ความหวังคือพลัง
Once You Choose Hope Anything’s Possible : ความหวังคือพลัง
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ
คุณเคยไปสถาบันมะเร็งแห่งชาติไหม? ขึ้นชื่อว่าสถาบันแห่งชาติหลายคนคิดว่า ที่นี่จะต้องเป็นสถานที่ใหญ่โต มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีการรักษาที่ก้าวหน้าทันสมัย เป็นศูนย์รวมของข้อมูล และเป็นความหวังของผู้ป่วย แต่ถ้าคุณเคยมา คุณอาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่าสถาบันแห่งชาติทำไมถึงดูเล็กกว่าโรงพยาบาลบางแห่งเสียอีก งบจากภาครัฐทำไมถึงไม่อัดฉีดมาด้านสาธารณสุขมากกว่านี้
เนื่องจาก MiX Magazine กำลังมีโครงการร่วมกับผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ Merigin ร่วมทำแคมเปญ Merigin Hair Share Now เพื่อช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็ง นำรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในวันที่ 3-14 กุมภาพันธ์ 2562 มอบให้กับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยไม่หักค่าใช้จ่าย
เพราะโครงการนี้ทำให้เราได้มาพูดคุยกับ นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จากการพูดคุยในครั้งนี้ทำให้เรามองเห็นภาพบางส่วน ปัญหาและสภาพความเป็นไป ของโรคมะเร็งในเมืองไทย และนี่คืออีกหนึ่งกระบอกเสียงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ต้องขอขอบคุณท่านผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติสำหรับการให้สัมภาษณ์และการอุทิศทั้งแรงกายและแรงใจเพื่อผู้ป่วยมะเร็งด้วยครับ
“ผมเป็นผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ คนที่ 8 ซึ่งที่นี่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ทุกท่านล้วนเป็นแพทย์ทั้งสิ้น คุณสมบัติก็มีเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น เคยดำรงตำแหน่งอะไรมาแล้วบ้างเป็นนายแพทย์ระดับเชี่ยวชาญ หรือเป็นข้าราชการ C 9 แต่สถาบันมะเร็งแห่งชาติจะมีภารกิจที่มากกว่าโรงพยาบาลทั่วไป เพราะจะต้องเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในเรื่องมะเร็งด้วย ผู้บริหารสถาบันมะเร็งนั้นก็ควรเป็นหมอที่รักษามะเร็งด้วย จะได้เข้าใจการทำงานทุกระดับ
“โดยส่วนตัวนั้นผมเป็นศัลยแพทย์ด้านผ่าตัด ที่ส่วนใหญ่จะผ่าตัดเรื่องโรคมะเร็งอยู่แล้ว เดิมทีก็เป็นศัลยแพทย์และอาจารย์อยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี ย้ายมาที่นี่ตอนปี พ.ศ.2549 ก็เข้ามาเป็นรองผู้อำนวยการอยู่ 7 ปี แล้วย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์มารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เข้าปีที่ 6 แล้วครับ ซึ่งตอนเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติก็ได้คลุกคลีกับผู้ป่วยและเรื่องการรักษาโรคมะเร็งอยู่แล้ว หรือในเรื่องเชิงบริหารต่าง ๆ เก็บสะสมประสบการณ์ ความรู้ และเรื่องของการติดต่อประสานงานคอนแทคต่าง ๆ ในเรื่องมะเร็งที่เป็นระดับชาติ
