สมิทธิ์ อารยะสกุล : ชีวิตที่เรียบง่ายและมั่นคง | Issue 160

สมิทธิ์ อารยะสกุล : ชีวิตที่เรียบง่ายและมั่นคง | Issue 160

สมิทธิ์ อารยะสกุล ชีวิตที่เรียบง่ายและมั่นคง Issue 160

สมิทธิ์ อารยะสกุล หรือเรารู้จักกันในชื่อหมอโอ๊ค นายแพทย์ผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง โด่งดังจากการเป็นนักร้อง โดยมีเพลงดังอย่าง “ซื้อกุหลาบให้ตัวเอง” เส้นทางชีวิตของเขาอาจไม่ได้หวือหวานักเมื่อเทียบกับศิลปินบันเทิงคนอื่น แต่เขาก็สามารถยืนหยัดบนเวทีชีวิตของตัวเอง ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งเรื่องงานและครอบครัวอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

ในปัจจุบันเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ประเทศไทยเองประสบปัญหาผู้ป่วยสะสมจำนวนมาก บุคคลากรทางการแพทย์ทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย หมอโอ๊คจึงไม่ลังเลที่จะหาทางช่วยเหลือสังคม ด้วยการโพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์สู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

“ผมบอกเลยว่าโรคโควิด-19 น่ากลัว แต่ก็ต้องกลัวแบบมีสติ สาเหตุที่น่ากลัวเพราะเป็นโรคที่ติดต่อง่าย โรคอะไรก็ตามที่เป็นโรคระบาดแล้วติดต่อทางเดินหายใจมันติดกันง่ายเสมอ แล้วโรคนี้ก็มีเปอร์เซ็นต์ที่จะเสียชีวิต จะไปบอกว่าไม่ต้องไปกลัวหรอกมันก็เป็นแค่หวัด เดี๋ยวรอสร้างภูมิคุ้มกัน ผมมองว่าตรงนี้หละหลวมไปหน่อย เพราะว่ายังมีเปอร์เซ็นต์ที่เสียชีวิตเยอะโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และในกลุ่มคนที่เป็นหนัก แถมต้องใช้ทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขเยอะ 

“โรคนี้เวลาติดเชื้อแล้วมันลงไปที่ปอด อาจต้องมีการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งประเทศเรามีโรงพยาบาลเยอะ หมอก็เยอะแต่เครื่องช่วยหายใจมีจำนวนจำกัด ตอนนี้ทางรัฐบาลและภาคเอกชน ทุกคนพยายามทำการรณรงค์กันเพื่อให้มันติดต่อยาก อย่าให้ติดพร้อมกันทีเดียวเราไม่อยากให้เกิดขึ้น โรคระบาดมันเป็นธรรมชาติเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าค่อย ๆ มา ค่อย ๆ รักษาเราเอาอยู่ครับ อย่างบางประเทศที่เราเห็นว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตเยอะ เพราะการรักษาไม่สามารถทำได้ทั่วถึง ซึ่งเราก็พยายามทำเพราะไม่อยากให้มันเกิดขึ้น 

“สิ่งที่สำคัญมากคือความเข้าใจและความรู้ เพราะตอนนี้ประเทศไทยก็กำลังไต่ระดับ เหมือนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น อาจจะเพราะSuper Spreader เกิดขึ้นในหลาย ๆ บริเวณดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือ Message ต่าง ๆ ในทุกสื่อเขาจะพยายามหมั่นสอนในเรื่องของการป้องกันตัวเอง ต้องเน้นเรื่องของข้อมูลให้ถึงประชาชน เพราะว่าถ้าเราปฏิบัติได้ถูก เช่นกันการทำ Social Distance คือการแยกตัวเองออกจากพื้นที่กลุ่มเสี่ยง หรือว่าไม่ไปในที่แออัดโดยไม่จำเป็น มันสำคัญมาก เพราะว่าถ้าเราแยกได้มันก็จะควบคุมได้ง่ายขึ้น แพทย์ก็จะทำงานโฟกัสกับผู้ป่วยได้ดีขึ้น เพราะไม่ได้เทกระจาดมาทีเดียว

