ชัยโรจน์ มหาดํารงค์กุล การเดินทางของภาพถ่าย
เรารู้จักท่านชัยโรจน์ มหาดํารงค์กุล ในฐานะกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท บริษัท คอสโม กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) ซึ่งทําธุรกิจหลากหลายอาทิ โรงงานผลิตหน้าปัดนาฬิกา ตัวเรือนนาฬิกา สายนาฬิกา ฯลฯ จัดทําบรรจุภัณฑ์ ของมีค่าคุณภาพสูงให้กับแบรนด์เนมชื่อดัง รวมทั้งธุรกิจ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
นอกจากเรื่องของธุรกิจแล้ว ท่านชัยโรจน์ ยังมีชื่อเสียงเรื่องการถ่ายภาพ เป็นช่างภาพมือรางวัลระดับโลก กวาดรางวัลมาแล้วมากมายในประเทศและต่างประเทศอาทิ รางวัลถ้วยพระราชทานชนะเลิศประเภทภาพถ่าย ดิจิตอล จากการแข่งขันถ่ายภาพทั่วประเทศ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2543 และรางวัลดาว 5 ดวง จากสมาคมถ่ายภาพ แห่งอเมริกา (P.S.A.) ในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับโลก รวมถึงติดอันดับ World Top Ten หลายครั้ง
ย้อนเวลาผ่านเลนส์
หลังจากทําการถ่ายภาพมาทั้งชีวิต คว้ารางวัลการประกวดมาแล้วมากมาย ท่านชัยโรจน์ ก็เปิดโอกาสให้ เหล่าบรรดาสื่อมวลชน และผู้คนที่สนใจได้เข้าชมภาพถ่ายของตัวเอง ในนิทรรศการ “ย้อนเวลาผ่านเลนส์” (Traversing Through The Lens) ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA) และที่หอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ทั้ง 62 ภาพที่จัดแสดงล้วนมาจากประสบการณ์ชีวิตตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี ผ่านภาพถ่ายสไตล์ “Pictorial Art” ซึ่งถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ภาพที่หาชมได้ยาก เพราะมีเรื่องราวมากมายตั้งแต่ วิถีชีวิต สังคม ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชมตลอดงาน
“การจัดงานแสดงภาพนี้เกิดมาจาก ลูกสาวผม (เกรซ มหาดํารงค์กุล) บอกว่าในงานวันเกิดของผมอายุ 84 ปี จะจัดนิทรรศการภาพถ่ายให้ ผมคิดว่าก็ดีเหมือนกันคนจะได้รู้ เพราะภาพถ่ายของผมมีอยู่มากมาย ซึ่งคนรุ่นหลังไม่รู้ว่าภาพที่ผมถ่ายนั้น มันกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว ไม่สามารถย้อนเวลาคืนมาให้เราถ่ายได้อีก จะทําให้เหมือนเดิมอีกกี่ครั้งก็ทําไม่ได้”
เกิดมาเพื่อการถ่ายภาพ
ท่านชัยโรจน์ เป็นลูกชายคนสุดท้องของครอบครัวมหาดํารงค์กุล ในยุคเริ่มต้นของบริษัท ศรีทองพาณิชย์ จํากัด ทําธุรกิจเกี่ยวกับนาฬิกาในประเทศไทย ซึ่งครอบครัวในเวลานั้นมีฐานะพอที่จะส่งท่านชัยโรจน์ในวัยเด็กไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษได้
