สิงห์คม บริสุทธิ์ : แม่ทัพชัตเตอร์แห่งกรมศิลปากร | Issue 165
ใครบางกล่าวไว้ว่า “ภาพบางภาพ สามารถสื่อ ความหมายได้มากกว่าคำพูด” ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องจริง เพราะภาพถ่ายบางชิ้นเราอาจไม่ต้องการคำบรรยายอะไร แต่สามารถเข้าใจในบริบทของภาพนั้นได้โดยปริยาย ซึ่งผู้ที่ ถ่ายภาพแล้วสื่อความหมาย และรายละเอียดของภาพนั้น ๆ ออกมาได้อย่างลึกซึ้งท่านหนึ่งของประเทศไทยคืออาจารย์ สิงห์คม บริสุทธิ์ ผู้ที่เป็นหัวเรือใหญ่ในงานภาพถ่ายของกรมศิลปากรมาอย่างยาวนาน
อาจารย์ สิงห์คม บริสุทธิ์ ท่านถ่ายภาพโบราณสถานและโบราณวัตถุ ให้กับกรมศิลปากรและหน่วยงานต่าง ๆ มานับ ไม่ถ้วน หรือแม้แต่ภาพงานพระราชพิธีสำคัญ ล้วนแล้วแต่ผ่านการกดชัตเตอร์ของท่านมาแล้วทั้งสิ้น ด้วยประสบการณ์การถ่ายภาพมานานหลายสิบปีมีผลงานเป็นที่ยอมรับมากมาย ท่านจึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา
พื้นเพเดิมของอาจารย์สิงห์คมเป็นคนจังหวัดกาญจนบุรี ท่านเกิดในครอบครัวใหญ่มีพี่น้อง 8 คน ซึ่งมีฐานะยากจน ในวัยเด็กต้องมาอาศัยครอบครัวของพี่สาวกับพี่เขยซึ่งเปิดร้านถ่ายรูปอยู่ในตัวจังหวัด จุดนี้เองทำให้อาจารย์สิงห์คมมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวของการถ่ายภาพตั้งแต่เด็ก จากการช่วยงานถ่ายภาพบุคคล งานแต่ง งานบวช ฯลฯ จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมจึงได้เข้ากรุงเทพเพื่อมาสอบเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ป.ว.ช.) แผนกช่างภาพ ซึ่งในสมัยก่อนเป็นสถานศึกษาแห่งเดียว ที่สอนเกี่ยวกับวิชาการการถ่ายภาพอย่างจริงจัง
อาจารย์ สิงห์คม : ผมเข้าเรียนเทคนิคกรุงเทพในยุคแรก ๆ ซึ่งเป็นสถาบันที่ใครหลายคนอยากเข้ามาก สมัยนั้น ใครสอบเข้าเทคนิคกรุงเทพได้ถือว่าเก่ง ซึ่งในสายของอุดมศึกษาก็ต้องยกให้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ถ้าเป็นสายอาชีวะต้องเป็นเทคนิคกรุงเทพ เพาะช่าง หรือช่างกลปทุมวัน แต่เทคนิคกรุงเทพก็ถือว่าเป็นวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น เข้ามายากเพราะต้องสอบแข่งขัน
จากเดิมผมเพียงคิดแค่ว่า อยากจะเรียนเพื่อเอาวิชากลับไปพัฒนาเรื่องการถ่ายภาพที่บ้าน แต่พอเรียนจบออกมาชีวิตก็พลิกผัน เพราะได้ไปสอบ ก.พ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) เป็นการสอบคัดเลือกบุคคล เพื่อเข้ามาทำงานให้กับหน่วยงานราชการ โดยกรมศิลปากรเปิดรับสมัคร ปรากฏว่าผมสอบเข้าได้จึงมีโอกาสเข้ามาทำงานเลย ตอนนั้นยอมรับว่ายังไม่รู้ด้วยว่า กรมศิลปากรจะให้ทำงานอะไร ที่เลือกกรมศิลปากรเพราะว่าบ้านกับที่ทำงานใกล้กัน