“ผมอยากให้ใส่ใจในเรื่องนี้ แต่อาจจะดูน่าเบื่อนะครับ เพราะเราจะพูดทุกวัน ล้างมือการปฏิบัติให้ถูกต้อง เราจะพูดย้ำไปเรื่อย ๆ บางคนมองว่าน่ารำคาญ เป็นอะไรพูดซ้ำ ๆ เรื่องเดิม ๆ แต่ผมรู้สึกว่าการที่ผมมีสื่อจะพูดไปเรื่อย ๆ อย่างน้อยมีคนหนึ่งเห็นเขาก็นำไปปฏิบัติตัวถูก แล้วมันจะช่วยยับยั้งให้คนไม่เสียชีวิตได้ถือว่าคุ้มซึ่งผมก็จะพูดเรื่องนี้ทุกวัน

“การให้กำลังใจก็เป็นส่วนสำคัญ เรื่องนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเวลามันเป็น Pandemic ระบาดทั่วโลกมันเหมือนโลกนี่หยุดนิ่งไปเลยทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักมีคนตกงาน ต้องตั้งสติครับพวกนี้มันเป็นวิกฤต คำว่าวิกฤตต้องมีจุดจบถูกไหมครับ มันไม่อยู่กับเราไปตลอดหรอก สุดท้ายทุกอย่างมันก็ต้องกลับมา อาจจะใช้เวลาหน่อยก็ใจเย็น ๆ ครับ เหมือนว่าต้องตั้งด้วยสติอย่ากลัวเกินไปและอย่าประมาทเกินไป ยังไงมันเป็นวิกฤต ต้องแก้ได้เราก็รอวันที่มันผ่านพ้นไป

สมิทธิ์ อารยะสกุล ชีวิตที่เรียบง่ายและมั่นคง Issue 160

ตัวตนของคนชื่อสมิทธิ์
“ในวัยเด็กผมอยู่ในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยมหาศาล คุณพ่อมีอาชีพเป็นวิศวกรเครื่องกล ทำงานรัฐวิสาหกิจอยู่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ส่วนคุณแม่เป็นทันตแพทย์ อยู่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก หลังจากนั้นย้ายมาอยู่กองแพทย์ไปรษณีย์ไทย คือเป็นครอบครัวทำงานวิชาชีพโดยตรง

“ผมเติบโตมาแบบไม่ได้ถูกตามใจ ด้วยคุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่เรียนเก่งทั้งคู่ พวกท่านจึงค่อนข้างมีกฎระเบียบเยอะ คำว่าสปอยนี่ห่างไกลมาก แต่ไม่ถึงกับยากลำบากอะไรคุณพ่อคุณแม่ดูแลค่อนข้างดีมาก มีการจัดระบบระเบียบในชีวิตให้รู้จักหน้าที่ แล้วก็ท่านมักจะสอนให้เราโตกว่าอายุเสมอ ผมต้องขอบคุณท่านมาก ๆ ท่านมีมุมมองมีความคิดแบบวิชาชีพและนักบริหารสอดแทรกให้ผมตั้งแต่เด็ก

“โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าไม่ได้เกิดความกดดันจากคุณพ่อคุณแม่ ว่าต้องสอบได้คะแนนเท่าไหร่ ผมจำได้ว่าเคยโดนคุณพ่อตีครั้งเดียวซึ่งไม่เกี่ยวกับการเรียนเลย ลักษณะเหมือเอาของมาเล่นทำเลอะเทอะมากกว่า เรื่องการเรียนท่านไม่เคยดุเลยครับ ผลการเรียนจะเป็นอย่างไรท่านไม่เคยให้ความรู้สึกทางด้านลบ มีแต่จะให้กำลังใจแล้วก็ถามคำเดียวว่าทำเต็มที่หรือยัง ถ้าทำเต็มที่แล้วคือจบ ความสามารถคนเราไม่เท่ากัน เพราะผมเองก็มีบางวิชาที่ทำไม่ได้เหมือนกัน ผมไม่ใช่หุ่นยนต์ที่เพอร์เฟคทุกอย่าง 

“แต่ท่านทั้ง 2 คนจะซีเรียสเรื่องของระเบียบวินัยมากกว่า คือต้องเป็นเด็กที่รู้จักเวลาของตนเอง ถึงเวลากินข้าว ทำการบ้านรู้จักหน้าที่ของตนเอง ไม่มีการมาดุจ้ำจี้จ้ำชัย ต้องรู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบ เพราะท่านทำงานเยอะจึงมีเวลาน้อยมาก คุณพ่อท่านเป็นวิศวกรต้องทำงานเพราะมีหน้าที่สร้างโรงไฟฟ้ามีไปต่างจังหวัดบ้าง ส่วนคุณแม่ก็เปิดคลินิกด้วย เพราะฉะนั้นต้องมีความรับผิดชอบในตัวเอง ท่านก็จะสอนและกดดันเราในเรื่องนี้

