ยอด ชินสุภัคกุล : เคล็ดลับความสำเร็จจากคนวงใน | Issue 162
ปัจจุบัน Wongnai มีจำนวนผู้ใช้กว่า 10 ล้านรายต่อเดือน และมีฐานข้อมูลร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในไทยกว่า 300,000 ร้านทั่วประเทศ โดยมีพนักงานกว่า 400 คนในสำนักงานทั้งหมด 9 จังหวัดทั่วประเทศไทย Wongnai เป็นเว็บไซต์บริการเครือข่ายสังคมของประเทศไทย Location-Based Service แสดงผลการค้นหาร้านอาหารที่สมาชิกในเว็บไซต์แนะนำว่าที่ไหนอร่อย รสชาติ บริการและราคาเป็นอย่างไร เริ่มเปิดใช้งานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553 สร้างและดูแลโดยบริษัท วงใน มีเดีย จำกัด เว็บไซต์วงในปรากฏในสื่อในฐานะเว็บแนะนำหลายแหล่ง รวมถึงแอพพลิเคชั่นแนะนำสำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน
Wongnai คือผู้นำด้านไลฟ์สไตล์ และเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทย ที่เชื่อมต่อสิ่งดี ๆ ด้วยการนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลรีวิวจากผู้ใช้จริงแบบครบวงจร ทั้งร้านอาหาร สูตรอาหาร ความสวยความงาม Massage And Spa และท่องเที่ยว ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Wongnai
พร้อมทั้งคิดค้นและให้บริการด้าน O2O (Online-to-Offline) เพื่อเชื่อมต่อบริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันกับผู้บริโภคอย่างไร้รอยต่อ รวมถึงระบบการจัดการร้านอาหาร (Wongnai POS) สำหรับเจ้าของธุรกิจ
คำว่า ‘วงใน’ ถูกตั้งขึ้นมาเพราะต้องการให้สื่อถึงการรีวิว สื่อถึงข้อมูลเชิงลึก ว่าคนทั่วไปจะเข้ามาค้นหาร้านอาหารหรือดูร้านใกล้ตัวว่าร้านไหนดีร้านไหนอร่อย เบื้องหลังความสำเร็จย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการร่วมแรงร่วมใจของทีมงาน และวิสัยทัศน์อันคมกริบของ คุณยอด ชินสุภัคกุลประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด
ยอด ชินสุภัคกุล : การทำร้านอาหารเป็นความฝันของหลายคน นับตั้งแต่ก่อตั้ง Wongnai ขึ้นมาจนตอนนี้เกิน 10 ปีแล้ว ถือว่าเป็นตัวจริงด้านธุรกิจร้านอาหารที่มีข้อมูลในทุกมิติมากที่สุดในไทย ซึ่งข้อมูลแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การทำธุรกิจร้านอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย ธุรกิจร้านอาหารในฐานข้อมูลของ Wongnai มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น 40% ระหว่างปี 2018-2019 แต่หากย้อนดูสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีร้านอาหารที่เปิดใหม่เพียง 10% เท่านั้นที่อยู่รอด และมีการเปิด-ปิดร้านอาหารหลายร้อยร้านในทุกสัปดาห์
