วรยุทธ กิตติอุดม ทุกสรรพสิ่ง ล้วนเริ่มต้นจากที่บ้าน
เมื่อเราพูดถึง “บ้าน” คนบางกลุ่มอาจมองว่าบ้านเป็นเพียงแค่สถานที่พักอาศัย คนอีกกลุ่มอาจมองว่าบ้านไม่ใช่สถานที่แต่คือผู้คน แม้เราจะนิยามความหมายไว้แตกต่างกันเพียงใด แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า บ้านคือหนึ่งในรากฐานสำคัญที่ส่งผลให้เราเติบโตมาเป็นเราในทุกวันนี้ เช่นเดียวกับที่คุณกอล์ฟ วรยุทธ กิตติอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท รุ่งกิจ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท ซีเนกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด จากเด็กขนอิฐในวันวาน เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นและรักในครอบครัว สู่การก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารธุรกิจร้อยล้าน โดยมี “บ้าน” เป็นส่วนหนึ่งที่คอยสนับสนุนเขาอยู่เสมอ
Intro
ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ก่อนที่จะเป็นบริษัท รุ่งกิจ เรียลเอสเตท จำกัด คุณปู่ของคุณกอล์ฟได้ริเริ่มกิจการรับเหมาก่อสร้าง ต่อยอดขึ้นมาสู่หมู่บ้านจัดสรร และค่อย ๆ เติบโตไปพร้อมกับเหล่าสมาชิกในครอบครัวที่เข้ามารับหน้าที่ต่าง ๆ ดูแลบริหารกิจการจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งปัจจุบัน คุณกอล์ฟและเหล่าพี่น้องถือเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ที่เข้ามารับช่วงต่อบริหารกิจการ “รุ่งกิจ” ในฐานะ “อีกหนึ่งผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์โซนตะวันออก" นั่นเอง
“ตอนนี้ผมอายุ 47 ปี อยู่ในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาประมาณ 20 ปีพอดี พื้นเพของผมเริ่มมาจากธุรกิจครอบครัว ซึ่งไม่คิดมาก่อนว่าจะต้องมาทำหน้าที่สานต่อตรงนี้ ย้อนกลับไปตอนอายุ 14 ผมก็เป็นเด็กธรรมดาทั่วไป ตอนนั้นที่บ้านทำกิจการรับเหมาก่อสร้าง แล้วก็เริ่มทำธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรในนาม ‘รุ่งกิจวิลล่า’ อยู่มาวันหนึ่ง คุณพ่อกับคุณปู่ก็ปลุกให้ผมนั่งรถกระบะไปทำงานด้วยกัน เป็นรถกระบะตอนเดียว มีสองแถวอยู่ข้างหลัง เราไปแบบไม่รู้เรื่องรู้ราวเลย เพราะเขาอยากให้เห็นว่าทุกวันนี้ที่บ้านทำงานแบบนี้นะ ลำบากนะ ทุกคนหน้าดำกันหมดเลยนะ เป็นงานก่อสร้างที่ต้องอยู่กับแดดกับลม ผมก็ไม่ชอบนะ มันดูร้อน ไม่มีแอร์ มีแต่ดินแต่ทราย แต่คุณพ่อบอกว่านี่คืองานที่เราทำอยู่ ดูไว้ อีกหน่อยเราต้องมาช่วยนะ”
When I was just a little boy
