โดดเดี่ยว แต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๓๘ (๑) ณ ซึ่งดวงใจสถิต
กลับมาจากอเมริกา...ฉันยังอยู่ห้องเช่าของเจ๊อิ้งที่อาคารสงเคราะห์ห้วยขวา เพราะความสะดวกแบบอเมริกันที่ฉันใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานนับปี ทำให้รู้สึกอึดอัดกับห้องแคบ ๆ ที่ร้อนระอุ รำคาญกับเสียงรถยนต์ที่วิ่งผ่านทั้งกลางวันและกลางคืน และเสียงทะเลาะของชาวบ้านข้างห้องที่ได้ยินเป็นประจำทั้งกลางวันและกลางคืนทนไม่ได้ที่จะต้องนอนในมุ้งกางกันยุงที่บินว่อนรอบห้อง
หลายวันที่ฉันจะต้องปรับตัวโดยบอกกับตัวเองว่า...นี่คือห้วยขวาง ห้องเช่าของฉัน ที่นั่นคืออเมริกัน วอชิงตัน อเมริกา ฉันเป็นคนไทยฉันไม่ใช่คนอเมริกัน ความเดือดร้อนที่อยู่ หรือจะเรียกให้ถูกต้องก็ต้องว่าที่ซุกหัวนอนในตอนกลางคืน เมื่อตื่นก็ต้องรีบไปทำงาน ตลอดทั้งวันไม่เคยอยู่บ้าน อยู่กับที่ทำงาน อยู่กับงาน จนไม่อยากจะกลับบ้าน เสาร์อาทิตย์ก็อยู่ที่โรงพิมพ์หวังค่าเบี้ยเลี้ยง 20 บาท ที่จะได้ในวันหยุด
ฉันเหมือนมนุษย์บ้างานจนเพี้ยนเจ้านายเรียกฉันว่า...ไอ้ติบ้างาน
ความเดือดร้อนที่ว่าก็คือ กรมประชาสงเคราะห์มีโครงการจะรื้อบ้านไม้เพื่อสร้างเป็นตึกที่เรียกว่า “แฟลต” เป็นแฟลตที่ทางการเพิ่งทำสำเร็จจากชุมชนดินแดง โดยรื้อบ้านไม้อาคารสงเคราะห์ทั้งหลายที่สร้างมาตั้งแต่สมัยก่อน พ.ศ. 2500 ตามนโยบายไล่คนจนอยู่ในเมืองให้มาอยู่ดินแดง ซึ่งสมัยนั้นเรียกได้ว่าเป็นชานเมืองของกรุงเทพ คนจนเป็นจำนวนนับหมื่นจึงมารวมกันอยู่ที่นี่ จนทำให้เกิด “กองขยะ” ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพ จนกระทั่งมีคำเรียกคนจนที่มารวมกันอยู่ที่นี่ว่า... “คนกองขยะดินแดง”
ความสำเร็จของกรมประชาสงเคราะห์ที่สร้างคือสูงสาม...สี่ชั้นบนพื้นที่ของบ้านไม้ ย้ายชาวบ้านไม้ขึ้นมาเป็นชาวบ้านตึก หรือจากชาวบ้านมาเป็นชาวแฟลต ทำให้มีโครงการจะรื้อบ้านไม้อาคารสงเคราะห์ห้วยขวางต่อ เพื่อสร้างเป็นแฟลตในรูปแบบเดียวกับที่ทำสำเร็จเสร็จสิ้นจากดินแดง สิ่งแรกที่กรมประชาสงเคราะห์ทำคือสำรวจว่า ในห้องแถวแต่ละห้องแต่ละหลังมีคนอยู่อาศัยจำนวนเท่าไหร่ เพื่อมอบห้องแฟลตให้ครอบครัวละหนึ่งห้อง แต่เพราะว่าบางครอบครัวมีคนอยู่เป็นจำนวนมาก กรมประชาสงเคราะห์ก็ให้สิทธิกับ “ครอบครัวที่สอง” สามารถให้ได้ห้องเช่นกัน
“กูแจ้งประชาสงเคราะห์ไปแล้วว่า ไอ้เปี๊ยกเป็นครอบครัวที่สอง” เจ๊อิ้งบอกเมื่อฉันรู้ว่ามีการสำรวจของทางการ
“อ๊าว!! แล้วผมล่ะเจ๊”
“มึงไม่มีสิทธิเพราะมึงเช่าห้องกูอยู่” เจ๊ให้เหตุผลที่บอกกับเจ้าหน้าที่
“แล้วไอ้เปี๊ยกละ มันไม่ได้อยู่ที่นี่”
“เออ...ถึงมันไม่อยู่ แต่กูก็จะต้องให้มันมีสิทธิ”
“สิทธิอะไรกัน” ฉันเถียงเจ๊ด้วยความรู้สึกที่ได้รับการแนะนำจากอเมริกาว่าสิทธิ และเสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิต
“สิทธิของกูเป็นเจ้าของบ้าน มึงเป็นคนเพียงคนเช่าห้องกูอยู่ไง”