“ถามว่าถึงขั้นเครียดไหม ตอนเด็กยอมรับครับมีบ้างเราจะรู้สึกว่าทำไมต้องเป๊ะกับเวลาตลอดเวลา ตั้งแต่ช่วงเรียนชั้นประถมเลยครับ แต่พอทำไปทำมาก็เหมือนเป็นนิสัย แล้วเราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอื่นได้ อย่างผมเห็นเพื่อนใช้ชีวิตอิสระกว่า ก็อยากทำบ้างคุณพ่อคุณแม่ท่านก็ไม่ว่า วันไหนอยากเล่นก็เล่นแต่สุดท้ายเรารู้สึกว่าไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะโดยพื้นฐานเราเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำงาน ไม่มีใครเล่นในเวลานั้น จึงหล่อหลอมทำให้เราเติบโตมาเป็นคนแบบนี้

“หลายอย่างที่พวกท่านสอนเป็นสิ่งที่ดีมาก จนผมนำมาใช้กับลูกในวันนี้คือหากว่าเราใกล้ชิดกันมากพอมันจะมองข้ามความคาดหวังที่เกิดจริงหรือการทำร้ายลูกไปเลย เราจะรู้จักเขาในฐานะบุคคลหนึ่ง เหมือนกับคุณพ่อคุณแม่ของผมท่านรู้จักผมดีมากว่าผมเก่งอะไร ผมไม่ชอบอะไร ผมแย่อะไร มันห่วยได้ ในบางอย่างผมรู้สึกอย่างนั้น แล้วด้วยความที่เราเข้าใจกันมาก ใกล้ชิดกันมาก ๆ จึงไม่รู้สึกถึงความกดดัน แล้ววินัยก็เกิดจากความเข้าใจ มีการซัพพอร์ททำให้เราอยากทำ อยากเป็นอยากทำให้มันสำเร็จ ทำให้สร้างตัวตนเราแบบนี้ขึ้นมาจนทุกวันนี้ครับ”

สมิทธิ์ อารยะสกุล ชีวิตที่เรียบง่ายและมั่นคง Issue 160

สถาบันหล่อหลอมชีวิต
“เมื่อผมได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรงนี้มันคือตัวเราอาจจะเป็นเบ้าหลอมตั้งแต่ต้นก็ได้ ผมรู้สึกอะไรบางอย่างว่ามันเข้ากับเรามาก ผมเรียนที่สาธิตเกษตรนี้ให้ความรู้สึกอิสระ ที่นี่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเด็กประเภทใดประเภทหนึ่งมากกว่ากัน บางโรงเรียนจะให้ความสำคัญกับเด็กเรียนเก่ง ใครไม่เก่งคือไม่สำคัญ แยกชนชั้นเด็ก บางโรงเรียนให้ความสำคัญกับกีฬา เด็กคนไหนเก่งกีฬาคือฮีโร่สร้างชื่อเสียง เด็กจะเก่งดนตรีเก่งเรียนคือไม่สนใจ 

“แต่ที่ผมสามารถสัมผัสได้จากโรงเรียนสาธิตเกษตรคือ ทุกคนที่เป็นเด็กเก่งที่ไม่เคยได้สิทธิพิเศษ แต่ได้รับการยอมรับซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพื่อนคนนี้เก่งกีฬาเพื่อนคนนี้เก่งศิลปะมีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนคนนี้ไม่เก่งอะไรเลยแต่เป็นคนดีก็มีมันค่อนข้างจะยอมรับกัน ไม่ค่อยมีบรรยากาศที่ตึงเครียด การ Bully มันน้อยมาก ถ้าไม่ชอบกันก็แค่ต่างคนต่างอยู่ ผมรู้สึกแฮปปี้กับโรงเรียนนี้ อาจจะไม่ใช่โรงเรียนที่เก่งที่สุด แต่ผลสอบรับประกันการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยดัง ๆ ได้ จึงรู้สึกมีความสุขผมเลยไม่อยากจะย้ายไปเรียนที่ไหน 

“ผมเรียนจนถึงม.5 ก็ได้ทำการสอบเทียบ ซึ่งสมัยนั้นฮิตมากเพราะจะได้เอนทรานซ์หลาย ๆ รอบ ซึ่งผมก็สอบเทียบแล้วก็ติดเลยที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่มีความรู้สึกว่าตายแน่ ๆ เพราะเราไม่ได้เก่งขนาดนั้น จะเรียนไหวไหม เป็นช่วงวัยที่มีแต่ความกังวลครับ”