โดยมีจำนวนร้านอาหารเปิดใหม่ทั้งหมดในปี 2019 ทั่วประเทศ พุ่งเป็น 70,149 ร้าน โตขึ้นจากจำนวนร้านเปิดใหม่ในปี 2018 ถึง 97% แล้วยิ่งในยุคนี้ที่กระแส O2O (Online to Offline) กำลังส่งสัญญาณแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเดลิเวอรี่ และการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้น จึงทำให้ Wongnai for Business เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นพาร์ทเนอร์หรือเพื่อนคู่คิดที่คอยแชร์ข้อมูล ความรู้ เทคนิค และเทคโนโลยีที่ช่วยเหลือในการทำธุรกิจร้านอาหารให้ ‘อยู่รอด’ ในยุคแห่ง O2O นี้
ในปีที่ผ่านมาธุรกิจ Restaurant Solution ของ Wongnai เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึงกว่า 5 เท่า จากปีก่อนหน้า และมีจำนวนร้านอาหารที่ใช้ระบบของเรามากกว่า 80,000 ร้านทั่วประเทศ ด้วยปัจจัยบวกหลายประการ ทั้งอัตราเติบโตของร้านอาหารทั่วไทย ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีร้านอาหาร และความตื่นตัวด้านเทคโนโลยีของเจ้าของธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ได้ดียิ่งขึ้น โดยในปีนี้เรามีแผนที่จะพัฒนาฟีเจอร์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเชื่อมต่อร้านอาหารเข้ากับลูกค้าอย่างไร้รอยต่อที่จะทำให้ธุรกิจร้านอาหารไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในยุค O2O
Wongnai คือแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์รีวิวร้านอาหารชื่อดังอันดับหนึ่งของเมืองไทยในเวลานี้ และเป็น Tech Startup ที่มาแรงที่สุดหลายปีติด เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจนกลายเป็นโมเดลธุรกิจอีกอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจให้ Tech Startup รุ่นต่อไปได้เดินตาม
ยอด ชินสุภัคกุล : วงใน หมายถึง Insider ใช้วิธีการรีวิวเป็นหลัก ไอเดียตอนแรกผมอยากทำ Tech Startup ขึ้นมาก่อนสักอันหนึ่ง ต้องเล่าย้อนไปตอนผมเรียนต่อ MBA ที่อเมริกาอยู่แถว ๆ แคลิฟอร์เนียจะมีพวก Tech Startup ค่อนข้างเยอะ ผมก็เลยตัดสินใจทำขึ้นมาอันหนึ่งก่อน เป็นพวก Social Networking ไม่ได้เกี่ยวกับอาหารโดยตรง ทำประมาณครึ่งปีก็ล้มเหลวเพราะตอนนั้นไม่มีเงินทุนเลย และการแข่งขันค่อนข้างสูง ก็คิดว่าอยากจะกลับมาเมืองไทยแล้วตั้ง Tech Startup ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งกับกลุ่มเพื่อน
ซึ่งตอนอยู่ที่อเมริกาผมจะชอบใช้ Yelp.com เป็นประจำ เป็นเว็บไซต์รีวิว รีวิวร้านอาหาร รีวิวร้านทุกอย่างเลย ก็เลยรู้สึกว่าเมืองไทยน่าจะมี Yelp บ้าง เป็นลักษณะของรีวิวร้านอาหาร ค้นหาร้านอาหาร เพราะตอนนั้นยังหาร้านอาหารที่น่าสนใจยาก การบอกทางก็ทำได้ลำบาก จึงได้ชักชวนเพื่อนสมัยเรียนวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ ภัทราวุธ ซื่อสัตยาศิลป์ (CTO), ศุภฤทธิ์ กฤตยาเกียรณ์ (Software Architect), วรวีร์ สัตยวินิจ (Development Manager) มาทำเว็บไซต์รีวิวแบบนี้ ค่อนข้างมั่นใจว่ามีคนต้องการใช้แน่นอน เพราะขนาดผมเองต้องการค้นหาร้านอาหารในตอนนั้น (ปี 2010) ก็ยังไม่มีสื่อที่ตอบโจทย์เราได้ว่าร้านไหนที่อร่อย มันน่าจะมีสถานที่ที่รวบรวมรีวิวจากผู้ใช้ที่ไปกินจริงมาแสดงให้ทุกคนได้เห็น