เป็นช่วงระยะเวลาที่สับสน ทำให้รู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรใหม่ ตั้งแต่เด็กก็ถูกพ่อแม่ไล่ออกจากบ้าน พอโตใหญ่ไม่มีบ้านต้องเช่าบ้าน...เช่าห้องเขาตลอดมา ตอนนี้ก็คงจะต้องถูกไล่ออกจากห้องเช่า ชีวิตวกวนอยู่เพียงเท่านี้เมื่อไหร่จะมีที่อยู่เป็นของตัวเองเหมือนกับเขาเสียที
ในปีนั้นได้รู้จัก “มล.ทัศนีย์ เกษมสันต์” นางแบบชื่อดังในสมัยนั้น เธอเป็นคนบ้านแตกพ่อแม่แยกกัน เธอมีชีวิตไม่แตกต่างไปจากฉันเราจึงเข้าใจกัน และรักกันอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาไม่นานเราก็ตกลงใจที่จะอยู่ร่วมกันในห้องเช่าเดือนละ 200 ของเจ๊อิ้ง และมีความหวังร่วมกันว่า สักวันหนึ่งซึ่งจะต้องไม่ไกลห่างเราจะต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง
เราเริ่มต้นด้วยการอดออมรายได้ที่เรามีน้อยนิด จากเงินเดือนที่ออกบ้างไม่ออกบ้างของฉัน และเงินเดือนของเธอที่ทำงานกับบริษัทเครื่องสำอางที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในยุคนั้น
ฉันมีกล่องไม้ขนาดทุกวันเราจะเอาเงินที่เหลือจากการใช้มาเก็บไว้ในกล่องแห่งความฝัน ที่มีบ้านแห่งความจริงให้ได้
ในกล่องจึงมีทั้งเศษสตางค์และเศษแบงค์ ทุกเดือนฉันจะรวบรวมเศษเงินเหล่านี้เอาไปฝากที่ธนาคารออมสิน เปลี่ยนเศษเงินเป็นตัวเลขในสมุดธนาคาร เริ่มตั้งแต่พันบาทแรก...หมื่นบาทและในที่สุดมันก็ได้ครบหนึ่งแสนบาทได้อย่างอัศจรรย์ใจแต่มันเป็นความจริง
เป็นเวลานานนับปีที่เราอยู่ด้วยกัน อดออมและอดทนด้วยกันและก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องแต่งงานเสียที แต่การแต่งงานจะต้องใช้จ่ายและสิ้นเปลือง เราไม่ต้องการเอาเงินที่เอาไว้ซื้อบ้านและที่ดินมาใช้ แต่เราก็ได้พบผู้ใหญ่ใจดีที่เมตตาเรา ท่านเป็นนักประพันธ์ที่เราเรียกท่านว่า “พี่แมน สุขิติ” ชื่อเป็นผู้ชายแต่ท่านเป็นผู้หญิงวัยกลางคน ท่านกล่าวอย่างเมตตากับเราว่า “พี่มองน้องสองคนด้วยความเห็นใจในความรักและการต่อสู้ของเธอ พี่ยินดีจะช่วยจัดงานแต่งงานให้เธอ”
=“พี่แมน...ช่วยราวกับว่าเราเป็นลูกของเธอเองนับตั้งแต่ติดต่อสถานที่แต่งงานให้ เป็นวิลล่าเล็ก ๆ ซึ่งในยุคนั้นคำว่า “วิลล่า” ยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนเท่าไหร่นัก
“วิลล่า ฟลอล่า” เป็นชื่ออิตาลี ซึ่งอาจจะหมายถึง “คฤหาสน์ดอกไม้”
แต่ที่นี่นอกจากขายดอกไม้แล้วก็มีอาหารฝรั่งง่าย ๆ ขายด้วย ร้านขายดอกไม้และขายอาหารแห่งนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นร้านแรกในประเทศ นอกจากเลือกสถานที่ให้เราแล้ว “พี่แมน” ยังเลือกพราหมณ์ที่จะมาทำพิธีสมรสให้กับเราด้วย “พราหมณ์วาสุเทพ” แห่งสำนักพราหมณ์เสาชิงช้าเป็นพราหมณ์หลวง เจ้าพิธีในการแต่งงานทั้งหมด ซึ่งนับว่าเป็นมงคลแก่ชีวิตคู่ของเรา อย่างที่คนในวงการหนังสือพิมพ์และวงการความงามจะต้องมองการแต่งงานของเรายิ่งใหญ่ แต่แท้จริงมันเป็นสิ่งยิ่งใหญ่แบบเล็ก เพราะถึงอย่างไร เราก็ยังคงอยู่ห้องเช่าเล็ก ๆ ในอาคารสงเคราะห์ห้วยขวางต่อไป มันคือเรือนหอแท้จริงที่เรามี
สันติ เศวตวิมล บรรณาธิการอาวุโส นักเขียนรางวัล “นราธิปประพันธ์พงศ์” ๒๕๖๕