เปิดประตูสู่อาชีพหมอ
“เมื่อเข้าเรียนแพทย์จริง ๆ ผมไม่มีความมั่นใจเลย จำได้ว่าเพื่อนของผมที่เป็นรูมเมทคือคนที่ได้สอบได้ที่ 1 ของประเทศ ความรู้สึกคือโอ้โห! ทำไมเก่งขนาดนี้ ชีวิตผมยังไม่เคยเห็นคนอะไรเก่งอย่างนี้เลย ผมมีเลขรหัสประจำตัวติดกับเขา ตอนเรียนก็อยู่กลุ่มเดียวกัน เป็นรูมเมทห้องเดียวกันอีก ทำให้เห็นการใช้ชีวิตว่าคนเก่งทำไมถึงเก่งอย่างนี้

“มันก็เป็นข้อดีนะครับที่ทำให้เห็นว่า คนที่เก่งจริง ๆ เขาดำเนินชีวิตอย่างไรเขามีความตลกความรั่วในตัวเองเหมือนกัน แต่เขาก็เป็นคนเหมือนเรานี่แหละ ทำให้เราค่อย ๆ เรียนค่อย ๆ ซึมซับ ส่วนความกลัวความกังวลตอนที่เข้าไปเรียนในช่วงแรกที่ก็รู้สึกว่าตัวผมเองไม่ได้เก่งมันหายไปหมดเลย หลังจากที่ได้เจอเพื่อน ๆ เพราะมีบรรยากาศที่อบอุ่นช่วยเหลือแบ่งปันกันทุกอย่าง

“แต่ก็ยอมรับว่าโดยธรรมชาติแล้วนิสิตแพทย์ อาจจะมีกลุ่มคนที่มีอุปนิสัยแบบเด็กเรียนบ้าง ด้วยการสอบด้วยคะแนนที่เข้ามาอย่างเดียว แต่มีความตั้งใจมีความมุ่งมั่น บางท่านก็ชอบปิดตัวเอง เป็นคนไม่ค่อยชอบพูดคุย มีงานอดิเรกชอบอ่านหนังสือนิ่ง ๆ อะไรแบบนี้ แต่เชื่อไหมครับในคณะแพทย์เมื่อเรียนไปถึงปีที่ 5 ปีที่ 6 อาจารย์จะมีวิชาสอนการใช้ชีวิต ศิลปะการมีครอบครัว เช่นถ้าคุณไปเจอภรรยาหรือสามีในอนาคต การแต่งงานคืออะไรการใช้ชีวิตให้มีความสุขเป็นอย่างไร 

“ผมจำได้เลยอาจารย์แนะนำว่า คุณควรแบ่งเงินเดือนส่วนหนึ่งซื้อเครื่องประดับให้กับภรรยาบ้างนะ คือมีการสอนแบบนี้จริง ๆ ก็เลยรู้สึกว่ามันก็น่ารักดีนะ พอมองย้อนไปเหมือนท่านรู้ว่านิสิตอาจจะขาดอะไรบางอย่าง เพราะบางคนชีวิตเขาอยู่ในตำรามาก อาจารย์ก็มอบประสบการณ์การใช้ชีวิตให้ และอาจารย์ก็รู้จักนักเรียนทุกคนจริง ๆ เพราะมีความใกล้ชิดมาก 

“ในวงการแพทย์จะมีปลูกฝังสิ่งดีส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าคุณจะเป็นแพทย์มาจากสถาบันอะไร อาจารย์ก็ไม่ได้สอนให้เราเป็นแพทย์ด้วยตำแหน่งอย่างเดียว ซึ่งผมจะได้ยินอาจารย์พูดเสมอว่า ไม่ได้อยากให้เป็นแพทย์แต่อยากให้เป็นคนด้วย ไม่ว่าจะอยู่มหาวิทยาลัยไหนแนวทางของแพทย์จะเดินทางเดียวกันตลอด ผมไม่ได้อยากจะสรุปรวมว่า คนเป็นแพทย์ ต้องเลิศเลอไม่มีจุดบกพร่องอะไรเลย เป็นไปไม่ได้ไม่ใช่หรอก แต่ส่วนหนึ่งในใจของความเป็นแพทย์ มีความรู้สึกถึงบทบาทนี้ในสังคมของประเทศไทยอยู่ตลอด”