“สมัยนั้นครอบครัวผมเป็นตัวแทนจําหน่ายขายนาฬิกา ซึ่งจากหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 จบลงวงการนาฬิกาก็เปลี่ยนไป คือไม่จําเป็นต้องมียี่ห้อ ขอแค่เป็นนาฬิกาที่เดินปกติก็สามารถขายได้แล้ว โดยพี่ชายคนที่สองของครอบครัว คือคุณดิลก ท่านไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อซื้อนาฬิกากลับมาขายส่งให้ร้านค้าต่าง ๆ ในกรุงเทพ ช่วงนั้นผมเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชันบางรัก อีก 3 ปี ทางครอบครัวจะส่งผมไปเรียนต่อประเทศอังกฤษ ผมจึงอยากได้กล้องถ่ายรูปที่ดี แต่พี่ชายผมไม่เคยถ่ายภาพแล้วไม่สนใจถ่ายภาพ ถามว่าอยากได้กล้องอะไรผมตอบว่าก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมจึงไปถามอาจารย์ ตั๊กเม้ง ซึ่งทางครอบครัวผมก็เป็นลูกค้าประจํา แล้วคุณพ่อผมก็สนิทกันมาก”
อาจารย์ตั๊กเม้ง เป็นเจ้าของสตูดิโอวิจิตรจําลอง ย่านสี่พระยา ที่มีชื่อเสียงเป็นหนึ่งในช่างภาพระดับตํานานยุคแรก ๆ ของประเทศไทย ที่ถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 และเชื้อพระวงศ์รวมถึงชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย อย่างจิม ทอมป์สัน โดยในวันหยุดท่านชัยโรจน์จะเข้าไปช่วยงานอาจารย์ตั๊กเม้ง อย่างสม่ำเสมอ ทําให้ได้เรียนรู้วิชาพื้นฐานการถ่ายภาพ จนมีโอกาสได้พบกล้องที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นของอาจารย์ตั้กเม้ง
กล้องรุ่นดังกล่าวคือ Leica รุ่น3G ซึ่งท่านชัยโรจน์อยากได้กล้องรุ่นนี้มากแต่อาจารย์ ตั๊กเม้ง บอกว่ามันมีราคาแพง ต้องมีเลนส์หลายเลนส์สลับสับเปลี่ยน แต่ถ้าอยากได้กล้องก่อนไปประเทศอังกฤษอาจารย์ตั๊กเม้งแนะนําให้ซื้อรุ่น Standard 50 mm. แทน หลังจากนั้นท่านชัยโรจน์จึงกลับไปขอให้พี่ชายซื้อกล้องรุ่นนี้ทันที เพราะต้อง เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์อยู่แล้ว แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องสอบให้ได้ที่ 1-5 ท่านชัยโรจน์จึงรับปากและสามารถทําสําเร็จ จึงได้กล้องตัวนี้เป็นของขวัญ
“เมื่อผมไปประเทศอังกฤษเข้าโรงเรียนประจํา ที่นั่นมีล็อกเกอร์ให้ใช้ แต่เป็นกุญแจสมัยโบราณใครก็สามารถเปิดได้ก็กลัวว่าจะถูกขโมย บางทีต้องเอากล้องไปใส่ใต้ฟูกบ้างเพราะว่า นักเรียนประจําต้องปูที่นอนเอง เงินที่เรามีแต่ไม่มากก็ซ่อนไว้ใต้ฟูก ผมเริ่มถ่ายภาพตั้งแต่อยู่โรงเรียนประจํา จนถึงมหาวิทยาลัย ผมก็สมัครเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่ London University แล้วผมชอบเรื่องศิลปะ จึงเรียนเพิ่มเติม Saint Martin's School of Art ที่นั่นสอนเกี่ยวกับศิลปะทุกแขนง ตั้งแต่ แฟชั่น การออกแบบ บ้านรถยนต์ แก้วน้ำ หรือเครื่องใช้อื่น ๆ ผมเรียนการถ่ายภาพ Portrait ,Pictorial Art, Recording Photography ผมจะถ่าย Recording Photography เพื่อบันทึกเหตุการณ์ แต่ Pictorial Art ก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่งของการถ่ายภาพเช่นกัน”
