พบเอก พรพงเมตตา : คนข่าวคุณภาพแห่ง MONO 29 | Issue 165
เมื่อทีวีดิจิทัลเปิดบริการอย่างเต็มรูปแบบ นับวันการแข่งขันของแต่ละช่องดูเหมือนจะเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือด ตัวเลือกของคนดูก็มีให้เลือกมากมายนับไม่ถ้วน แต่ละช่องจึงต้องนำเสนอคอนเทนต์เพื่อดึงดูดคนดู เช่นเดียวกับช่อง MONO29 เอง ที่ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของคนดูในปัจจุบันด้วยการดึงคนข่าวโปรไฟล์ดีหลายคนชูเป็นจุดขายหนึ่งในนั้นคือ แบงค์ พบเอก พรพงเมตตา หนุ่มหล่อ โปรไฟล์ดี เขามาพร้อมภารกิจด้วยการนำเสนอข่าวที่เป็นความจริง ครบถ้วนรอบด้าน
พบเอก พรพงเมตตา : ตอนเด็ก ๆ จริงอยากเป็นหลายอย่างมากครับ เพราะว่าโตขึ้นมาไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ก็เป็นธรรมดาของเด็กเพราะว่าเราไม่เคยลองทำไม่เคยลงไปจับจริง ๆ เราก็จะไม่รู้ว่าเราอยากเป็นอะไรจริง ๆ อย่างตอนที่ เรียนปริญญาตรี ทางด้านบริหารธุรกิจ ก็เลยไม่รู้ว่าควรทำอะไรดี ก็ได้ลองไปฝึกงานเองตั้งแต่ปี 2 ลองค้นหาตัวเอง และได้ลองไปทำงานด้านธุรกิจ เกิดความรู้สึกที่ไม่โอเค มันไม่ใช่ตัวเรา แต่เรียนมาแล้วก็ต้องเรียนให้จบ และตอนปี 3 มีเพื่อนพี่สาวเขาทำเป็นโปรดิวเซอร์อยู่ที่รายการ Newsline ทาง NBT (เอ็นบีที) เป็นรายการข่าวภาษาอังกฤษ ก็เลยได้มีโอกาสถามเขาว่ารับเด็กฝึกงานไหม ไม่เอาตังค์ก็ได้ อยากไปลองดู ซึ่งจริง ๆ ทางมหาลัยไม่ได้บังคับว่าจะต้องไปฝึกงานอะไรแบบนี้นะครับ แต่เราอยากไปลองเอง
พบเอก พรพงเมตตา : ผมว่าโชคดีมากที่ได้ฝึกงานที่นี่ ทั้งได้เขียนข่าว แปลข่าว เพราะว่า มันเป็นข่าวรายการภาษาอังกฤษ ต้องมาแปลอังกฤษ - ไทย, ไทย - อังกฤษ ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ ประมาณนี้ครับ ได้ทำหลายอย่างมากตอนฝึกงานเป็นช่วงปิดเทอมมีระยะเวลาไม่กี่เดือน แต่พอฝึกงานเสร็จ ทางผู้ใหญ่ ก็ถามว่าสนใจมาทำ Part-Time ไหม ก็เลยตอบตกลงไป ช่วงนั้น ก็ลำบากอยู่เหมือนกันเพราะว่าอยู่ในช่วงปี 3 - ปี 4 การเรียนจะหนักขึ้น และต้องแบ่งเวลาให้ดี แบบว่าวันจันทร์ - พุธ จะเป็นวันเรียน วันพฤหัสไปทำงาน วันศุกร์กลับมาเรียนใหม่ ประมาณนี้ครับ
หลังจากจบมาผมก็ได้ มาทำงานด้าน PR อยู่พักหนึ่ง พอทำไปได้สักพัก คุณพ่อเกิดประสบอุบัติเหตุ ก็เลยต้องตัดสินใจออกจากงาน เพื่อมาช่วยธุรกิจที่บ้าน มาดูแลแทนคุณพ่อระยะหนึ่ง และเหมือนช่วงเวลาจังหวะได้พอดี คุณพ่อเริ่มฟื้นตัวกลับมาทำงานได้ และในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ TV ดิจิทัลกำลังจะเริ่มพอดี ก็เลยไปออดิชั่นที่ช่อง MONO 29 ออดิชั่นอยู่หลายรอบเลยครับ และสุดท้ายได้อ่านข่าว
พบเอก พรพงเมตตา : รายการแรกที่เริ่มทำงานที่นี่ เป็นรายการ Midnight Report ครับ เป็นข่าวต่างประเทศจะออนแอร์ตอนเที่ยงคืน คือเป็นวันแรกที่เปิดช่องก็ออนแอร์เลยครับปัจจุบันตอนนี้อ่านข่าว 2 ช่วงครับ ช่วงเช้า ชื่อรายการ Good Morning Thailandเป็นช่วงรายการข่าวต่างประเทศ เลยครับ ในช่วง ‘Good Morning World’ และก็ช่วงเย็น ตอน 5 โมงครึ่ง - 6 โมง อันนี้เป็นรายการของผมเองนั่งคนเดียว ชื่อรายการ ‘เรื่องเด่นประเด็นดัง Toptalk Daily’ เป็นในข่าวไทย เรื่องที่คนไทยสนใจ เรื่องที่คนไทยต้องรู้ในแต่ละวัน เราจะสรุปมาให้ แต่ก็จะมีข่าวต่างประเทศ 2 - 3 ข่าว คัดที่ดัง ๆ มานำเสนอครับ
