Tilly Birds : รสนิยมที่เปิดกว้าง สู่ซาวด์ดนตรีอันจัดจ้านและชัดเจน | Issue 158
Tilly Birds วงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง ประกอบด้วย เติร์ด อนุโรจน์ เกตุเลขา (ร้องนำ), บิลลี่ ณัฐดนัย ชูชาติ (กีตาร์) และ ไมโล ธุวานนท์ ตันติวัฒนวรกุล (กลอง) จากวงดนตรีของเด็กมัธยม ผ่านการฝึกฝนทักษะและประสบการณ์จนเฉิดฉายในแวดวงอินดี้ ด้วยผลงาน EP อัลบั้มที่อัดแน่นไปด้วยซาวด์ดนตรีที่ดูอินเตอร์ และการตัดสินใจเข้าร่วมรายการ Band Lab เมื่อสองปีก่อนก็ถือเป็นอีกหนึ่งย่างก้าวครั้งสำคัญที่พัฒนาฝีไม้ลายมือรวมถึงตัวตนทางดนตรีของพวกเขาให้ชัดเจนและจัดจ้านมากกว่าที่เคยเป็น
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 6-7 ปีก่อน Tilly Birds คือวงดนตรีที่เกิดขึ้นโดยเด็กมัธยมสองคน ผ่านการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งหลายครา เริ่มจากช่วงเรียนมหาวิทยาลัยที่เพิ่มสมาชิกขึ้นมาเป็นห้าคน ลดเหลือสี่คนในช่วง EP อัลบั้มแรก และสามคนในปัจจุบัน ภายใต้สังกัดค่าย GENE LAB ในเครือ GMM Grammy
จุดเริ่มต้นของวงในช่วงแรก และการเติบโตในปัจจุบัน ?
บิลลี่ : ตอนมัธยมมันเป็นการเริ่มตั้งวงแบบช้า ๆ ครับ ถ้าเทียบความควบแน่นและความไวแล้ว การทำงานวงในปัจจุบัน เรา 3 คนใช้เวลาประมาณ 2 วัน ก็เท่ากับตอนแรกที่ทำกัน 1 ปีแล้วครับ เพราะการแต่งเพลง ทำเพลง เราจริงจังกันกว่าเยอะ ตอนแรก ๆ เราก็จริงจังครับ แต่ว่าจริงจังแบบห่าง ๆ เหมือนเรารู้ว่ายังไม่เก่งพอที่จะปล่อยงานออกมา พวกเราก็ฝึกฝนกันไปก่อน
ไมโล : แต่ก่อนเราทำเพลงกันเอง พออยู่ค่ายแล้วเขาก็จะมีทีมงาน ทีมเบื้องหลัง เราต้องทำงานกับผู้คนมากขึ้น ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น การทำงานมันก็จะต้องโฟกัสมากขึ้น สิ่งที่เราได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นคือเรื่องการเห็นอกเห็นใจคนอื่น เอาใจใส่คนอื่นที่ทำงานร่วมกัน เราต้องพัฒนาในเรื่องนี้ให้มากขึ้น
บิลลี่ : เหมือนได้หัดทำงานเป็นองค์กรมากขึ้นครับ ส่วนพาทดนตรีค่อนข้างเหมือนเดิมนะถ้าถามผม
ไมโล : ดนตรีคือเรียกได้ว่าอิสระเท่าเดิม ถึงอยู่ค่ายก็จริง แต่ว่า GENE LAB เป็นค่ายย่อยที่เพิ่งเปิดใหม่ มีพนักงานไม่มาก อาจจะไม่ถึงสิบหรือสิบกว่าคน ซึ่งเราสามารถคุยกันได้ แชร์เพลงให้ฟังได้ เหมือนเป็นการได้รีเสิร์ชเพลงตลอด ว่าเพลงนี้ของเราเป็นยังไงบ้าง มันเหมือนกับมีคนร่วมพัฒนาเพลงไปด้วยกันครับ
เติร์ด : เพลงส่วนใหญ่ของ Tilly Birds จะเป็นเพลงอกหัก เป็นเพลงอกหักในแต่ละอารมณ์ อกหักแบบสะใจ อกหักแบบเศร้า อกหักแบบสนุก คือเรามีอกหักหลายฟิลมาก เป็นเหมือนซิกเนเจอร์วงเหมือนกัน
ไมโล : ปีที่ผ่านมาเราขยับเอาศาสตร์ของป็อปเข้ามาใช้งานมากขึ้น วงมันก็เลยอาจจะเรียกว่าอัลเทอร์เนทีฟป็อปร็อกครับ คือมีความทันสมัยขึ้น อยู่ในเทรนด์มากขึ้น เป็นมิตรมากขึ้น แต่หลาย ๆ เพลงของเรา เราก็จะทำให้มันต่างกันครับ เพื่อให้มันมีความหลากหลาย มันเหมือนกับเป็นหนึ่งในปัจจัยของเพลงป็อปปัจจุบันที่ต้องการความหลากหลาย เพื่อให้คนฟังไม่เบื่อ ไม่ไปจากเราง่าย ๆ ครับ
รสนิยมในการฟังเพลงของ Tilly Birds ?