“ผมถ่ายภาพมาตลอดจนมีโอกาสแสดงงานครั้งแรก ที่ร้านอาหารชื่อดังแห่งหนึ่ง ผมจัดภาพแสดงที่นั่นมีนายกสมาคมแทบทุกสมาคมมาให้กําลังใจ หนังสือพิมพ์ ก็มาถ่ายภาพลงข่าวเรื่องศิลปวัฒนธรรม หลังจากแสดงภาพจบเจ้าของร้านพอใจมาก บอกผมว่าทางร้านต้องการขอซื้อภาพทั้งหมดเอาไว้ประดับร้าน คุณชัยโรจน์ ไม่ต้องเอากลับไปแล้ว เพราะร้านมีผนังสําหรับใส่กรอบภาพ ผมก็ขายหมด แต่ไม่กล้าขายในราคาแพงเอาแค่ค่าอัดภาพทําเฟรมกรอบรูปแล้วก็บวกค่าใช้จ่ายที่มี นั่นเป็นครั้งแรกที่ขายภาพ และแสดงภาพนิทรรศการด้วย
“หลังจากนั้นผมก็เข้าไปเป็นสมาชิกของสมาคมถ่ายภาพ 3 สมาคม 1.สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2.สมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ 3.สมาคมถ่ายภาพสยามคัลเลอร์สไลด์ ก็ได้เพื่อนที่มีงานอดิเรกเดียวกัน ผมก็ทํางานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ พอถึงวันศุกร์ก็เดินทางไปต่างจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงราย ออกเดินทางตั้งแต่ตอนเย็นไปถึงเชียงรายอีกวัน แล้วที่นั่นมีช่างภาพท้องถิ่นที่พวกเราติดต่อก่อนหน้าให้พาไปถ่ายภาพ ซึ่งได้ภาพที่สวยงามมาก คือชาวเขาสมัยก่อนแต่งตัวด้วยหมวกเครื่องประดับ ที่สวยสะดุดตาคน บางที พวกเราต้องซื้อเต็นท์เพื่อไปนอนใกล้กับชาวเขา เพราะเริ่มถ่ายภาพตั้งแต่เช้าถึง 11 โมง หลังจากนั้นกินข้าวจนบ่าย 2 ก็ถ่ายต่อถึง 6 โมงเย็น
“พวกเราไปอยู่กับเขาเพื่อศึกษาวิถีชีวิตตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงเย็นเขาทําอะไรบ้าง อย่างการทํากับข้าวในกระต๊อบ ซึ่งไม่มีอะไรมาก บางที่ขุดหลุมเอาก้อนหินวาง เอากระทะวาง ก็เป็นความสวยแบบหนึ่ง แต่ตรงนั้นมันมืดต้องใช้แสงช่วย เราต้องใช้ Reflector สะท้อนแสงเข้าไปที่ Subject หรือแบบของเรา หลังจากกินข้าวเสร็จ ผู้หญิงออกไปซักผ้าเราก็ตามไปดู แต่ที่ซักผ้ามีน้ำ เราต้องถามล่ามที่จ้างว่า นอกจากตรงนี้มีลําธารที่อื่นไหม เขาก็พาไปดูว่าแบ็คกราวด์ข้างหลังซึ่งเป็นแบ็คกราวด์ ที่เราต้องการเวลาชาวเขาซักผ้าแสงจะเข้ามาพอดีรึเปล่า เมื่อเราเลือกสถานที่ได้แล้ว ก็บอกชาวเขาไปซักผ้าตรงนี้ พวกเราก็จะได้ภาพ”
นอกจากนี้ยังมีวิถีชีวิตชาวเขาในด้านอื่น ๆ ให้ท่านชัยโรจน์และเพื่อนได้ติดตามไปถ่าย อาทิ การเลี้ยงสัตว์ การทําอาหาร เรียกได้ว่าในสมัยนั้นได้นําวิถีชีวิต ของชาวเขา ที่ไม่เคยถูกถ่ายทอดออกไปสู่โลกภายนอก เนื่องจากต่างประเทศ นั้นไม่มีความหลากหลายทางธรรมชาติและวัฒนธรรมเหมือนประเทศไทย ทําให้ภาพชุดนี้เมื่อออกไปสู่สารธารณชน จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
ภาพถ่ายมือรางวัล
“เมื่อเราได้ภาพที่ดี ผมจึงส่งประกวดในประเทศไทย ผมได้ถ้วยพระราชทานมากที่สุดคนหนึ่ง จนกระทั่งเพื่อนที่ถ่ายภาพรุ่นเดียวกันและที่อาวุโสกว่าผมมากระซิบบอกผมว่า ไปเป็นกรรมการเถอะจะไปเอารางวัลมากมายจนไม่มีความหมายทําไม ตั้งแต่ตอนนั้นผมก็เป็นกรรมการตัดสินแต่คุณ วรนันท์ ชัชวาลทิพากร (ศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ ด้านภาพถ่าย) บอกกับผมว่า เราไปประกวดต่างประเทศกันดีกว่า
