อาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ ช่างปูนปั้นเมืองเพชร
ศิลปะปูนปั้นนั้นอยู่คู่กับศาสนาพุทธมาอย่างยาวนาน มีศิลปินช่างปูนปั้นมากมาย ได้รังสรรค์ผลงานความวิจิตรงดงาม ให้กับวัดวาอารามเป็นจํานวนมาก เหล่านั้นล้วนมาจากศิลปินปูนปั้นที่มีเทคนิคชั้นสูง แทบทั้งสิ้น อาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ คือช่างปูนปั้นท่านหนึ่งที่เรียนรู้ และสืบทอดวิชาปูนปั้นดั้งเดิม ของช่างเมืองเพชร มีผลงานปูนปั้นที่ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง ศาลาการเปรียญ พระอุโบสถอาทิเป็นจํานวนมาก อาทิวัดมหาธาตุวรวิหาร วัดพลับพลาชัย ออกแบบฐานพระประธานพระพุทธชินราช ทําลวดลายของโบสถ์และเจดีย์วัดกลางบางแก้ว อําเภอ นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
แม้ท่านไม่ได้เรียนจบจากรั้วมหาวิทยาลัย แต่ฝีมือปูนปั้นนั้นเข้าขั้นชั้นครู มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ได้รับรางวัลการันตีเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - ศิลปะปูนปั้น) พ.ศ 2554 ทําให้พูดได้อย่างชัดเจนว่าท่านคือตัวจริงด้านงานช่างปูนปั้น ที่ยากจะหาใครเทียบเคียง
ชีวิตของอาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ พื้นเพดั้งเดิมเป็นคนบางคนที่จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเรียนจบชั้น ป. 4 บิดาให้บวชเป็นสามเณร ได้มีโอกาสเรียนนักธรรมรวมถึงวิชาช่างไม้ จนเมื่อบวชได้ 2 พรรษา ที่เรียนจบนักธรรมตรี และ ได้ย้ายมาอยู่วัดอัมพวาอีก 2 พรรษา ก็เรียนจบนักธรรมเอก แต่ระหว่างที่อยู่ตรงนี้เองท่าได้คลุกคลีกับนักเรียนมัธยม ทําให้ได้ซึมซับหลักการและวิธีคิดของระบบโรงเรียนมาแถบทั้งหมด
ในระหว่างเป็นสามเณรท่านได้ฝึกเขียนลายสีน้ำ เขียนลายไทย ลายกนก เขียนตัวหนังสือโปสเตอร์โฆษณางานวัดจนได้มาพบกับครูพิณ อินฟ้าแสง ช่างปั้นปูนชั้นครู ก็รู้เลยว่าหลายสิ่งที่หัดเอาไว้ตั้งแต่ตอนเป็นสามเณร ทุกอย่างมาบรรจบที่งานปูนปั้นซึ่งเป็นงานฝีมือจับต้องได้นั่นเอง
“ผมสึกจากการเป็นเณรออกมา แล้วขอเป็นลูกศิษย์ของครูแต่ครูไม่รับ เพราะเราไม่ได้คิดถึงประเพณีเมืองเพชรบุรีอย่างหนึ่งคือ งานช่างเขาจะไม่สอนคนอื่น เขาจะสอนเพียงแต่ลูกหลานเขาเท่านั้น แม้ว่าท่านจะไม่รับเป็นลูกศิษย์แต่ยังพอมีช่องทางอยู่ว่า ถ้าอยากเป็นช่างปั้นจริงก็ให้ลองทําดูทันที่ ปรากฏว่าผมทําได้ ซึ่งมันคนละเรื่องกับการเป็นลูกศิษย์ แต่กลายเป็นลูกจ้างแทน แล้วท่านก็ให้ผมทํางานได้ค่าตอบแทนเป็นเงินวันละ 10 บาท
“แต่ทํางานได้ไม่เท่าไหร่ผมก็โดนส่งตัวเข้ากรุงเทพ ไปเขียนจิตรรมฝาผนัง ได้ราว 2 ปี เมื่อมีอายุครบ 20 ปี จึงต้องกลับมาบวชเป็นพระ หลังจากบวชพระ ผมก็ไปเป็นทหารเกณฑ์ทันที ตรงนี้แหละที่ทําให้ชีวิตผมได้รับประสบการณ์ที่ต้องต่อสู้กับชีวิตด้วยความอดทน เพราะผมเป็นโรคภูมิแพ้ทะเลอยู่ก่อนแล้ว แต่ดันไปได้เป็นทหารเรือ โรคภูมิแพ้ของผมแพ้ตั้งแต่น้ำทะเลไปจนถึงอาหารทะเล