“สถาบันมะเร็งแห่งชาติมีภารกิจทางด้านตรวจรักษา วินิจฉัย คัดกรองโรคมะเร็ง หรือที่เรียกกันว่า Check Up เพื่อตรวจหาโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้นจากผู้ที่มาตรวจสุขภาพหรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และผู้ที่เป็นมะเร็งแล้ว เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง แต่ทางสถาบันยังมีภารกิจที่มากกว่าโรงพยาบาลอื่น คือเรื่องการกำกับดูแล ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งในประเทศไทย เป็นตัวแทนในการประชุมหารือกับองค์กรหรือหน่วยงานด้านโรคมะเร็งจากต่างประเทศ หรือองค์การนานาชาติ อาทิ องค์การอนามัยโรค หรือองค์วิจัยโรคมะเร็งนานาชาติต่าง ๆ คือเวลาที่มีอะไรเกี่ยวข้องในเชิงนโยบายหรือสถิติ ส่วนใหญ่จะต้องมาถามและศึกษาข้อมูลที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เช่น จังหวัดไหน ภาคไหน มะเร็งชนิดไหนกำลังเป็นปัญหา หรือการประชาสัมพันธ์ให้คนมาตรวจวินิจฉัย คัดกรองโรคมะเร็ง เรื่องลักษณะเช่นนี้ ในเชิงวิชาการ ในเรื่องระบาดวิทยา เป็นข้อมูลและที่ปรึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างภาคเอกชนที่อยากทำโครงการดี ๆ หรือ CSR ที่เข้ามาช่วยผู้ป่วยมะเร็งก็จะเข้ามาคุยกับทางสถาบัน
“คุณสมบัติการเป็นผู้นำองค์กรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ถึงจะนำพาองค์กรได้ครับ อย่างตัวผมเองก็จะต้องเข้าใจในสองส่วน คือ หนึ่งวิชาชีพมะเร็ง ในเรื่องการผ่าตัด การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด การใช้สมุนไพร คือต้องให้คำตอบเวลาคนถาม อธิบายนักข่าวในตัวมะเร็งได้ชัดเจนได้ อีกส่วนหนึ่งคือการให้ความคิดเห็นให้ข้อมูลได้ อย่างอุบัติการณ์มะเร็งในตอนนี้เป็นอย่างไร คนในประเทศเราพบมะเร็งอะไรมากที่สุด ต้องรู้เรื่องความเป็นไปและสถานการณ์มะเร็งในเมืองไทย ไม่ใช่แค่รู้ว่าต้องผ่าตัดอย่างไร พูดง่าย ๆ คือต้องเข้าใจในเรื่องนี้ เฉกเช่นอยากรู้เรื่องยาคูลท์ก็ต้องถามสาวยาคูลท์ ถ้าอยากรู้เรื่องมะเร็งก็ต้องถามสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เราเป็นสถาบันที่มุ่งเน้นสร้างบุคลากรที่เข้าใจแตกฉานในเรื่องมะเร็งเป็น Mr. Cancer หมอผ่าตัดโรงพยาบาลอื่น อาจจะไม่ต้องรู้เรื่องมะเร็งเท่าเรา เพราะเราคือสถาบันมะเร็งแห่งชาติ”
กัญชารักษาโรคมะเร็งได้จริงเหรอ
“ต้องแยกประเด็นให้ชัดครับ มีคนใช้รักษาแต่รักษาในแง่มุมไหน ก็ต้องแจกแจงออกมา เช่นการรักษาตามอาการ ใช้บรรเทาในการปวด อาการคลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ ความเครียด ถ้าในด้านเหล่านี้จะมีเป็นรายงานที่บันทึกเก็บเป็นสถิติไว้เลย ว่ามีทั้งที่ซัพพอร์ตและไม่ซัพพอร์ต แต่ถ้าหากมุ่งใช้รักษาหลัก เช่นคนไข้เป็นมะเร็งตับ ใช้แต่กัญชารักษาไม่รักษาวิธีการอื่นเลย อันนี้ยังไม่มีบันทึกและข้อมูลยืนยันที่เชื่อถือได้ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเราจะต้องมีวิจารณญาณ มีสติ ต้องใช้ปัญญาในการวิเคราะห์ข้อมูล แต่บางโรคก็ใช้รักษาจริง อย่างการชักเกร็ง หรือโรคระบบประสาท โรคกล้ามเนื้อ ฯลฯ ยังไม่มีรายงานทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าเอากัญชามาใช้แทนเคมีบำบัดได้ ก้อนเนื้อยุบ ต้องมีการศึกษาค้นคว้า บันทึกข้อมูลจริงจังเป็นหลักพันเคส ไม่ใช่ว่าทดลองกับคนไข้หนึ่งรายและคนไข้ก็เคยได้รับเคมีบำบัด ผ่าตัด ฉายแสง แต่พอนำกัญชามาหยดแล้วหายขึ้นมาก็มาสรุปว่าหายเพราะกัญชาไม่ได้ครับ”