“ตอนเด็ก ๆ ที่ผมถูกพาไปที่ไซต์งานกับคุณพ่อ งานแรกที่ผมถูกมอบหมายให้ทำตอนนั้น คือไปดูว่าคนงานเขาก่ออิฐก่อปูนกันอย่างไร คุณพ่อก็ฝากฝังคนงานที่ชื่อสำรวย ด้วยความที่สำรวยเชื่อฟังก็เลยใช้ผมไปตักปูนใส่ถังแล้วเดินไปส่งให้คนงานเพราะเราทำอะไรไม่เป็น ผมก็ไปทำงานตักปูนอยู่ทุก ๆ เสาร์อาทิตย์ ไม่ได้หยุดอยู่บ้าน ไม่ได้ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน ๆ และด้วยความที่คุณปู่ผมเป็นคนประหยัด ความประหยัดคือความสำเร็จของเขา เขาก็จะสอนให้เราคอยเอาไม้ที่ใช้แล้วมาถอนตะปู เคาะ ๆ ให้มันพอตรงได้ แล้วเก็บเอาไปใช้ในพาร์ทที่มันไม่ได้สำคัญ ทำอยู่อย่างนั้นประมาณปีกว่า ๆ จนมือหยาบมาก จับพลั่ว จับจอบ แบกไม้มือเปล่า ตากแดดจนตัวดำ แต่ด้วยความที่เริ่มสนุก เราก็เลยไม่ได้สนใจเท่าไหร่
“ผมคิดว่าการทำงานในวันนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จ เพราะว่ามันทำให้เราได้เห็นโลกอีกใบ มองเห็นวิธีชีวิตของคนหาเช้ากินค่ำ ตอนนั้นเมื่อสมัย 30 กว่าปี ถ้าจำไม่ผิดค่าแรงคนงานก่อสร้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 70 บาทเองครับ”
Transcript
“หลังเรียนจบม.3 ผมได้ไปเรียนปวช. เรียนเกี่ยวกับวิชาสถาปัตย์ ตอนนั้นเพื่อนแถวบ้านชวนไปเรียน ด้วยความที่เราชอบขีด ๆ เขียน ๆ อยู่แล้วก็เลยรู้สึกชอบ พอที่บ้านเห็นว่าเราเรียนเขียนแบบ เขามองว่ามันต่อยอดได้ก็เลยเริ่มวางตัว จับคู่เรากับลูกพี่ลูกน้องอีกคนที่เขาเรียนวิศวะให้ไปที่ไซต์งานก่อสร้างด้วยกัน พอเรียนไปได้ซักประมาณ 2 ปี เห็นเพื่อนไปสอบเทียบกัน ผมเลยไปสอบเทียบบ้าง ชีวิตผมก็เริ่มเข้าสู่ช่วงพลิกผันครับ
“ผมเป็นคนทำอะไรแล้วค่อนข้างที่จะทำมันจนถึงที่สุด หลังสอบเทียบ ผมก็ไปเอนทรานซ์ เข้าเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความที่ตอนนั้นมีโทรศัพท์มือถือรุ่นหนึ่งกำลังดัง เพื่อนของผมคนหนึ่งเขาก็มาเอาโชว์ว่าโทรศัพท์เครื่องนี้โทรฟรีได้นะ แล้วก็เอาการ์ดอะไรไม่รู้ว่าเสียบ ๆ ต่อคอมพิวเตอร์ มันเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายนะครับ แต่พอเห็นแบบนั้นมันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราสนใจเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี พอเขาบอกว่าอยากเข้าคณะนี้ที่ธรรมศาสตร์ เราก็เลยตามเขาไปเรียนด้วย”
First Jobber
“พอเข้าไปเรียนที่ธรรมศาสตร์จนจบ ตอนนั้นเด็กจบวิทย์คอมกำลังเป็นที่นิยม เงินเดือนคนละ 15,000 แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะไปทำงานอะไรเพราะสมัครงานไม่เป็น พอดีลูกค้าคนหนึ่งที่โครงการของคุณพ่อเป็น HR ที่เดอะมอลล์ บอกว่าลองไปสมัครงานที่เอ็มโพเรียมดูซิ เขากำลังต้องการคน ผมก็ไปสมัครตาม แต่พอไปถึงเขาบอกไม่มีแผนกคอมครับ มีแค่แผนกช่างไฟ เงินเดือน 6,000 กว่าบาท