“อาการคือมันทำให้ผิวหนังเน่าไปทั้งตัว ทางค่ายทหารส่งไปโรงพยาบาลข้างนอก โรงพยาบาลเขาก็ไม่รับส่งกลับมาทางค่ายอีก เวลานอนก็นอนไม่ได้ เวลาฝึกก็ฝึกไม่ได้ ต้องไปนั่งตามโคนไม้ แมลงวันเป็นฝูงก็มาเกาะเต็มไปหมด เหมือนกับว่าผมไม่เหมาะในสังคมนั้น ผมอยู่ใต้แค่ 2 เดือนเขาก็ไล่กลับบ้านไม่ให้กลับมาอีก คือ กลับมาอาจต้องตายแน่เพราะโรคที่เป็นมันยากที่จะรักษา แล้วผมได้ย้ายรายชื่อในทะเบียนบ้านไปอยู่ที่ค่ายทหาร เมื่อออกมาเลยก็ทำให้ผมเป็นบุคคลหนีทหารทันที
“เมื่ออยู่นอกค่ายผมก็ต้องดิ้นรนรักษาตัวเอง ทำอย่างไรล่ะเพราะผมไม่มีเงินเลย โชคดีที่ยังมีวิชาปูนปั้นติดตัวมา ผมก็รับงานปั้นเพื่อเอาเงินมารักษาตัวเอง จนกระทั่งหายเป็นปกติ หลายปีต่อมารัฐบาลมีการประกาศนิรโทษกรรมบุคคลหนีทหาร ผมก็เข้าไปที่ค่ายนำชื่อตัวเองกลับออกมาทำให้สามารถทำธุรกรรม ได้เหมือนไทยปกติ”
หลังจากนั้นอาจารย์ทองร่วง จึงมุ่งมั่นทำงานปูนปั้นอย่างเต็มความสามารถ แม้จะไม่ได้มีครูสอนเหมือนคนที่คนอื่นเรียนในมหาวิทยาลัย แต่อาศัยครูพัก ลักจำ และศึกษาตัวเองจนงานปูนปั้นนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างชื่อเสียง ให้ท่านในเวลาต่อมา
“ผมก็มุ่งหน้าทำงานเรื่อยมา แต่ด้วยความที่ไม่ได้คิดเหมือนคนอื่น เราทำอะไรต้องเจาะลึกให้ทะลุทุกเรื่อง อย่างเรื่องการปั้นศาลาวัด การจะทำงานชิ้นนี้ได้บางคนมองว่าไม่น่ายาก แต่ความจริงแล้วผมต้องไปศึกษาศาสตร์ทุกอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบ เพราะผมไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัยที่เขามีหลักสูตร ให้นักศึกษาเรียน ก็เลยต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้รับเหมา อะไรที่่เราทำได้เราก็ช่วยเขาทำ โดยที่ไม่ต้องมีค่าแรง ทำแบบนี้ก็เพื่อเอาความรู้
“พอมาถึงการปั้นปิดทอง ซึ่งเราทำไม่ได้ก็ต้องเหมางานเองแล้วจ้างช่างปิดทอง มาทำแล้วจึงแอบขโมยวิชาความรู้จากเขาวันละนิด เพราะเขาจะไม่สอนกันโดยตรง อะไรที่เราทำไม่ได้เราก็ต้องไปหาจนกว่าจะได้ครบ เมื่อครบแล้วจึงเป็นองค์รวม ของความรู้ที่หลากหลาย
“เมื่อพูดถึงงานปูนปั้น ความจริงแล้วมันเป็นงานช่างแขนงหนึ่งอยู่ในกลุ่มของช่าง 10 หมู่ งานปูนปั้นของเพชรบุรีเป็นงานปูนปั้นประเพณี ไม่ใช่งานศิลปะ ซึ่งหมายความว่าเขาทำลวดลายเดิมสืบต่อทำตามกันมาตั้งแต่โบราณ เป็นแนว ประเพณี เหมือนงานลอยกระทงปีนี้ ทำแบบนี้ปีหน้าก็ทำแบบเดิมหรือแห่เทียนพรรษาก็เหมือนกัน ต่างจากงานศิลปะมันมีชิ้นเดียวใครจะทำเลียนแบบไม่ได้ แต่งานแนวประเพณีเลียนแบบกันไปมาไม่มีใครว่า”
