LUSS : ผสานแนวดนตรีที่ชอบให้กลายเป็นผลงานที่ใช่ Issue 147

LUSS : ผสานแนวดนตรีที่ชอบให้กลายเป็นผลงานที่ใช่ Issue 147

ความหลงใหลในเรื่องของแนวดนตรีที่เหมือนกัน คือจุดเริ่มต้นของ LUSS ศิลปินดูโอรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง ทั้งสองประกอบด้วย ปั้น นลพรรณ อัมพุช นักร้องนำจากวงดนตรีอินดี้ Jelly Rocket และ เบน ศิรสิทธิ์ ตั้งบุญดวงจิตต์ ชายผู้อยู่เบื้องหลังให้กับเหล่าศิลปินฮิปฮอปหลายคน ด้วยซาวด์ดีไซน์ที่แตกต่างและไม่เหมือนใครในวงการเพลงไทย เสียงร้องอันไพเราะสอดประสานกับเสียงแร๊ปอันมีเสน่ห์ นำไปสู่ผลงานเพลงที่ถูกใจแฟนเพลงทั้งชาวไทยและต่างประเทศ พุ่งทะยานสู่ชาร์ตเพลงในไต้หวัน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, ฟิลลิปปินส์, มาเล์เซีย, อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟินแลนด์ แม้ว่าพวกเขาเพิ่งจะมีผลงานออกมาได้เพียงแค่ 2 เพลงเท่านั้น


ผลงานก่อนที่จะมาเป็น LUSS 
ปั้น : ก่อนหน้านี้เราทำวงดนตรีอิสระ เป็นแนวซินธ์ป๊อป ชื่อ Jelly Rocket ค่ะ
เบน : ก่อนหน้านี้ตั้งแต่สมัยเรียน ผมเคยเล่นแบ็คอัพเบสให้กับศิลปินหลายคน หลังจากเรียนจบด้วยความชอบเกี่ยวกับฮิปฮอปก็เลยไปทำงานร่วมกับ Nino โปรดิวเซอร์ฮิปฮอปซึ่งเป็นเพื่อนกัน ผมเป็นโคโปรดิวเซอร์ทำเพลงให้กับศิลปินฮิปฮอปครับ

จุดเริ่มต้นที่ทำให้รวมตัวกันเป็น LUSS
ปั้น : เบนเคยเล่นเบสให้กับวง Jelly Rocket พอเราได้คุยกันก็พบว่าชอบแนวเพลงคล้าย ๆ กัน จึงคิดว่าทำไมไม่ลองทำเพลงด้วยกันปกติเราไม่ค่อยเจอคนที่ชอบแนวเพลงคล้าย ๆ กัน
เบน : ผมทำเพลงฮิปฮอปอยู่แล้ว เลยเอาความชอบในแนวเพลงต่าง ๆ ของตัวเองเข้ามาผสมผสานอย่างอาร์แอนด์บี 

แนวดนตรีของ LUSS 
เบน : จริง ๆ พวกเรายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนขนาดนั้น มันเป็นการผสมผสานความชอบส่วนตัวกับแนวดนตรีมากกว่า ถ้าให้เรียกแบบกว้าง ๆ ก็คือแนว Urban แต่ถ้าให้พูดถึงเอกลักษณ์ของวงก็คงเป็นเรื่องซาวด์ดีไซน์
ปั้น : พวกเราได้ Nino มาคอยช่วยในเรื่องซาวด์ ซึ่งเขาเป็นคนที่เก่งมาก เลยทำให้ได้ซาวด์ที่พวกเราต้องการออกมา 

เป็นวงที่ให้ความสำคัญกับการ Live Performance
เบน : ใช่ครับ เพราะของเราเป็นวง Live Performance มาก่อน จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก มีการซ้อม มีการคิดโชว์ คิดเพลง ปกติเพลงของพวกเรามันจะมีซาวด์อิเล็กทรอนิกส์เยอะ แต่พอเป็น Live Performance เราจะคงไว้แค่ไลน์เครื่องดนตรีหลักอย่าง กีต้าร์ เบส คีย์บอร์ด และกลอง ทำให้เพลงของพวกเรากลายเป็นอีกเวอร์ชั่นที่แตกต่างจากเดิม
ปั้น : เรารู้สึกว่าการเปิด Backing Track แล้วร้องมันไม่เข้าถึงอารมณ์ของคนฟัง เหมือนเราเองได้ทิ้งตัวตนของศิลปินไป และการ Live Performance ฟังแล้วมันเข้าถึงอารมณ์ได้ดีกว่าทั้งศิลปินและคนฟัง เวลาอยู่ในงานเสียงจากเครื่องดนตรีมันกระจายตัวมากกว่าเปิดแค่ Backing Track ที่มันดังจากจุดเดียว 

