PLAY HARD , WORK SMART เพราะชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว  ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์

PLAY HARD , WORK SMART เพราะชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์

   เรื่องของสุขภาพจิตถือว่าสําคัญมากต่อมนุษย์ทุกคน เพราะถ้าสุขภาพจิตดี ชีวิตเราก็มีโอกาสดีตามไปด้วย ครั้งนี้เรามาพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช คือ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ ที่จะมาเปิดโลกใบใหม่ ไขกุญแจสุขจิตให้เราได้อ่านกัน ซึ่งนอกจากท่านจะเป็นคุณหมอผู้เชี่ยวชาญจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแล้ว ยังเป็นโฆษกกรมสุขภาพจิต เป็นรองผู้อํานวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต เป็นหัวหน้านวัตกรรมระบบบริการสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อีกด้วย

   คุณหมอวรตม์ เกิดและเติบโตในครอบครัวข้าราชการที่มีคุณพ่อเป็นหมอ และคุณแม่เป็น พยาบาล โดยมีพี่สาวอีก 1 คน คุณหมอจึงคุ้นเคยกับคลินิกมาตั้งแต่เด็ก แต่กลับไม่ชอบบรรยากาศของโรงพยาบาล และคิดว่าหากโตขึ้นจะไม่เป็นหมอ เพราะอยากเป็นวิศวกรเหมือนคุณลุงมากกว่า

   แต่เมื่อเริ่มโตขึ้นเริ่มมีความคิดอยากทําบางอย่างเพื่อสังคม สิ่งที่คิดว่าไม่ชอบ ก็เริ่มหันมาสนใจเกี่ยวกับการแพทย์มากขึ้น เมื่อคุณหมอเรียนในระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย จนมาเรียนต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดม จึงลองเปิดใจจนสามารถสอบเข้ามาเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลได้สําเร็จ

   แม้จะเข้าเรียนในสถาบันที่มีชื่อของประเทศ แต่คุณหมอบอกว่าตัวเองไม่ได้เรียนเก่งมากนัก แถมยังชอบทํากิจกรรม และเล่นกีฬา การได้เข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจอยู่บ้าง เพราะคะแนนสอบเข้านั้นไม่สูงมาก เมื่อได้เข้าไปเรียนจริง ๆ คะแนนที่ได้ก็ติดอันดับ 10 จากท้าย ๆ ของห้อง แต่คุณหมอกลับมีความสุข จากการทํากิจกรรมมากกว่า อย่างการเป็นนักกีฬาฟันดาบ และเรื่องความชอบเกี่ยวกับฟุตบอล

   ในช่วงที่เรียนแพทย์ปี 4-6 คุณหมอเริ่มค้นหาตัวเอง จนไปพบหอผู้ป่วยจิตเวช ที่นักศึกษาแพทย์บางคนอาจไม่ชอบ แต่คุณหมอกลับชอบ จนกระทั่งมาสัมผัสกับหอผู้ป่วยจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ซึ่งมีความแตกต่างจากคนไข้ผู้ใหญ่คือเด็กไม่พูด ซึ่งอาจารย์หมอใช้จิตวิทยาการเล่นและเทคนิคจูงใจให้เด็กเล่า และ บรรยายความรู้สึกออกมา คุณหมอวรตม์ประทับใจมาก จึงเริ่มอยากเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โดยคิดว่าศาสตร์นี้น่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคต

   เมื่อเด็กเกิดใหม่น้อยลง กลับมีข้อดีอย่างหนึ่งคือคนจะสนใจคุณภาพชีวิตมากขึ้น และผู้ปกครองใส่ใจกับเด็กมากขึ้นตามไปด้วย จนเมื่อใกล้เรียนจบ คุณหมอจึงเข้ามาที่กรมสุขภาพจิตเพื่อหาทุนเรียนต่อ ปรากฏว่าจึงได้กลับไปเรียนต่อที่เดิมคือ ด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่นภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง

   เมื่อเรียนจบ คุณหมอก็มาทํางานที่โรงพยาบาลนครสวรรค์ประมาณ 2 ปี ได้ทํางานในรูปแบบวงกว้างในพื้นที่ แต่คุณหมอมีความรู้สึกและสนใจเรื่องสื่อที่ให้ความรู้กับทุกคนมากกว่า ทําให้ชอบศึกษาเรื่องจิตวิทยาสื่อจนกระทั่งได้เรียนปริญญาโทออนไลน์กับสถาบันของประเทศอเมริกา