แม้งานปูนปั้นแนวประเพณีของอาจารย์ทองร่วง จะมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมอยู่พอสมควร แต่มันยังไม่พอสำหรับท่าน ในช่วงปีช่วงปี 2518 หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเสียงในสภาแค่ 18 เสียง เป็นรัฐบาลที่มีจัดทำโครงการต่าง ๆ สู่ชนบทมากมาย เมื่อเป็นเช่นนี้อาจารย์ทองร่วงจึงเกิดไอเดีย อย่างที่สมัยนั้นไม่เคยมีใครทำมาก่อน คือปั้นหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชแบกฐานพระ เพื่อให้คนจดจำ และศึกษาสิ่งที่ท่านทำตรงนี้เอง สร้างกระแสฮือฮาของยุคนั้นมากพอสมควร
“ในปีทีจัดครบรอบ 25 ปี 14 ตุลาคม 2516 และ 2519 มีนักข่าวมาถามผมว่า จะเอางานอะไรไปแสดง ผมตอบไปว่าผมจะปั้นเรื่องของอดีตประธานาธิบดี อเมริกาบิล คลินตันกับโมนิก้าลูวินสกี้ เจ้าหน้าที่ ฝึกงานทำเนียบขาวที่มีความสัมพันธ์กันแบบลับ ๆ นักข่าวรอยเตอร์พอทราบข่าวว่าผมจะปั้นรูปนี้ ก็ตามมาหาผมที่บ้านตั้งแต่เช้าเลย ในตอนนั้นผมปั้นตัวละครมี นักการเมืองไทยคุณ สมัคร สุนทรเวช คุณ ชวนหลีกภัย คลินตัน และ โมนิก้าลูวินสกี้ ซึ่งสมัยนั้นผมปั้นโดยที่ไม่มีรูปใครเลยสักคน อาศัยความจำจากการดูจากทาง ทีวี เหมือนโชคดีที่ผมปั้นคลินตันเหมือน ก็เลยมีการตีข่าวออกไปทั่วโลกจากงานปั้นในครั้งนั้น
“แนวคิดแบบนี้ผมไม่อยากบอกว่าเราต้องรู้กระแสโลก แต่หลักสำคัญจริง ๆ ที่ผมทำต้องรู้กระแสธรรม เหตุและผลต้องสอดคล้องกัน เราไม่ต้องกลัวว่าเราลงทุนสร้างเหตุแห่งความดีงามแล้ว ผลที่ออกมามันไม่ดีคงไม่ใช่ เพราะเหตุมันย่อมสมกับผลที่ออกมา หลักคิดอย่างนี้ถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่น
“แต่ถามว่าทุกคนอยากเด่นอยากดังกันทั้งนั้น ถ้าคนอยากรวยขอให้เขาขยันแบบถูกวิธีก็สามารถรวยขึ้นมาได้ แต่การอยากมีชื่อเสียงให้คนยอมรับนับถือ อาจทำได้ไม่เหมือนกัน สำหรับคนที่ไม่ได้สะสมปัญญามาก่อนหน้านี้ มันอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีปัญญา เพียงแต่เขาไม่ได้สะสมมันไว้ตั้งแรก เมื่อนํามาใช้กับวิถีชีวิตของงานที่ทำให้ ติดขัดเหมือนคนที่ไม่ได้ฝึกหัดมาก่อน
“ความอดทนมันเหมือนเป็นพรสวรรค์ การที่ผมเจ็บป่วยผมต้องเอาชีวิตรอดด้วยตัวเอง ไม่ใช่ด้วยหมอ รักษาผมร้อยเปอร์เซ็นต์นะ แต่รู้จักเอารอดจากตัวเราเองด้วย ผมให้ความสําคัญกับการต้องทําความรู้จักกับตัวเราให้มากที่สุด แล้วเอาตัวรอดกลับมาให้ได้ ผมเคยเป็นมีคดีความเรื่องที่ดิน เรื่องบ้าน ค้าขาย ถูกฟ้องเป็นความขึ้นโรงขึ้นศาล ในยุคหนึ่งผมเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองจึงถูกหมายหัวจากรัฐ ถูกมือปืนตามยิงมีหนี้สินหลายสิบล้านบาท แต่ก็พาครอบครัวญาติพี่น้อง ผ่านสถานการณ์เลวร้ายมาได้ ประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้แหละจะหล่อหลอมให้งานออกมามีความต่างจากคนอื่น