สถาบันแห่งความคาดหวัง
“ในต่างประเทศนั้นสถาบันมะเร็งแห่งชาตินั้นมีอยู่ 3 ลักษณะ แบบที่ 1 ก็คือกำหนดนโยบาย กำกับดูแล ออกกฎหมาย ควบคุม ทำสถิติ ข้อมูล คือทำในเรื่องนโยบาย แบบที่ 2 คือทำการรักษา และวิจัย พัฒนา ศึกษา เก็บข้อมูล ส่วนแบบที่ 3 คือแบบที่เราเป็น คือทำทุกอย่างที่กล่าวมา ทั้งนโยบาย และรักษา ต้องเรียนว่าเครื่องมือ เทคโนโลยีการรักษานั้นพัฒนาเร็วมาก และที่สำคัญราคาแพงมาก เครื่องฉายแสงรุ่นใหม่มีวิวัฒนาการดีมาก ราคาประมาณเครื่องละ 300 ล้านบาท ต้องยอมรับว่าแพงครับแต่ถ้าเทียบกับราคารถถัง เครื่องบินรบ หรือเรือดำน้ำแล้วถือว่าถูกมาก ก็เลยตอบคำถามว่าทำไมเครื่องไม้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีของที่นี่นั้นสู้โรงพยาบาลบางแห่งไม่ได้ ก็เพราะเป็นเรื่องของงบประมาณที่ได้จากภาครัฐนั่นเอง
“ยกตัวอย่างโรงพยาบาลรัฐที่เป็นสถาบันสอนหรือโรงเรียนแพทย์นั้น เรามักจะเห็นบ่อย ๆ ในเรื่องการขอรับบริจาคเพื่อนำไปซื้อเครื่องไม้เครื่องมือในการรักษา สร้างอาคาร ฯลฯ มีทั้งโครงการต่าง ๆ ที่เรี่ยไรมาช่วย ทั้งที่ต้องวิ่งและไม่วิ่ง ช่วยกันหาเงินสารพัดก็เพื่อหาเงินมาช่วยสมทบสาธารณประโยชน์เหล่านี้ คือภาครัฐมีงบมาให้แต่ไม่เพียงพอ ทำให้ทางโรงพยาบาลหรือจิตอาสาต้องพยายามหาทางกันเอาเอง
“ด้วยความที่โครงสร้างที่บิดเบี้ยวมาตั้งแต่ต้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จริง ๆ แล้วเป็นหน่วยงานระดับกองแต่งานหลายอย่างเป็นงานระดับชาติ ในประเทศอื่น อย่างน้อย ๆ เลยต้องเป็นหน่วยงานเทียบเท่ากรม หรือหน่วยงานพิเศษขึ้นตรงกับกระทรวงสาธารณสุข หรือรัฐบาลเลยด้วยซ้ำ อย่างในญี่ปุ่นและอเมริกาขึ้นตรงกับรัฐบาลเลย พอเป็นแค่หน่วยงานระดับกองแบบนี้ เงินหรืองบประมาณที่ได้มาในแต่ละปีก็จะมีน้อย
“และถ้าถามอีกว่าทำไมไม่หาเงินจากภายนอกอย่างการบริจาค ก็ต้องเรียนอีกว่าในปัจจุบัน ช่องทางการขอรับบริจาคก็มีการแข่งขันกันเยอะ ที่นี่รักษาแต่มะเร็ง พอจะมีคนบริจาคจำนวนเป็นสิบล้านบาท เขาก็จะวิ่งไปบริจาคที่โรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลใหญ่ ๆ กันหมด เพราะสิ่งที่ได้รับกลับมานั้นต่างกัน อย่างเขาบริจาคไปสิบล้าน ต่อไปถ้าครอบครัวหรือคนที่มีนามสกุลเดียวกับเขา ป่วยก็จะได้รับการดูแลที่ดีกว่า เป็นวีไอพี คือที่โรงพยาบาลใหญ่จะรักษาได้หมด ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไร ต่างจากสถาบันมะเร็งที่รักษาแต่มะเร็ง อันนี้ก็เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง และอีกอย่างก็คือเราอยากจะไปขอสถานที่กว้าง ๆ กว่านี้ เพื่อทำสถาบันให้ยิ่งใหญ่สมกับเป็นสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ก็มีข้อจำกัดเกิดขึ้นหลายอย่าง”
ว่าด้วยเรื่องการวิจัย
“ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถาบันก็ต้องการให้มีกลุ่มวิจัยเรื่องมะเร็งอย่างจริงจัง ซึ่งในยุคเริ่มแรกสถาบันได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นทั้งเรื่องเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ไปจนถึงแนวทางเป็นโมเดลมาเลย ผู้บริหารยุคนั้นก็ได้ไปศึกษาและดูงานจากทั้งญี่ปุ่นและอเมริกา ในยุค 50 ปีที่แล้ว หากไม่ทำการวิจัยด้วยก็จะตามหลังประเทศอื่น งานวิจัยโรคมะเร็งมีอยู่ 3 แบบ แบบแรกก็คือการวิจัยพื้นฐานเลย คือ Basic Science วิจัยเซลล์มะเร็ง หาสารก่อมะเร็งตัวใหม่ หาสารบ่งชี้ ในการตรวจค้นหามะเร็งในระยะเริ่มต้น
“แบบที่สองคือการวิจัยทางคลินิก กลุ่มนี้จะเป็นการทดลองการรักษา มีทั้งเรื่องการวิจัยแบบเปรียบเทียบการรักษา เช่นการผ่าตัดแบบ A กับการผ่าตัดแบบ B หรือการใช้ยาเคมีบำบัดสูตร A กับแบบ B หรือเทคนิคการฉายแสงต่าง ๆ ก็ตาม ซึ่งจะถูกนำมาเปรียบเทียบว่าแบบไหนได้ผลการรักษาดีกว่ากัน แบบที่สาม คือ การวิจัยแบบประเมินเทคโนโลยี ซึ่งเราจะวิจัยทั้ง 3 แบบ
“อย่างงานวิจัย Basic Science ตอนนี้เราก็ทำวิจัยเพิ่มในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างการใช้กัญชา ก่อนหน้านั้นก็คือเรื่องยาหมอแสง ตอนนั้นเราก็จะเอาแคปซูลที่เขาแจกมาวิจัย นำมาวิเคราะห์ในระดับเซลล์ว่ายาของเขาสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งประเภทไหนได้ในระดับไหนบ้าง คือเราต้องทำงานวิจัยใหม่ ๆ มากขึ้น คือถ้าสังคมอยากรู้เรื่องมะเร็งก็จะถามมาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติก่อน เราก็ต้องมาทำวิจัยต่อ
“ส่วนการวิจัยทางคลินิก ไม่ใช่ว่ามีทำแค่ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาตินะครับโรงพยาบาลขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งจะมีอยู่แล้ว ก็ต้องมีการนำเสนอทำ Proposal ก่อนว่าจะทำเรื่องอะไร นำเสนอเข้าคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์แต่ละที่เพื่อจะดูว่ามันถูกหลักการไหม มีเรื่องผิดจรรยาบรรณหรือจริยธรรมไหม มีอะไรมาซัพพอร์ตคนไข้บ้าง ผลข้างเคียงมีไหม มีการดูแลอย่างไร เมื่อผ่านคณะกรรมการก็จะพิจารณาว่าจะอนุมัติไหม และเมื่อวิจัยไปแล้วคนไข้ก็สามารถปฏิเสธขอ Drop Out ออกจากการวิจัยได้ กรณีมีปัญหาหรือไม่ยินยอม แต่ก็ต้องเรียนตรง ๆ ว่าในปัจจุบันแพทย์ส่วนใหญ่ก็เริ่มจะอ่อนล้าที่จะทำวิจัย เพราะคนไข้มารับบริการก็เยอะมากอยู่แล้ว ทำให้มีปัญหาเรื่องเวลาในการทำการวิจัย คือต้องเหนื่อยมากขึ้นหลายเท่า แค่เขาทำเซอร์วิสก็งานเยอะอยู่แล้ว การทำงานวิจัยไม่ได้เงินเดือนเพิ่มนะครับ แถมจะอ้างว่าทำงานวิจัยขอลดงานเซอร์วิสไม่ได้นะครับ คือหมอต้องทำควบคู่กันไป
“ตอนนี้เราก็พยายามกระตุ้นให้บุคลากร แพทย์หรือพยาบาลของเราทำวิจัยมากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และนำไปใช้ได้จริง เช่น ยาตัวใหม่ ๆ หรือการใช้กัญชาได้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งถ้าทำงานวิจัยเฉพาะในระดับเซลล์ในหลอดทดลองหรือทดลองแต่กับหนู ไม่ได้มาวิจัยในคนต่อ นำมาใช้เลยก็ผิดจรรยาบรรณอีก เพราะคนป่วยรอรักษาด้วยวิธีใหม่ ๆ อยู่ แต่เราก็ไม่สามารถบังคับให้หมอทำวิจัยได้ ถ้าเขาไม่อยากทำ งานเขาก็เยอะอยู่แล้ว