   พอเรียนจบก็มีความคิดอยากเรียนต่อปริญญาเอก จึงกลับมาทํางานที่ กรมสุขภาพจิต ระหว่างนี้ก็หาทุนจนกระทั่งได้ทุน ไปเรียนสาขา Social psychology จิตวิทยาสังคม ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งนอกจากจะได้ไปเรียนด้านจิตวิทยาสังคมแล้ว คุณหมอยังได้เข้าไปสัมผัสเรื่องราวฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษอีกด้วย

   “ก่อนหน้าที่ผมจะไปอังกฤษก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับสโมสรฟุตบอลแห่งหนึ่ง เราได้ทําในสิ่งที่เราอยากทํา นั่นคือการไปเริ่มเรียนโค้ชฟุตบอลก่อน ระดับ C License ของ AFC License ก็คือสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย นอกจากเรื่องทฤษฎีแล้วยังต้องมีปฏิบัติ นั่นแปลว่าสภาพร่างกายคุณจะต้องพร้อมในการเล่นฟุตบอลตลอดเวลา เราเป็นหมอที่นั่งนิ่งมาโดยตลอด แต่ต้องไปวิ่งกลางสนามเช้า 3 ชั่วโมงครึ่ง และบ่ายอีก 3 ชั่วโมงครึ่ง ตลอดทั้งวัน ซึ่งผิวสีเปลี่ยนเลย ตอนนั้น น้ำหนักลดลงไป 7 กิโลกรัม จากการเรียน 1 เดือน จนสุดท้ายก็สอบจนจบทําให้ เข้าใจเรื่องฟุตบอลมากขึ้น”

ตามฝันในวันที่มีโอกาส

   “จนกระทั่งไปเรียนปริญญาเอกที่อังกฤษ มันเป็นเรื่องที่ใหม่หมดเลยเพราะ ผมไม่เคยไปอยู่ต่างประเทศ นี่เป็นครั้งแรกในชีวิต กังวลมาก ๆ นอนไม่หลับอยู่ 2 อาทิตย์ เพราะผมทํากับข้าวไม่เป็น แต่ก็เริ่มฝึกฝนหลายอย่างจนทําได้

   “สําหรับการเรียนปริญญาเอก คือการที่คุณจะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองต้องคิดริเริ่ม โครงการวิจัยด้วยตัวเอง คุณต้องไปหาความรู้ใหม่ ๆ และต้องไปหาไอเดียใหม่ ๆ ที่มันไม่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้มาก่อนมาเป็นงานวิจัย เขาไม่ต้องการให้คุณทําซ้ำ การเรียนปริญญาเอกคือการที่คุณจะต้องคิดอะไรใหม่ ๆ เพื่อสร้างสรรค์โลกนี้ เพราะฉะนั้นคุณต้องไปเดินหาไอเดียแล้วกลับมาทํา แม้มันก็จะมีการล้มแล้วล้มอีก นี่คือสิ่งที่ผมได้ คือเราไม่ได้เก่งขึ้นหรือฉลาดขึ้น แต่เราสามารถจัดการความรู้สึกของตัวเองได้

   “ชีวิตผมอยู่อังกฤษ 4 ปี แต่เหมือน 10 ปี คือระหว่างที่เราเรียนปริญญาเอก ผมทําวิจัยเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือของคน สังคมก้มหน้าเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ทําวิจัยเรื่องนี้ของโลก พอทําไปสักพักก็คิดว่าก่อนที่เราจะมาที่นี่ เพราะอยากมาเรียนเรื่องฟุตบอล มันเป็นความรู้สึกที่ค้างคาอยู่ตลอดเวลา เกิดคําถามว่าทําอย่างไรดี

   “เผอิญว่าผมติดต่อกับเพื่อนที่เป็นชาวต่างชาติ เขาก็บอกว่า You เคยเรียน AFC License ไม่ใช่หรอ มาลองไหมล่ะที่อังกฤษ ยากที่สุดในโลกเลย ผมก็บอกว่าเฮ้ย ไม่มีทางหรอกเป็นไปไม่ได้ เขาก็บอกว่าจริงเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนเอเชียจะมาเรียน แต่มันก็ค้างในใจ ผมก็เริ่มไปเรียนจากอันที่มันเป็นไปได้ก่อน นั่นคือจิตวิทยาฟุตบอลของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ เรียนได้คอร์สหนึ่ง และรู้สึกว่ามันดีมาก ๆ เลย จึงอยากจะเรียน Level ถัดไป เขาบอกว่าไม่ได้ แต่ผมว่ามัน ต้องมีทางบ้างแหละ