หน้าที่ของผม CEO ก็ทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อที่จะให้วงในเจริญเติบโตไปตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเริ่มแรกวาง Vision ว่าวงในจะเติบโตไปในทิศทางไหน ตั้ง Objective ให้กับแต่ละคนในทีมว่าแต่ละคนจะต้อง Achieve อะไรในแต่ละควอเตอร์ เรื่องของการหาคนเข้ามาตำแหน่งต่าง ๆ ก็ขยายอยู่เรื่อย ๆ ทั้งกรุงเทพแล้วก็ต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีการเพิ่มคนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด นอกจากทีมขายก็ยังมีทีม Content ที่ต้องคอยตรวจ สอบข้อมูลจากคนที่โพสต์เข้ามา ทำ Advertorial เขียนบทความอะไรต่าง ๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการเพิ่มคนตรงนั้น
ถ้าถามว่าธุรกิจรุ่นใหม่จำเป็นไหมที่ต้องมีการลดคน จริง ๆ ไม่จำเป็นนะครับ เพราะยังมีบริษัทที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google หรือ Alibaba ก็ตาม เขาก็มีคนหลายหมื่นคนทั่วโลก คือคนมันก็ต้องไปพร้อมกับขนาดของธุรกิจอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอาจจะลดคนในตำแหน่งที่ไม่จำเป็นโดยใช้ IT เข้ามาแทน วงในเองก็มีแผนก IT อยู่ ซึ่งก็พัฒนาโปรดักส์ให้มันทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอยู่แล้ว
ในปี 2019 มีจำนวนการค้นหาร้านอาหารจาก Google และมาจบที่ Wongnai กว่า 200 ล้านครั้ง ธุรกิจร้านอาหารเดลิเวอรีปี 2019 โตสูงสุด แตะ 14% ธุรกิจร้านอาหารเดลิเวอรีโตต่อเนื่อง 5 ปีติด (2014-2018) โตเฉลี่ย 10% ต่อปี ในปี 2019 โตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แตะ 14% มูลค่าตลาดรวมร้านอาหารเดลิเวอรีในปี 2019 มูลค่า 31,814 ล้านบาท
ยอด ชินสุภัคกุล : วงในโตเร็วหรือเปล่าผมก็ยังไม่แน่ใจ เพราะว่าวงในตอนนี้ก็ 10 ปีแล้ว เราเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2010 จริง ๆ ถ้าจะโตเร็วก็จะมีช่วงระหว่างปี 2013 เป็นต้นมามากกว่าที่โตเร็ว ช่วงแรก ๆ วงในนี่โตช้า แต่มาเริ่มโตช่วงปี 2012 ช่วงสงกรานต์ ช่วงนั้นก็เกิดอะไรขึ้นหลายอย่าง อย่างแรกเช่นคนใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น อันนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะคนใช้วงในค้นหาร้านอาหาร ไม่ได้ค้นหาแค่หน้าจอเดสต์ท็อปเท่านั้น แต่ก็ยังใช้แอพเพื่อค้นหาร้านอาหารรอบตัวโดย เพราะฉะนั้นใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้นก็มีส่วนช่วย อินเตอร์เน็ตบนมือถือก็มีส่วนช่วยเช่นเดียวกันปี 2010 คนยังใช้ Blackberry ยังใช้อินเตอร์เน็ต 2G กันอยู่ ปี 2012 คนเริ่มใช้ไอโฟน และแอนดรอยด์ เน็ตเปลี่ยนเป็น 3G เพราะฉะนั้นแอพพลิเคชั่นอย่างวงในก็มีประโยชน์ต่อตัวเขามากขึ้น เมื่ออินเตอร์เน็ตเร็วขึ้น ตัวโปรดักส์เอง ตัวคอนเทนต์เองก็พัฒนาขึ้นกว่าช่วงปีแรก ๆ