แต่พอเข้ามาทำงานจริงจัง ก็รู้สึกดีใจที่เลือกทางเดินถูก เพราะผมได้เห็นสมบัติของชาติที่บรรพบุรุษของเราสร้างไว้ ทำให้เราคิดถึงว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นหลังได้เห็นมรดกของไทย ตรงนี้เป็นที่มาของการที่ผมได้สร้างงานถ่ายภาพขึ้นมาจำนวนมากในเวลาต่อมา
อาจารย์ สิงห์คม : คือสมัยที่เรียนจบมาใหม่ ๆ นอกจากพื้นฐานที่เรียนการถ่ายภาพมาแล้ว พอลงสนามจริงไม่มีใครสอนเราเลย แต่ด้วยความรักความศรัทธาในงานโบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่บรรพบุรุษสร้างไว้ ผมก็ศึกษาว่าถ้าเราถ่ายให้เห็นชัดเจนทั้งหมด ความรู้สึกความประทับใจมันก็ไม่เกิด เราต้องมาสร้างใหม่จัดแสงเงาให้มีส่วนสว่างส่วนมืด ทำให้ภาพมีมิติ ถ้าภาพมีมิติพระพุทธรูปก็จะดูอลังการขึ้นมา เครื่องถ้วย สิ่งของโบราณต่าง ๆ ถ้าทำให้มีมิติจะดูสวยงามขึ้น
เรื่องเทคนิคการถ่ายรูปการจัดวางองค์ประกอบ แสงเงา และเทคนิคบางอย่าง เราต้องค้นคว้าเอง บางรูปผมใช้เวลาครึ่งวันเลยนะกว่าจะถ่ายได้ ตอนที่ผมเริ่มถ่ายรูปใหม่ ๆ คือมันไม่เหมือน สมัยนี้ เมื่อก่อนใช้กล้องฟิล์ม จะต้องบังแสงทำอะไร หลายอย่าง และของที่ใช้ในการถ่ายเราไม่สามารถยกไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ได้ทั้งหมด ในทางกลับกันเราก็ไม่สามารถนำของในพิพิธภัณฑ์ออกนอกสถานที่ได้ กว่าจะชำนาญต้องใช้เวลานานพอสมควร และสุดท้ายเราก็รู้ว่าจะถ่ายยังไงให้ออกมาดีที่สุด
การได้ทำงานที่กรมศิลปากรทำให้ผมมีโอกาสเดินทางไปทั่วประเทศ ได้เห็นศิลปะโบราณวัตถุตามพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ผมจึงเกิดความรู้สึกว่าทำอย่างไรถึงจะนำรูปภาพ และสิ่งที่เราเห็น ไปให้คนรุ่นหลังได้มีความรู้สึกรักและหวงแหนในมรดกวัฒนธรรมของชาติได้
อาจารย์ สิงห์คม : ในยุคของผมการถ่ายภาพยากมาก คือถ้าใช้ฟิล์มจะต้องถ่ายให้จบหลังกล้อง แต่ถ้าเป็นกล้องดิจิตอลไม่ต้องทำอะไรเยอะเพราะมันง่ายกว่า การถ่ายภาพด้วยฟิล์มเราต้องใช้ความสามารถตรงนั้น กรมศิลปากรมีกล้องให้ใช้เป็นกล้องแท็คเล็ก ๆ พร้อมกับเลนส์เฟรสเนล (Fresnel lens ) ตอนที่ผมเข้ารับราชการใหม่ ๆ ประมาณปี พ.ศ. 2520 ช่วงนั้นหนังสือของกรมศิลปากรมีแต่ ตัวหนังสืออย่างเดียวยังไม่มีภาพประกอบ ในเวลาต่อมากำลังมีการฉลองกรุงเทพครบ 200 ปี ท่านอธิบดีกรมศิลปากรก็อยากทำหนังสือ “ชมกรุงรัตนโกสินทร์” ผมจึงบอกกับท่านว่าถ้าได้หนังสือที่มีภาพสวยงาม ท่านต้องซื้อกล้องให้ผมชุดหนึ่ง ท่านตอบกลับมาว่าได้
