Scoop : ส่องมาตรการรับมือ Covid-19 ของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทย | Issue 160

Scoop : ส่องมาตรการรับมือ Covid-19 ของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทย | Issue 160

นับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม ซึ่งเป็นวันแรกที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ Covid-19 รายแรกในประเทศไทยเจ้าไวรัสตัวนี้ก็ได้สร้างความตื่นตระหนกพอสมควรให้กับประชาชนในบ้านเราและจากการที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงได้สถานการณ์พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเรื่อย ๆ ทำให้ไทยมีผู้ป่วยสะสมรวมเป็น 2,220 ราย เสียชีวิต 26 ราย (ข้อมูลทั้งหมดอัพเดทล่าสุดเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563)

ด้วยจำนวนตัวเลขที่เพิ่มขึ้นแน่นอนว่าทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมต้องเร่งออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดไม่ให้เข้าสู่ระยะที่ 3 อย่างเป็นทางการ เอาล่ะครับเรามาดูกันดีกว่าว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา ทางทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยมีมาตรการสำคัญอะไรที่เตรียมพร้อมรับมือ Covid-19 กันบ้าง

29 กุมภาพันธ์ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้Covid-19เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

4 มีนาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ผู้ป่วย Covid-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ต้องได้รับการรักษาฉุกเฉินจากสถานพยาบาล

16 มีนาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ครั้งที่ 1โดยยืนยันว่าสถานการณ์ในประเทศไทยนั้นอยู่ในระยะที่ 2 ยังไม่ไปสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการแบ่งระยะที่ทางการไทยกำหนดขึ้นเองเพื่อการบริหารจัดการและเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ที่จะมาถึงจึงมีมาตรการ

• สั่งงดวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน แล้วให้ไปหยุดในโอกาสอื่นของปีหลังจากสถานการณ์บรรเทาลง เพื่อเป็นการหยุดยั้งการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นในวงกว้างจากการที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด
• สั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย สั่งปิดสนามกีฬาและโรงมหรสพที่เข้าเงื่อนไข
• สั่งให้ข้าราชการเตรียมทำงานที่บ้าน เหลื่อมเวลาทำงานและเวลาพักเที่ยง 
• สั่งให้เร่งกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยเร่งผลิตเจลและแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น
• สั่งให้กระทรวงการต่างประเทศตั้งทีมไทยแลนด์ดูแลคนไทยในต่างประเทศ 
• สั่งไม่ปิดประเทศ แต่เพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้นแทน

17 มีนาคม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตามกฎหมาย สั่งปิดสถานประกอบการและสถานบริการ ตั้งแต่วันที่ 18-31 มีนาคม

21 มีนาคม ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดปริมณฑล อาศัยอำนาจตามกฎหมาย สั่งปิดสถานประกอบการและสถานบริการ โดยสั่งปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา ร้านอาหารให้จำหน่ายเฉพาะนำกลับไปรับประทาน ปิดตลาดและตลาดนัด ยกเว้นส่วนที่จำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ ปิดโรงเรียนและสถานที่ฝึกสอนกีฬาทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม – 12 เมษายน และทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเองก็ได้มีการสั่งปิดสั่งปิดสถานประกอบการและสถานบริการเพิ่มจนถึงวันที่ 12 เมษายนและในวันเดียวกันทางเพจไทยคู่ฟ้า ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โพสต์รณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อให้ประชาชนพำนักอยู่ที่บ้าน งดการเดินทาง งดสังสรรค์ หรือกินอาหารนอกบ้าน

24 มีนาคม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลง ประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการระบาดของ Covid-19โดยบังคับใช้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมไปจนถึงปลายเดือนเมษายน และมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน Covid-19 เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชน ในขณะเดียวกันนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจาก Covid-19ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 โดยมี 8 มาตรการสำหรับดูแลกลุ่มแรงงานและลูกจ้างโดยเปิดให้ลงทะเบียนตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

25 มีนาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงมาตรการหลังนายกรัฐมนตรีออกพ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ที่จะมาถึงจึงมีมาตรการ
• ห้ามประชาชนเข้าพื้นที่เสี่ยง
• ห้ามคนต่างชาติเดินทางเข้าราชอาณาจักร
• การเดินทางข้ามจังหวัดจะมีด่านตรวจสกัดและแอปพลิเคชั่นติดตามตัว แนะนำว่าไม่ควรเดินทาง

26 มีนาคม กำหนดตั้งจุดตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 12 จุด โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง

27 มีนาคม กรุงเทพมหานครออกประกาศสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวฉบับที่ 4 สั่งปิดสถานที่เพิ่มเติม พร้อมขยายคำสั่งประกาศจากเดิมมีผลถึง 12 เมษายน เพิ่มเป็น 30 เมษายน

31 มีนาคม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาหยุดให้บริการรถสาธารณะทั้งหมด หากสถานการณ์ Covid-19 ไม่ดีขึ้น

2 เมษายน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีข้อกำหนดห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. ของอีกวัน เว้นแต่มีความจำเป็น ผู้ใดฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน นับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคมเป็นต้นมา ดูเหมือนว่ารีแอคชั่นที่ทางภาครัฐมีต่อเจ้าไวรัส Covid-19 ดูมีทีท่าเริ่มจริงจังขึ้นมาบ้าง จากการที่ประกาศให้เลื่อนวัดหยุดสงกรานต์ออกไป มีคำสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ ที่อาจสุ่มเสี่ยง เพื่อให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง Work from home อยู่ที่บ้านไล่มาจนถึงประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค

นับจากนี้เรามาร่วมจับตามองกันดีกว่าครับว่าทางภาครัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับมือ Covid-19 จะมีมาตรการใดบ้างที่จะมากอบกู้ทั้งสถานการณ์ให้กลับสู่ปกติในเร็ววัน


รู้หรือไม่? ความรุนแรงของการระบาด ตามหลักสากลแบ่งออกเป็น 5 ระดับ
ระดับที่ 1 พบผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ
ระดับที่ 2 พบผู้ป่วยและการติดเชื้อนั้นเกิดขึ้นหรืออุบัติขณะที่อยู่ต่างประเทศ
ระดับที่ 3 พบผู้ป่วยและการติดเชื้อนั้นเกิดขึ้นขณะที่อยู่ในประเทศ
ระดับที่ 4 พบผู้ป่วยโดยติดต่อจากคนสู่คนในประเทศ
ระดับที่ 5 พบผู้ป่วยโดยติดต่อจากคนสู่คนระหว่างประเทศ


อ่าน Scoop : Global  Pandemic เพิ่มเติม 

Global Pandemic : โควิด–19 ไวรัสวายร้าย ท้าทายมนุษย์ - Intro

Emerging Disease : โรคอุบัติใหม่

- Biological Weapons : จับเชื้อโรคมาทำอาวุธ

- Covid-19  : โรคอุบัติใหม่ร้ายแรง!

Organizational Restructuring : โรคระบาด บังคับให้ปรับตัว

Final Scene : โควิด-19 จบอย่างไร

Scoop : ส่องมาตรการรับมือ Covid-19 ของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทย | Issue 160