“ตอนนั้นที่บ้านเริ่มมีฐานะแล้วครับ บ้านอยู่แถวรามคำแหงขับรถ BMW ไปทำงานที่เอ็มโพเรียม มันค่อนข้างไกล แต่เราก็ไปทำงานเป็นช่างไฟอยู่ประมาณปีกว่า ๆ ทำหน้าที่นั่งมอนิเตอร์ ดูระบบต่าง ๆ ภายในห้างว่าเปิดปิดเป็นเวลาหรือเปล่า มีอะไรเสียบ้างไหม ทำตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึงประมาณ 2-3 ทุ่ม ถือเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ชีวิตในอีกแบบ เรียนรู้ชีวิตของพนักงาน เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา เรียนรู้เรื่องระบบโครงสร้างต่าง ๆ เป็นอันจบชีวิตวัยรุ่น ก้าวเข้าสู่ชีวิตจริงของคนทำงานครับ
“จากนั้นเพื่อนผมก็ได้ชวนให้ไปอยู่บริษัทญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ เกี่ยวกับระบบควบคุมต่าง ๆ ภายในองค์กร ผมทำตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ หรือ Project Coordinator เป็นคนวางระบบให้เขา คอยประสานงานทำความเข้าใจกับแต่ละแผนก เพราะสมัยนั้นคนยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ผมทำอยู่ประมาณเกือบ 3 ปี คุณแม่ก็อยากให้กลับมาช่วยงานที่บ้าน เพราะคุณพ่อรับช่วงต่อมาจากคุณปู่แล้ว”
Homecoming
“ผมคิดว่าเรื่องของ Generation Gap เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกครอบครัว และถือเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการทำงานครับ ด้วยความเป็นลูก ต่อให้เราใหญ่มาจากไหน แต่กลับมาบ้าน เราก็คือลูก ทำไมลูกหลานถึงไม่อยากทำธุรกิจต่อจากคนรุ่นก่อน เพราะการคุยเรื่องงานแบบลูกกับพ่อมันคุยกันยาก องค์กรที่เขามองเห็นเราเป็นแค่ลูกแค่หลาน เราจะทำอย่างไรให้เขาหันมาเชื่อมาฟังเราดีนะ
“ตอนกลับมาดูแลธุรกิจครอบครัวช่วงแรก เราเห็นเลยว่าบริษัทไม่มีระบบระเบียบอะไรเลย เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มสร้างระบบ คุณพ่อคุมงาน คุณปู่คุมบัญชี ตัวเราเองก็ไม่ได้เก่งอะไรมากมาย เป็นแค่เด็กอายุ 20 กว่า ๆ ในสายตาผู้ใหญ่ เพื่อที่จะได้พูดคุยกับคนงาน หัวหน้าคนงาน ผู้รับเหมา พ่อ และญาติคนอื่น สิ่งที่จะทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือจากบุคคลภายในองค์กรก็คือการที่เราต้องเรียนรู้ ทำให้ได้ และต้องเก่งทุกอย่างครับ
“ตอนนั้นมันเป็นช่วงที่องค์กรเริ่มขยายด้วย เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการรีแบรนด์ดิ้ง ต้องหาสารพัดเรื่องราวมาพูดคุยเพื่อให้คนในครอบครัวมั่นใจ ต้องอธิบายให้คุณพ่อฟังซึ่งเขาเป็นคนเก่งอยู่แล้ว เป็นกรรมการผู้จัดการของตระกูลที่บริหารเก่ง เราจะทำอย่างไรให้คนเก่งเขาเชื่อ มันก็ต้องทำการบ้านมาพอสมควร จนในที่สุดก็เปลี่ยนจาก ‘รุ่งกิจวิลล่า’ มาเป็น ‘อาร์เค พร็อพเพอร์ตี้’ เพื่อสอดรับการตลาดในช่วงเวลานั้น เปิดบริษัทใหม่เป็น ‘รุ่งพัฒนา พร็อพเพอร์ตี้’ ขึ้นมาครับ