“บางคนสงสัยว่าอาชีพช่างปั้นทําให้มีกําไรเยอะหรืออย่างไร ถึงได้มีที่ปลูกบ้านซื้อที่ดินมากมาย ผมบอกเลยว่าช่างปั้นแทบจะไม่พอกินอยู่ได้ไปวัน ๆ เท่านั้น เพราะในขณะที่ปั้นผมรู้สึกได้ว่าต้องสอนคนให้เป็นก็พอแล้ว อย่างการรับงานทําโบสถ์มาหลังหนึ่ง ผมจะรับคนมาทํา วิธีคือก็ต้องเอาเขาไปปล่อยไว้กับงาน ตอนแรกก็เบิกเงินให้เขา ตอนหลังก็ลองให้เขาเบิกเงินเองบ้าง พอเห็นว่าเขาไม่เอาเปรียบวัดไม่เหลวไหล ผมจะยกงานชุดนี้ให้เขาไปเลย แล้วผม ก็ไปหางานที่อื่นต่อพอได้งานก็ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ นี่คืออาชีพที่ผมรับเหมา ผมไม่ได้ทำเป็นรูปบริษัทต้อง เอาเงินทุกบาทมากองรวม ที่ตัวเองหักลบส่วนที่เหลือ กำไรแล้วจ่ายลูกน้องไม่ใช่คือผมยกมอบงานให้คนอื่น ไปเลย เอาไปทำให้เป็นอาชีพของเขา เขาก็ไปรับเหมา มีเงินเลี้ยงดูครอบครัวต่อไป ส่วนผมมีหน้าที่่เพียง ฝึกคนให้เติบโต ไม่ได้สนใจหาเงินทองจากตรงนี้นี่คือ วิถีทางงานปูนปั้น
“แต่ที่ผมพอมีเงิน เพราะตอนที่เป็นเณรผมได้ พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่มาสององค์ หนึ่งองค์ผมเอาไปให้ลูกของเพื่อนแขวนคอ เขาเอาไปได้เพียงสองอาทิตย์ก็มาถามว่าปล่อยเท่าไหร่ ผมก็บอกแล้วแต่ว่าจะปล่อยเท่าไหร่ผมก็เอาหนังสือพิมพ์ที่่มีราคาพระสมเด็จไปเทียบ ซึ่งก็หลายสิบล้านอยู่ ในเวลาต่อมาพ่อเขา ก็เอาเงินมาให้ผมครั้งละล้านสองล้าน ผมก็เอาเงิน มาซื้้อของเก่าปลูกบ้านซื้อที่ดิน วิถีชีวิตผมเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ว่ามีอาชีพรวยเงินรวยทองอะไร”
อาชีพช่างปูนปั้นของอาจารย์ทองล่วงนั้น ล้วนแต่สร้างคุณค่าให้อาคารสถานที่ต่าง ๆ มากมาย แต่ผลงาน ชิ้นที่จดจำมากที่สุดในชีวิต คือการที่ได้รับเชิญจาก กรมศิลปากรในฐานะผู้ชี่่ยวชาญด้านพุทธศิลป์ สถาปัตยกรรมและประติมากรรมไทย ในโครงการ บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและ พระบรมมหาราชวัง ในช่วงเตรียมการฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งท่านเปรียบเสมือนหัวหน้าทีมนำช่างหลายร้อยชีวีตไปทำงานชิ้นสำคัญ แม้จะมีอุปสรรคในช่วงแรกบ้างแต่ในท้ายที่สุดก็ลุร่วงไปด้วยดี
“ผมพยายามหาเหตุผลว่าทําไมถึงจ้างผมมาคุมงานใหญ่ระดับประเทศ ทั้งที่ผมจบแค่ ป.4 อีกทั้งกรมศิลปากรที่มีคนเก่งมากมาย ผมก็ถามอาจารย์ ท่านหนึ่งที่มาเชิญ ก็สรุปได้ว่าในคราวที่ผมเคยทํางานที่วัดอัมพวัน ซึ่งเกิดมีความเห็นไม่ตรงกันขึ้น เมื่อใช้เหตุผลในเนื้องานจริงท่านยอมจํานนกับผม ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงเห็นแววว่าถ้าผมมาทํางานชิ้นนี้ ก็จะมีคนที่สามารถถกเถียง ด้วยเหตุผล เช่นเดียวกับที่เคยทํามา
“เมื่อเข้าไปทํางานบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง ก็เจออุปสรรคเยอะมากเพราะต้องมีการสั่งแก้ไขควบคุมคนงาน ถกเถียงปัญหามากมาย ซึ่งผมไม่กลัวว่าใครจะมาว่าผมเพราะผมเอาเรื่องงานที่ถูกต้องเป็นสิ่งสําคัญ แต่ปัญหาใหญ่คือโครงการนั้นสํานักงบประมาณให้เงิน มาเพียง 8 ล้าน 7 แสนบาททั้งที่ต้องใช้เงินเป็นร้อยล้านบาท