สมิทธิ์ อารยะสกุล ชีวิตที่เรียบง่ายและมั่นคง Issue 160

บทบาทด้านบันเทิง
“ขอบอกก่อนว่าตอนเด็ก ๆ ผมไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองหน้าตาดี เพราะผมขี้เหร่มากไม่เคยมีคนบอกว่าหล่อเลย ไม่ว่าที่โรงเรียนหรือที่บ้าน ญาติพี่น้องรู้สึกว่าน่าเกลียดมาก  คือเป็นเด็กผอม ๆ ใส่แว่นหนา ๆ แล้วฟันเหยินออกมานอกปาก หน้าตาตลกหูกางครับ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยความหล่อก็ไม่เคยติดอันดับอะไรเลย คือมีเพื่อนสวยหล่อเยอะแต่ผมไม่ติดในท็อปไฟว์หรือท็อปเท็นแน่ ๆ

“แต่ในช่วงที่ผมเป็นวัยรุ่นอยู่ดี ๆ ก็เกิดกระแส K POP เมื่อผมเริ่มเป็นวัยรุ่นหน้าจะเริ่มออกไปโทนเอเชียตะวันออก ช่วงที่ผมเรียนอยู่ปี 5 ผมเดินอยู่ก็มีแมวมองมาเจอจึงชวนผมไปถ่ายแบบ ผมรับนามบัตรมาแล้วเอาไปให้คุณพ่อคุณแม่ดูก็คิดว่าพวกท่านจะให้ปฏิเสธ แต่คุณแม่บอกว่าให้ลองดูให้คิดเอาง่าย ๆ ว่าถ้าไม่ไปแล้วเสียดายรึเปล่า ถ้ารู้สึกว่าเสียดายก็ไปเลยได้ไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง

“แล้วผมก็ไปแคสติ้งจำได้เลยว่างานแรกเป็นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นงานใหญ่มาก นายแบบทั่วประเทศไทยไปกันเยอะ วันนั้นผมไปยื่นใบแคสติ้งที่ Production House ลำดับที่ 100 กว่า คือมันเป็นงานใหญ่ที่ทุกคนอยากได้ หลายคนหน้าตาและหุ่นดีมากมาจากหลากหลายเชื้อชาติ สุดท้ายแล้วปรากฏว่าผมได้งานนี้ คืองงมากผมก็ไปถามเขาว่าทำไมเลือกผม เขาบอกว่าเขาอยากได้หน้าแนวแบบนี้ มันเป็นเรื่องของเทรนด้วย เพราะสมัยนั้นหน้าตาโทนเกาหลีญี่ปุ่นมีน้อย หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี พอผมเริ่มถ่ายโฆษณาก็จะมีคนที่มีลักษณะแบบผมที่เป็นโทนเดียวกันมากขึ้น

“เมื่อทำงานเป็นนายแบบสักระยะเวลาหนึ่ง เพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันที่มีโฆษณาโดดเด่นจะถูกเชิญให้ไปเซ็นสัญญาเป็นนักแสดง เป็นพระเอกก็มี แต่ผมไม่ได้เป็นคนมีลักษณะเป็นพระเอก การมีคาแรคเตอร์บางอย่างที่ไปเข้ากับความเป็นศิลปินที่เขาต้องการมันเป็นเรื่องการตลาดจริง ๆ ผมมองทุกอย่างเป็นโลกทุนนิยม เพราะเขาต้องการคนแบบนี้ เขาก็เลยเรียกคนเข้าไปทำในจุดที่ใช่พอดี

“ซึ่งผมมีโอกาสเข้าไปที่ค่ายแกรมมี่ โดยมีระบบออดิชั่นจริงจังมาก ตอนนั้นเขาต้องการ Recruit รับสมัครนักร้องใหม่ มีคนเข้าไปทดสอบทุกวันคัดกันมาชุดละ 6 คน แล้วมาร้องหน้าเวที ใน Hall วันนั้นก็จะมีศิลปินเก่าโปรดิวเซอร์มานั่งคัดเลือกด้วย ผมหยิบไมค์มาร้องคนที่ 4 พอออกไปปุ๊บเจอหน้าคนแรกเลยคือไอซ์ ศรัณยู ซึ่งเขาก็มางานนี้ด้วย ผมอาจจะเป็นคนที่ชอบร้องเพลง และทำกิจกรรมเรื่องร้องเพลงมาโดยตลอด นี่คือสิ่งที่เราชอบนั่นเอง  