ผมเป็นคนตื่นเช้ามากครับตั้งตี 4 ตี 5 แล้วก็เริ่มอัพเดท จริง ๆ คือเริ่มตั้งแต่ในช่วงดึกครับ ก่อนนอนก็จะดูและว่าข่าวตอนนี้มีอะไรบ้าง พอเรานอนตื่นขึ้นมาเราก็ต้องอัพเดท ว่าข่าวที่เราดูตอนกลางคืนมีความเคลื่อนไหว มีอะไรใหม่ไหม และก็มาอ่านข่าวเช้าที่นี่ มาก่อนเวลาแต่งหน้าเตรียมตัว และก็อ่านข่าวต่างประเทศ ในช่วงก่อนอ่านข่าวต่างประเทศ เนื่องจากว่ามันจะมีเวลาที่มันเหลืออยู่เพราะฉะนั้นก็ต้องคอยอัพเดทข่าวด้วย ส่วนตอนเย็นอ่านข่าว 5 โมงครึ่งก็จริง การเตรียมตัวจริง ๆ คือมาตั้งแต่บ่ายโมง ในระหว่างช่วงเช้า ในกลุ่มไลน์ข่าว ก็จะมีการอัปเดตกันตลอดว่าตอนนี้มีข่าวอะไร คือทุกคนที่อยู่ในทีม เรื่องเด่นประเด็นดัง เขาจะคอยส่งข้อมูลกันเข้ามาอยู่แล้ว เราก็จะประมวลกันทั้งวัน เรียกได้ว่าทำ 24 ชั่วโมง คือทีมก็จะสลับกันทำสลับกันส่ง
พบเอก พรพงเมตตา : การจัดรายการสด ก็กดดันครับ กดดันพอสมควรแต่พอทำได้สักระยะหนึ่ง ก็จะรู้ว่าเราต้องคุมสติให้ได้ครับ ต้องอย่าไปโฟกัสว่า นี่มันรายการสดอยู่นะ มีคนดูเราอยู่จากทางบ้าน เพราะว่าถ้ายิ่งโฟกัสตรงนั้น จากประสบการณ์ส่วนตัว ยิ่งโฟกัสยิ่งผิดครับ เราต้องอยู่ที่เนื้อข่าวมากกว่า นี่คือสิ่งที่เราจะส่งออกไป และพอโฟกัสตรงนั้นมันจะไม่ผิดหรือผิดน้อยลงครับงานทุกงานมีความเครียดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร ต่อให้ไม่ใช่เป็นผู้ประกาศเป็นงานอื่นก็ความเครียดเหมือนกัน อยู่ที่ว่าเราจะบริหารจัดการอย่างไร จริง ๆ ความเครียดในการทำงานผมว่าเป็นเรื่องดีด้วยนะ เพราะว่ามันทำให้เราแอคทีฟ มันจะไม่เฉื่อยชา มันจะไม่เช้าชามเย็นชาม มันจะมีอะไรที่เป็นความท้าทายที่เราจะต้องก้าวข้ามตลอดเวลา ถ้าเกิดเราบริหารมันได้ผมว่ามันจะเป็นแรงผลักดันให้เราขึ้นไปด้วยซ้ำครับ
ส่วนนิยามของคำว่าผู้ประกาศข่าวที่ดีในมุมของผม ผมว่าต้องเป็นคนที่ ไม่นำเสนอข้อมูลผิดพลาดทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันผิด เหมือนเป็นการชักนำให้ผู้รับชมเข้าใจผิด คือมันจะแตกต่างกับสไตล์การเล่าข่าวที่แสดงความเห็น แต่ว่ามันจะมีหลายกรณีที่นำเสนอข้อมูลที่ให้ผู้ชมคิดไปอย่างหนึ่งที่จริง ๆ แล้วข้อเท็จจริงอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพื่อเรียกยอดวิวยอดไลค์ ผมมองว่าเป็นแบบนั้นมากกว่า
พบเอก พรพงเมตตา : ท้ายนี้ฝากถึงน้อง ๆ ในวัยเรียนเราต้องหาตัวเองให้ได้ก่อนครับ ถ้าเกิดเรารู้ว่าเราชอบอะไรและเราอินกับอะไร อยากให้อย่ายอมแพ้ครับพัฒนาไปเรื่อย ๆ แล้วเดี๋ยวโอกาสก็มาหาเราเอง ผมชอบประโยคนี้มาก ‘ถ้าเกิดโอกาสมันไม่มาหาเรา เราก็ไปหาโอกาสเอง’ เราต้องพยายามไขว่คว้าด้วย ไม่ใช่ว่ามานั่งรอให้โอกาสมันร่วงลงมามันก็ยาก เราก็ต้องพยายามพัฒนาตัวเองด้วย อย่างคนที่ทำสื่ออยากเป็นผู้ประกาศข่าว อยากเป็นนักข่าว อาจจะไม่จำเป็นต้องจบนิเทศศาสตร์เสมอไป แน่นอนว่าจบนิเทศศาสตร์มันช่วย แต่ว่าถ้าจบสายอื่นมาก็สามารถเป็นได้ถ้าคุณตั้งใจจริง ๆ”
Khow Him
- เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาลัยนานาชาติ คณะบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ติดตาม Instagram ได้ที่ @mrpobek
Photo : Satchaphon Rungwichitsin