ณรงค์ เกตุแก้ว : ธุรกิจแห่งความสุข Issue 160
หลากหลายเรื่องราวมักถูกถ่ายทอดมาในรูปแบบของเครื่องนุ่งห่ม เช่นเดียวกับณรงค์ เกตุแก้ว ดีไซนเนอร์ไทยไฟแรง ผู้มีผลงานการออกแบบเสื้อผ้าอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ร้อยเรียงบรรจงถ่ายทอดเรื่องราวของผู้สวมใส่ในแบบ Made To Order ชิ้นเดียวในโลก ผู้อยู่เบื้องหลังวันสำคัญของหลาย ๆ คน
“ผมเป็นเด็กอำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี เรียนม.ต้นที่โรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง แล้วก็ย้ายไปเรียนปวช. เอกช่างไฟฟ้าที่เทคนิคราชบุรีอยู่ 3 ปี เมื่อเรียนจบแล้วกลับรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนไปทำอะไรสักอย่าง ตอนนั้นก็ยังไม่รู้หรอก เราก็รู้แค่ว่าเราอยากเรียนทางด้านภาษา แล้วก็อยากเรียนท่องเที่ยวเลยสอบเข้าเรียนสาขาวิชาธุรกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จนถึงชั้นปีที่ 3 ผมก็ได้สอบชิงทุนไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนอยู่ที่แคนาดา
หลังจากกลับจากประเทศแคนนาดา ผมได้สมัครทำงานบนเรือสำราญเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนกลับมาที่เมืองไทย ไม่นานนักก็ได้มีโอกาสไปทำงานบนไพรเวทยอร์ช ของเศรษฐีชาวคูเวต ทำอยู่ประมาณ 3 ปี เดินทางไปในหลายที่ เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่นาน จึงกลับมาที่เมืองไทยอีกครั้งใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือน มีเจ้านายและลูกจ้าง ในตำแหน่งการตลาด แต่ด้วยความรักอิสระ บวกกับนึกย้อนกลับไปในช่วงวัยเด็กที่มีใจรักทางด้านการวาดภาพ จึงทำให้เขาลงเอยที่การเรียนแฟชั่น
“ถามตัวเองหนักมาก ว่าชอบอะไรจนสุดท้ายแล้วค่อยมาลงเอยที่แฟชั่น เพราะสมัยที่เราเรียนชั้นประถมเราชอบศิลปะชอบวาดรูป มีการส่งเข้าประกวดแล้วก็ได้รับรางวัลด้วย จริง ๆ เราก็ชอบแฟชั่นและเราอ่านหนังสือแฟชั่น แล้วติดตามแฟชั่นตลอดแต่เราไม่เคยถามตัวเองว่า เราชอบจริงจังแค่ไหนก็เลยตัดสินใจไปเรียนระยะสั้นเรียนกับเพื่อนเป็นดีไซเนอร์
“ตอนนั้นร้อนวิชาเลยทำชุดให้คนรู้รอบ ๆ ตัวใส่ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาด เพราะว่าทุกคนชอบเสื้อผ้าที่เราออกแบบ ก็เลยเป็นอีกแรงบันดาลใจให้เรา อยากจะก้าวเข้าสู่การเป็นดีไซน์เนอร์ ประจวบเหมาะกับว่าเจ้าของพื้นที่เดิมของห้องเสื้อเรา ณ ปัจจุบันนี้ ก็เป็นร้านตัดเย็บเสื้อผ้าที่เราเคยใช้บริการ แล้วทีนี้ทางเจ้าของอยากจะเลิกทำธุรกิจนี้ เราจึงตัดสินใจเทคโอเวอร์ เพราะถ้ามองทางด้านธุรกิจแล้ว ข้อแรกคือเราไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ข้อสองคือฐานลูกค้าเก่าของร้าน ส่วนสุดท้ายคือทีมงานช่างตัดเย็บ