“สุดท้ายคือวิจัยประเมินเทคโนโลยี อันนี้เราถูกมอบหมายให้ทำด้วย เพราะว่าต้องมีการประเมินเทคโนโลยีเครื่องมือที่จะเอามาใช้ในบ้านเรา ทุกวันนี้เวลาโรงพยาบาลใหญ่ ๆ หรือโรงเรียนแพทย์จะซื้อเครื่องมือราคาแพง อย่างเครื่องฉายแสงโปรตอนตัวละหลายพันล้านบาท คือเมืองนอกมีเขาก็ต้องมีเขาจะซื้อเลย ยกตัวอย่างเครื่อง PET/CT Scan สรุปว่าบ้านเรามีเครื่องเยอะเกิน แต่ใช้งานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งมี กลายเป็นทั่วประเทศมีจำนวนเครื่องเยอะ แต่คนไข้ที่จำเป็นต้องใช้จริงมีน้อย คำถามก็คือวัวหายล้อมคอกหรือเปล่า สถาบันมะเร็งแห่งชาติไม่มีอำนาจที่จะห้ามไม่ให้เขาซื้อ เพราะเป็นเงินของเขาเอง ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังสนใจเรื่องนี้มาก
“อย่างตอนนี้ผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมกันเยอะ ก็เป็นคำถามว่าเอ๊ะ! ตอนนี้ในประเทศไทยซื้อเครื่องแมมโมแกรมกันหลายตัว แต่จำเป็นต้องใช้จริง ๆ กี่ตัว พอเกิดคำถามนี้เขาก็เลยให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติช่วยคิดหน่อย เพราะเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ประเมินเทคโนโลยีหน่อยว่าเครื่องนี้จำเป็นต้องมีกี่เครื่อง และมีที่จังหวัดไหนบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีให้ประเมิน ใครจะซื้อก็ซื้อ โรงพยาบาลไหนอยากซื้อก็ซื้อ อย่างโรงพยาบาลหลาย ๆที่อยากจะซื้อหุ่นยนต์มาผ่าตัดมะเร็ง เพราะเป็น AI แต่ตัวหนึ่งราคา 200-300 ล้านบาท เขาก็มาให้เราช่วยประเมินว่ามันคุ้มไหม งานวิจัยจึงมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง
“ปัญหาหลักก็คือเรื่องของบุคลากร การจะหาคนไปเรียนปริญญาเอก ในต่างประเทศสาขาที่ว่าเนี่ยค่อนข้างยาก หรือเคยมีที่เราส่งเขาไปเรียนแต่พอเรียนจบกลับมา เขาก็ไปอยู่ที่โรงเรียนแพทย์ ที่มีเครื่องมือและทีมงานพร้อมกว่า เพราะสถาบันเราอาจจะไม่เอื้ออำนวยทั้งทีมงาน อุปกรณ์และสถานที่ อย่างโรงเรียนแพทย์เขามีเพราะลงทุนเป็นพันล้าน ของเราแค่จะซื้อเครื่องมือในงานวิจัยหรือการรักษาที่ทันสมัยให้สมศักดิ์ศรีกับคำว่าสถาบันแห่งชาติบ้าง มันก็จะพัวพันไปกับเรื่องงบอื่นด้วย อย่างเช่นเรื่องบัตรทองที่ตูน Bodyslam เขาออกมาวิ่ง ที่ออกมาช่วยโรงพยาบาลตามหัวเมืองเป็นพันล้าน บอกได้ถึงความล้มเหลวของระบบ ระบบบ้านเรามันไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ เพราะมันทำให้คนที่ถือบัตรทองปล่อยปละละเลยการดูแลสุขภาพร่างกายอย่างมาก กินเหล้า สูบบุหรี่ ทุกอย่างรักษาฟรี เพื่อนผมที่เป็นหมอในญี่ปุ่นหรืออเมริกายังถามว่าประเทศคุณทำได้อย่างไร ไม่เก็บค่ารักษาหรือส่วนต่างเลย ซึ่งเขาไม่รู้ว่าที่มันอยู่ใต้พรมเนี่ย โรงพยาบาลใหญ่ที่เขารักษาเฉพาะทางหรือเฉพาะโรคเนี่ยกำลังขาดทุนป่นปี้ อย่างเคสยาก ๆ รักษาแพง แต่คนไข้ที่ใช้บัตรทอง หรือบัตรข้าราชการ ส่วนใหญ่เขาก็จะส่งมาที่เรา ซึ่งเราก็ต้องไปเบิกกับกองทุน แต่เงินที่ได้กลับมานั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับค่ารักษา เรื่องเหล่านี้แหละที่ทำระบบพังกันไปหมด”
กำลังใจ และความหวัง