“อาจเป็นความโชคดีที่โปรดิวเซอร์เขารู้สึกคลิกกับเรา ก็ต้องขอบคุณพี่กริช ทอมมัส ที่ดึงผมมาทำเพลง ซึ่งตัวผมยังงง ๆ ว่าโปรดิวเซอร์คืออะไร โปรโมเตอร์คืออะไร ค่ายคืออะไรทำไมแกรมมี่ถึงมีบริษัทเยอะจัง ก็ค่อย ๆ เข้าไปเรียนรู้ ไปเจอโปรดิวเซอร์เข้าไปอัดเพลงทำเพลง ซึ่งกินระยะเวลาเกือบสองปีกว่าเพลงแรกจะออกมาได้ อย่าคิดว่าเป็นพรสวรรค์เลย เป็นเรื่องหนักใจของพี่ ๆ ที่ฝึกเพราะต้องขุดทุกอย่างออกมา และทำยังไงให้คน ๆ นี้มีเสน่ห์มาทำความสเปเชียลอะไรสักอย่างที่มันจับตาคน พวกเขาก็ทำงานกันหนักมากนะครับ สุดท้ายก็เพลงแรกคือซื้อกุหลาบให้ตัวเองก็ถูกปล่อยออกมา เพลงนี้แหละที่ส่งเราให้พอมีชื่อเสียงขึ้นมาได้”

สมิทธิ์ อารยะสกุล ชีวิตที่เรียบง่ายและมั่นคง Issue 160

สร้างธุรกิจด้วยความเชี่ยวชาญ
“ในเรื่องของการทำธุรกิจสุขภาพความงาม Smith Prive’ Aesthetique ผมพัฒนาตัวเองมาจากความเป็น   Specialist ของการเป็นแพทย์ เรารู้แล้วว่าเริ่มตกตะกอนและน่าจะมีบทบาทที่เป็นเจ้าของกิจการได้จริง ๆ คนอาจจะมองเหมือนว่าเป็นแฟชั่น ว่าใครก็ทำธุรกิจความงามได้ บอกเลยว่าสำหรับคนอย่างผมมันไม่ใช่ มันต้องเป็นสิ่งที่เราอินจริง ๆ ต่อให้ธุรกิจมันไม่ได้บูมผมก็จะทำตรงนี้ต่อไป มันเป็นสิ่งที่เราจะใช้ชีวิตได้กับมันทุกวันจริง ๆ 

“สำหรับธุรกิจสุขภาพความงามของผมเริ่มจาก คลินิกเล็ก ๆ ขนาด 50 ตารางเมตร ตอนเริ่มต้นมีหมออยู่ 2-3 คน ก็มีเรานี่แหละที่เป็นคนตรวจคนไข้หลักเป็นหลัก จากนั้นก็ค่อย ๆ โตขึ้นด้วยความที่เรามีชื่อเสียงในแวดวงบันเทิงก็มีบริษัทใหญ่ ๆ ติดต่อมามากมายว่าคุณหมอว่าเปิดร่วมกันไหม ผมให้หุ้นเลยเปิดทีเดียวเลย 20 สาขา หรือแบบเปิดให้ใหญ่ไปเลยจะมาทำแบบนี้ทำไม แต่ในใจผมมาคิดตลอดว่าแบบนั้นไม่ใช่การแพทย์ การตรวจคนไข้ขนาดมีสาขาเดียวยังเหนื่อยมาก คิดแล้วคิดอีกว่าเราจะต้องทำอะไรกับคนไข้ การที่จะเปิด 20 สาขาพร้อมกัน มันเป็นความคิดที่น่าขนลุกมากสำหรับผม แต่ไม่ได้ตัดสินนะครับสำหรับผู้ที่จะดำเนินธุรกิจ เขาอาจจะมีความสามารถที่ทำได้แต่สำหรับผมคิดว่าผมทำไม่ได้ ผมก็ยึดมั่นแบบนี้ว่าผมจะไปเรื่อย ๆ โตแบบช้า ๆ การเติบโตไม่ได้เพื่อเงินเสมอไป

“ผมโดนสอนมาว่าการทำเวชกรรมจุดสำคัญมันไม่ใช่เงินอย่างเดียว โดยเฉพาะการประกอบอาชีพเอกชน จุดความพอดีมันสำคัญมาก เราต้องมีรายได้แน่นอน เพราะว่าเราต้องหล่อเลี้ยงลูกน้องพนักงานและต้องเติบโต แต่การเติบโตจะต้องถูกต้อง เราไม่ได้หลอกลวงใคร เรากำลังนำเสนอในแบบความจริง จึงต้องค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป อย่างคลินิก Smith Prive’ Aesthetique ใช้เวลาประมาณ 5 ปี ค่อย ๆ ขยายทีละนิด และเริ่มเปิดสาขาเพิ่มขึ้น มีการดึง Partner มาช่วยเพราะแพทย์เก่งคนเดียวไม่ได้ ก็ต้องมีเพื่อนเป็นอาจารย์ มีคุณหมอผิวหนังเด็ก คุณหมอตา มีคุณหมอศัลยกรรมเข้ามาเป็นเพื่อนกันที่รู้จักกัน ถูกคอแนวทางความงามเดียวกันเราก็ทำงานด้วยกันได้