   “ระบบโค้ชของอังกฤษเป็นแบบนี้มี level 1 Level 2 แล้วจะไปที่ยูฟ่า B A และ pro โดย level 1 Level2 ที่อังกฤษเขาเป็นคนจัดการเราก็ลองไปดูซิ คอร์สแรกสุดของการเป็นโค้ชที่อังกฤษมันเป็นยังไงมันสมัครได้ไหม ปรากฏว่าผมไปลองดู โชคดีเมืองที่ผมอยู่ชื่อ Canterbury กีฬาที่ดังที่สุดคือคริกเก็ตไม่มีใครสนใจเลยเรื่องฟุตบอล ปรากฏว่าเมื่อตรวจสอบระเบียบและ Work permit ไม่มีปัญหา เราก็เลยไปเรียนปรากฏว่าเราก็เรียนได้คอร์ส level 1

   “ในส่วนของ Level 2 ยอมรับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเหมือนกัน เพราะว่าต้องเรียนทั้งหมดหนึ่งปี การที่คุณจะสอบได้คุณต้องคุมทีมเป็นโค้ชจริง ๆ กับสโมสรฟุตบอลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสมาคมฟุตบอล แปลว่าเท่ากับคุณต้องสมัครเป็นโค้ชสอนเด็กอังกฤษในประเทศอังกฤษ แต่ผมเป็นคนเอเชียหัวดํา อันนี้เป็นเรื่องยากมหาศาล

   “ผมกรอกใบสมัครไปเยอะมาก ก็ถูกปฏิเสธตั้งแต่เห็นชื่อเป็นจํานวนมาก สุดท้ายผมไปเจอทีมหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ เขาชื่อว่าทีม Thanet Galaxy PDFC ซึ่งเป็นทีมฟุตบอลสําหรับเด็กผู้พิการ พวกเขามาจากบ้านสงเคราะห์เด็ก เป็นเด็กที่พ่อแม่มีปัญหาด้านยาเสพติด พ่อแม่ติดคุกแล้วส่งมาตรงนี้ และรัฐกําหนดว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องออกกําลังกาย เขาก็เลยส่งเด็กกลุ่มนี้มาที่สโมสร เพราะฉะนั้นพื้นที่ตรงนี้จะเต็มไปด้วยเด็กที่มีปัญหาครอบครัว มีความพิการทางด้านสติปัญญา มีปัญหาเรื่องยาเสพติดมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากทําอยู่แล้ว ไม่ว่าจะได้ License หรือไม่ได้ก็ตาม พอไปสมัครปุ๊บ เจ้าของทีมน้ำตาไหลเลย คุณรู้หรือเปล่าว่าแทบไม่มีใครอยากจะมาช่วยเขาเลย

   “ในที่สุดผมก็ได้เข้ามาเป็นโค้ช วันแรกที่ทํางานในทีมก็ต่อยกันเองเลย ไม่ได้ต่อยทีมตรงข้ามนะครับเพราะเขามีปัญหาการควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เราก็เลยต้องมาช่วยค่อย ๆ เปลี่ยนเด็กกลุ่มนี้ จากที่เด็กเขาไม่มีใคร ให้มาเป็นนักกีฬาที่แท้จริง ทีมนี้จะถูกยอมรับจากฟุตบอลอังกฤษ ต้องมีแมทซ์แข่งในลีกผู้พิการ ก็แข่งในลีกนี้มาตลอดในช่วง 5 ปี 10 ปีที่ผ่านมา เราก็ตั้งคําถามกับเจ้าของสโมสรว่าลองไปแข่งกับคนทั่วไปไหม ทุกคนหัวเราะ พ่อแม่ผู้ปกครอง แม้แต่เด็กยังหัวเราะเลย จะไปสู้กับเขาได้อย่างไร เขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ Impossible แต่ว่าเจ้าของสโมสรเขาซาบซึ้ง บอกว่าถึงโอกาสมันจะน้อยมาก ๆ มันจะพลาดอย่างไรก็ตาม ขอไปลองดูสักครั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราเอาเด็กกลุ่มนี้ไปแข่งกับคนข้างนอก ที่เป็นคนปกติทั่วไป