“ความดิ้นรนของอดีตผู้บริหารหลายท่าน คือต้องการขยายพื้นที่ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ อย่างที่ตรงข้ามเนี่ย องค์การเภสัชกรรมภายใต้กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการเช่าไว้จะครบสัญญาช่วงปี 58 ตอนนั้นผมเป็นรองผู้อำนวยการ ผมและท่านผู้อำนวยการพยายามทำหลายอย่างเพื่อที่จะเอาที่ดินตรงนี้มาใช้ประโยชน์ ปรากฏว่ายากเย็นแสนเข็นเพราะสหภาพขององค์การเภสัชฯ ไม่เห็นด้วยแถมต้องแย่งชิงหน่วยงานอื่นอีกเราก็พยายามดิ้นรนหาหลายที่ ก็เพื่อจะให้คนไข้ได้ใช้ประโยชน์สะดวกสบายมากขึ้น และเพื่อสมศักดิ์ศรีกับความเป็นสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
“อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของการบริหารจัดการด้านโรคมะเร็งที่เรายังไม่มีอำนาจเพียงพอ อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี รายใหม่ ๆ จากไม่ถึงแสนตอนนี้ก็แสนกว่าคนต่อปี เสียชีวิตอันดับ 1 มากกว่าอุบัติเหตุ 2 เท่า สถานการณ์โดยรวมแย่ลง แต่เราเป็นแค่หน่วยงานระดับกอง บริบทเล็กแค่นี้จะไปสู้ยังไง ตอนปี 54 ผมกับผู้อำนวยการในสมัยนั้นก็พยายามดำเนินการเรื่องการออกกฎหมาย Cancer Act หรือ พรบ.โรคมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งเราก็ปรึกษากับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องการมีกฎหมายเพื่อควบคุมเกี่ยวกับมะเร็งเหมือนในหลายประเทศได้หรือไม่ บ้านเรามีสารก่อมะเร็งที่ทำให้คนป่วยกันเยอะ มีการสัมมนาทั้งภาครัฐและเอกชน ความเห็นตรงกันหมดว่าโรคมะเร็งเป็นปัญหาที่ปล่อยเอาไว้ไม่ได้ต้องควบคุมเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ใช่รักษาแค่คนป่วย ต้องดูแลไม่ให้มีคนป่วยเพิ่ม ประเด็นที่น่าสนใจคือเสียงจากหลายฝ่ายต้องการให้มีหน่วยงานพิเศษที่ดูแลเรื่องมะเร็งโดยให้เป็นในระดับเทียบเท่ากรม หรือหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับกระทรวง หรือขึ้นตรงกับรัฐบาล แบบไหนก็ได้ที่จะมาควบคุมได้ เพราะตอนนี้ไม่มีการบูรณาการกัน มีแต่กฎหมายควบคุมเหล้า บุหรี่ แต่ยังมีสารก่อมะเร็งตัวอื่นอีกเยอะมาก หรือพวกอาหารเสริมที่บอกว่าช่วยรักษามะเร็งอีก คือควบคุมดูแลกันไม่ไหว คนเป็นมะเร็งถ้าหลงทางรักษาผิด ๆ ก็เสียโอกาสในการรักษาอีก
“แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อ เพราะมันเกี่ยวข้องกับการแบ่งส่วนราชการใหม่ซึ่งมีผลต่ออำนาจของส่วนราชการเดิม โครงการก็เลยพับไปในที่สุด กลับมาที่คำถามว่าคนไข้โรคมะเร็งกับความหวังที่มารักษาที่สถาบัน ภาพที่คนมองเข้ามาเราดูมีศักยภาพมากมาย แต่ทั้งนโยบายกำลังคน งบประมาณ ไม่ได้ทำให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติเก่งเป็นเลิศอย่างแท้จริง ทีมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญของเราทั้งหมอและพยาบาลก็ต้องออกไปช่วยโรงพยาบาลศูนย์ในหลายๆ จังหวัดกันบ่อยมาก อย่าง 5 ปีที่แล้วโรงพยาบาลหลายแห่งไม่มีเครื่องฉายแสง ถ้าจะใช้ต้องวิ่งไปที่โรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลมะเร็ง เราก็ไปวางแผนให้ว่าเขตไหนควรต้องมีเครื่องฉายแสงเพิ่ม ไปสอนการใช้เครื่องมือให้ ไม่ใช่ให้เขาคิดเอง เราเอาความรู้และเทคโนโลยีไปฝึกอบรมเขา สิ่งที่ทำมา 5 ปีสำเร็จแล้ว คนไข้ได้รับบริการดีขึ้น ผู้ป่วยถูกส่งมาที่เราน้อยลง”
รู้ทันมะเร็ง