เนื่องจากวงในเป็นเว็บที่ร่วมกันสร้าง ช่วงแรกก็ยังมีข้อมูลไม่เยอะเท่าไหร่ คนเข้ามาใช้ก็รู้สึกไม่ค่อยได้ประโยชน์ แต่พอสัก 2-3 ปีผ่านไป ข้อมูลเริ่มเยอะขึ้น รีวิวเริ่มเยอะขึ้น ร้านเริ่มเยอะขึ้น คนก็เข้ามาใช้ แล้วก็เริ่มรู้สึกว่ามันมีประโยชน์ คนก็บอกต่อแล้วคนก็เริ่มเข้ามาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2012-2013 เป็นต้นมา คือ Content ทั้งหมดจะเป็น User Directed Content คือเป็น User เขียนเข้ามาเกือบทั้งหมด เพราะฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องตัดสินใจอะไรเลย คนที่เขียนเข้ามาเขาจะเป็นคนตัดสินใจเองว่าเขาจะชอบหรือไม่ชอบร้านนี้ เพราะคนอ่านมีสิทธิ์ที่จะเชื่อคนเขียนหรือไม่ก็ได้ คนที่เขียนเข้ามาส่วนมากเขียนจากความรู้สึกจริงทั้งนั้น แต่เราก็มีระบบคัดกรองพวกหน้าม้าอยู่บ้าง แต่ว่าส่วนมาก 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ คือเขียนเข้ามาแล้วเชื่อถือได้ สมมุติเขาไปกินร้านนี้เขาอยากให้ห้าดาวเพราะเขาชอบ เขากินอีกร้านหนึ่งเขาจะให้แค่สามดาวเพราะเขาไม่ได้ชอบมาก มันก็เป็นความคิดเห็นของเขา คนอ่านก็จะเห็นว่ามีความคิดเห็นของหลาย ๆ คนเข้ามาร้านนี้ แต่โดยเฉลี่ยแล้วคนจะชอบหรือไม่ชอบร้านนี้ทางเรามีหน้าที่แค่รวบรวมข้อมูลเป็นหลัก
ตัวตนของวงในจริง ๆ แล้วอยากให้เป็น User ของเรามากกว่า เป็นแอพพลิเคชั่นวงใน เป็นเว็บไซต์วงในที่คนเป็นแสนเป็นล้านคนเข้ามาร่วมใช้ เข้ามาร่วมกันสร้างข้อมูล ตอนนี้มีสมาชิกประมาณ 2.4 ล้านคน ต้องยอมรับว่าส่วนมากเข้ามาดูอย่างเดียว อาจจะมีประมาณ 2 แสนคนที่เขียนรีวิว ที่เหลืออีก 2 ล้านเข้ามาดู ย้อนกลับไปในปีแรกคนสนใจเรามีหลักหมื่นคน ไม่ได้เยอะเลย 2-3 ปีแรกมีแค่ 3-8 หมื่นคน รู้สึกว่าปี 2012 ถ้าผมจำไม่ผิดประมาณ 3 หมื่นคนเท่านั้นเอง แล้วมันค่อยโตหลังจากนั้น
ธุรกิจร้านอาหารในฐานข้อมูลของ Wongnai มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น 40% ระหว่างปี 2018-2019 แต่หากย้อนดูสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีร้านเปิดใหม่เพียง 10% เท่านั้นที่อยู่รอด จำนวนร้านอาหารเปิดใหม่ทั้งหมดในปี 2019 ทั่วประเทศ พุ่งเป็น 70,149 ร้าน โตขึ้นจากจำนวนร้านเปิดใหม่ในปี 2018 ถึง 97% โดยที่ 44% ของนักกิน Wongnai เป็นวัยรุ่นและวัยกลางคน (25-34 ปี) อีก 24% เป็นคนอายุ 35-44 ปี