   “แข่งแมตซ์แรกเราเล่นไม่ได้เลย แพ้ไป 15-0 เพราะว่าทีมไม่เคยไปเล่นกับคนทั่วไปมาก่อน แม้เราเคยชนะ 3-0 4-0 กับเด็กพิการด้วยกันก็ตาม ตอนจบเกมผมนี่หน้าซีดเลยนะ ทุกคนจะว่าอย่างไร แต่วันนั้นรถที่นั่งกลับมาเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ทุกคนฉลองกัน ยิ้มและ Happy มาก ๆ ผมก็ถามว่าเฮ้ยยู ด้วยความงง ทุกคนเข้ามากอดกันและบอกว่าอันนี้คือความ Success ที่สุด รู้สึกเหมือนกับว่า เขาปลื้มมากกว่าที่ไปชนะ 7-0 ที่ลงเล่นกับทีมผู้พิการด้วยซ้ำ เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นที่ยอมรับไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป

   “เด็กกลุ่มนี้ก็ไปเล่นในลีกนั้นมาโดยตลอด ซึ่ง 95% ของผลการแข่งขันคือเราแพ้ แต่เป็นการแพ้ที่มีทรงขึ้นเรื่อย ๆ และตอนนั้นผมก็ยืนยันกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษว่าผมจะใช้ทีมนี้ในการแข่งและสอบ License โค้ชตอนนั้นทุกคนตื่นเต้นมากที่ผมต้องสอบ License โค้ชเพราะการโค้ชชิ่งและการเล่นในสนามมันมีผลต่อตัวโค้ช ว่าเด็กเล่นเป็นระบบหรือเปล่า โค้ชผ่านหรือไม่ผ่านจึงอยู่ตรงนี้ด้วย แล้ววันนั้นวันที่สอบเราเจอทีมโหดหัวตารางสรุปว่าแมตซ์นั้นในครึ่งแรกคือเสมอ 0-0 เพราะว่าเราเล่นกันอย่างเป็นระบบ ส่วนเจ้าของสโมสรเหมือนเดิมครับยืนร้องไห้อยู่ข้างสนาม เขารู้สึกว่าเฮ้ยนี่มันเป็นผู้เป็นคนมาก ๆ เลย แต่แมตซ์นั้นเราจบด้วยความพ่ายแพ้ 4-0 ซึ่งทุกคน Happy และ Enjoy จําได้ว่า Mentor ซึ่งเป็นคนของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ เดินมาตบไหล่ผมแล้วบอกว่า นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาเคยเห็นในรอบปีที่ผ่านมา ผมก็น้ำตาร่วงเลย ว่าเออนี่คือสิ่งที่เราทําเพื่อสังคม แม้ว่าผลการแข่งขันมันจะออกมาดูแย่ แต่เขาก็มีความสุขและมีความภาคภูมิใจในตัวของเขาเอง

   “บทสรุปผมเรียนจบที่ Level 2 ครับ Level 2 ก็ไปต่อไม่ได้แล้วครับ เพราะระดับที่สูงขึ้นไปเป็นองค์กรยูฟ่า คือมืออาชีพแล้วผมก็ได้กลับไปเรียนจิตวิทยาฟุตบอลอย่างที่ผมอยากเรียนเสียที จากตรงนั้นก็ได้ทํางานต่อที่สโมสรอีกปีหนึ่ง จนกระทั่งเรียนจบทุกใบปริญญา จึงได้เวลากลับประเทศไทย ผมเพิ่งกลับมาได้ 3-4 ปีที่ผ่านมาแล้วได้ทํางานหลักอยู่กรมสุขภาพจิตครับ”

สารพันปัญหาจิตเวช

   “ปีนี้ผมต้องโฟกัสเรื่องงานด้านสุขภาพจิตของประเทศมากขึ้น เพราะว่าเรื่องการระบาดของ Covid-19 แทบจะจบแล้ว แต่ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตมันไม่ได้จบ เมื่อเจอปัญหามักมีคนกลุ่มหนึ่งที่ลุกได้ แต่เชื่อเถอะครับจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ลุกกลับมาไม่ได้ คือล้มแล้วยังล้มอยู่ตรงนั้น นี่คือปัญหาเดียวกับในช่วงวิกฤตต้มยํากุ้ง เราเห็นว่าปัญหาสุขภาพจิตในช่วง 1-2 ปีนี้ หลังจากจบ Covid-19 จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น