“ในช่วงเริ่มงานผมขนช่างไปร้อยกว่าคนแล้วเช่าบ้าน แถมมีค่าล่วงหน้า 3 เดือน ผมต้องหาเงินจ่ายค่าล่วงหน้า และค่ากินอีก เพราะบางคนไม่มีเงิน พอทําไปไม่กี่เดือนมีการแจ้งว่าเงินหมดทําต่อไม่ได้ ผมก็บอกให้หาเงินสิ เขาก็ไม่รู้ว่าจะหายังไงกัน ผมบอกว่าถ้าให้ผมหาเงินมาให้คุณต้องฟังผมทุกเรื่องนะ ผมก็คิดโครงการทําเหรียญวัดพระแก้วขึ้นมา ทั้งที่ไม่เคยทํากันมาก่อน ส่งหนังสือไปที่สํานักพระราชวังกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อทรงอนุญาตก็มีการออกแบบจัดทําโดยอาจารย์พินิจ สุวรรณะบุณย์ แล้วเปิดจองเหรียญขึ้นทันที ยอดเงินจองเดือนเดียวเข้ามา 200 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้ยังพอเหลือมาในปัจจุบัน ผมก็แนะนําให้จ้างช่างประจําสัก 5-6 คอยซ่อมแซมตลอดไม่ให้ทรุดโทรมอีก
“การทํางานบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง เป็นงานที่เราต้องคํานวณทุกอย่างแทบทั้งหมด แล้วตีเป็นค่างบประมาณออกมา ตรงจุดนี้ต้องแม่นยํา ต้องเรียนรู้อย่างรวดเร็วในงานที่ไม่เคยรู้มาก่อน ทางกรมศิลปากรมีปัญหาอะไรก็ต้องแก้ปัญหาให้เขาได้ การบูรณปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ครั้งนั้นสมเด็จพระเทพรัตนฯ ท่านเป็นองค์ประธาน เวลาท่านเสด็จทรงงานกรมศิลป์จะให้ผมไปถวายรายงาน เวลาท่านสงสัยอะไรผมก็จะอธิบายทุกครั้งจนเสร็จสิ้นโครงการ
เมื่อผ่านงานบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง ท่านมีผลงานการปันในรูปแบบต่างมามากมายนับไม่ถ้วน จึงเหมือนเป็นใบเบิกทางอย่างหนึ่ง ที่ทําให้อาจารย์ทองร่วงได้เป็นศิลปินแห่งชาติ เด็กรุ่นใหม่จึงศรัทธา ในความรู้ที่จะสอนได้ทุกเรื่องในงานช่างปูนปั้น จึงเป็นที่มาของการเปิดเป็นกลุ่มศิลปะปูนปั้น จังหวัดเพชรบุรี อาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐขึ้นมา
“ที่ผมเปิดศูนย์นี้ขึ้นก็เพื่อให้ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับปูนปั้นซึ่งมันไม่อยู่ในระบบ ให้มันเข้าระบบศูนย์แห่งนี้ไม่ใช่ว่าสอนแต่เด็กที่ไม่เป็น แต่คนที่เป็นแล้วก็เข้ามาเรียนได้ เพราะมันเหมือนชั้นเรียนที่มีระดับเช่นประถม มัธยม ปริญญาตรี โท เอก เข้ามาพูดคุยกันต่อยอดงานช่างปั้นชักนําไปในทางที่ถูก อย่าให้เขาเห็นว่าแค่เพียง รับจ้างกินมีเงินเหลือเยอะแล้วมันไม่ใช่ ซึ่งผลงานมันมีค่ามากกว่าเงิน แม้บางกลุ่มเขาแหกคอกเห็นเงินสําคัญกว่าคุณธรรมก็มี แต่เขาก็จะได้รับผลกรรมของเขาเอง
“อย่างการทํางานเกี่ยวกับวัดบางที่ก็มีสิ่งต้องห้าม ผมเคยห้ามช่างคนหนึ่ง ไม่ให้เขาขึ้นไปทํางานบนพระปางค์ แต่เขาไม่เชื่อพอขึ้นไปทําพอสักพักก็ป่วย หรือมีพวกขโมยขุดหาสมบัติใต้ฐานเจดีย์เพื่อหาพระเครื่องกันตลอด มีอยู่วัดหนึ่ง พวกนักขุดหาไม่เจอแต่ผมขุดเจอพระบูชาสมัยทวารดี สมัยลพบุรี มีตลับเงิน เหล็กไหลผมก็เอาของเข้าวัดเพื่อเก็บเอาไว้