รายได้หลักของวงในมาจากโฆษณา ยกตัวอย่างร้านอาหารติดต่อเข้ามาพยายามจะทำงานร่วมกับวงใน ก็อาจจะในลักษณะของการโฆษณา ลักษณะของการเป็น Partner แต่โฆษณาก็คือโฆษณาครับ เราไม่ได้ปฏิเสธลูกค้า ถึงแม้ว่าร้านนั้นจะไม่ดี เราก็ต้องโฆษณาให้เขา แต่มันก็ต้องแยกไปในส่วนของการโฆษณา ซึ่งมันก็ไม่ได้ปนไปกับ User Directed Content พูดง่าย ๆ คือสมมติร้านอาหารติดต่อเข้ามาอยากทำโฆษณา เราอาจจะบอกว่าถ้าตอนคน Search เราจะให้คุณขึ้นอยู่อันดับต้น ๆ เหมือนกับ Google Search Resource อันนี้ก็เป็นหนึ่งในโมเดลของเรา
ยอด ชินสุภัคกุล : เพราะฉะนั้นเราไม่ได้สนใจว่าร้านนี้คุณภาพเป็นยังไง เพราะหลักการเดิมเราไม่ตัดสิน เราให้สมาชิกเป็นคนตัดสิน เพียงแค่เราแสดงผลของเขาขึ้นมาก่อน เพื่อที่ว่าเวลาคน Search คนจะเห็นร้านของคุณก่อน คุณก็มีสิทธิ์มากกว่าที่คนจะเลือก แต่คนจะเลือกหรือเปล่าก็สิทธิ์ของผู้บริโภค ก็เป็นหลักการโฆษณาของทุก ๆ เว็บส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะนี้ เรื่องของ Ranking ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปเลือกเฉพาะร้านดี ๆ มาโฆษณา ซึ่งจะต่างจาก Editorial Content คือมีจรรยาบรรณของสื่ออยู่ เช่นฉันเป็น Editor นะฉันจะไม่เขียนเชียร์ในสิ่งที่ฉันไม่ได้เชื่อจริง ๆ เราพยายามตัดปัญหาตรงนั้นออกทั้งหมด โดยการให้เป็น User Directed Content เรามีหน้าที่เป็น Platform เพื่อเรียงข้อมูลว่าใครที่จ่ายเงินเราอาจจะได้เห็นก่อนเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดี
จริง ๆ มันก็ไม่ได้ต่างกับนิตยสารเลยครับ นิตยสารมันก็จะมีหน้าที่เป็นหน้า Content กับหน้าโฆษณา ก็เหมือนกันครับ วงในก็มีเพจหน้าที่เป็นบทความกับเพจหน้าที่เป็นโฆษณา คือเราเปรียบตัวเองเหมือนเป็น Platform เพราะฉะนั้นคือมันก็เหมือนกับว่าเขาไปลงโฆษณาในเฟซบุ๊ก ลงโฆษณาใน Google คือมันเป็นเรื่องของโปรแกรมล้วน ๆ
ฟีดแบคร้านอาหารที่ได้รับดาวเยอะ ๆ หรือคนให้ความสนใจก็มีอยู่ตลอดนะครับ ตั้งแต่ร้านที่บอกว่ายอดขายเขาเพิ่มขึ้นตั้ง 5 เท่าต่อเดือน มีร้านที่ต้องเพิ่มพนักงานรับโทรศัพท์ รับโทรศัพท์ไม่ไหว มีตั้งแต่ร้านที่ตอนแรกไม่มีสาขามาลงวงในแล้วเพิ่มสาขาก็มี มันก็มีทั้ง Success Story แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้มีแต่ด้านดี ๆ ด้านที่ลงไปแล้วมันไม่มีคนไปกินก็มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ใช่การโฆษณา เช่นร้านที่ลงไปแล้วรีวิว ฟีดแบ็คที่กลับมาไม่ดี คนไปกินแล้วไม่ชอบ เขียนรีวิวไม่ดี ขอให้ลบรีวิวออกได้ไหม นี่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ้าง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราต้องดูแลเป็นอย่างดี เพราะว่าเราก็มีกฎที่ว่าเราไม่ลบรีวิว แม้กระทั่งเป็นลูกค้าเราก็ไม่ลบรีวิวให้ 90 กว่าเปอร์เซอร์มันเป็นออแกนิคทั้งนั้น