“เมื่อก่อนทุกอย่างในบริษัทต้องประหยัดงบหมด จากเดิมการออกแบบเราใช้ดราฟแมนแทนสถาปนิก แบบนั้นไม่เอาแล้วนะ ผมก็ไปหาสถาปนิกมากฝีมือมาช่วยเขียนแบบให้ ตอนแรกเขาปฏิเสธแต่เราก็แวะไปเยี่ยมเยียน แวะซื้อขนมไปฝากจนเขาใจอ่อน เขียนมาให้แค่แบบเดียว ซึ่งเราเอาไปใช้กับโครงการแรก ‘อาร์เค ออฟฟิศ พาร์ค’ ด้วยความที่ทุกอย่างมันใหม่หมด ผมก็เลยตั้งใจกับโครงการนี้มาก มุมานะทำงาน สร้างโฮมออฟฟิศประมาณ 4 ชั้น บนที่ดินราว 8 ไร่ได้ประมาณ 80 ยูนิต ที่ดินไม่เสียเศษเลยครับ จำได้ว่าที่แปลงนี้ทำให้ผมภาคภูมิใจที่สุดโปรเจกต์หนึ่งเลย เราเก็บข้อมูลมาดี เรารู้ว่าจะขายใคร จังหวะที่ดี ภายในปีเดียวได้กำไรมาประมาณร้อยล้าน นี่คือเครดิตของเราครับ เพราะมีคุณพ่อให้โอกาส ช่วยสนับสนุนเราทุกอย่าง แต่ผมกินเงินเดือนแค่ละเดือนละ 20,000 บาทเองนะครับ เพราะเขาถือว่าเราอยู่บ้าน คงไม่น่าจะใช้เงินเยอะ
“ผมคิดว่าชีวิตคนเราประสบความสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะว่าเรามีโอกาส ใครให้โอกาสคนนั้นคือผู้มีพระคุณของเรา เราควรจะต้องดูแลเขา ตอบแทนเขา รอยัลตี้เป็นคำที่ผมระลึกอยู่เสมอครับ เวลาทำโปเจกต์อะไรก็แล้วแต่ ผมมักจะนึกถึงผู้มีพระคุณ ไม่ว่าจะเป็นคุณปู่ คุณพ่อ คุณแม่ ทุกคนที่คอยสนับสนุน เช่น ตอนเริ่มต้นเขียนแบบบ้าน ผมเอาชื่อคุณแม่มาตั้งเป็นชื่อแบบ ซึ่งโชคดีที่บ้านแบบนั้นขายดี ถือเป็นเกียรติมากครับ เป็นบุญที่ช่วยสนับสนุนเรา ประกอบกับนี่เป็นแบบบ้านที่คิดมาดีที่สุดด้วย เราเอาชื่อคุณแม่มาใช้ก็ยิ่งต้องตั้งใจเป็นพิเศษครับ”
Challenge
“ผมว่าทุกอย่างในชีวิตมันมีแรงกดดันและความท้าทายอยู่เสมอ เช่น ความท้าทายที่เกิดขึ้นจากครอบครัว ด้วยความที่ตระกูลของผม คุณปู่มีหลานอยู่ประมาณ 22 คน ผมถือเป็นคนที่แทบจะไม่มีตัวตนอยู่ในนั้น การที่เราจะมีตัวตน ตอนเด็ก ๆ เราไม่ได้โดดเด่นอะไร ทั้งเรื่องเรียน เรื่องกีฬา เพื่อที่จะมีตัวตนขึ้นมาเราต้องยอมรับบางสิ่งและเสียบางอย่างไปครับ
“ช่วงที่เริ่มโตขึ้นมา ผมคิดว่าความท้าทายมันอยู่ที่เราเปลี่ยนกลุ่มการแข่งขันไปเรื่อย ๆ มันเหมือนเป็นการสร้างเป้าหมายในแต่ละช่วงของชีวิต เรามีไอดอล มีคนที่เราชื่นชมความคิดความสามารถของเขา คนที่ทำให้เรามีเป้าหมาย ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา เพื่อที่จะขับเคลื่อนตัวเองไปข้างหน้าอยู่เสมอ”
Just Do It
“ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จขึ้นในชีวิต เรื่องของวิธีคิดถือเป็นสิ่งสำคัญครับ ทำไมเราถึงคิดว่าอันนี้เหมาะสมสำหรับเรา ทำไมอันนี้เราถึงทำมันออกมาได้ดี ผมเคยเล่าให้ลูกน้องฟังว่า ถ้าอยากรู้ว่าเราควรที่จะต้องทำอะไร ให้ลองคิดดูว่าถ้าวันหนึ่งเราไม่มีใคร ไม่มีอะไรเลย แล้วจะใช้ชีวิตมันได้อย่างไร อันดับแรกเลยผมลองสมมุติว่าถ้าไม่มีคุณพ่อ คุณพ่อเสียไปตอนอายุ 20 กว่า ๆ เราจะทำอย่างไร ซึ่งเราจะรู้ในทันทีว่าเราต้องทำอะไรบ้าง
