ปรีชา ปั้นกล่ำ : อารมณ์ การเคลื่อนไหว และการเปลี่ยนแปลง Issue 160
“ศิลปะสำหรับผมคือพลังชีวิต มันอาจฟังดูเป็นนามธรรมหน่อย แต่คุณสามารถใช้ศิลปะเป็นตัวนำทำให้ชีวิตคุณเป็นอะไรก็ได้ ถ้าคุณมีความรู้แต่ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรแสดงว่าคุณขาดมิติในการสร้างสรรค์ คุณไม่สามารถสร้างประโยชน์จากความรู้นั้นได้ ศิลปะเป็นตัวเสริมพลังทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม”
อาจารย์ ปรีชา ปั้นกล่ำ คือศิลปินผู้มากความสามารถ สร้างสรรค์ผลงานภาพวาดอันงดงามมานานหลายสิบปี อีกด้านหนึ่งของชีวิตท่านเป็นอาจารย์สอนศิลปะอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์มานับไม่ถ้วน จนกระทั่งใกล้ถึงเวลาเกษียณท่านจึงหลีกหนีความวุ่นวายของเมืองใหญ่ มาสร้างบ้านของตัวเองที่ชื่อว่า “บ้านเขามดอาร์ทสตูดิโอ” จ.ราชบุรี บางครั้งท่านก็เปิดบ้านให้แขกมาจิบกาแฟ กินขนม ชมธรรมชาติ เรียกว่าเป็นบ้านในฝันของใครหลายคน
ด้วยความที่เป็นอาจารย์จึงยังอยากถ่ายทอดวิชาความรู้ของตัวเองตลอดเวลา ท่านได้เปลี่ยนบ้านของตัวเองเป็นห้องเรียนศิลปะกับธรรมชาติเพื่อสอนเด็ก ๆ บ้าง โดยในอดีตอาจารย์ปรีชาเคยสร้างแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ศิลปะนกฮูกมาก่อน แม้จะปิดทำการไปแล้วแต่เรื่องราวและองค์ความรู้ทางศิลปะยังคงอยู่ตลอดเวลา
“สมัยก่อนผมทำพิพิธภัณฑ์ทุกคนก็งงหรือสงสัยเหมือนกันว่า มันคืออะไรแล้วมันจะได้ประโยชน์อะไรกับพิพิธภัณฑ์นี้ จริง ๆ ถ้าเรารวบรวมงานชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่เป็นของสะสมและเอามาตั้งโชว์แค่นั้นมันก็คงจะไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญก็คือเนื้อหาที่มันส่งต่อหรือถ่ายทอดออกมาจากชิ้นงานศิลปะได้ มันจะเป็นตัวพูดกับคนที่มาเยี่ยมชมว่าคุณได้อะไรจากการมาเยี่ยมชมครั้งนี้ Content หรือว่าเนื้อหาที่เราต้องสร้างขึ้นมาตรงนั้นเป็นส่วนสำคัญ พอเราทำอยู่ 2-3 ปีผมก็ค้นพบว่าการสร้างพิพิธภัณฑ์ความรู้มันเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ
“สิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างแหล่งเรียนรู้พวกนี้คืออะไร ผมก็ไปค้นพบคีย์เวิร์ดตัวนี้ อย่างการพานักศึกษาไปดูพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศหลายที่ ผมไปเจอพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่ญี่ปุ่น เขาลงทุนมหาศาลเป็นหมื่นล้านเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ขึ้นมา มีห้องใหญ่ ๆ แล้วก็ให้เราไปนั่งเล่นนอนเล่นดูข้อความดิจิทัลวิ่งให้ข้อมูลไปเรื่อย ๆ ผมนั่งคิดว่าเราได้อะไรก็ไม่มีคำพูดอะไรที่เราเข้าใจเลย เด็ก ๆ ก็วิ่งกันไปวิ่งกันมาผมก็ปิ๊งขึ้นมาเลยว่าจริง ๆ แล้วการสร้างพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้เป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดกับสังคมคือการสร้างแรงบันดาลใจ