“แต่พอผ่านไปสามวันผมเข้าไปที่วัดถามหลวงพ่อว่าของที่ขุดพบอยู่ที่ไหน หลวงพ่อบอกไม่มีแล้ว ท่านบอกว่าอยู่ที่ธนาคารกลัวขโมยคือยังไงแกก็ไม่ให้ดู จนกระทั่งมีการซ่อมพระปรางค์ ผมห้ามเจาะแต่เจ้าอาวาสก็ให้ช่างเจาะเอาของ ไปขายอีก เชื่อไหมว่าคนที่เจาะเอาของไปขายกลับไปนอนป่วยแถมไฟไหม้บ้านหมดเลย แล้วไม่นานหลวงพ่อก็เสียชีวิต คือสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจริง การเป็นช่างเราจึงต้องมีจรรยาบรรณเวลาไปพบก็ส่งคืนหลวงเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของแผ่นดิน”
แม้อาจารย์จะทํางานปูนปั้นมาหลายรูปแบบ ทํางานผ่านเรื่องราวมามากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่ลืมคือการได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จังหวัดเพชรบุรี
“ช่วงเวลาที่ผ่านมาผมเห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานมาโดยตลอด ท่านมีความสนใจในหลายด้านแม้แต่เรื่องเล็กน้อยท่านก็ไม่ละเลย โดยส่วนตัวผมเคยเข้าเฝ้าท่านในช่วงที่จังหวัดเพชรบุรีได้จัดถวายเรือนกฤษณาให้แก่สมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยท่านตั้งชื่อว่าเรือนปั้นหยา ทางจังหวัดที่มีการจัดการปรับปรุงเรือนให้ สมพระเกียรติ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดก็มาปรึกษาผมว่าจะแต่งเรือนอย่างไร เพราะเฟอร์นิเจอร์น้อยเกินไป ผมก็เลยเชิญท่านผู้ว่าให้มาที่บ้านผม คืออยากได้อะไรก็ขนเอาไปเลย แต่มีข้อแม้ว่าต้องเอาผู้เชี่ยวชาญมาเลือกเท่านั้น ท่านผู้ว่าก็เอาอาจารย์ วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติมาเลือกไปจัดให้เรือนสวยงาม
“เมื่อถึงวันที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จปรากฏว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงเสด็จมาด้วย ท่านก็โปรดเรือนนี้มาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านก็แนะนําผมว่าเป็นคนที่เคยถวายงานซ่อมวัดพระแก้ว และพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นทําให้ผมปลื้มใจเป็นอย่างมาก
“วันนี้ผมจึงอยากทําอะไรตอบแทนในหลวงรัชกาลที่ 9 บ้าง ก็เห็นคนอื่นเขาทํากิจกรรมกัน ผมคิดว่าเรื่องมหาชนกเป็นบทพระราชนิพนธ์ของท่าน แล้วกลุ่มของเราเป็นงานปูนปั้นก็เลยอยากจะทําให้เป็นอนุสาวรีย์ เพื่อรําลึกถึงพระองค์ท่าน โดยกําลังสร้างเรือมาหนึ่งลํา เรือจะเป็นลวดลายนูนต่ำ แต่ภายในจะเล่าเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นเหมือนไม่เป็นธรรมของสังคมเป็นการบันทึกเรื่องราวไปในตัวมันเป็นสิ่งที่มีค่า แทนที่จะบันทึกเป็นตัวอักษรที่เป็นภาพสัมผัสได้ขึ้นมา เหล่านี้เองคือคุณค่า ของงานปูนปั้นที่สืบทอดกันมาอย่างช้านาน