“มะเร็งก็มีทั้งที่ป้องกันได้และป้องกันไม่ได้ครับ ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ประกอบด้วย 1.กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งในครอบครัว 2. สภาพแวดล้อม เช่น การเผชิญแสงแดดจัด, มลพิษทางอากาศ 3. พฤติกรรม เช่น การดื่มสุราและสูบบุหรี่, การทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีสารก่อมะเร็ง ฯลฯ วิธีการที่จะป้องกันการเกิดมะเร็งอย่างง่าย ๆ ให้ยึดหลัก 5 ทำ 5 ไม่ ดังนี้ 5 ทำ ได้แก่ ออกกำลังกายเป็นประจำ, ทำจิตแจ่มใส, กินผักผลไม้, ทานอาหารหลากหลาย, ตรวจร่างกายเป็นประจำ และ 5 ไม่ ได้แก่ ไม่สูบบุหรี่, ไม่มีเซ็กส์มั่ว, ไม่มัวเมาสุรา, ไม่ตากแดดจ้า, ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ เป็นต้น ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะป้องกันได้ประมาณ 40% แล้วครับ อีก 60% เป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงยาก
“แต่ก็มีมะเร็งบางชนิดที่เราป้องกันได้ชัดเจนมากอย่าง มะเร็งปากมดลูก ในช่วง 10 ปีให้หลังเรารู้แล้วว่ามันเกิดจากไวรัสหูดหรือที่เรียกว่าไวรัส HPV ป้องกันได้โดยให้เด็กผู้หญิงอายุ 11-12 ปี มาฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อนเลย ราคาวัคซีนเมื่อก่อนแพงเข็มละหลายพันแต่เดี๋ยวนี้หลักร้อยแล้วครับ ป้องกันได้ 70-80% แต่ต้องฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์นะ จะไม่เสี่ยง แต่ถ้ามีเพศสัมพันธ์แล้วประสิทธิภาพจะลดลง ต้องมาตรวจหา HPV ถ้าไม่มีก็จะเป็น Low Risk แต่ถ้ามีก็มีโอกาสเป็นสูงกว่า อยากให้มาตรวจภายในตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ มะเร็งตับก็เช่นกัน อย่างคนที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับในอนาคต เราทำเรื่องนี้มานานแล้วครับ ในเด็กแรกเกิดเราก็จะฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อน ถ้าเขามีภูมิคุ้มกันแล้วจะไม่เป็นพาหะ ยกเว้นโตขึ้นมาแล้วเป็นนักดื่มอันนี้ก็เสี่ยงมะเร็งตับเหมือนกัน หรืออย่างมะเร็งในท่อน้ำดี คนที่ชอบกินปลาน้ำจืดดิบ ๆ พวกก้อยปลา ปลาดิบ ก็ป้องกันได้ ถ้าไม่กินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ก็จะไม่เป็น การป้องกันคือไม่รับสารก่อมะเร็งเข้าร่างกาย
“การคัดกรองอีก มะเร็งบางอวัยวะอยู่ลึกเครื่องหาไม่ได้ก็มี หรือหาได้แต่ก็ไม่เพียงพอให้บริการฟรีในระดับประชากร เพราะเงินไม่พอ ทำเป็นเรื่องพื้นฐานไม่ได้ ที่คัดกรองง่ายที่สุดคือมะเร็งปากมดลูก คือเราต้องติดอาวุธให้คนทั่วไปให้ความรู้และตรวจฟรี กลุ่มคนขี้อายจะเสี่ยงที่สุดเพราะไม่ได้ตรวจ เราก็ทำหนังสั้นเรื่องความอายคือสารก่อมะเร็ง เพื่อรณรงค์ เราต้องพยายามดึงคนกลุ่มนี้ออกมาตรวจให้ได้มากที่สุด ในต่างประเทศเดี๋ยวนี้เขาก็มีอุปกรณ์ให้เก็บสิ่งส่งตรวจได้ด้วยตนเองแล้วไม่ต้องมาให้หมอตรวจเพียงแต่ส่งไปรษณีย์มา องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ไว้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้ามะเร็งปากมดลูกจะหายไป จากเดิมเป็นมะเร็งอันดับ 1 ตอนนี้ลดลงมาครึ่งนึงแล้ว กลายเป็นอันดับ 3 ในหญิงไทยแล้ว เรื่องนี้ก็ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของอดีตผู้บริหารที่โน้มน้าวให้รัฐบาลเอางบลงมาทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ
“ต้องเรียนว่างานหลายอย่างสถาบันของเราทำงานเชิงรุกไม่ต้องรอให้ใครมาสั่ง เดือนก่อนผมก็เพิ่งเปิดตัวเพลง ‘ร่วมศรัทธาต้านมะเร็ง’ ซึ่งคุณแอ๊ด คาราบาว มาร้องให้ ก่อนหน้านั้นก็ทำประกวดหนังสั้นเพิ่งประกาศผลไป เรื่องสื่อก็เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก ใช้สื่อใหม่ ๆไม่ใช่ว่าทำแต่แผ่นพับไปแจก ซึ่งยุคนี้คนสนใจกันน้อยลง หรือแม้แต่แอพพลิเคชั่นรู้ทันโรคมะเร็งเราก็ทำมาก่อนใคร ตั้งแต่ปี 58 เราต้องคอยติดตามดูว่าต่างประเทศเขาคุยเรื่องอะไรกัน มีเรื่องอะไรใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็ง เพราะเวลามีประเด็นที่สำคัญ ๆ เรื่องโรคมะเร็ง ก็จะถามมาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติก่อนเป็นอันดับแรกครับ”
Share Now
“ถ้ามองในระยะยาวเราอยากได้สถานที่เพื่อทำสถาบันมะเร็งแห่งชาติใหม่ เพราะที่นี่มีพื้นที่เพียง 5 ไร่ ถ้าถามว่าผมอยากจะทำอะไรเพื่อประเทศชาติ ผมอยากจะหาสถานที่ใหม่ให้สมศักดิ์ศรีกับคำว่าสถาบันมะเร็งแห่งชาติครับ ส่วนเรื่องเส้นผมนั้นเกิดขึ้นตอนปี 56 มีบริษัทหนึ่งอยากทำ CSR โดยไม่มีธุรกิจแอบแฝง ผมก็เอ่ยไปว่าถ้าผมอยากทำวิกผมให้คนไข้จะได้ไหม ปรากฏว่าเราโชคดีที่เขาทำให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย คอนเซ็ปต์คือบริจาคเส้นผม หนังสั้นเรื่องนั้นคุณโต้ง บรรจงเป็นคนทำ หลังจากนั้นเส้นผมก็มาไม่ขาดสายเลย พอปี 2559 ผมก็ขอหยุดรับบริจาคเส้นผม เพราะมันเยอะมาก มีค่าใช้จ่ายในการทำวิกผม มีค่าการเก็บรักษา ทุกวันนี้ก็ยังมีคนส่งเส้นผมมาให้วันละ 1-2 กระสอบ ทั้ง ๆ ที่ปิดรับบริจาคไปแล้ว ปรากฏว่าตอนนี้ไม่มีเงินค่าทำวิก เราเลยรับบริจาคเป็นเงินแทนเส้นผมเพื่อที่จะได้นำมาใช้ทำวิกผมครับ วิกที่ทำเสร็จก็ไม่ได้ใช้เฉพาะในสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ยังส่งไปให้โรงพยาบาลอื่น ๆ ที่มีผู้ป่วยมะเร็งที่ขอสนับสนุนมาครับ
Profile
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ
• ปริญญาบัตร: แพทยศาสตรบัณฑิต, ศิริราชพยาบาล, มหาวิทยาลัยมหิดล
• วุฒิบัตร: สาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป
การศึกษาหลังปริญญา
- Hepatobiliary and Pancreatic Surgery, National Cancer Center, Japan
- Pancreatic Cancer Surgery, Johns Hopkins Hospital, USA
- วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตเกียรตินิยม (การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ) คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
รางวัลสำคัญที่ได้รับ
- รางวัลนักศึกษาเก่าดีเด่น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พ.ศ. 2550
- Visiting Professor at Graduate School of Cancer Science and Policy, National Cancer Center, Korea พ.ศ. 2556
ตำแหน่งอื่นที่สำคัญ
- นายกสมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ 1 (พ.ศ. 2557–2559)
- นายกสมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ 2 (พ.ศ. 2559–ปัจจุบัน)
TEXT : aumlove
ช่างภาพ : Natchanun Chotiphon