   “เรื่องของจิตเวช ถ้าย้อนกลับไปในบันทึกโบราณสมัยกรีก โรมัน มีคนพูดถึง เรื่องนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ยุคสมัยหลายร้อยหลายพันปีก่อน เรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางจิตเวช หรือจิตประสาท สมัยก่อนจะไม่เรียกว่าโรคซึมเศร้า อาจเรียกรวม ๆ กัน เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เรียกว่าโรคจิต โรคประสาท พอสักพักหนึ่งเขาก็แบ่งออกมาเป็น โรคจิต กับโรคประสาท โรคจิตหมายถึง หูแว่ว ภาพหลอนหวาดระแวง โรคประสาท หมายถึง อารมณ์เศร้าอารมณ์หงุดหงิด ความวิตกกังวล อันนี้คือในยุคเมื่อ 30-40 ปีก่อนนะครับ และต่อมาภายหลังก็มีการแบ่งย่อยออกมา เราก็จะไปเรียกว่า กลุ่มจิตเภทแทน

   “ผมขออธิบายแบบนี้ โรคจิตเวชเป็นหลังคาใหญ่สุด ภายใต้หลังคามีเต็นท์เล็ก ๆ อยู่ภายใต้หลังคานี้ประมาณสัก 20 เต็นท์ นี้คือกลุ่มโรคเช่นกลุ่มโรคพัฒนาการ กลุ่มโรคยาเสพติด กลุ่มโรคทางอารมณ์ กลุ่มโรคทางจิต กลุ่มโรควิตกกังวล นี่คือกลุ่มใหญ่ ๆ นะครับ ภายใต้เต็นท์นั้นมีร่มเล็ก ๆ อีกมากมาย เช่นกลุ่มโรคทางอารมณ์ ก็จะมีโรคซึมเศร้า โรคไบโพล่า โรคทางอารมณ์อีกหลาย ๆ แบบเช่น โรคที่ระเบิดทางอารมณ์ หรือกลุ่มเต็นท์ที่เป็นกลุ่มโรควิตกกังวลก็จะมีเช่น โรค แพนิค โรคกลัว โรคย้ำคิดย้ำทํา ภายใต้โรคนี้มันก็จะมีแยกย่อยอีกนะครับ

   “โรคซึมเศร้าก็จะมีแยกย่อยไปอีก โรคไบโพล่าก็จะมี type 1 type 2 อันนี้ เป็นภาพรวมกว้าง ๆ ถามว่า อะไรรุนแรงกว่ากันหรือเปล่า จริง ๆ บอกได้ยาก เพราะร่มแต่ร่มก็จะมีลักษณะของมันมีร่มที่มีสีจัด ๆ มีร่มที่มันสีอ่อน จะมีอาการซึมเศร้าแค่เล็กน้อย แต่คุณไปดูร่มอันอื่นเช่น วิตกกังวล เขาอาจจะวิตกกังวลมากๆ จนไม่สามารถออกจากบ้านได้ เพราะฉะนั้นการเทียบความรุนแรงระหว่างโรค อาจจะเทียบได้ยาก ต้องเทียบในร่มของตนเอง แต่ว่าโรคในกลุ่มของบางเต็นท์ เต็มไปด้วยโรคที่รุนแรงยกตัวอย่าง ผลกระทบจากยาเสพติด ปัญหาหูแว่ว ภาพหลอน หวาดระแวงจากยาเสพติดพวกนี้ ถือเป็นกลุ่มโรคที่รุนแรง หรือแม้กลุ่มโรคที่เป็นโรคทางจิต เช่น โรคจิตเภท หรือโรคที่มีภาพหลอน หูแว่ว มักมีอาการที่ค่อนข้างรุนแรง

   “ผมยกตัวอย่างนะครับ คําว่าซึมเศร้าอารมณ์เศร้า ทุกคนมีได้ รถติดผมก็เศร้า ฝนตกผมก็เศร้า เป็นภาวะซึมเศร้า ภาวะเฉย ๆ นะครับ ภาวะซึมเศร้ามากกว่า อารมณ์เศร้าหน่อย ๆ เป็นช่วงเวลาที่เรามีอารมณ์เศร้านาน ๆ เช่นเราสูญเสียคนที่รัก สอบตก ออกจากงาน เราเสียใจกับมัน คิดย้อนกลับไปก็เสียใจ