ด้วยความที่เขาเป็นคนแสวงหาความรู้อยู่เสมอ จึงทำให้เขาตัดสินใจไปเรียนทางด้านออกแบบดีไซน์เนอร์อย่างจริงจัง ที่สถาบันออกแบบชนาพัฒน์ จนเข้าใจอย่างถ่องแท้ของการเป็นดีไซน์เนอร์ที่ดี และเขายังก้าวไปอีกขั้นด้วยการเข้าร่วม vogue who’s on next และนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดพัฒนาธุรกิจของตัวเอง
“จนเมื่อปี 2016 ผมตัดสินใจไปแข่งในรายการ vogue who’s on next ของ Vogue Thailand การแข่งขันไม่ใช่แค่งานดีไซน์อย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของโมเดลธุรกิจด้วย และได้รับการเทรนด์อยู่หลายอย่างจน สรุปได้ว่า Product ของเราคืออะไร คือเราก็ตอบโจทย์ตรงตัวอยู่แล้วว่าเราเป็น Evening and wedding ต่อมาคือ Brand DNA ของเราคืออะไรก็คือ 1.Craftsmanship ก็คืองานฝีมือถ้าพูดถึงงานปักก็ต้องนึกถึงแบรนด์ณรงค์ 2.Sensuality เวลาผู้หญิงใส่ก็ต้องยั่วยวนมีเสน่ห์ 3.Femininity เสื้อผ้าของเราไปเติมเต็มความเป็นผู้หญิงของเขา 4.Exclusivity งานของเราเป็น made to order เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นชิ้นเดียวในโลกเวลาเราครีเอทงานออกมาคือภาพมันชัดเจนออกมา ทีนี้เราจะทำอะไรเราก็ต้องยึด แบรนด์ DNA ของเรา
“เขาบอกว่าคนเราเกิดมาในโลกนี้เพื่อที่จะทำอะไรสักอย่าง และเพื่อจะมาเป็นใครบางคนอันนี้แหละเป็นอาชีพที่ผมอยากตื่นขึ้นมาทุกวัน แล้วอยากมาทำงานมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียนะ อย่างข้อดีก็คือเราได้ทำงานกับสิ่งสวยงาม แล้วเราได้ครีเอท เราได้ใช้สมองทั้งวันมันเป็นอะไรที่สนุกนะ และอีกอย่างคือการที่เราทำชุดเวดดิ้ง มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากก็คือ เราได้ทำงานเกี่ยวกับบรรยากาศแห่งความรัก เราในฐานะดีไซนเนอร์ก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ตัวลูกค้า นั่นคือชุดเจ้าสาว ว่าเราจะครีเอทชุดที่สวยที่สุดให้กับเจ้าสาว ในวันสำคัญที่สุดของเขา ผมถึงชอบไงเวลาที่ลูกค้าใส่แล้วชม เราในฐานะดีไซน์เนอร์ที่มองเห็นคู่รักที่แฮปปี้บนสเตจด้วยกัน เราก็รู้สึกปลื้มแล้วยิ่งลูกค้าชมมันก็ทำให้รู้สึกว่า happy หายเหนื่อย
“ผลงานที่คิดว่าเป็นระดับมาสเตอร์พีชก็น่าจะเป็นการประกวดมิสยูนิเวิร์สที่เมืองไทยเมื่อปี 2018 อันนั้นผมได้เป็นหนึ่งในสิบดีไซเนอร์ที่ได้ทำชุดให้นางงามใส่ และที่สำคัญก็คือวันที่ตัดสินเดมี ลีห์ เนล ปีเตอร์ส มิสยูนิเวิร์ส 2017 เป็นวันที่เขาออกมาพูดอำลาตำแหน่ง เขาได้ใส่สูทสีชาวของทางเรา อันนี้คือความภูมิใจเลยเพราะว่ามีดีไซเนอร์ทั่วโลกทำไมเขาเลือกเรา
ท้ายนี้เขายังฝากข้อคิดปิดท้ายว่า “ชีวิตเราก็เหมือนการเล่นเกมนั่นแหละที่เราต้องตั้งเป้า และต้องไปให้ถึงจุดหมาย”
Photo : PornsaranSoithong