ทำไมถึงเขียนเพลงเป็นภาษาอังกฤษ 
เบน : เหตุผลหลักคือเรื่องของ เมโลดี้ เพราะภาษาไทยมันมีเรื่องของวรรณยุกต์ อักษรต่ำ-กลาง-สูง เวลาที่เขียนเมโลดี้มันมีข้อจำกัดบางครั้งถ้าอยากได้เมโลดี้ที่เราต้องการมันต้องโกงคำโกงโน้ต เราไม่ได้อยากทำอย่างนั้น ภาษาอังกฤษมันสามารถพลิกแพลงได้มากกว่าด้วย
ปั้น : ในเพลง Fool มีการเพิ่มภาษาไทยเข้ามาด้วย ซึ่งพวกเราไม่ได้ปิดกั้นว่าจะต้องเป็นเนื้อร้องภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว ตอนนี้ก็พยายามทำให้เพลงต่อ ๆ ไปสามารถเข้าถึงคนไทยได้มากขึ้นอยู่เหมือนกัน

ผลตอบรับจากแฟนเพลงเป็นอย่างไงบ้าง
ปั้น : ตั้งแต่เพลงแรก Trippin’ ที่พวกเราทำกันเองปล่อยกันเอง ก่อนเข้ามาอยู่กับ Wayfer Records ตอนนั้นปล่อยลงใน Youtube ช่วงแรกมีแฟนเพลงที่เป็นคนไทยเข้ามาคอนเมนต์ว่าชอบเพลงนะ พอปล่อยเพลง Fool กระแสตอบรับมันกว้างขึ้นมาก เพราะเรื่องซาวด์ดีไซน์ที่ดูสากล 
เบน : ผลตอบรับในไทยจริง ๆ ดีนะครับ หลายคนจะบอกว่าพอเพลงขึ้นมาไม่รู้ว่าเป็นเพลงไทย เพราะปั้นร้องเพลงเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย ส่วนผลตอบรับจากต่างชาติ เท่าที่อ่านคอมเมนต์มา เขาจะชื่นชมเรื่องซาวด์ดีไซน์ 
ปั้น : ซาวด์แบบนี้ในต่างประเทศมันอยู่มาสักพักแล้ว เลยทำให้กระแสตอบรับเพลง Fool จากต่างชาติมันเลยค่อนข้างดี ไปติดชาร์ตเพลงที่ฟินแลนด์ ติดชาร์ตเพลงในแทบเอเชีย เป็นสิ่งที่เราคิดไม่ถึงเหมือนกัน ค่อนข้างดีใจเลย เพราะเพลงของพวกเราปล่อยในช่วงธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลที่คนส่วนใหญ่เรื่องใช้เวลากับคนใกล้ตัวมากกว่าโซเชียลด้วย

 

เป้าหมายของ LUSS
ปั้น : เป้าหมายในตอนแรกคืออยากให้วงเป็นที่ยอมรับในประเทศไทย เพราะวงของเรามีเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ มีซาวน์ที่ค่อนข้างแตกต่าง อยากทำอัลบั้ม พวกเราจะพัฒนาฝีมือให้ดียิ่งขึ้น และถ้ามีโอกาสก็อยากไปเล่นในเทศกาลดนตรีที่ต่างประเทศ
เบน : ด้วยความที่พวกเรายังใหม่ในหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นแนวดนตรีที่พยายามเอาหลาย อย่างมารวมกัน เลยอยากให้ทุกคนยอมรับทั้งในเรื่องเพลง และ Live Performance เพราะอย่างที่พูดไว้ในข้างต้นว่าพวกเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

Photo : Satchaphon Rungwichitsin

LUSS : ผสานแนวดนตรีที่ชอบให้กลายเป็นผลงานที่ใช่ Issue 147