“เรื่องของการดำเนินชีวิต ผมเห็นวัยรุ่น เห็นใครหลายคนยังค้นหาตัวตนของตัวเองไม่เจอ อันนี้น่าจะเกิดผลกระทบต่อแนวทางการใช้ชีวิตพอสมควร แต่สำหรับผม ด้วยความที่สถานการณ์มันบังคับและแรงกดดันของครอบครัว มันเลยทำให้เราต้องเลือกว่าจะทำความนิสัยความชอบของตัวเอง หรือเลือกเดินตามวิถีของครอบครัว วันนั้นถ้าเราเลือกทางของเรามันอาจจะไม่สำเร็จก็ได้ครับ ตอนนั้นผมเลือกมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เลือกธุรกิจครอบครัวนี่แหละ พอตัดสินใจแล้วก็ไม่คิดหันหลังย้อนกลับไป และเลือกมองหาความสุขจากจุดนี้ไปเลย ความสุขที่เกิดขึ้นในระหว่างทางที่มันกำลังดำเนินไปนี่แหละครับ
“วันนี้เรามีทุกอย่างเพียงพอแล้ว มันอาจเจอพิษโควิด เจอปัญหาต่าง ๆ มันอาจไม่ได้เติบโตก้าวกระโดดเหมือนอย่างที่ผ่านมา มีขึ้นมีลง มีช่วงเวลาที่เราคิดว่าควรจะไปต่ออย่างไรได้บ้าง มีช่วงที่ทำให้ทบทวนว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ให้กับองค์กรนี้คืออะไร ชีวิตก็เป็นแบบนี้ครับ ทำในสิ่งที่ควรทำ”
Service
“ปัจจุบันเรามีประมาณ 20 โครงการที่อ่อนแอร์อยู่ ทำมาแล้วประมาณ 8-9,000 ยูนิตในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีครบทั้ง ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม โฮมออฟฟิศ บ้านดี่ยว และคอนโดมิเนียม โครงการของเราตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ โซนตะวันออกครับ
“ถามว่าทำไมเราไม่ขยายพื้นที่ จริง ๆ ก็อยากขยายนะครับ แต่เราคำนึกถึงเรื่องของคุณภาพ เรื่องการดูแล ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นบ้านที่ถูกลูกค้าฟ้องกันเยอะมาก มีบริษัทใหญ่โดนฟ้อง การที่คนซื้อบ้านมาแล้วต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาลกันมันคงถึงที่สุดในความรู้สึกแล้ว ยอมเสียเงินเป็นแสน ๆ ไปฟ้องมันคงไม่ใช่เรื่องปกติ แต่บ้านของเรายังไม่เคยโดนฟ้องครับ ไม่เคยต้องไปขึ้นศาลเลย สิ่งนี้ทำให้เรารู้ว่าการทำบ้านให้คนอยู่ต้องมีคุณภาพที่ดี เราพยายามรักษาสิ่งนี้เอาไว้ ทุกอย่างต้องมีมาตรฐาน เราคำนึกถึงเรื่องของอายุการใช้งาน คนมาอยู่แล้วจะพบปัญหาไหม เพื่อให้บ้านของเรามีคุณภาพที่ดีครับ”
Vision
“ยุคนี้มันมันเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลง เราต้องปรับตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ควรยึดติดอย่างใดไปตลอด สิ่งที่เราควรทำคือการต้องรีบเปลี่ยน ศึกษาผู้บริโภคแล้วเอามาปรับมาใช้ เขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร หยิบปัญหามาเป็นจุดขาย จุดไหนที่เรารู้สึกว่ามันไม่ดี เราต้องเอามาปรับแก้ให้มันไม่มี นี่คือสิ่งที่เราจะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ครับ
“ผมมีแพลนเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมครับ แต่ว่าตอนนี้ยังทำไม่ได้ เพราะเรื่องที่อยู่ในเทรนด์ต้นทุนมันจะสูง ฉะนั้นกำลังซื้อจะไปตกอยู่ที่กลุ่มคนมีรายได้ดี คนธรรมดาจับต้องไม่ได้เลยเพราะมันแพงเหลือเกิน แต่เรากำลังคิดหาทางว่าบางทีอาจทำให้มันบาลานซ์กันได้นะ คือคนทำธุรกิจเราต้องไม่ควรที่จะคิดเพียงแค่จะแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว
“สำหรับนักอสังหาฯ ผมว่าการทำงานควบคู่ไปกับเรื่องของกฎหมายมันไม่ยากนะ เราแค่ต้องทำตามกฎ ทั้งเรื่องของที่ดิน จำนวนบ้าน เรื่องการระบายน้ำ อื่น ๆ ถึงกฎหมายเตรียมบังคับใช้ ถ้าเขาขอความร่วมมือมา เราก็ต้องรีบให้ความร่วมมือ เพราะว่าเราเห็นว่าปัญหาเหล่านั้นมันเกิดขึ้นได้จริง ถ้ามีอะไรที่เราสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้น เราก็ยินดี
“แพลนในการทำธุรกิจ 3-5 ปีข้างหน้า อันดับแรกน่าจะเป็นเรื่องของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ยุคนี้คนซื้อหุ้นเขาไม่ได้ต้องการว่าคุณเข้ามาในตลาดแล้วไปทำข้อตกลงนั่นนี่ เขาต้องการว่าคุณเข้ามาแล้วคุณทำอะไรให้ประเทศนี้ได้บ้าง ทำอะไรให้คนอื่นได้บ้าง อันนี้สำคัญครับ แล้วก็เรื่องของคุณภาพบ้าน บ้านต้องมีมาตรฐาน ผู้คนสามารถจับต้องได้ เข้าไปอยู่อาศัยแล้วมีความสุข บ้านอยู่ได้นาน คงทน ไม่เสียหายง่าย ไม่ซ่อมบ่อย ผมว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในประเทศนี้ได้ครับ”
Everything Everywhere Begins at Home
“สำหรับผม บ้านคือสถานที่ที่ทุก ๆ คนมาอยู่ร่วมกัน เราจะทำยังไงให้บ้านมันอยู่แล้วมีความสุขได้ เพราะวิถีของคนไทยคือการที่บ้านนี้มีผู้ใหญ่ มีพ่อแม่ มีลูกหลาน อาศัยอยู่ในบ้านและมีความสุขกันทุก ๆ คน
“ความหมายของคำว่าบ้านคือการอยู่ร่วมกัน คิดดูนะครับว่าวันหนึ่งเราประสบความสำเร็จจากข้างนอก จากอะไรก็แล้วแต่ พอหันหลังกลับมามองมันไม่มีใครอยู่กับเราเลย อันนี้เรียกว่าชัยชนะบนความว่างเปล่า ชนะตัวคนเดียว ความสุขที่แท้จริงคือการกลับมาบ้านแล้วมีคนร่วมแบ่งปันช่วงเวลานั้น ทุกคนอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ไม่มีจะมีปัญหาหรือเรื่องอะไรก็ตาม กลับบ้านแล้วมีคนร่วมแบ่งปันมันคือรากฐานของความสุขที่แท้จริงครับ กลับมาครับ เกิดอะไรขึ้นกลับบ้านไว้ก่อน”
Outro
“เมื่อก่อนมันจะมีอยู่ประโยคหนึ่งที่ผมใช้เป็นแรงขับเคลื่อนในการทำสิ่งต่าง ๆ แต่ไม่รู้ว่าทุกวันนี้มันยังสามารถใช้ได้อยู่หรือเปล่า คือ ‘Survival of the fittest’ ถ้าเราจะทำอะไร ขอให้เราสามารถเอาตัวรอดผ่านไปให้ได้ ฝ่าฟันทุกอุปสรรคไปให้ได้ ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายขนาดไหน เราต้องนำพาตัวเอง ครอบครัว และคนรอบข้างผ่านพ้นทุกปัญหาไปให้ได้ครับ”
Special Scoop #185
Text: Roekdee
Photo: Arnon Tippawan