   “แต่มีอีกอันหนึ่งที่เขาเรียกว่าโรคซึมเศร้า พอเราขึ้นคําว่าโรค แสดงว่าต้องเกิด ผลกระทบบางอย่างเช่นสูญเสียศักยภาพบางอย่างไป การเศร้าแบบนั้น คือคุณเศร้า เสร็จแล้ว คุณไม่ยอมไปกินข้าว ไม่ไปเจอเพื่อนเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่ในห้อง สูญเสียศักยภาพทางด้านการสร้างความสัมพันธ์ หรือสูญเสียศักยภาพทางด้านการทํางาน เช่น คุณเศร้าแล้วคุณไปทํางานไม่ได้ คุณลาออกจากที่เรียน หรือสูญเสียศักยภาพในการดูแลตัวเองไม่อาบน้ำอาบท่า เก็บเนื้อเก็บตัว อันนี้เรียกว่าโรค เพราะฉะนั้น การที่จะนิยามว่าตัวเองเป็นโรคทางจิตเวช วิตกกังวล และโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ให้ดูว่าคุณกําลังสูญเสียศักยภาพบางอย่างไปหรือไม่

ใช้ความเข้าใจในการรักษา

   “ในส่วนของการวินิจฉัยผมว่านี่คือเสน่ห์ของเรื่องสุขภาพจิตนะครับ เรื่องของจิตเวชคือ คนไข้มา 1,000 คน มีคนมาปรึกษา 1,000 คน ไม่มีใครเหมือนกันสักคน แม้ว่าใน 1,000 คนจะเป็นโรคซึมเศร้าก็ตาม แต่ละคนมีเรื่องของตัวเอง มีความเข้าใจต่อเหตุการณ์ ไม่เหมือนกัน แม้คนที่สุดเศร้าจากปัญหาที่เลิกกันกับแฟน แฟนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ความสัมพันธ์ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่จะเอากางเกงตัวเดียวกันไซส์เดียวกัน ใส่ให้กับทุกคนมันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ นี่เป็นศิลปะของการทํางานด้านสุขภาพจิต

   “ถ้าคุณคิดว่าหมอจะเอาอะไรให้คนไข้ในสิ่งที่เตรียมมาแล้ว มันมักไม่ค่อยสําเร็จ แต่ถ้าเรารับฟังคนที่อยู่ข้างหน้า และเข้าใจ พยายามแก้ปัญหาไปพร้อมกันกับเขา สุดท้ายปัญหามันจะถูกแก้ได้อย่างดี เวลาที่เรารับฟังไม่ใช่ว่าเราจะหยิบยื่นอะไรใส่ให้เขานะ คนมักจะเข้าใจว่าจิตแพทย์คือผู้ที่ให้คําแนะนําที่ดี มันไม่ใช่เลยครับ เราไม่ได้อยากเอาโจทย์ปัญหาของเขามาแก้ เราแก้ให้ได้ถึงแม้ว่าจะรู้ว่ามันแก้อย่างไร เช่น คุณมีโจทย์ปัญหาและคุณแก้ไม่ได้ผมดึงกระดาษคุณมา ผมแก้ให้เลยผมทําให้เสร็จเลย 10 ข้อ ปัญหาชีวิตของคุณเคลียร์แล้วผมยืนกลับไป สุดท้ายพอเขาได้โจทย์ใหม่มา เขาก็ทําไม่ได้

   “สิ่งที่บุคลากรทางด้านสุขภาพจิตทําคือการนั่งอยู่ข้าง ๆ เขาแล้วบอกว่าคุณลองทําสิ ข้อ 1 มี Choice อะไรได้บ้าง คุณลองกาก่อนไหม แล้วคุณทําข้อ 2 ถ้า คุณไม่ค่อยมั่นใจแล้วค่อยกลับไปแก้ข้อ 1 เราทําด้วยกัน สุดท้ายมันอาจจะแก้ถูก หรือไม่ถูกทั้งหมดก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่อย่างน้อยคนนี้เขาได้ลองฝึกในการแก้แล้ว

   “ยาในปัจจุบันที่รักษาอาการทางด้านสุขภาพจิต มีมากมายหลายขนาน และคุณภาพก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ยาสามารถปรับสารเคมีในสมองได้อย่างที่เข้าใจกัน บางรายไม่ได้ปรับสารเคมีในสมอง แต่เชื่อว่าไปออกกลไกบางอย่าง ทําให้กลไกของสมองทํางานดีขึ้น และสามารถควบคุมอารมณ์ได้และลดความวิตกกังวล แต่ยาไม่ใช่คําตอบเดียว ถ้าเราได้คุยกับจิตแพทย์เราจะได้ยินเสมอว่า การรักษาปัญหาทางด้านสุขภาพจิตต้องใช้ยากับนักจิตบําบัดควบคู่กันไป การใช้ยาอาจจะดีขึ้น 2 ส่วน ใช้จิตบําบัดอย่างเดียวอาจจะดีขึ้น 2 ส่วนเหมือนกัน แต่ถ้าทําพร้อมกันอาจจะดีขึ้น 7-8 ส่วน มันคือการผสานกันเราต้องปรับทางกายและการใช้ยา