“การส่งภาพไปประกวดต่างประเทศ อาจจะทําให้เรามีความสนุกสนานมากกว่าเก่า ตั้งแต่นั้นผมบอกกับตัวเองว่าไม่เลวเหมือนกัน ผมก็สมัครไปเป็นสมาชิก Professional Photographers of America เป็นสมาคมจัดประกวดถ่ายภาพทุกปี ในเดือนมกราคม ถึงธันวาคม จาก 121 ประเทศทั่วโลก ครั้งแรกผมส่ง 4 ภาพ พอส่งไปก็ตกใจว่าภาพของผมได้รางวัลที่ 1 ซึ่งก็มาศึกษาดูว่าทําไมคนอื่นที่ไม่ได้รางวัลภาพของเขาเป็นยังไง ผมเข้าใจว่าเรื่องของวัฒนธรรม ศาสนา เทศกาล คนจังหวัดต่าง ๆ มันน่าสนใจสําหรับชาวต่างประเทศ แต่คนที่อยู่ประเทศไทยนั้นเห็นจนชิน อย่างการถ่ายจีวรพระสีเหลืองสะดุดตาสําหรับชาวต่างประเทศมาก การแต่งกายการฟ้อนรําที่จังหวัดสุโขทัยก็ดี จังหวัดภาคเหนือต่าง ๆ ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน
“ภาพของผมอยู่ในท้อปเท็น ที่ได้รับรางวัลสูงสุด ก็ทําให้มีกําลังใจที่จะถ่ายภาพให้ดีขึ้น ผมประกวดจนกระทั้งได้ 5 Star ของ PSA (Photographic Society of America) ซึ่งยากมากที่จะได้ ในเมืองไทยมีอยู่ 2 คนคือคุณวรนันท์ กับผมเท่านั้น”
ภาพที่ประทับใจ
“ภาพที่ผมประทับใจมากอยู่ในสมัยที่ใช้กล้องดิจิตอลแล้ว คืองานประชุมเอเปค พ.ศ.2546 ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านอนุญาตให้เรือสุพรรณหงส์ออกแล่นตอนกลางคืนจากเหนือไปใต้ งานวันนั้นมีช่างภาพมืออาชีพจากทั่วโลกตามประมุขของประเทศนั้น ๆ มาถ่ายด้วย เรือออกจากสมาคมทหารเรือไปพระราชวังดุสิตมหาปราสาท นอกจากเรือสุพรรณหงส์ แล้วยังมีเรือสําคัญและเรือพระที่นั่งอื่น ๆ
“ผมปรึกษากับคุณ วรนันท์ ว่าเราจะให้สปีดชัตเตอร์หน้ากล้องและ ISO เท่าไหร่จึงจับภาพนี้ได้ คือต่างคนต่างไม่รู้เพราะไม่เคยถ่ายสิ่งที่เคลื่อนไหวในเวลากลางคืนมาก่อน ความยากคือต้องให้ความชัดที่ลึกจากเรือไปถึงดุสิตมหาปราสาท ผมตัดสินใจใช้ ISO สูงสุด f-Stop เล็กที่สุด โดยใช้สปีดชัตเตอร์สูง คือถ้าได้ก็ได้ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เมื่อเรือสุพรรณหงส์ เข้ามาที่ในเฟรม ผมก็กดชัดเตอร์ตลอดเพราะไม่มีเวลามาดูว่าภาพเป็นอย่างไร กดชัดเตอร์จนเรือออกจากเฟรม ก็มีเรือพระที่นั่งลําอื่นไหลเข้ามาก็ถ่ายเช่นเดียวกัน จนจบงานก็กลับ บ้านเอารูปใส่คอมพิวเตอร์ปรับแสงสีต่าง ๆ
“พอถึงวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ทุกฉบับลง กลับไม่มีภาพเรือสุพรรณหงส์เลย ตอนนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้นก็แปลกใจว่าทําไมไม่มีภาพเรือสุพรรณหงส์ ตามธรรมดาต้องอยู่หน้าหนึ่ง ก็มีการถามเข้ามาที่สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ว่ามีใครถ่ายภาพนี้ได้บ้าง ผมก็บอกว่าผมถ่ายภาพนี้ได้แต่ไม่รู้ว่าใช้ได้รึเปล่า ผมเอาไปให้สมาคม แล้วสมาคมตอนนั้นคุณ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เป็นนายกสมาคม ก็ให้ท่านเอาไปให้ท่านรัฐมนตรี ท่านก็ดีใจมาก เขาถามผมว่าขายเท่าไหร่ ผมไม่เคยขายภาพเลย ตั้งแต่ขายตอนแรกที่เจ้าของร้านอาหารซื้อไป แต่ภาพนี้ผมบอกท่านรัฐมนตรีไปว่า 5 แสนบาท ก็พอ แต่ความจริงท่านรัฐมนตรีบอกว่า ถ้าคุณชัยโรจน์ต้องการเป็นล้านบาทผมยังต้องซื้อเลย ภาพนี้ก็เข้าไปอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศเป็นภาพประวัติศาสตร์
