Scoop : Covid-19 โรคอุบัติใหม่ร้ายแรง! | Issue 160

Scoop : Covid-19 โรคอุบัติใหม่ร้ายแรง! | Issue 160

เพราะการใช้ชีวิตคือศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง การดำรงอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายเหลือเกินสำหรับมนุษย์ ในโลกสีฟ้าใบนี้ที่มีทรัพยากรสำหรับการดำเนินชีวิต มีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่กว่า  4 พันล้านปี มนุษย์นั้นถือกำเนิดขึ้นมานานกว่า 200,000 ปี วิวัฒนาการแยกจากสัตว์ตระกูลลิงและเริ่มพัฒนาอารยธรรม ส่งผ่านความรู้และยีนจากรุ่นสู่รุ่น เราผ่านเหตุการณ์เกือบสูญพันธุ์มามากมายไม่ว่าจะภัยธรรมชาติ การถูกล่าจากสัตว์นักล่า การรบกันเอง หรือแม้แต่โรคระบาดที่หากจะพูดอย่างไร้หัวใจนั่นคือ “การคัดสรรทางธรรมชาติ” ที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องเจอ

ในยุคโลกาภิวัติ มนุษย์ได้พัฒนาเทคโนโลยีมาตอบสนองการใช้ชีวิตและปรับตัวได้เป็นอย่างดีกับสภาพแวดล้อม อาจเรียกได้ว่านี่ไม่ใช่ยุคที่จะมาจับปืนพุ่งรบเพื่อล่าอาณาเขตกันแล้วแต่เราฟาดฟันกันด้วยสงครามเศรษฐกิจแทน มนุษย์ถูกกำราบด้วยธรรมชาติมาครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยโรคระบาดที่คร่าชีวิตไปกว่าล้านชีวิต เช่น ฝีดาษในปี ค.ศ.165 จำนวนคนเสียชีวิตกว่า 5 ล้านคน กาฬโรคในปี ค.ศ. 1346-1353 มีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 75-200 ล้านชีวิต และในวันนี้มนุษย์กำลังถูกท้าทายอีกครั้งด้วยโรคอย่าง Covid-19

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม 2019 มีรายงานจากประเทศจีนถึงการป่วยเป็นโรคปอดอักเสบอย่างไม่ทราบสาเหตุในเมืองอู่ฮั่น มลฑลหูเป่ย ประเทศจีน ผู้ป่วยบางคนเป็นพ่อค้าจากตลาดอาหารทะเลอู่ฮั่น แต่ยังไม่มีการตื่นตัวมากนัก เนื่องจากยังไม่มีการระบาดอย่างแพร่หลาย ผู้ป่วยรายแรกในจีนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 มกราคม เป็นชายอายุ 61 ปีชายคนนี้มีประวัติซื้อของสดในตลาดอาหารทะเลอู่ฮั่น จนเมื่อวันที่ 13 มกราคม เกิดการระบาดนอกประเทศจีนครั้งแรก ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อคนแรก สร้างความหวั่นวิตกให้แก่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่จับตาดูสถานการณ์โรคนี้อย่างใกล้ชิด หลังจากนั้นในวันที่ 16 มกราคมพบผู้ติดเชื้อที่ประเทศญี่ปุ่น การระบาดในยังต่างประเทศเริ่มขึ้นอย่างช้า ๆ โดยมากในช่วงต้นยังพบการติดเชื้อจากจีนเสียส่วนใหญ่ หลายภาคส่วนในโลกยังใช้ชีวิตปกติอีกทั้งยังมองเป็นเรื่องไกลตัวแต่หารู้ไม่ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของโรคระบาดครั้งใหญ่อีกโรคในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

การเดินทางที่แสนสะดวกสบายทั้งทางเรือ ทางรถยนต์ และเครื่องบินที่คือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกไปอย่างสิ้นเชิงนั้นกลับกลายเป็นดาบสองคม เชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ถูกส่งต่ออย่างรวดเร็วในช่วงตรุษจีนช่วงที่คนจีนเดินทางเยอะที่สุด ทั้งยุโรปเอเชีย และประเทศต่าง ๆ ยังคงมีไฟล์ทรับผู้คนจากอู่ฮั่น โดยประเทศไทยคืออีกหนึ่งเป้าหมายหลักในการพักผ่อนของชาวจีนที่นิยมมาเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยในไทย จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีคนจีนหลักแสนที่สามารถออกมาได้ก่อนอู่ฮั่นจะประกาศปิดเมืองในช่วงกลางเดือนมกราคม จีนเร่งใช้ยาแรงเพื่อระงับการแพร่เชื้อ แต่นั่นก็อาจจะเรียกได้ว่าช้าไปเสียแล้ว

เพียงไม่ถึง 3 สัปดาห์คือวันที่ 30 มกราคม 2020 รายงานพบคนจีนติดเชื้อกว่า  7,711 เสียชีวิตกว่า 170 คน ทำให้ องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วโลกทันที ก่อนการติดเชื้อจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและลามไปทั่วโลกจนในวันนี้มีคนเสียชีวิตจาก COVID-19 ถึง 14,641 ติดเชื้อสะสม 336,004 (ยอดวันที่ 23 มีนาคม 2020) ประเทศ Top 4 ได้แก่ จีนยอดติดเชื้อสะสม 81,439 คน อิตาลียอดติดเชื้อสะสม 59,138 คน อเมริกายอดติดเชื้อสะสม 33,276 คน สเปนยอดติดเชื้อสะสม 28,768 คน และจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

