Stress & Force การออกแบบสถาปัตยกรรม ต้องเรียนรู้ในเรื่องของโครงสร้าง ซึ่งเป็นพื้นฐานความรู้ที่สำคัญ ที่สถาปนิกนักออกแบบพึงมี
การเรียนศึกษาในภาควิชาสถาปัตยกรรมนั้น ไม่ใช่การศึกษาในเรื่องของการออกแบบและวางผังอย่างเดียว แต่การออกแบบสถาปัตยกรรมนั้น จักต้องเรียนรู้ในเรื่องของโครงสร้าง และการรับน้ำหนักของตัวอาคารอีกด้วย ซึ่งเป็นพื้นฐานความรู้ที่สำคัญ ที่สถาปนิกนักออกแบบพึงมี เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของการออกแบบในการลดทอนหรือเพิ่มเติมงานออกแบบที่ไม่กระทบกับการรับน้ำหนักของอาคาร รวมไปถึงการประสานงานกับทางฝ่ายวิศวกรรม ในขั้นตอนการก่อสร้างต่อไป
การศึกษาในเรื่องของโครงสร้างนั้นจะอิงตามหลักฟิสิกส์ โดยจะศึกษาในเรื่องค่า Stress และ Force ในวิชาของฟิสิกส์ขั้นพื้นฐาน และจะไปศึกษาในเรื่องของค่า Shear และ Bending ในส่วนของวิชาโครงสร้างอาคาร (Structure) แต่ก่อนหน้าที่จะเรียนเรื่องโครงสร้างอาคารลงลึกนั้น จะมีกิจกรรมหนึ่ง ซึ่งให้เหล่านิสิตนักศึกษาได้ทำการ Workshop ทดลองทำออกมา นั่นก็คือการสร้างสะพานรับน้ำหนักจากเส้นสปาเกตตี
ผมไม่ค่อยแน่ใจในเรื่องของกิจกรรมนี้สักเท่าไรนักว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ทำการสอนในประเทศไทยนั้นปัจจุบันจะมีกิจกรรมนี้หรือไม่ แต่ต่างประเทศนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นประเพณีกันเลยทีเดียว การสร้างสะพานด้วยเส้นสปาเกตตีนั้น จะเป็นการสร้างสะพานข้ามระยะขนาด 60 เซนติเมตร สะพานที่วางนั้นต้องวางพาดได้อย่างมั่นคง จะต่อสะพานเป็นรูปแบบคานอย่างไรตามแต่ต้องการ แต่สิ่งที่กำหนดคือเส้นสปาเกตตีต้องความหนาพอเหมาะ และจำนวนไม่เกิน 4 กำมือหรือ 4 กล่อง จะใช้การติดกาว หรือผูกด้วยเชือกด้ายก็สามารถกระทำได้ (เว้นเทปกาว)
จากนั้นจะทำการทดลองการรับน้ำหนักโดย นำสะพานที่สร้างเสร็จ มาวางพาด และใช้วิธีการเกี่ยวน้ำหนักโดยใช้ถัง ห้อยลงมาใต้สะพาน แล้วค่อย ๆ เติมทรายลงไป แต่เดิมกำหนดน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม หากสะพานใดสามารถรับน้ำหนักได้ นักศีกษาเจ้าของผลงานก็จะได้คะแนน A+ ไปเป็นคะแนนเก็บในการ Work Shop ครั้งนี้
สิ่งที่ดูเหมือนง่ายกลายเป็นไม่ง่าย เพราะเส้นสปาเกตตีมีความเปราะ การเอามามัดรวมกันเป็นคานแท่ง ก็สามารถรับน้ำหนักได้เพียงประมาณหนึ่ง การจะประกอบแต่ละส่วนเป็นคานนั้นจะต้องใช้เส้นสปาเกตตีนำมาเลื่อยตัดประกอบเป็นโครงส้รางที่เป็นคานมั่นคงแข็งแรงที่สามารถถ่ายและกระจายน้ำหนักได้ ถึงจะได้ผลที่สุด แต่นั่นก็จะกินเวลางานในส่วนอื่น และบางครั้งสะพานสปาเกตตีก็เสร็จไม่ทันการทดสอบ(กาวไม่แห้ง) ดังนั้นใครที่สามารถผ่าน Workshop ในครั้งนี้ได้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ผลการทดสอบนั้นก็เป็นไปตามคาด ส่วนใหญ่นั้นเมื่อเติมทรายถ่วงน้ำหนักไปประมาณหนึ่งก็ล้มครืนลง ที่ทำมาทั้งคือหักไม่เหลือชิ้นดี แต่จะมีส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถทานรับแรงโหลดของกระป๋องทรายได้ แต่ประเด็นหัวใจของงาน Workshop ครั้งนี้ไม่ได้เป็นการแข่งว่าใครจะสามารถทำสะพานที่แข็งแรงหรือรับน้ำหนักได้มากที่สุดออกมาได้ แต่เป็นการที่ให้นักศึกษาได้เข้าใจในเรื่องของโครงสร้างอาคารที่สำคัญ การมีอาคารที่ดี คือมีอาคารที่แข็งแรง สามารถทนทานกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้
แต่อาคารที่มีโครงส้ราง ที่ใหญ่แข็งแรงนั้น บางครั้งไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องของรูปลักษณ์ดีไซน์ที่สวยงาม การมีโครงสร้างที่ดีนั้นคือการใช้โครงสร้างที่ผ่านงานคำนวณในส่วนที่พอเหมาะไม่น้อยไปไม่มากไป แต่บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่มากที่สุด ในเรื่องการรับน้ำหนัก และตอบโจทย์ในหน้างานดีไซน์ ไม่มากไปจนเสียรูปลักษณ์ และไม่น้อยไปจนขาดความแข็งแรงนั่นเองครับ
เสียดายที่โปรแกรม Workshop ดี ๆ แบบนี้ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นในบ้านของเรา หากมีขึ้นเชื่อได้ว่าไอเดียเด็กไทยของเรานั้นไม่น้อยหน้ากว่าที่อื่นแน่ ๆ เป็นสิ่งที่คนเลยวัยกลางคนอย่างผมคอยเฝ้าดูอยู่นะครับ