เรามีรางวัลที่เราเรียกว่า User’s Choice ก็ตรงตามตัวเลยคือเราเลือกจากคะแนน User’s เป็นหลัก ช่วงนี้ก็เริ่มเลือกกันแล้วก็ดูว่าร้านไหนที่มีรีวิวเยอะ ร้านไหนที่มีรีวิวดีเกินสี่ดาว ก็คัดเลือกมา ก็อาจจะมีทีมงานคัดเลือกอีกทีหนึ่งให้แน่ใจว่ารีวิวนี้ไม่มีหน้าม้า
ในปี 2019 มีจำนวนร้านอาหารที่มีเพียงหน้าร้านออนไลน์เพียงอย่างเดียวเพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากปี 2018 ที่มีเพียง 800 ร้าน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมลูกค้าที่ควรจับตาในยุคเดลิเวอรี่ครองเมือง 63% ของลูกค้าสะดวกใช้บริการเดลิเวอรี่มากกว่าออกไปกินที่ร้าน 76% ของลูกค้าที่ใช้บริการเดลิเวอรี่กับร้านนั้น ๆ มีแนวโน้มจะเดินทางไปร้านอาหารมากขึ้น 40% ของผู้ใช้บริการเดลิเวอรีเป็นวัยรุ่นและวัยกลางคน (25-34 ปี) รองลงมาคือกลุ่มอายุ 18-24 ปี และกลุ่มอายุ 35-44 ปี ตามลำดับ วันที่มีออเดอร์เดลิเวอรี่สูงที่สุด คือ วันอาทิตย์ วันเสาร์ และวันศุกร์ แสดงให้เห็นว่าลูกค้านิยมสั่งอาหารในช่วงวันหยุดมากกว่า ช่วงเวลาที่สั่งเดลิเวอรี่เยอะสุด คือ 11.00 น., 17.00 น. และ 18.00 น. ตามลำดับ
ยอด ชินสุภัคกุล : Tech Startup ก็คือบริษัทเกิดใหม่ที่มีเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญ เพราะฉะนั้นมันไม่ออกมาเป็นเว็บไซต์ก็เป็นแอพพลิเคชั่น ที่เกิดขึ้นมาใหม่ที่มีจุดมุ่งหมายที่จะเจริญเติบโตให้ได้รวดเร็วที่สุด ถ้าเป็นธุรกิจธรรมดา ยกตัวอย่างเช่น ผมจบคอมมา ผมอยากทำธุรกิจของตัวเอง ผมอาจจะเปิดบริษัทรับทำเว็บ อันนี้เรียกว่าเป็น SME บริษัทธรรมดา แต่ Tech Startup ผมต้องมีโปรดักส์ของตัวเอง ต้องทำแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อให้มันโตไปได้ด้วยตัวเอง โดยที่ผมไม่ต้องไปรับจ้าง รับงานคนอื่น ก็เหมือนกับเปิดหัวนิตยสารใหม่ แต่ถ้ารับจ้างทำอันนี้เป็น SME
เนื่องจากตอนเริ่มต้นเราไม่มีการลงเงินตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นคือมันก็ใช้เงินไปเรื่อย ๆ ใช้เงินจากบัญชีผมนั่นแหละ ก็ติดลบไปเรื่อย ๆ ทีนี้มันติดลบสัก 2 ล้านกว่าบาทในช่วงปี 2012 เป็นจุดที่เกือบจะต่ำที่สุด ตอนนั้นเริ่มมี Investor เข้ามาคุยหลายเจ้า และมีคนเข้ามาสนใจเยอะมาก เรารู้สึกว่าเราเชื่อมั่นว่าถ้ามีเข้ามาลงทุนเราจะได้เงินที่ลงไปคืน เพราะฉะนั้นเราก็เลยใช้เงินเพิ่มครับ ช่วงนั้นหลังจากติดลบ 2 ล้านกว่า ก็ติดลบประมาณเกือบ 6 ล้าน แต่ตอนนั้นไม่ได้กลัวแล้ว ตอน 2 ล้านกว่านี่กลัวมากกว่า จริง ๆ คือเราคุยกับ Investor เรารู้อยู่แล้วว่าเขาต้องหาทางลงทุนอยู่แล้ว