“เด็ก ๆ หรือคนที่เข้าพิพิธภัณฑ์เข้าไปแล้วต้องได้แรงบันดาลใจ ที่อยากจะมีความรู้ อยากจะมีชีวิตอยู่ อยากจะสร้างสรรค์สิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นมาให้กับสังคม ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ องค์ความรู้ไปหาเอาไปต่อยอดได้ แต่ทำยังไงถึงจะทำให้เขารู้สึกว่า เมื่อมาเห็นสิ่งที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่สร้างขึ้นมาแล้วมันเกิดความภาคภูมิใจ เกิดแรงบันดาลใจอยากจะต่อยอด ตรงนี้สำคัญมาก
“แล้วพวกเราก็ไม่ได้ถูกสอนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในระบบการศึกษาของเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาทางด้านศิลปะ ไม่ได้ปลูกฝังทางคุณค่าอะไรบางอย่างที่มันเป็นพลังชีวิต มันก็เลยขาดช่วง เราไปให้ความสำคัญกับอาชีพอื่น แต่จริง ๆ แล้วการเรียนศิลปะไม่ได้บอกว่าคุณต้องมาเป็นศิลปิน การเรียนศิลปะนั้นมันเป็นเรื่องของการพัฒนาอารมณ์ความรู้สึกเรื่องของจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมันมีอยู่แล้วในทุกคนพอเราไม่ได้พัฒนามันขึ้นมา มันก็จะหายไปเรื่อย ๆ ตัวกินจินตนาการของเราก็คือความรู้ ยิ่งเรารู้มากจินตนาการเราก็จะน้อยลง มันก็เลยกลายเป็นว่าถ้าเราสร้างพิพิธภัณฑ์ เป้าหมายที่เราต้องทำให้ได้คือต้องมีแรงบันดาลใจกลับไป”
อาจารย์ปรีชารู้ตัวว่าเป็นคนคิดนอกกรอบมาตั้งแต่เด็ก จึงมักทำให้สิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นเสมอ จนกระทั่งครอบครัวย้ายมาอยู่จังหวัดอุตรดิตถ์ ในชุมชนที่ความเจริญยังเข้าไม่ถึงนักแต่ครอบครัวก็มีความสุขตามวิถี จนกระทั่งท่านได้เข้าโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด แต่สิ่งที่อาจารย์ปรีชาเลือกเรียนกลับไม่ใช่วิชาศิลปะแต่เป็นวิชาช่างยนต์และช่างไฟฟ้าวิทยุ คือเรียนจนสามารถเปิดร้านซ่อมวิทยุเองได้ แต่พอขึ้นมัธยมปีที่ 4 ท่านได้เข้าเรียนในสายวิทย์-คณิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ชอบทำให้ผลการเรียนไม่ดีเท่าที่ควร
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อาจารย์ปรีชามาเกี่ยวข้องกับงานศิลปะ คือการได้พบกับภาพเขียน Drawing ด้วยดินสอ ในวัดแห่งหนึ่งซึ่งเป็นภาพของ โซฟีมาร์โซ กับ ฟีบี้ เคท ดารานักแสดงชาวอเมริกัน จนค้นพบว่าตัวเองมีความสุขกับสิ่งที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้จึงเริ่มฝึกฝนศิลปะตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แต่คนที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อนจึงไม่ง่ายที่จะเริ่มต้น ท่านจึงอาศัยเรียนกับอาจารย์ที่สอนศิลปะในโรงเรียนประจำจังหวัด จนสามารถสอบเข้าเรียนคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้อย่างทุลักทุเล
“ในวันมอบตัวตอนปีหนึ่งคุณพ่อผมต้องขายบ้านทั้งหลัง ได้เงินมา 5,000 บาท เพื่อส่งผมเรียน คือบ้านมันไม่มีสภาพที่มันจะขายได้เท่าไหร่หรอกผมคิดว่าจะทำเป็นเล่นไม่ได้ก็ต้องพัฒนาตัวเองเรียนรู้อย่างจริงจัง อาจารย์สั่งงาน 1 อย่าง ผมทำ 3 อย่างคือทำให้มากทำให้เยอะ เรียนรู้พัฒนาตนเองขึ้นมาจนขึ้นไปติดอันดับท๊อป ๆ ของรุ่นได้
“ความคิดก่อนหน้านั้นผมเพียงแค่อยากเรียนจบเปิดร้านทำป้าย แต่มันยังไม่เพียงพอก็ได้อาจารย์ที่ปรึกษาคอยปรับทัศนคติ จนมาคิดว่าอยากเป็นครูเพราะว่าพี่ชายทั้ง 2 คน รวมถึงพี่สะใภ้ก็เป็นครู เมื่อผมเรียนจบระดับปริญญาตรีที่วิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมก็มาเรียนต่อปริญญาโทที่คณะจิตรกรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร พอเรียนจบก็บรรจุเป็นอาจารย์ที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาลัยวิทยาลัยศิลปากร
“จากนั้นผมจึงได้ทำงานสอนหนังสือเวลาว่างก็ทำงานศิลปะ จนรู้ว่าอัตลักษณ์มันไม่ใช่สิ่งแค่มองเห็น แต่มันหมายถึงรูปแบบของชีวิตด้วย ว่าเราเป็นคนแบบไหนมีบุคลิกแบบใด ผมโตมาด้วยความเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ ทุกช่วงชีวิต ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ทราบว่าการเปลี่ยนแปลงมันคือเงื่อนไขของการดำเนินชีวิตของเรา จนท้ายที่สุดมาได้เรียนปริญญาโท ทำให้เรารู้ว่าสัจธรรมในพุทธศาสนา ที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงมันคือสัจจะของชีวิต การเปลี่ยนแปลงตรงนี้มันคือสิ่งที่ทำให้เราเติบโตขึ้น ในงานของผมบางคนอาจมองว่าเป็นแลนด์สเคป บางคนอาจเห็นว่าเป็นสีสัน แต่เนื้อแท้ในงานของผมมันเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ที่มันเป็นพลังในการผลักดันแปรรูปเปลี่ยนสภาพ ขยายกระจายออกมันจะขมวดหรืออะไรก็ตามมันเกิดในช่วงต่าง ๆ เหล่านั้น
“ซึ่งก่อนจะเกิดงานศิลปะแนวนี้มันเกิดการสะท้อนในโลหะ ผิวน้ำ ฯลฯ ความจริงเมื่อเป็นรูปร่างเมื่อสะท้อนในสิ่งนั้นจะเกิดการแปรเปลี่ยน คือผลในทางรูป แต่ความคิดคือการเปลี่ยนแปลง พอเราได้รูปทรงมาที่มันสามารถแปรสภาพที่เป็นเหตุผลมันจึงเป็นเนื้อเดียวกัน
“ในงานของผมจึงไม่ยึดติดกับเรื่องราว เรื่องราวมันเปลี่ยนไปเรื่อย แต่สิ่งที่เราทำให้เห็นคือรูปมันมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่งอารมณ์ความรู้สึกของสีคือผลของความงาม ถ้าคนรับรู้ได้หรือพยายามทำความเข้าใจก็อาจจะเข้าถึงคุณค่านั้น คุณเข้าใจคุณรู้สึกในสิ่งที่พบเห็นไหม ถ้าคุณรู้สึกก็ไม่ต้องไปถามหาอะไร เพราะในงานนามธรรมศิลปินทำไว้ชัดเจนว่า ถ้าทำให้รู้ว่าเป็นรูปอะไรคุณค่อยหาความหมาย หรือสิ่งที่ชัดอยู่แล้วก็ไม่ต้องหาความหมาย ถ้าศิลปินละลายความรู้จักไปแล้ว แสดงว่าศิลปินไม่ต้องการให้ตีความหรือหาความหมายในสิ่งนั้น แล้วก็อย่าไปพยายามหามัน แค่ใช้จิตสัมผัสรับรู้ว่ามันมีอารมณ์ความรู้สึกยังไง เพราะฉะนั้นนามธรรมที่ผมพยายามสื่อคืออารมณ์ความเปลี่ยนแปลงในทุกสถานะ
“จากวันนั้นถึงวันนี้ผมอยู่ในวงการศิลปะมายาวนานพอสมควร แต่อย่างที่บอกถ้าย้อนกลับไปไกลมาก ๆ ผมไม่รู้จักศิลปะเลย อาจารย์ศิลป์ก็ไม่รู้จัก ผมรู้จักแต่อาจารย์ทวี นันทขว้าง เพราะว่าท่านได้รับรางวัลแห่งชาติด้านศิลปะ จึงมีปฏิทินพิมพ์ออกมาเผยแพร่ภาพของท่าน จากนั้นก็เริ่มรู้จักความเป็นอาจารย์ศิลป์ พีระศรี สิ่งที่ท่านพูดไว้ก็เป็นวลีเด็ดว่า“พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” คำนี้แหละที่เป็นตัวกระตุ้นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นการทำงานศิลปะหรือจะเป็นการเรียนรู้เรื่องการใช้ชีวิต
“ในภายหลังผมจึงได้ศึกษาเรื่องของศิลปะและชีวิตมากมายจากทั้งนักปราชญ์และศาสนา ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ พอสรุปได้ว่ามันมีอยู่ 3 ส่วนก็คือความจริง ความดี ความงาม ซึ่ง 3 ตัวนี้มีการพูดกันมาตั้งแต่หลายร้อยปีก่อนแต่มันก็ยังคงอยู่