ปัจจุบันจีนจะเริ่มฟื้นคืนมาได้จากการทุ่มเทกำลังแพทย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ทีมงานอาสา ตำรวจ ทหารทั่วประเทศแต่ต้องยอมรับเมื่อกำลังผลิตของโลกอย่างจีนสะดุด เศรษฐกิจของโลกนั้นก็เริ่มทรุดอย่างเลี่ยงไม่ได้ตลาดหุ้นที่ดิ่งลงหลายร้อยจุดสร้างความตระหนกต่อนักลงทุนในตลาดหุ้นอย่างมาก อีกทั้งแรงงานรายวันเมื่อประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มปิดประเทศเพื่อรับมือโรคร้ายพวกเขาเหล่านี้จำต้องตกงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ บางคนอาจโชคดีที่บริษัทอาจมีมาตราการ “Work from home” เพื่อสร้างระยะห่างระหว่างบุคคลหรือ Social distancing แต่หากเราหันมองความเป็นจริงแล้วเราจะพบคำตอบว่า “ไม่ใช่ทุกงานจะทำงานจากที่บ้านได้” แล้วทางออกของพวกเขาเหล่านี้ล่ะ?

Covid-19 แพร่เชื้อได้โดยง่าย มีระยะฟักตัวมากสุดที่ 28 วัน อาการมีไข้ อ่อนเพลีย ไอ และปอดอักเสบ บางเคสยังสามารถพบการติดเชื้อในปมประสาทได้อีกด้วย หากติดในคนที่อ่อนแอหรือผู้สูงอายุ คนมีโรคประจำตัว คนเหล่านี้จะมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก การป้องกันเบื้องต้นคือการล้างมือให้บ่อย หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ดวงตา หลีกเลี่ยงชุมชนแออัด ไม่เดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยง  สร้างระยะห่างระหว่างบุคคลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส การสวมหน้ากากอนามัย ทานอาหารแยกจากผู้อื่น  ไม่ใช่สิ่งของร่วมกัน หากมีไข้หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยหรือมาจากพื้นที่เสี่ยงควรกักตัว 14 วัน หากมีอาการดังที่กล่าวข้าวต้น แจ้งที่เบอร์ 1422 กรมควบคุมโรคของประเทศไทยทันที

ในประเทศไทยนั้นความน่ากลัวของ Covid-19 ไม่ได้อยู่ที่อาการทางกายเพียงอย่างเดียวแต่ส่งผลต่อทางใจอย่างร้ายกาจทั้งความหวาดกลัวต่อโรคเอง และเศรษฐกิจ นโยบายจานด่วนที่ไม่คิดให้ครบลูปนั้นส่งผลให้มีแรงงานหลายพันคนตกงานทันทีจากนโยบายปิดสถานประกอบการณ์ต่าง ๆ แม้ความตั้งใจนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในการเคลื่อนที่ของประชาชนแต่กลับได้ผลกลับกัน เนื่องจากแรงงานไม่มีงาน และค่าครองชีพในตัวเมืองใหญ่นั้นสูงเกินกว่าจะรับไหว แรงงานจำนวนมากจึงหลั่งไหลกลับสู่บ้านเกิดตนเองทันที หน้าด่านที่รับมือไวรัสนี้อย่างหมอ พยาบาล หน่วยคัดกรองตามสนามบินต่าง ๆ ได้ทุ่มเทกำลังอย่างเต็มที่แล้วนโยบายเชิงรับเรานั้นมีประสิทธิ์ภาพอย่างยิ่ง

แต่มดงานเหล่านี้กำลังอ่อนล้าเพราะขาดการสนับสนุนจากนโยบายเชิงรุกจากผู้มีอำนาจทั้งหลาย หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ที่ขาดแคลนจนต้องใช้ซ้ำซ้ำยังราคาแพงเพราะมีการควบคุมราคาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ การไม่มีพื้นที่กักตัวผู้มาจากพื้นที่เสี่ยงที่เข้ามาในไทยนับแสน การที่นักท่องเที่ยวจากพื้นที่เสี่ยงยังคงเดินทางมาในไทยไม่หยุดหย่อน การไม่มีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง แสงสว่างตรงปลายทางอุโมงค์นั้นอยู่ที่ไหน?

แม้จะดูมืดมนเหลือเกินแต่ผู้เขียนเองก็ยังคงมีความหวังว่า เราจะสามารถผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยด้วยจิตสาธารณะ ความร่วมมือทุกภาคส่วน และความช่วยเหลือจากภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ คิดถึงประชาชนทุกชนชั้นอย่างแท้จริง


อ่าน Scoop : Global  Pandemic เพิ่มเติม 

Global Pandemic : โควิด–19 ไวรัสวายร้าย ท้าทายมนุษย์ - Intro

Emerging Disease : โรคอุบัติใหม่

- Biological Weapons : จับเชื้อโรคมาทำอาวุธ

- ส่องมาตรการรับมือ Covid-19 ของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทย

Organizational Restructuring : โรคระบาด บังคับให้ปรับตัว

Final Scene : โควิด-19 จบอย่างไร

Scoop : Covid-19 โรคอุบัติใหม่ร้ายแรง! | Issue 160