แต่ว่าในยุคนั้นมีงบประมาณมาชุดหนึ่งไม่เกิน 5,000 บาท แต่กล้องที่ผมจะต้องใช้ราคาอยู่ที่เกือบ 300,000 บาท จึงต้องทำเรื่องไปขอสำนักงบประมาณ ซึ่งผมเองเป็นเพียงข้าราชการเล็ก ๆ ที่ต้องติดต่อและชี้แจงถึงความจำเป็น ผมก็ถือหนังสือเข้าไป 2 เล่ม เล่มที่หนึ่งคือ Art of Asia เล่มที่สองคือปฏิทินประเทศไทย หนังสือ Art of Asia เป็นหนังสือที่ถ่ายรูป โบราณวัตถุสวยมาก ๆ ผมบอกกับทางสำนักงบประมาณว่าถ้าท่านให้กล้องที่ผมขอก็จะได้รูปแบบเล่มที่ 1 แต่ถ้าไม่ให้ก็จะได้แบบเล่มที่ 2
ไม่นานสำนักงบประมาณก็อนุมัติเงินให้ซื้อกล้องทันทีเลย กล้องที่ผมใช้คือ Medium Format ในยุคนั้นถือว่ากล้องนี้เป็นกล้องที่ดีที่สุดของโลก ซึ่งกว่าจะได้กล้องชุดนี้มาต้องใช้เวลาพอสมควร และก็เป็นการเปลี่ยนแปลงของกรมศิลปากรจากหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือ ก็เป็นหนังสือที่มีรูปภาพสวยงาม นั่นแหละครับคือจุดเริ่มต้นของผม และหลังจากนั้นกรมศิลปากรก็พัฒนาหนังสือร่วมกับกระทรวงศึกษา ผมก็ถูกเชิญเข้าไปด้วยในเรื่องของการถ่ายภาพ ได้ทำงานเรื่อย ๆ มา ตามลำดับขึ้นซึ่งสุดท้ายในสายงานราชการก็ได้มาเป็นหัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์
อาจารย์ สิงห์คม : สมัยที่ได้ทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ ตรงนี้เองทำให้ผมได้เดินทางไปทั่วประเทศ ไปเห็นโบราณสถาน เห็นโบราณวัตถุ เราก็เกิดความภาคภูมิใจที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์มรดกเอาไว้ ผมคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนอื่นได้ดูได้รับรู้เหมือนที่ผมเป็น อย่างเช่น จังหวัดสุโขทัย จะทำอย่างไรให้คนอยู่ภาคใต้ที่เป็นเยาวชนนักศึกษาไม่มีโอกาสได้เห็น หรือแม้แต่คนที่อยู่ไกล ๆ ได้ทราบถึงเรื่องราว ทำให้เกิดความรักความภาคภูมิใจ ในมรดกวัฒนธรรมของไทย
ผมจึงเริ่มคิดงานที่จะทำอย่างไรให้มีคนเห็นภาพเหล่านี้ จะถ่ายภาพพวกนี้อย่างไรให้สวยงามและเกิดมิติ เช่นการถ่ายพระพุทธรูปถ่ายให้คนมองเห็นว่าสวยงาม และตีความเข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็นพระพุทธรูปสุโขทัยที่เป็นปางต่าง ๆ เราจึงมีหน้าที่เผยแพร่รายละเอียดและการประชาสัมพันธ์ ให้คนเห็นรูปแล้วอยากจะศึกษาต่อจากนักวิชาการที่ละเอียดมากกว่านี้ ส่วนใหญ่หนังสือที่ผมทำ จะเป็นในแง่ของเชิงประชาสัมพันธ์ เป็นหนังสือ อาร์ตบุ๊ค ที่มีภาพสวย ๆ มากมาย