“ความจริง คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในธรรมชาติถ้าเราเรียนรู้เราเข้าใจทุกอย่าง มันเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มันเป็นความถูกต้อง แต่ถ้าเราเข้าใจสิ่งนี้แล้วก็เท่ากับว่า เรามีความรู้
“ความดี คือคุณธรรมหรือจริยธรรมที่มันอยู่ในตัวมนุษย์ ที่มันถูกแยกออกมาจากความเป็นสัตว์ ซึ่งสัตว์ทำไม่ได้
“ความงาม ในศาสนาก็บอกได้ชัดเจนว่าถ้าคุณไม่ละเมียดละไม ถ้าคุณใช้จิตหยาบ มันจะเข้าไม่ถึงอะไรบางสิ่งแม้กระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน ถ้าเกิดคุณไม่รู้สึกถึงความงาม ชีวิตคุณก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ปกติ
“ซึ่ง 3 ส่วนนี้มันคือองค์ประกอบสำคัญของชีวิต แล้วในศิลปะมันก็คือสิ่งเดียวกันนี้ ศิลปะต้องแสดงถึงความจริง ศิลปะต้องแสดงถึงความดี ศิลปะต้องแสดงออกถึงความงาม มันเป็นเรื่องเดียวกันเพราะฉะนั้นถ้าเราเรียนรู้ศิลปะก็คือการที่เราเรียนรู้องค์ประกอบชีวิต แล้วสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันไม่ใช่ว่าเราเรียนแล้วจะต้องเป็นศิลปินทุกคน อย่างที่ผมบอกมันคือมันคือทักษะชีวิต ทักษะความเป็นมนุษย์ที่ทำให้แต่ละคนดำเนินชีวิตอยู่อย่างมีความสุข
“สำหรับหลายคนที่อยากเข้ามาเป็นศิลปินแต่ยังไม่มีความมั่นใจ ต้องรู้ตัวเองก่อนกว่าหลงรักศิลปะหรือไม่ คนที่มีพรสวรรค์จะมีส่วนช่วยผลักดันให้เขาชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะมีอีกกลุ่มที่ใช้พรแสวง เขาจะต้องพยายามขวนขวายเรียนรู้เพิ่มเติม เหมือนผมที่มีพรสวรรค์น้อยต้องใช้พรแสวงเยอะ อยากเรียนรู้ อยากทำก็เกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เราเรียนรู้ทีละเล็กละน้อย ลองผิดลองถูกไม่หลงเชื่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันมากเกินไปมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น
“ถ้าคนที่ชอบเรียนศิลปะจริง ๆ ก็ต้องลงลึกเพื่อจะได้มีทักษะ คือต้องวาดให้เป็นเขียนให้ได้ สามารถถ่ายทอดในสิ่งที่เขาคิดได้ มีอารมณ์ความรู้สึกได้ เมื่อเข้าไปสัมผัสมาก ๆ ความชัดเจนในสายอาชีพจะชัดขึ้นและถ้าเกิดว่ายิ่งทำยิ่งไม่ใช่ มันก็ไม่ใช่ความสูญเปล่า แต่เป็นการหลักประกันในความคิดสร้างสรรค์ของเขาว่า สามารถเดินทางไปในทิศทางเลือกอื่นได้ โดยมีศิลปะเป็นพื้นฐานอย่างที่ผมบอกว่าการเรียนศิลปะไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินกันทุกคน แต่มันเป็นตัวเสริมในสายอาชีพของเขาให้เขามีความสุข
“มีคนเคยบอกว่าศิลปะนำผู้คนไปถึง 50 ปี ไม่ใช่คำพูดที่เป็นการโอ้อวดแต่ว่าเป็นความจริง คือเวลาที่ศิลปินจินตนาการบางทีมันไม่ได้อยู่ในความเป็นจริงในปัจจุบัน มันเป็นสิ่งวาดฝันที่ว่าวันหนึ่งมันจะเป็นจริงขึ้นมา แต่ถ้าไม่มีจินตนาการขาดความคิดสร้างสรรค์ก็อาจไม่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นก็ได้ ในศตวรรษที่ 21 ถ้าเราไม่เรียนรู้ต่อยอดจะอยู่ยาก เพราะเรื่องของเทคโนโลยีดิจิตอลในตอนนี้มันเร็ว ถ้าเราไม่เรียนรู้ไม่เข้าใจ การไม่มีทักษะอะไรเลยก็อยู่ในระดับที่ไปไม่ถึงจุดสูงสุดของมัน ศิลปะจึงนำมาใช้ได้ทุกเรื่อง”
Photo : Pronsarun Soithong