“ด้วยความที่ผมไม่เก่งเรื่องบริหาร การเปิดสาขาจำนวนมากให้แมสจึงไม่ใช่ทาง ค่อย ๆ คุมมันดีกว่า จึงมีแนวคิดออกผลิตภัณฑ์ขึ้นมา เพื่อให้เข้าถึงคนง่ายขึ้น เราก็ตั้งใจทำจาก Passion ว่า อยากจะสร้างแบรนด์เครื่องสำอางไทย ซึ่งก่อนหน้ามีคนแนะนำว่าให้นำเข้าสินค้ามาเลยดีกว่า เพราะเขาคิดว่าคนไทยไม่มีวันใช้ของไทยหรอก พอพูดอย่างนี้ผมก็รู้สึกว่าเฮ้ย! ไม่ได้สิ เพราะเรารู้ว่านักวิชาการไทยนี่เก่งรู้ว่าเทคโนโลยีที่เราผลิตให้ตอนนี้มันไปถึงแล้ว ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ตามเขาอย่างเดียว บางเทคโนโลยีเขาทำได้ ที่มันใหม่มาก ๆ เราก็ทำได้เหมือนกันแต่ผมอยู่ในวงการนี้ก็แอบรู้ว่าประเทศไทยเราก็ผลิตให้ต่างประเทศเหมือนกัน คือเราก็เก่งขนาดนั้นแล้ว เราก็ว่าเอาล่ะเราอยากจะสู้ เพราะเราอยากจะลบความรู้สึกนี้ให้ออกไปก็เลยออกมาเป็นสมิทธิ์โปรดักส์เครื่องสำอาง

“ผมทำมาเรื่อย ๆ โดยยึดคติที่ว่าไม่ได้สนใจไม่ได้รู้สึกลบหรือบวกกับคำชื่นชม ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราต้องโฟกัส คือคำวิจารณ์คำติเรานำมากลั่นกรอง คำติที่เป็นประโยชน์ผมจะเก็บมันไว้มาก ๆ แต่ว่าคำติอะไรที่มันเป็นอารมณ์ผมจะโล๊ะทิ้งเหมือนกัน คำชมก็คือเก็บไว้ในใจเพราะผมรู้สึกว่าสิ่งภายนอกมันคือสิ่งที่เป็นเปลือก ตัวตนจริง ๆ คือเราเองทำให้ปัจจุบันธุรกิจมันก็เลยแตกไลน์ไปเป็นอย่างอื่นครับ 

“ตอนนี้ผมมีบริษัทขายข้าวด้วยครับ ตลกมากเลยคือเข้ามาโดยบังเอิญเนื่องจากผมไปทำงานกับเกษตรกร Organic ด้วย Passion ว่าอยากกินเองอยากรู้สึกว่ากินของดี ๆ ก็ดันไปรู้มาอีกว่าข้าวดี ๆ ของไทยส่งออกไปข้างนอก พอได้ยินอะไรมาแบบนี้ก็รู้สึกว่าหดหู่ก็เลยอยากลองทำเพราะมีแต่คนพูดว่า ขายข้าวแพงให้คนไทยไม่ได้ ผมก็เลยลองเข้าไปศึกษาแล้วพบว่าข้าวจริง ๆ แล้วเหมือนกาแฟเลย มีหลายสายพันธุ์ มีรสสัมผัสมีกลิ่น และมีอะไรมากมายก็เลยทำธุรกิจนี้คือขายข้าวขายมีเครื่องสีข้าวที่บ้านเล็ก ๆ ก็เริ่มเป็นธุรกิจแตกแขนงออกมาครับ”

