ลิลรัตน์ เนตรพระวงศ์ : Zero Waste ลดการสร้างขยะ | Issue 158
MiX Magazine ฉบับนี้พามานั่งคุยเพลิน ๆ กับคุณลิล ลิลรัตน์ เนตรพระวงศ์ เจ้าของร้านรีฟิลเล็ก ๆ ย่านฝั่งธน ผู้ที่มีแววตามุ่งมั่น ในการที่อยากเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเธอเอง โดยไอเดียนี้เกิดจากภายหลังจากไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ จนเป็นรูปเป็นร่าง และตอนนี้เธอก็พร้อมส่งต่อแนวคิดดีๆ แบบนี้แล้ว
ลิลรัตน์ เนตรพระวงศ์ : จุดเริ่มต้นของร้านนี้คือเราเห็นตัวเองก่อน บังเอิญเรากลับมาจากเมืองนอกแล้วเราได้ใช้ชีวิตตามปกติของที่กรุงเทพฯ แล้วเรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่เพิ่มพูนพลาสติกเร็วมาก อย่างเช่น โดยปกติแล้วเราจะเป็นคนที่มีแก้วพกติดตัวตลอดตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว เราก็มาตระหนักว่าถ้าน้ำในแก้วของเราหมดเราจะทำยังไง? ตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีจุดเติมน้ำที่สะอาดในแต่ละจุดเลย หรือว่าเราต้องเข้าร้านสะดวกซื้อ เพื่อซื้อน้ำที่บรรจุในขวดพลาสติกแล้วมาเทใส่แก้วเรามี่พกติดตัวตลอดหรอ เราว่ามันไม่น่าใช่ มันเกิดปัญหาอย่างนี้แล้วเราคิดว่าปัญหาคือการบริโภคที่เกินไปแล้ว
จึงนั่งหาข้อมูลจนมารู้จักคำว่า Zero Waste มันคือการที่เราทำขยะ ให้ได้น้อยที่สุดหรือการที่เราบริโภคลดลง แล้วตอนนั้นประเทศไทยเรามีแค่ร้านเดียวที่เป็นร้าน Refill Station อ่อนนุช ซึ่งต้องบอกตามตรงเลยว่าเราเป็นคนฝั่งธนมาตลอดชีวิตเลยไม่ค่อยสันทัดเส้นทางไปฝั่งอ่อนนุชหรือในเมืองสักเท่าไหร่ เราจึงคิดจะเปิดร้านในย่านฝั่งธนขึ้นเพื่อตัวเราเองและคนที่มีแนวคิดแบบเรา ซึ่งก็ไม่รู้ว่ากี่เปอร์เซ็นต์ในตอนนั้นก็เป็นการเริ่มต้นของเรา
ลิลรัตน์ เนตรพระวงศ์ : เราเปิดประมาณปลายกันยายนปี 2561 เริ่มแรกก็จะมีแค่ของใช้ประจำวันอย่างเช่นสบู่ยาสระผมน้ำยาล้างจานน้ำยาซักผ้าเป็นของใช้ที่คิดว่าใช้ในชีวิตประจำวัน Lessplasticable ก็คือ Less:Plastic:Able ก็คือ ถ้าแปลตรง ๆ ก็คือการดำรงอยู่ด้วยการใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด เรารู้ว่าถ้าเราจำทำให้เป็นศูนย์ก็พอเป็นไปได้แต่เมื่อเราเปิดร้านจึงไม่มีทางเลยที่จะเป็นศูนย์เราจึงเลือกลดการใช้ให้น้อยที่สุด เราเชื่อว่าพลาสติกจะไม่หายไปจากโลกนี้ และร้านเราเชื่อว่าพลาสติกไม่ใช่ตัวร้าย ร้านเรายังมีของบางอย่างที่เรารู้สึกว่าเป็นพลาสติกและใช้ได้ดีจะคงอยู่ และใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ นั่นคือของที่สุดของพลาสติก
สิ่งที่เป็นปัญหาในปัจจุบันก็คือ พฤติกรรมการบริโภคที่มากจนเกินไป การที่เราใช้อย่างไม่ตระหนักอันนั้นคือปัญหา ตอนนี้หลาย ๆ ร้านค้าในตอนนี้เขาเปลี่ยนเป็นถุงกระดาษ และเราก็ใช้ถุงจากเค้าโดยที่เราไม่ได้เตรียมถุงไปเอง มันก็คือ บริโภคกระดาษมากไปอยู่ดี ในที่สุดแล้วทรัพยากรธรรมชาติมันถูกใช้ไปเรื่อย ๆ มันก็จะเกิดปัญหาซ้ำอีกนั้นนี้แหละคือปัญหา จริงๆแล้วสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายหลักของร้านอย่างเราก็คือเราต้องการให้ลูกค้าใช้ซ้ำ (Reuse)ให้มากที่สุด ถ้าใช้ซ้ำจนใช้ไม่ได้แล้วแล้วถึงจะนำไปรีไซเคิล เราอยากให้รู้จักกระบวนการใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุด
นั่งคุยกันอยู่นานจนเราเหลือบไปเห็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้นจากวันแรก ๆ ที่เปิดร้าน หนึ่งในนั้นคือปิ่นโตที่คุณลิลพร้อมอธิบายคุณสมบัติให้เราฟังที่เป็นมากกว่าการใช้บรรจุอาหาร
ลิลรัตน์ เนตรพระวงศ์ : ที่เห็นนั่นคือปิ่นโตนำเข้าจากอินเดียและเราคิดในระยะยาวมาก เราคิดถึงการรีไซเคิลและรียูส ปิ่นโตนี้เรารับซ่อมถ้าหากเกิดความเสียหายและรับซื้อคืนเพื่อไปรีไซเคิล เพราะว่าสแตนเลสสามารถที่จะรีไซเริลได้ 100% อยู่แล้ว ฉะนั้นสามารถกลับไปตีเป็นแผ่นแล้วนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ หากมองในระยะยาว ปิ่นโตนี้คุณสามารถใช้จนถึงลูกถึงหลานได้เลย ถ้าเหลือเป็นซากแล้วเราก็รับซื้อคืนเพื่อไปรีไซเคิลใหม่
เราพยายามที่จะสร้างขยะให้น้อยที่สุดและไม่ผลักภาระให้ผู้บริโภค ร้านเราบังเอิญเป็นร้านที่เปิดร่วมกับร้านพิซซ่าโฮมเมดเพราะฉะนั้นเราจะมีขยะที่เกิดจากการทำอาหาร และเศษอาหารจากที่เหลือในโต๊ะ เหล่านี้จะกลายเป็นขยะที่กำจัดง่ายแต่จัดการยาก ทางลิลเองเลือกที่เอาเศษอาหารไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมกับ “ฟาร์มลุงรีย์” และนำดินและปุ๋ยมาปลูกผักปลอดสารและปลอดภัย จากนั้นก็นำผักเหล่านี้มาใช้เป็นวัตถุดิบในร้าน
ลิลรัตน์ เนตรพระวงศ์ : เวลาเราขายของเราพยายามที่จะ Non-packaging อย่างตอนนี้ที่ร้านเราขายไข่ไก่ปลอดสารแต่เราไม่แพคเป็นกล่อง ๆ ให้เราให้คุณต้องเอากล่องมาเองเพราะเราต้องการให้ลูกค่ามีทางเลือก เราขายเป็นใบถ้าอยากซื้อ 1 ใบเราก็ขาย 20 ใบเราก็ขาย อยากได้เท่าไหร่ก็ซื้อเท่านั้นไม่ต้องมีใครมากำหนด หรือสบู่ก้อนเราก็ไม่มีแพคเกจให้ ซึ่งลูกค้าเราก็ค่อนข้างน่ารักเอากล่องมาใส่เอง เราไม่ผลักภาระให้ลูกค้าเพราะว่าที่เขาได้ไปก็ได้ไปแค่สบู่ เราถือว่าคุณมาซื้ออะไรคุณได้เท่านั้น การเอาขวดมาเติมก็เช่นกัน คุณอยากได้น้ำยาคุณก็เอาไปแค่น้ำยา แต่ถ้าใครมีขวดที่มากเกินก็สามารถมาส่งต่อขวดที่มีมาที่เราได้ เพราะนี่ยังมีขวดแก้วไว้สำหรับลูกค้าที่บางคนที่บังเอิญมาเจอร้านเราแล้วไม่มีขวดมาใส่ เราให้เอาไปก่อน ถ้ารอบหน้าจะเอาขวดกลับมาคืนก็ได้ หรือว่าจะเอาขวดอื่นๆ มาแบ่งปันต่อก็ได้เราพยายามทำทุกอย่างที่มันเป็นวงจร
ตอนนี้ปัญหาอีกปัญหาหนึ่งก็คือการแยกขยะและการส่งไปรีไซเคิลให้ถูกที่ โรงงานรีไซเคิลมีเยอะแต่ไม่มีขยะส่งไปรีไซเคิลเพียงพอ เพราะทุกอย่างมันถูกส่งไปที่บ่อทับถมขยะ แต่ถ้าเกิดว่าเรามีขยะที่เราแยกไว้แล้ว เราส่งไปที่โรงงานคัดแยกขยะในแต่ละประเภท มันก็จะถูกรีไซเคิลเป็นของที่มีศักยภาพออกมาให้เราได้ใช้
เธอยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าการที่เธอทำอยู่ทุกวันนี้ มันก็เป็นการท้าทายว่าเธอจะสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ไหม ? สร้างพฤติกรรมใหม่ให้คนไทยได้ไหม? อยากส่งเสริมให้คนเห็นคุณค่าของขยะที่ตนเองสร้างขึ้น และรับผิดชอบก่อนที่จะส่งไปกับเทศบาล
Khow Her
• ร้านของคุณลินเปิดบริการทุกวัน หยุดทุกวันอังคาร
• สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารรวมถึงแผนที่ร้านได้ที่ https://www.facebook.com/lessplasticable/
Photo : Satchaphon Rungwichitsin