ในปี 2012 ถึงแม้ว่าเรายังไม่ใหญ่มากแต่เราก็ดีที่สุดในตลาดแล้ว เราเรียนรู้จากประสบการณ์ จากการดูจากต่างประเทศที่ผ่านมา จากการคุยกับนักลงทุนเขาก็บอกว่าเขาอยากลงทุน แต่เราจะเชื่อเขาหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เราก็ต้องดูออฟชั่นในมือเขาด้วย สิ่งที่ช่วยทำให้เราหาทุนได้คือเราต้องแสดงให้เขาเห็นว่าเรา Grow Up แล้วเราก็ต้องคุยกับเขา ผมคิดว่าผม Base on ความจริงเท่านั้น ถ้าเกิดผมบอกว่าปีหน้าผมจะโตเท่านี้ คือนั่นผมคิดว่าผมทำได้จริง ๆ ไม่ได้บอกไปเพื่อให้เขาลงทุน ประมาณตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมาเราก็เริ่มภูมิใจในตัวเองแล้ว
จุดหมายต่อไปเราอยากจะเป็นแอพพลิเคชั่นที่เป็นอันดับหนึ่งด้านไลฟ์สไตล์ทั้งหมดไม่ใช่แค่ร้านอาหารอย่างเดียว แล้วมีคนใช้ทุก ๆ วัน นั่นคือ Service ที่เราเพิ่มขึ้นมาตอนหลัง ๆ เราจะต้อง Support Vision ตรงนั้น เช่น ตอนนี้เรามี Category อื่นที่ไม่ใช่ร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบิวตี้ เรามี Service อื่น ๆ เช่น Delivery เราเอาเข้ามาเพื่อให้คนใช้แอพวงในบ่อยขึ้น มีสถานการณ์ที่ใช้แอพวงใน ไม่ใช่แค่ตอนออกไปกินข้าวนอกบ้านเท่านั้น แต่เป็นตอนที่อยู่กับบ้านแล้วอยากจะกินอะไรสักอย่างด้วย มีสถานการณ์ที่ใช้บ่อยขึ้น คนก็ใช้บ่อยขึ้น แอพพลิเคชั่นก็จะโตมากขึ้น มันก็เป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่ขึ้น ทุกคนก็แฮปปี้ ทั้งผู้บริหารเองหรือผู้ถือหุ้นก็ตาม
หลังจาก ปี 2012 เราไม่เคยกลัวคู่แข่งอีกเลย เพราะว่าเรารู้สึกว่ามันวัดกันที่ความเร่งครับ ว่าใครโตได้เร็วกว่า ไม่วัดที่ Size ในปัจจุบัน พูดง่าย ๆ คือ อะไรที่สำคัญต่อเรา เช่น User จำนวนร้านอาหาร จำนวนรีวิว จำนวนคนตามในโซเชียลเน็ตเวิร์ก Engagement อะไรต่าง ๆ พวกนี้เราวัดผลทั้งหมด เพราะเรารู้ว่าเราโตขึ้นวันละเท่าไหร่ เราพอเดาได้ว่าคู่แข่งโตขึ้นประมาณวันละเท่าไหร่ ถึงแม้ว่าคู่แข่งจะโตเร็วเท่าเรา เขาก็ไม่มีทางตามเราทัน ถ้ามีคู่แข่งรายใหม่เข้ามา เช่น มาจากต่างประเทศเข้ามาที่เมืองไทยกว่าเขาจะโตให้ได้เท่าเรา ต้องใช้เวลาไม่รู้กี่ปี เรามีร้านอาหารอยู่แล้วประมาณสองแสนร้าน มีรีวิวเกือบล้านรีวิว มีรูปภาพหลายล้านรูป มีสมาชิกประมาณสองล้านกว่าคน มันไม่มีใครที่สามารถสร้างทุกอย่างนี้ได้ในชั่วข้ามคืนครับ
ธุรกิจออนไลน์โตขึ้นอีกแน่นอน ผู้บริโภคเป็นคนเลือกเองว่าเขาจะใช้โทรศัพท์มือถือทั้งวัน ทุกคนก็ใช้โทรศัพท์มือถือตลอดเวลา เพราะฉะนั้นตราบใดที่พฤติกรรมของคนมันเป็นแบบนี้ ธุรกิจออนไลน์มันก็มีสิทธิ์โต เหมือนกับมีช่วงหนึ่งที่ทุกคนกลับบ้านแล้วต้องดูทีวี ตอนนี้ทุกคนกลับบ้านไม่ค่อยมีคนดูทีวีแล้ว พนักงานผมไม่ดูทีวีกันเท่าไหร่ ติดโทรศัพท์มือถือแทน ถ้าอีกหน่อยมี Wire Device คืออาจไม่ต้องดูมือถือแล้ว ทุกอย่างมันขึ้นที่แว่นหรือเปลี่ยนไปอุปกรณ์อื่นแทน แต่มันก็ออนไลน์อยู่ดี สื่ออาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบตาม แต่ Content ที่คนต้องการยังคงเหมือนเดิม
Photo : Pornsaran Soithong