   “ในขณะเดียวกันปัจจัยที่ทําให้เกิดโรคจิตเวช มีปัจจัยทางจิตและปัจจัยทางสังคม ถ้าเราปรับทางจิตคือการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ จัดการความเครียดของตัวเอง เราปรับเรื่องปัญหา ปัจจัยทางด้านสังคม เช่น ครอบครัวเข้าใจ มีคนช่วยเหลือ ดูแลปัญหาด้านสุขภาพจิตมันก็จะลดลงครับ”

เปลี่ยนค่านิยมใหม่

   “การเปลี่ยนค่านิยมของสังคมไทย ให้การพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป และต้องยอมรับว่า ตอนนี้เราดีขึ้นมาก ถ้าเทียบกับเมื่อ 10-20 ปีก่อน แต่ถ้าเทียบกับต่างประเทศแน่นอนครับ ผมเคยคุยกับเด็กในต่างประเทศ เวลาที่เขาไปเจอกับจิตแพทย์ เขาภูมิใจนะ คือการที่คนใดคนหนึ่งมีจิตแพทย์ ประจําตัวจะดูเท่แสดงว่าคุณมีคนดูแล แต่อาจต้องมีเงินในระดับหนึ่ง เพราะการเจอจิตแพทย์ในต่างประเทศต้องใช้ทรัพยากร

   “เราหวังว่าวันหนึ่งอีกสัก 10-20 ปี สังคมไทยจะไปถึงยังจุดนั้น จุดนี้ที่เรากําลังเดินมา มันกําลังไปทางนั้นแหละ สิ่งที่ทุกคนที่ต้องช่วยกันคือการปรับค่านิยม มันคือการทํางานร่วมกัน ในฝั่งกรมสุขภาพจิตหรือในฝั่งจิตแพทย์เอง ก็ต้องทําให้รู้สึกว่าเราเข้าถึงทุกคนได้ หรือทุกคนเข้าถึงเราได้ เป็นคนที่เรารับฟังและเราเข้าใจ

   “การทํางานของกรมสุขภาพจิตเอง ก็ต้องทําประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงทุกคนได้มากขึ้น ภาคประชาชนเองก็ต้องช่วยกันไม่ตีตราผู้ป่วยจิตเวช เข้าใจว่าเขามีลักษณะแบบไหน แต่เขาอยู่ร่วมกับสังคมได้ คนทั่วไปก็เข้าใจว่าทุกคนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ การไปหาจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ อย่าไปล้อเลียนหรือบูลลี่เขาให้มันเป็นปมด้อย คือถ้าทุกคนช่วยกันแบบนี้ ค่านิยมมันจะค่อย ๆ เปลี่ยน ซึ่งตอนนี้เราเห็นโรคหลาย ๆ โรค ค่านิยมเริ่มเปลี่ยนแล้ว เช่น โรคซึมเศร้า เราก็ต้องขยับไป เช่น โรคไบโพล่า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทํา แล้วสุดท้ายเราจะไปถึงจุดที่ทุกคนไม่รู้สึกว่าการพูดถึงโรคจิตเวช เป็นคําที่กระดากปาก หรือเป็นคําที่รู้สึกสะเทือนใจ

หมดยุคคนบ้าท้าทายกฎหมาย

   “บางคนทําผิดกฎหมายแล้วหาช่องทางพ้นผิดโดยการอ้างป่วยทางจิต เป็นเรื่องที่เรารู้สึกกังวล คนเข้าใจว่าผู้ป่วยจิตเวชไม่ต้องรับโทษ ไม่จริงครับ เราต้องย้อนไปดูคดีจํานวนมากมีการรับโทษตามปกตินะครับ แต่แน่นอนในบางกรณีที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต อย่างรุนแรง เขาไม่รู้ตัวในเหตุการณ์นั้น ทางศาล ทางผู้พิพากษา จะมีการลดหย่อนโทษบางกรณี แต่ถ้าเทียบอัตราส่วนแล้วถือว่าน้อยมาก ๆ เพราะฉะนั้นใบรับรองด้านสุขภาพจิตไม่ใช่ใบเบิกทาง

