คนในภาพเป็นพวกบุคคลไร้บ้าน หรือเป็นแม่ค้าพ่อค้าตามท้องถนนที่อาศัยพื้นที่สาธารณะในการหาเลี้ยงชีวิต ผมมีความรู้สึกว่าพวกเขาได้รับผลกระทบมากจริง ๆ จึงนำมาสร้างเป็นผลงานในชุดนี้”

“ส่วนในทางเทคนิคมันเป็นการทดลองต่อยอดมาเรื่อย ๆ ในรูปแบบเฉพาะตัวผมใช้เทคนิคกระบวนการ Photo Copy Transfer โดยใช้กระดาษรียูสกับเครื่องอิงค์เจ็ท และใช้น้ำในการทำให้หมึกอิงค์เจ็ทที่ติดอยู่บนกระดาษ Reuse ที่ทำหน้าที่เหมือนแม่พิมพ์ เคลื่อนรูปที่ปริ๊นออกมาลงสู่กระดาษที่เป็นตัวผลงาน  แล้วทำการพิมพ์ซ้ำในลักษณะนี้ไปเรื่อย ๆ จนบุคคลที่ปรากฏอยู่ในผลงานมีลักษณะที่ทับซ้อนกันไม่ชัดเจน เหมือนเราค่อย ๆ ทำลายจุดโฟกัสสายตาไปเรื่อย ๆ คือผมใช้หลักการผลิตซ้ำของภาพพิมพ์ แต่พิมพ์ซ้ำ ๆ มันอยู่ในงานชิ้นเดียว งานของผมจึงไม่มีจำนวนตามแบบผลงานภาพพิมพ์แบบทั่วไป ซึ่งผมคิดว่ากระบวนการเหล่านี้สอดคล้องกับแนวคิดในการทำงานของผม ทั้งตัวกระดาษ Reuse ที่ไม่มีคนสนใจแล้ว กระบวนการพิมพ์ซ้ำแบบง่าย ๆ ไม่สิ้นเปลือง ”

ศิลปะกับความทุกข์

 “คุณค่าของศิลปะในมุมมองผมนะครับ ศิลปะมันคือการสะท้อนความคิดของคนที่สร้าง แต่สำหรับผมมันเหมือนการที่ผมพิจารณาความทุกข์ที่ผมค่อย ๆ คิดเองเออเองของผมนี่แหละครับแนวคิดหลัก ๆ ของผมเลยคือทำเรื่องความทุกข์ของชีวิต ซึ่งผมมองว่ามันเป็นปัญหาของผมในแต่ละช่วงเวลา เช่นสมัยก่อนตอนเด็ก ๆ ผมมีความทุกข์จากครอบครัว มันตรงกับคำพูดของพระพุทธเจ้าตรัสถึงการพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ พอผมโตขึ้นมาทางความคิด มันก็ขยับขึ้นมาเป็นความทุกข์ของคนอื่นหรือปัญหาของสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ

“ความทุกข์ของคนเราไม่เท่ากัน มันมีทุกข์มากทุกข์น้อย แต่ละคนมีความทุกข์เป็นของตัวเองจากหน้าที่หลายอย่างในชีวิต ส่วนผมมีหน้าที่ต้องดูแลคุณแม่ที่ชราและเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว ครอบครัว หรือแม้หน้าที่ในการสอนลูกศิษย์การรับผิดชอบงานต่าง ๆ มันมีเหตุการณ์มากมายที่ก่อให้เกิดความทุกข์ แต่บางครั้งมันอาจเป็นแค่ความเหนื่อยแต่ผมก็พยายามทำจิตใจให้สบาย ความสุขของผมตอนนี้ขอเพียงแค่อยู่บ้านสะอาด เงียบ ๆ นั่งจิบกาแฟตอนเช้ามองต้นไม้น้อยใหญ่ที่แฟนผมปลูก ให้ขนมหมาบางแก้วที่เลี้ยงแค่นี้ก็พอแล้ว ความจริงแล้วความสุขไม่ได้หายากนัก

“ส่วนเป้าหมายในอนาคตของผมคือทำงานในแต่ละชุดให้เสร็จ งานแต่ละชุดมันอาจจะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน บางชุดก็ยังทำอยู่บางชุดมันก็เหมือนยังไม่เสร็จ เพราะมีการทำงานเกี่ยวกับรูปบุคคลในครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้วหรืองานชุดเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทำเป็นสเก็ตซ์บุ๊คเสร็จไปแล้ ประมาณ 100 กว่าหน้ากับที่ยังเป็นงานวาดเส้นอยู่อีก 200 กว่าหน้า ถามว่าเสร็จไหมมันก็ยังไม่เสร็จเพราะผมยังอยากที่จะหยิบมาทำอีก แต่ตลอดเวลาที่เราเดินทางมันทำให้เราได้ไอเดียใหม่ ๆ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าข้างหน้าผมจะเป็นยังไง แต่ก็จะทดลองทำงานไปเรื่อย ๆ ครับ”

เรื่องราวของอาจารย์ปรานต์ ชาญโลหะ ทำให้เราได้เห็นการเดินทางของชีวิต การค้นหาความหมายในหลายด้านจากการดำรงชีวิตกับงานศิลปะผ่านผลงาน ที่ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างสรรค์งานศิลป์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความจริงแท้แห่งความทุกข์ของชีวิต ที่ปกคลุมในมุมมืดของสังคมไทยมาโดยตลอด

----------------------------------------------------------------------------

Profile

การศึกษา

ปวช. วิทยาลัยอาชีวศิลป์ ศรีย่าน

ปริญญาตรี  ที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ศิลปบัณฑิต ภาพพิมพ์)

ปริญญาโท ที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ศิลปมหาบัณฑิต ภาพพิมพ์)

ภาพพิมพ์เป็นศิลปะที่มีอายุเก่าแก่ มีกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยใช้แม่พิมพ์เป็นหลักถ่ายทอดภาพ