“นอกจากนี้สมาคมนักข่าวต่างประเทศในประเทศมาซื้อภาพ ผมก็ขายไป 2 แสนบ้าง ขายได้รวม ๆ แล้วเป็นล้านบาท ก็เป็นที่ภาคภูมิใจ เพราะภาพนั้นทําให้กล้อง Cannon จ้างผมเป็นพรีเซนเตอร์ให้ โดยเซ็นสัญญากัน 3 ปี เป็นเงินประมาณปีละ 3 แสนบาท ไม่รวมกล้องถ่ายรูปที่ให้ผมทดลองอีก เพื่อหาข้อบกพร่องปรับปรุง
“ภาพที่ 2 ที่ผมปลื้มใจมากก็คือพระธุดงค์ ภาพนี้ถ่ายที่จังหวัดอยุธยาโดยบังเอิญ ผมกลับมาจากการถ่ายภาพที่อื่น มากับคณะเพื่อน ๆ พอเห็นพระสวดมนต์จึงลงรถ ต่างคนต่างเข้าที่มุมที่สวยที่สุด แต่ผมไม่ชอบเบียดกับคนอื่นจึงถ่ายเป็นคนสุดท้าย ผมก็ขออนุญาตพระ ก็บอกท่านว่าผมนับถึง 3 ให้หยุดหายใจประมาณ 10 วินาที แล้วขอให้พระทุกองค์อยู่นิ่ง ๆ ภาพนั้นไม่ใช้แสงช่วยเพราะจะไม่เป็นธรรมชาติ ใช้เพียงแสงเทียน เท่านั้น”
เทคนิคการถ่ายภาพ
“การถ่ายภาพประกวดต้องใช้ แนวทาง Pictorial Art อย่าง แสง เงา สี มิติ มันมีกฎเกณฑ์ของมัน 3 อย่างคือ 1.เฟรมของภาพนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1-3 2. แสงต้องเป็นแสงที่เฉียงมาจากข้างของ Subject ไม่ว่าเราจะถ่าย แนวนอนหรือแนวตั้ง ต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน ซึ่งเขาเรียกว่า Blue of Circle แสงต้องมาจากข้างหลัง มากระทบกับ Subject ของเรา หลังจากนั้นเราต้องใช้ 4 มุมของภาพให้เป็นประโยชน์ 4 มุมต้องนําสายตา เวลาคนธรรมดาที่ดูภาพ เขาจะดูภาพที่มุมสายตาไปสู่ Subject ของเรา 3. ภาพ Movement คือ ภาพเคลื่อนไหว จากซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย อย่างแข่งรถ แข่งวัวเทียมเกวียน หรือแข่งวิ่งควายที่ชลบุรี เราต้องแพลนภาพให้ข้างหลังเห็น Subject ว่ากําลังแข่งกันอยู่ ภาพพวกนี้เป็นภาพเคลื่อนไหว
“การถ่ายภาพเป็นศิลปวัฒนธรรมสําคัญ ซึ่งการถ่ายภาพมันมีอยู่ 2 แบบ คือ 1. Recoding Photography เช่น ภาพจากหนังสือพิมพ์ถ่ายน้ำท่วมออกมา นั่นก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง กับ Pictorial Art ก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง ดังนั้นคนรุ่นใหม่ที่สนใจการถ่ายภาพ เราสามารถเข้าไปศึกษาใน Google ว่า Pictorial Art เขาต้องการอะไรบ้าง เราก็ถ่ายตามกฎเกณฑ์ของเรา เราคิดเองว่าสวยไม่ได้ ต้องให้คนอื่นชม ผมแนะนําคนรุ่นหลังเข้าไปเป็นสมาชิกสมาคมถ่ายภาพ เพื่อที่จะได้พบกับเพื่อน ๆ ที่มีงานอดิเรกเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่ต่างคนต่างมี แล้วพยายามดูภาพที่ชนะเลิศ แล้วพยายามถ่ายให้ใกล้เคียง แล้วฝีมือการถ่ายภาพจะพัฒนาขึ้นเอง”