สมิทธิ์ อารยะสกุล ชีวิตที่เรียบง่ายและมั่นคง Issue 160

ครอบครัวคือความสุข
“ช่วงที่ผมกำลังสร้างครอบครัวยิ่งตอนมีลูกแฝดถือว่าเป็นความฟลุ๊คเพราะตอนที่ผมเรียนแพทย์อาจารย์จะบอกว่าครรภ์แฝดคือครรภ์เสี่ยงซึ่งผมก็จำมาตลอด จุดเริ่มต้นคือคุณโอปอล์อยากมีลูก ตอนนั้นก็จะมีปัญหาเรื่องรอบประจำเดือน ก็เลยต้องใช้ยากระตุ้นให้ไข่ตก พอกระตุ้นแล้วมันตกเยอะกว่าใบนึงพอดีกลายแจ็คพอต แต่เราไม่ได้เลือกนะครับว่าลูกจะเป็นหญิงหรือชาย ซึ่งการมีลูกแฝดมันยากตั้งแต่เริ่มต้นเลย

“การที่ลูกของเราโตมากับเพื่อนต่างเพศ ที่แชร์กันทุกอย่างมันมีอะไรที่เราต้องระวัง เหมือนกับว่าเราจะเลี้ยงเขายังไง จะเลี้ยงเหมือนกันทีเดียวก็ไม่ได้ จะเลี้ยงลูกสาวให้เหมือนลูกชายเลยก็ไม่ได้ จะเลี้ยงลูกชายให้เหมือนลูกสาวเลยก็ไม่ได้ เปรียบเทียบกันก็ไม่ได้ ถึงขั้นต้องคุยกับเพื่อนที่เป็นจิตแพทย์เด็กว่า เรามีลูกเป็นแฝดชายหญิงต้องทำอย่างไรดี

“ผมรู้สึกว่าโปรแกรมอะไรต่าง ๆ ที่ศึกษามามากมาย เราก็ไม่รู้ว่าเราจะใช้กับลูกเราได้หรือเปล่า เพราะว่าถ้าเรายังไม่รู้จักเขามันจะมาผิดทาง เด็กมันไม่ได้เกิดมาพร้อมคู่มือนะครับ เด็กสองคนที่ร่วมท้องของคุณโอปอล์ เกิดมาตั้งแต่วันแรกยังไม่เหมือนกันเลยครับ ทุกวันนี้เลี้ยงมาเหมือนกันกินข้าวหม้อเดียวกัน นิสัยไม่เหมือนกันสักอย่าง คนหนึ่งชอบอย่างหนึ่งอีกคนก็ชอบอย่างหนึ่งมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน ผมไม่ได้พยายามจะเป็น Family Man เพื่อให้ทุกคนชื่นชม แต่ผมบอกว่านี่มันคือวิธีผม เพราะผมอยากรู้จักลูกผมและมันก็ได้ผลจริง ๆ ผมก็ได้รู้เลยว่าถ้าทำแบบนี้คนนี้จะหงุดหงิด หรืออีกคนจะแฮปปี้ มันทำให้ผม Connect กับพวกเขาครับ

“แล้วผมจะฝึกวินัยพวกเขาคือตื่นเป็นเวลากินเป็นเวลา แล้วก็มีหน้าที่เป็นของตัวเองครับ อันนี้เขายังเด็กมาก อาจจะยังทำอะไรได้ไม่เยอะ แต่ก็กินเสร็จเก็บจานถึงเวลานอนขึ้นนอนไม่มีงอแงแล้ว ก็คิดว่าโชคดีนะที่ผมปูทางพวกเขามาแบบนี้  รู้สึกว่าเลี้ยงง่ายขึ้น ที่ต้องทำแบบนี้เกิดจากความขี้เกียจของผมครับคือเอาใจมากก็เหนื่อย ก็เลยพยายามเอาให้เป็นระบบให้ได้

“ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่าครอบครัวเริ่มขยายใหญ่ขึ้น เพราะบ้านผม บ้านคุณพ่อคุณแม่ผม และบ้านคุณพ่อคุณแม่คุณโอปอล์ อยู่ในละแวกใกล้ ๆ กัน แล้วก็รู้สึกว่าใกล้ชิดกันแบบฝากฝังกันได้ เช่นวันนี้ผมออกมาทำงานแล้ววันนี้คุณปู่คุณย่าอาจมาดูหลาน หรือคุณตาคุณยายว่างก็มาดูหลานถือว่าใกล้ชิดกัน ทุกวันนี้จึงมีความสุขมากครับ” 


Did You Know
•    หมอโอ๊คจบการศึกษาระดับมัธยมโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
•    ปริญญาตรี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับ 1 
•    ปริญญาโท ทางด้านตจวิทยา (ผิวหนัง) ที่ศูนย์ผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Photo  : Pornsarun Soithong

เส้นทางชีวิตที่ไม่ได้หวือหวาด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งเรื่องงานและครอบครัว สมิทธิ์ อารยะสกุล