ยุทธศาสตร์ฉะเชิงเทราสร้างชาติ และการท่องเที่ยวด้านอาหารเชิงสุขภาพ
นับตั้งแต่ พ.ศ. 1500 จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเส้นทางการค้าสำคัญของอาณาจักรขอม ซึ่งเป็นมหาอำนาจโบราณในดินแดนแถบนี้ ก่อนที่สมัยอยุธยาจะกลายเป็นแหล่งผลิต และรวบรวมเสบียงรวมถึงกำลังพลในช่วงสงคราม กระทั่งวิวัฒนาการกลายเป็นเมืองหน้าด่าน และศูนย์กลางอำนาจรัฐอีกแห่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ปัจจุบันฉะเชิงเทราได้พัฒนาเป็นแหล่งผลิตไก่ไข่ ไก่เนื้อ สุกร ปลาน้ำจืด รวมถึงมะม่วง น้ำดอกไม้ได้ในปริมาณและคุณภาพสูงติด 3 อันดับแรกของประเทศ ผลผลิตมีคุณภาพอยู่ในระดับที่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้
หากพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ.2563 ฉะเชิงเทราพึ่งพาภาค อุตสาหกรรม และภาคบริการเป็นสำคัญ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมฉะเชิงเทรา (Gross Provincial Product : GPP) มาจากภาคอุตสาหกรรมสูงถึงร้อยละ 69.7 รองลงมาคือภาคบริการร้อยละ 25.3 โดยทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการพึ่งพา ธุรกิจที่เกี่ยวกับยานยนต์สูงมาก ยอดผลิตและจำหน่ายยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งพ่วงสูงเกินครึ่งหนึ่ง คือ ร้อยละ 55 ของสินค้าอุตุสาหกรรมจังหวัด และการค้าส่ง และค้าปลีก ซ่อมยานยนต์ ฯ มีมูลค่าถึงร้อยละ 47 ของ GPP ในภาคบริการ โดย รองลงมาเป็นภาคการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้าที่ร้อยละ 13 ของภาคบริการ จากโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดข้างต้น ประกอบกับสถานการณ์โลกที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนกำลังจะถูกกระชากเปลี่ยน (Disrupt) ด้วย ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) รวมถึงกระแสการรักสุขภาพของ ผู้คนทั่วโลกรวมทั้งนักท่องเที่ยว ผมจึงเสนอยุทธศาสตร์ให้ฉะเชิงเทราเป็นเมือง อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการท่องเที่ยวเชิงอาหารสุขภาพ โดยมีแนวทาง ดังต่อไปนี้
1. เมืองอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ประเทศไทยผลิตยานยนต์ได้สูงติด 10 อันดับแรกของโลก เป็นอันดับ 5 เอเชีย และมีแนวโน้มผลิตได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่มีฉะเชิงเทราเป็นฐานการผลิต ยานยนต์ใหญ่ที่่สุดในภาคตะวันออก โดยที่ปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นเรือธงตัวใหม่ ซึ่งแม้ EV จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วน เครื่องยนต์สันดาปและผู้ประกอบการ EV ยังมีความกังวลต่อการหลั่งไหลของ นักลงทุนจีน แต่รัฐมีทิศทางและนโยบายสนับสนุนความเข้มแข็งของอุตสาหกรรม ยานยนต์ไทยมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ทำให้ผู้ประกอบการ EV อุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง โดยล่าสุดโฆษกนายกฯ ได้กล่าวในงานมอเตอร์โชว์ ตั้งเป้าให้คนไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้า (รวมทุกประเภท) เกิน 1.05 ล้านคัน ใน พ.ศ. 2568 และผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไม่น้อยกว่า 360,000 คัน ใน พ.ศ. 2570 ซึ่งการเพิ่มความสามารถใน การแข่งขันให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม EV นั้น ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่อไปนี้
1) สร้างเมืองอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV City) รัฐบาลมี นโยบายพัฒนาฉะเชิงเทรา เป็น “เมืองอยู่อาศัยชั้นดี” ควรใช้โอกาสนี้สร้างเมืองใหม่ต้นแบบที่เป็น “EV City” เช่น เป็นเมืองที่มีแต่ EV เท่านั้น ไม่มี รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยรถประจำทาง รถแท็กซี่ จักรยานยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด มีสถานีสำหรับชาร์จไฟฟ้าอยู่ทั่วเมือง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม EV
2) ส่งเสริมการลงทุนของผู้เล่นรายใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์โลกมีผู้เล่นใหม่ โดยเฉพาะผู้นำทางเทคโนโลยียานยนต์ สมัยใหม่ เช่น Tesla, BYD (China) จึงควรส่งเสริมผู้เล่นเหล่านี้ ลงทุนในคลัสเตอร์ ยานยนต์อนาคตในฉะเชิงเทรา เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของ EV ในประเทศ กระตุ้นอุปสงค์ของ EV ในประเทศ เพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และยังสามารถดึงดูดบุคลากรด้าน EV และยานยนต์สมัยใหม่ จากต่างประเทศ เพื่อมาพัฒนาบุคลากรด้าน EV ในประเทศได้อีกด้วย
3) มุ่งเน้นอุปกรณ์อัตโนมัติมากขึ้น EV และยานยนต์อนาคตจะมีการใช้อะไหล่น้อยลง แต่มีสัดส่วนของอุปกรณ์ อัตโนมัติที่ไม่ใช่อะไหล่รถยนต์ (Non-Automotive Content) มากขึ้นโดยไทยต้องนำเข้าอุปกรณ์อัตโนมัติค่อนข้างสูง (มากกว่าร้อยละ 80) ดังนั้นจึงควร ส่งเสริมให้ผลิตอุปกรณ์อัตโนมัติต่าง ๆ ทดแทนการนำเข้ามากขึ้น เช่น ชิ้นส่วน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ซอฟท์แวร์ควบคุมระบบในยานยนต์, ระบบเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ต และระบบความบันเทิงในรถยนต์ เป็นต้น
4) ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าใหม่รวมไปถึงการเจาะกลุ่ม ตลาดใหม่ (Diversification) ภาครัฐควรส่งเสริมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ผลิตสินค้าใหม่ ๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น เปลี่ยนไปผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะประเภทอื่น เช่น เครื่องบิน หรือผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้ในการเกษตร หรือในชนบท เพื่อทำให้เกิดการ ประหยัดจากขอบเขต (Economy of Scope) และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ
2. เมืองท่องเที่ยวด้านอาหารเชิงสุขสภาพ (Food Wellness Tourism) เนื่องจากฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่ผลิตอาหารอันดับต้น ๆ ของประเทศประกอบกับกระแสรักสุขภาพ ของผู้คนทั่วโลก รวมทั้งนักท่องเที่ยว ผมจึงเสนอยุทธศาสตร์ การท่องเที่ยวด้านอาหารเชิงสุขสภาพเป็นจุดแกร่งของฉะเชิงเทรา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการผลิตอาหาร โดยการพัฒนาลักษณะเฉพาะของอาหารเพื่อเป็นจุดขายดึงดูดการท่องเที่ยวตามกรอบ “Dr Dan Can Do’s Food Wellness Model 4 G&G” ที่ผมเสนอเอาไว้
1) Green & Germless Food: อาหารไร้ปลอดสารพิษ และไร้ปลอดเชื้อโรค แนวทางการส่งเสริมอาหารปลอดสารพิษและปลอดโรค เช่น การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การใช้วัตถุดิบอินทรีย์ (Organic) และ Non-GMO, ส่งเสริมเกษตรสีเขียว พัฒนาแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในฟาร์ม, พัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice: GMP) และ มาตรฐานการผลิตที่มีมาตรการป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร (Hazard Analysis Critical Control Point: HACCP) ในอุตสาหกรรมอาหารตลอดจน พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ (From Farm To Table) โดยผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก กระบวนการผลิต การบรรจุหีบห่อ และ มีการให้ตรารับรองอาหารปลอดภัย เป็นต้น
2) Gratis & Geriatric Food: อาหารที่มีสารอาหารป้องกัน รักษาโรค เหมาะกับทุกกลุ่มและวัยชรา ผลการสำรวจผู้บริโภค 6,000 ราย (คนไทย 500 ราย) ในปีพ.ศ.2560 โดย Asia Pacific Balanced Nutrition พบว่า ราว 4 ใน 10 คน ต้องการคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแผนการโภชนาการที่ดีส่วนบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีอุปสงค์ต่ออาหารในกลุ่มนี้อยู่ดังนั้นภาครัฐอาจส่งเสริมการผลิตอาหารป้องกัน และรักษาโรคได้โดยการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร เช่น การพัฒนาปรุงแต่ง อาหารพื้นเมืองให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ การใช้สมุนไพรเป็นส่วนผสม การเชื่อมโยงการแพทย์แผนโบราณกับการรักษาด้วยสมุนไพรที่หลากหลาย, พัฒนาสูตรอาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ การใช้โปรตีนทางเลือกที่ไม่ได้มาจากสัตว์ที่ไม่มีไขมันเลว, พัฒนาสูตรอาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหารเพื่อการป้องกันและรักษาโรค เฉพาะเจาะจง เชื่อมโยงอาหารกับพันธุกรรม DNA ของผู้บริโภคที่ส่งผลต่อรักษาโรค รวมทั้งการให้ความรู้ในการรับประทานอาหารที่เหมาะกับแต่ละบุคคล เป็นต้น
3) Gourmet & Gastronomic Food: อาหารเลิศและอาหารอร่อย ภาครัฐอาจส่งเสริมการผลิตอาหารในฉะเชิงเทรา ให้เป็นอาหารเลิศและอร่อย ได้หลายแนวทาง เช่น การจัดประกวด หรือ แสดงพืชผลที่เป็นของดีปีระจำจังหวัด /อำเภอ, การจัดประกวด แสดง แข่งขัน การทำอาหารเลิศรสของจังหวัด, การให้ตรารับรองแก่ร้านอาหาร, การพัฒนาวิธีการเพาะปลูก หรือทำปศุสัตว์ที่ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีรูปลักษณ์สีสันความสวยงาม เป็นต้น
4) Greed & Grab Food: อาหารราคาถูกคุ้มค่าและเข้าถึงง่าย การส่่เสริมการผลิตอาหารให้คุ้ม ราคา และเข้าถึงได้อาจทำได้โดยการพัฒนา ผลิตภาพในการเพาะปลูกและทำปศุสัตว์ เช่น การทำฟาร์มขนาดใหญ่โดยใช้ เครื่องจักร (Farm Mechanization), การพัฒนาตลาดจำหน่ายอาหารขึ้นชื่อของ จังหวัด, การพัฒนาพื้นที่จำหน่าย Street Food ที่มีคุณภาพ และราคาประหยัด, หรือการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายอาหาร ผ่าน Modern Trade เป็นต้น ผมมองว่าหากภาครัฐมีการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่อย่างที่เป็นมาในอดีต นอกจากชาวฉะเชิงเทราจะอยู่ดีกินดีและมีความสุข ได้ยั่งยืนแล้ว ฉะเชิงเทราจะเป็นพื้นที่ที่สามารถสนับสนุนให้คนไทยในภาคตะวันออก และพื้นที่อื่นอยู่ดีกินดีขึ้นได้มากขึ้นดังเช่นอดีตที่เคยเป็นมาได้ครับ