งานถ่ายภาพของผมยังได้ถูกนำไปสร้างเป็นปฏิทินกับกรมศิลปากร ในเวลาต่อมาได้ส่งเข้าประกวดก็ได้รางวัลมาทั้งชนะดีเด่น หรือรองชนะเลิศก็มี ซึ่งเมื่อลองนับรวมกันแล้วมีไม่ต่ำกว่า 50 รางวัล ผมไม่ได้ทำงานเฉพาะให้กับส่วนราชการเท่านั้น ในภาคเอกชนก็ชวนผมไปทำด้วย ในยุคนั้นเป็นของธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทเอสโซ่ ของประเทศไทย ก็ได้ไปเป็นช่างภาพถ่ายรูปให้
อาจารย์ สิงห์คม : แต่สิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดงานหนึ่งในช่วงเวลาที่ยังรับราชการ คือการได้ถ่ายรูปเหตุการณ์พระราชพิธีสำคัญ ๆ หรือจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เราต้องถ่ายออกมาให้ดีเวลานั้นคือ ตาเราต้องมองและสมองเราคิดว่า ช่วงจังหวะการเดิน ช่วงจังหวะการนั่ง เราต้องดูชัตเตอร์จะกดมั่วไม่ได้ เราต้องคิดไว้ว่าออกมาจะดีไหม ดูแบล็คกราวด้านหลัง พระองค์ท่านประทับดีไหม และขบวนแห่อยู่ตรงไหนถึงถ่ายภาพออกมาดูดี
ถ้าถามว่ากดดันไหม ผมไม่กดดันนะ เพราะผมเป็นคนที่ทำงานแล้วไม่กดดันเลย อาจเกิดจากเราทำงานมามาก จนทำให้เกิดความเคยชิน แต่ตอนที่ทำใหม่ ๆ เรื่องของความตื่นเต้นก็เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนต้องมีอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่ากดดันไหมไม่เลยพระบรมวงศานุวงศ์ทุกท่านมีเมตตา รูปถ่ายที่ออกมาจึงสวยงาม
สำหรับคนที่อยากเป็นช่างภาพ เครื่องมือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพออกมาสวย แต่จะแบ่งเป็น 50 - 50 ถ้าเรามีสมองมีมุมมองที่ดีแต่เราไม่มีเครื่องมือ ก็ไม่สามารถถ่ายภาพให้ออกมาดีได้ ในทางกลับกันถ้าเรามีเครื่องมือดีแต่เราไม่มีสมองหรือไม่มีมุมมองที่ดี มันก็ถ่ายออกมาได้ธรรมดาเพราะฉะนั้นมันคือ 50 - 50 มันขึ้นอยู่กับความสามารถของเราด้วย
อาจารย์ สิงห์คม : การถ่ายรูปเราจะต้องดูในเรื่องแสงเงา จะต้องมี Foreground และ Background มี Subject และจะต้องดูเรื่องสี ดูทุกอย่าง ในสมองเราจะต้องคิดหมด และถ้าเป็นช่างภาพรูปที่จะเอาไปพิมพ์หนังสือ เราต้องมองถึงว่าการดีไซน์หนังสือที่ต้องนำไปใช้ว่ามีตัวหนังสืออยู่ในภาพรึเปล่า หรือถ้าจะใช้หน้าเดียวแนวตั้ง คือเราเป็นช่างภาพเราจะต้องคิด ไม่ใช่ให้มันจบอยู่แค่ที่ตาเรา และคิดว่ามันจบแค่นี้ เราต้องคิดต่อไปถึงคนที่จะทำดีไซน์ต่อไปด้วยว่า เขาจะไปดีไซน์ในหนังสืออย่างไร เพราะฉะนั้นเราต้องถ่ายเพื่อทำให้คนอื่นทำงานต่อสบายจึงต้องมองตรงนี้ด้วย