เติร์ด : บิลลี่กับไมโลเขาจะฟังเยอะสุด ส่วนผมเหมือนเข้ามาโดนรับน้องสองคนนี้เขาจะแนะนำให้ฟังเราก็เลยได้ Input ใหม่ ๆ คือผมเป็นคนฟังเพลงไม่ได้กว้างขนาดนั้นเท่าสองคนนี้
ไมโล : อย่างที่เติร์ดบอก ตัวผมเองเป็นคนที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ รู้สึกสนุก ตื่นเต้น เวลาที่ได้ฟังแนวดนตรีใหม่ ๆ และผมจะชอบอะไรที่มันแบบว่า มีความจริงจัง จริงใจ สุดท้ายผมก็มักจะอยู่กับเพลงร็อกเพลงฮิปฮอป หรือแบบดนตรีที่มันทรงพลังอย่างออร์เคสตรา คือเป็นคนที่ชอบฟังสิ่งที่มันมีมวลสาร มีพลัง อยู่ในนั้น
บิลลี่ : รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองฟังในช่วงหลาย ปีหลัง ผมจะชอบฟังอัลเทอร์เนทีฟโปรดักชั่นนะ คือเพลงที่มันมีโปรดักชั่นที่เข้าถึงง่ายแต่ไม่จำเจ แล้วก็ต้องไม่ถ่อย ผมเป็นคนไม่ชอบเพลงถ่อย พวกเพลงตลกถ่อย ๆ ผมจะไม่ค่อยชอบ ผมชอบความรู้สึกที่แบบว่าเราทำจริงจัง แต่ถ้ามันตลกแบบจริงจังผมชอบนะ แบบพวกที่มีความเรียบเนียนแต่เบื้องลึกมาจากความหยาบ คือมันมีความคอนทราสท์กัน ความไม่ชั้นเดียว ผมชอบอะไรแบบนี้
รสนิยมในการฟังเพลงมีผลต่อตัวศิลปินหรือไม่ ?
ไมโล : มีตรง ๆ เลยครับ เหมือนเราฟังอะไรเราก็จะทำอย่างนั้นออกมา พอเราฟังอะไรเยอะ ๆ แล้วเราเอามาตบตีกันมันก็จะออกมาเป็นอะไรใหม่ ๆ อย่างเช่น แค่พี่น้อง (Status) เราก็จะเอาจังหวะที่เราไม่คิดว่าจะเอามาใช้อย่างซัลล่ามาใส่ในดนตรีแบนด์ หรือ อยู่ได้ ได้อยู่ (ineednoone) เอาจังหวะแทรพมาใช้ในเพลงที่เราไม่คิดว่าจะทำกันได้
เติร์ด : ผมโตมากับดนตรีคนดำ ฟังโซลฟังอาร์แอนด์บีเป็นหลัก ก็เลยทำให้ร้องเพลงแบบนี้ ฟังอะไรมาก็ร้องแบบนั้น ในวงจะมีส่วนผสมหลายแนวมาก เพราะแต่ละคนในวงจะมี Input เยอะ มี Source เยอะ
บิลลี่ : เคยคุยเรื่องนี้เหมือนกันว่ารสนิยมที่ดีคืออะไร ผมคิดว่าไม่ใช่ว่าเราฟังดนตรีแนวนี้แล้วจะรสนิยมดีกว่าคนที่ฟังอีกแนว เพราะว่ามันคือทางเลือก คำว่ารสนิยมที่ดี หมายถึงคนที่เปิดกว้างมากที่สุด ยิ่งเราเปิดกว้าง รสนิยมเรายิ่งดีกว่าเขา เลยคิดว่ารสนิยมเราดี แปลว่า Library เราเยอะ แปลว่าเรามีโอกาสทำเพลงให้มันเกิดความใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งสำหรับผมความใหม่ ความแตกต่าง คือสิ่งที่ผมเชิดชูอยู่แล้ว แล้วยิ่งถ้ามันใหม่แต่เข้าถึงง่ายยิ่งเชิดชูเลยครับ
เอกลักษณ์จำเป็นต่อศิลปินหรือไม่ ?