   “การวินิจฉัยไม่ได้เกิดจากวันนี้วันเดียว เราไม่สามารถวินิจฉัยใครว่ามีความบกพร่องหรือมีความวิกลจริต หรือป่วยทางจิตเวช โดยอาศัยข้อมูล ณ วันนี้ และไม่ใช่อาศัยข้อมูลจากตัวเขาด้วย การหาข้อมูลทางด้านสุขภาพต้องใช้ระยะเวลา บางทีหมออาจจะต้องลองนัดดู 3 - 4 ครั้ง เพื่อที่จะให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องได้ รวมถึงจะต้องเชิญครอบครัว หรือบุคคลที่รู้จัก หรือที่ใกล้ชิด มาดูด้วย

   “แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าคุณหมอเองที่ให้การวินิจฉัย ที่มีโอกาสเอื้อประโยชน์ในการทําผิดกฎหมาย ซึ่งคุณหมอเองที่จะวินิจฉัย ก็รู้ว่าตัวเองมีจรรยาบรรณของตัวเอง และวิชาชีพของตัวเองก็แขวน อยู่ในจุดนั้น ปัจจุบันในสังคมมันเป็นสังคมที่เชื่อมต่อกันหมด การที่เราจะวินิจฉัยเพื่อก่อประโยชน์ให้ใครสักคนหนึ่ง และการวินิจฉัยนั้นไม่ถูกต้อง คุณหมอต้องเตรียมรับผลกระทบที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งผมเชื่อว่า ณ ปัจจุบันนี้น่าจะลดน้อยลง เพราะว่าจากสังคมโซเชียลนี่แหละ ซึ่งสามารถขุดและทุกอย่างมันมีหลักฐานหมด ผมเชื่อว่าทุกคนระมัดระวังเรื่องนี้ค่อนข้างมากในปัจจุบัน

นวัตกรรม สุขภาพจิต

   “ความจริงกรมสุขภาพจิต มีโครงการเยอะแยะมากมาย เอาโครงการที่ผมมีส่วนรับผิดชอบคือเรื่องนวัตกรรมใหม่ ด้านสื่อกรมสุขภาพจิตเคยถูกตั้งคําถามมานานมากแล้วว่า เราจะช่วยคนที่กําลังจะฆ่าตัวตายได้อย่างไร เรามีสายด่วนสุขภาพจิตโทร 1323 โทรได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แต่เราก็ยังไม่สามารถลดอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยได้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราสามารถ แก้โจทย์ปัญหานี้ได้จากความร่วมมือและเทคโนโลยี เราได้ไปคุยกับสํานักงานตํารวจสอบสวนกลางอีกหน่วยหนึ่งคือ Social influencer เขาทําเพจใหญ่คนตามล้านคน มันมีคนส่งข้อมูลเรื่องนี้มาให้เขาทุก ๆ วัน เขาจึงรู้ว่ามีคนพยายามฆ่าตัวตาย

   “ถ้าทํางานคนเดียวคงไม่มีทางทําได้ 3 หน่วยเลยมาทํางานร่วมกัน กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า Hope : Helpers of Psychiatric Emergency นั่นแปลว่า Social Influence มองว่าใครที่กําลังจะโพสต์ฆ่าตัวตาย ใครที่กําลังจะทําหรือเกิดปัญหาบางอย่าง แล้วมีคนมา Report เขารับข้อมูลเข้ามา และส่งข้อมูลเข้ามาส่วนกลาง ตํารวจรีบลงไปยังพื้นที่ทันที ช่วยเหลือออกมาส่งให้กรมสุขภาพจิต และกรมสุขภาพจิตประสานงานเยียวยาต่อคนที่กําลังฆ่าตัวตาย เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เราช่วยได้แล้ว 400 ราย ด้วยนวัตกรรมนี้

   “ทุกวันนี้ผมเป็นคนหนึ่งที่ภาคภูมิใจ ในความเป็นข้าราชการ ผมเชื่อว่าการเป็นข้าราชการเป็นบุคคลที่ได้รับการไว้วางใจแล้วจากทุกคน เราถึงเป็นข้าราชการได้ และข้าราชการนี่ถ้าเรามีใจ เราไม่หมดไฟเรามี Mindset ที่ต้องการพัฒนาประเทศชาติจริง ๆ ผมเชื่อว่า พลังในการเป็นข้าราชการ ทําอะไรได้มากมายมหาศาลครับ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                                                                                            

 

 

PLAY HARD , WORK SMART เพราะชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์