สมัยก่อนการถ่ายภาพมันค่อนข้างจะยุ่งยาก เพราะการถ่ายภาพ ครั้งหนึ่งต้องเตรียมอุปกรณ์เยอะเดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว เพราะบางครั้งไม่ใช้ไฟด้วยซ้ำไป ถ้าเป็นภาพที่ถ่ายกันเล่น ๆ แต่ถ่ายเพื่อทำงานสื่อยังจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์โดยเฉพาะไปอยู่
เดี๋ยวนี้การถ่ายภาพมันง่ายขึ้น เพราะกล้องดิจิตอลสามารถลบสิ่งที่เราไม่ต้องการออกได้ สมมุติเราจะถ่ายโบสถ์แล้วมีเสาไฟบัง เราถ่ายเสร็จแล้วลบเสาไฟทิ้งคือมันง่าย แต่ในยุคของผมไม่ใช่ ถ้าถ่ายติดมาแบบนี้ต้องไปลบออกที่ฟิล์ม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก เดี๋ยวนี้มีคอมพิวเตอร์ทำได้หมดแป๊บเดียว ถามว่างานไวขึ้นไหมคือไวขึ้น แต่เรื่องของภาพดิจิตอลยังสวยสู้ฟิล์มไม่ได้ คือความนุ่มนวลของภาพ อย่างสีขาวดำจะมีเทาอ่อนเทาแก่ไล่ไป แต่ดิจิตอลขาวดำและเทาเลย สีเทาอ่อนสีเทาแก่ไม่มี
อาจารย์ สิงห์คม : ทุกคนสามารถเรียนรู้เรื่องการถ่ายรูปได้หมด แต่ต้องฝึกฝนลองถ่ายเยอะๆ การจะเป็นช่างภาพที่เก่งต้องถ่ายภาพเยอะขึ้นแล้วเราเอารูปนั้นมานั่งพิจารณาหาจุดบกพร่อง แต่ว่าถ่ายรูปแลนด์สเคปมันขึ้นอยู่กับเวลา บางทีเราก็ได้แสงดี หน้าฝนบางทีก็ถ่ายได้สวย บางครั้งก็ไม่สวยก็แล้วแต่ การถ่ายรูปจะได้ดีต้องถ่ายเยอะ แล้วนำมาเลือก แล้วจะเกิดความชำนาญ แต่เราต้องมีพื้นฐานเรื่องของแสงเงา
เสน่ห์ของภาพถ่ายคือมันสามารถอธิบายแทนคำพูดเราได้เป็นร้อยคำ เช่น เราถ่ายรูปเจดีย์สุโขทัย มันสามารถบอกได้เลยว่าสุโขทัยสวยแบบนี้ แต่ถ้าเราพูดสุโขทัยมีเจดีย์ ทรงดอกบัวตูม ผู้ฟังจะรู้ไหมว่าทรงดอกบัวตูมเป็นอย่างไร มีน้ำมีมาลัยล้อมรอบวัด แต่รูปที่เราถ่ายออกมามันสามารถอธิบายได้คำเดียวว่านี่คือเจดีย์ที่วัด ภาพถ่ายมันบอกได้ ไม่ต้องอธิบายมาก เหมือนพระพุทธรูปสวยงามอย่างไร สมัยสุโขทัยเป็นอย่างไร สมัยอยุธยาเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราพูดด้วยคำบรรยายมันไม่เห็นภาพมองไม่ออก แต่ถ้าเห็นภาพจะรู้ทันทีเลยว่า สุโขทัยหน้าอิ่มสวยยิ้มแย้ม อยุธยาหน้าจะขึงขังนิดหน่อย ซึ่งตรงนี้สามารถนำภาพเรามาถ่ายทอดความรู้ให้กับประชาชนได้เห็นมรดกวัฒนธรรมอันนี้ได้
Photo : Pronsarun Siotong