เติร์ด : ในยุคนี้ศิลปินจำเป็นต้องมีเอกลักษณ์ครับ เพราะว่าหนึ่งเลยมันก็จะได้แยกได้ว่าเราต่างจากวงไหน
ไมโล : คือในยุคนี้ศิลปินเกิดขึ้นมาเยอะมาก เพราะว่าช่องทางที่เกิดขึ้น ช่องทางที่นำเสนอง่ายขึ้น เรามีอินเตอร์เน็ต เราไม่ต้องรอปล่อยเทปขายจากค่ายใหญ่ ๆ เพื่อให้มันเป็นผลสำเร็จแล้ว คือทุกวันนี้เราสามารถปล่อยเพลงเพลงหนึ่งลงยูทูปแล้วมันอาจจะถูก Trending บนอินเตอร์เน็ต โดยเราอาจไม่คาดคิดว่ามันไปถึงร้อยล้านวิว แต่ว่าสุดท้ายแล้วคำถามคือคนเลือกซื้อเพลงหรือเลือกซื้อตัวศิลปิน เพราะว่าคนเลือกซื้อเพลงหมายความว่าเพลงนั้นก็จะถูกจำโดยคน กลายเป็น Demand ของคนว่าต้องการเพลงแบบนี้ เราก็จะต้องผลิตเพลงแบบนี้ออกไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าคนชอบที่วง เลือกซื้อที่วง ด้วยเอกลักษณ์ของวง โดยตามหลักการแล้ว ถ้าวงนั้นจะทำอะไรก็จะมีคนซื้อต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้วงดนตรีนั้นอยู่ยาวได้ ก็อาจจะต่อยอดไปเป็นอาชีพหลัก คือเลี้ยงชีพได้ด้วยการเป็นศิลปิน
บิลลี่ : สั้น ๆ คือ Branding มันอยู่ได้ทุกที่ครับในยุคนี้ ยิ่งยุคที่ทุกอย่างเข้าถึงง่าย ทุกอย่างมันเยอะขึ้น เอกลักษณ์ที่ทำให้คนจำได้มันก็จะยิ่งสำคัญครับ ไม่ใช่แค่ดนตรีแต่ว่าทุกอย่างเลยครับ ข้าวผัดกระเพราก็ยังต้องมีเอกลักษณ์ครับเดี๋ยวนี้
เติร์ด : สมมุติว่าเราต้องทำเพลงเพลงหนึ่ง เป้าประสงค์ของเราอย่างหนึ่งที่ทำเพลงออกไปคือ ไม่ใช่แค่ทำให้เพลงทำงานของมัน แค่ว่าทำให้วงมันทำงานด้วย หมายความว่าฟังเพลงนี้จบแล้วแบบเพลงนี้เพราะดี แต่ไม่ใช่แค่ผ่านไปเฉย ๆ ต้องแบบเพลงนี้เพราะดี ของใครหรอ อะไรประมาณนี้ เอกลักษณ์จึงจำเป็นเพราะเราอยากให้คนจำเราได้ไม่ใช่จำเพลงได้เฉย ๆ ถ้าเพลงมันขายได้มันก็ดีแหละ แต่ถ้าวงมันขายได้ด้วย มันก็จะยิ่งต่อยอดไปอีก ก็คือกลับมาเรื่อง Branding อย่างที่บิลลี่บอก เอกลักษณ์จำเป็นเพราะว่าเราต้องมี Branding ที่ชัด เพื่อให้คนจำเราได้ไม่ใช่จำแค่เพลงได้เฉย ๆ
บิลลี่ : แต่ในชีวิตจริงเราก็ต้องบาลานซ์ให้คนเข้าถึงได้ด้วยนะ ไม่ใช่แบบเอกลักษณ์จ๋า ฟังแล้วรู้เลย แต่น่ารำคาญ ซึ่งไม่เวิร์ค
เติร์ด : เพลงทำงานในแบบที่เราไม่ต้องการก็ไม่ดีเหมือนกันครับ
ไมโล : มันเหมือนกับว่าทำงานร่วมกัน Branding ที่ชัดเจนกับจำนวนลูกค้าที่เติบโต ถ้าเกิดว่าจำนวนลูกค้าเราชัดเจน Branding เราชัดเจน เราก็จะเป็นแบรนด์แบบนิช ถ้าอยู่ไปเรื่อย ๆ เราเห็นว่าเรามีเอกลักษณ์แล้วแต่ว่าลูกค้าเราเท่าเดิม งั้นเราต้องวางแผนแล้วว่าเราจะขยายกลุ่มคนฟังแล้วนะ แบบว่าเพื่อให้วงมันโตขึ้นครับ
Photo : Satchaphon Rungwichitsin