ศศิน เฉลิมลาภ : อุดมคติและชีวิตนักอนุรักษ์ | Issue 158

ศศิน เฉลิมลาภ : อุดมคติและชีวิตนักอนุรักษ์ | Issue 158

มีเหตุถึงมีผล ก่อนจะมีฮีโร่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุที่ทำให้เกิดแรงจูงใจเปลี่ยนคนธรรมดาสามัญให้ลุกขึ้นสู้ต่อต้านความอยุติธรรมบางอย่าง ฮีโร่ที่ทำเพื่ออุดมคติที่เขาใฝ่หา ทำตามความเชื่อและแนวทางที่คิดว่าถูกต้อง แม้จะอาจขัดตาขัดใจผู้มีอำนาจในสังคมก็ตาม

ฮีโร่ที่ผมชอบในแนวทางนี้มีหลายคน ถ้าใน Comic ผมขอยกตัวอย่าง แบทแมน คนธรรมดาที่ไม่มีพลังวิเศษแต่เป็นเศรษฐี แล้วใช้ชีวิตอีกด้านที่คนไม่รู้ทำตัวเป็นฮีโร่คอยช่วยเหลือชาวบ้าน ในอีกมุมหนึ่งอาจกลายเป็นผู้ที่ทำผิดกฎหมายเพราะตั้งตนเป็นศาลเตี้ยก็ตาม แต่ในชีวิตจริงผมเห็นชายคนนี้เป็นฮีโร่ คนธรรมดาผู้พิทักษ์ผืนป่า ผู้ชายตัวเล็กที่จิตใจใหญ่ดังขุนเขา ต่อต้านคัดค้านการสร้างเขื่อนด้วยการเดิน โต้คารมป่าวประกาศและเป็นกระบอกเสียงแทนสัตว์ป่าน้อยใหญ่ในผืนป่า ปลูกฝังและปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนหันมาเห็นความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลูกแนวคิดนักอนุรักษ์ให้ชนรุ่นหลัง อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ศศิน เฉลิมลาภ : ผมเรียนธรณีวิทยา แต่มาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เหตุเริ่มต้นมาจากผมไปช่วยงานชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนจากผลกระทบการทำเหมืองถ่านหิน จริง ๆ อาชีพที่ผมจะต้องทำตอนเรียนจบก็คือทำเหมืองนี่แหละ ต้องบอกว่ามันอาจจะเป็นโชคร้ายของผมที่ผมไม่เคยทำงานธรณีวิทยา และมีเพื่อนเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตอนนั้นผมเรียนจบปริญญาโทได้ประมาณปีสองปี และเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อนที่เป็นนักสิ่งแวดล้อมก็มาปรึกษาว่าน่าจะแพ้เรื่องการคัดค้านเหมืองแร่คลิตี้ ที่กาญจนบุรี เถียงแพ้ด้านข้อมูลให้นักธรณีวิทยาที่เป็นมืออาชีพ คุยยังไงก็ไม่ชนะด้านเทคนิค ซึ่งนักธรณีวิทยาก็เป็นพวกรุ่นพี่ผมนี่แหละ ผมก็เลยไปช่วยเพื่อนด้านข้อมูล หาข้อมูลที่จะเป็นกระบอกเสียงให้เขา พอได้มาเก็บตัวอย่างตะกอน ในพื้นที่ทองผาภูมิ ยิ่งทำก็ยิ่งอินและทำให้รู้ว่าวิชาชีพผมเนี่ยมันอาจทำให้เกิดผลกระทบหรือมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม คือถ้ากำจัดไม่ดีมันจะมีมลพิษออกมา

ช่วงนั้นผมสอนวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ก็เอาเรื่องพวกนี้แหละมาสอน ให้วิเคราะห์ดิน น้ำ หิน ตะกอน เอาข้อมูลที่ได้มาสู้ จนอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เหมืองคลิตี้ปิดนำไปสู่การปิดเหมือง นำไปสู่การฟื้นฟูเหมืองในอีกสิบยี่สิบปี และพื้นที่ที่ผมเข้าไปเก็บข้อมูลก็คือพื้นที่ทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เจ้าหน้าที่มูลนิธิเขาก็เห็นผมไปท่อม ๆ เก็บตัวอย่างหิน ดิน ตะกอน เขาก็มาคุยว่าอยากช่วยเรา ก็เริ่มจากขับรถไปส่งบ้าง เลี้ยงข้าวเราบ้าง เพราะเราไม่ได้มีงบวิจัยจากไหนมาทำ เราทำเอง เจ้าหน้าที่เขาก็เอางบมูลนิธิมาซื้อข้าวซื้อปลาแห้งให้ผมกิน รู้จักกันตอนนั้น และเขาก็ไปเล่าให้กรรมการมูลนิธิฟังว่ามีนักวิชาการเถื่อน ๆ คนหนึ่งที่น่าชวนมาทำงานที่นี่ ผมไม่มีมาดนักวิชาการเลยนะ ใส่เสื้อเชิ้ตกางเกงยีนส์

ศศิน เฉลิมลาภ : ซึ่งอาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิเขาก็ชวนผมให้มาร่วมงาน เพราะเขาไม่มีนักวิชาการเลย ชวนให้ลางานชั่วคราวจากการสอนมหาวิทยาลัยเพื่อมาทำงานที่มูลนิธิ ผมใช้เวลาคิดอยู่ปีนึง ก็ลาออกมาทำงานที่นี่ ซึ่งก่อนหน้านั้นนอกจากเรื่องเหมืองคลิตี้ผมก็ได้เป็นอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม พวกการระเบิดหิน คัดค้านเหมืองโปแตซฝังกลบขยะ ฯลฯ ก็จะมีชื่อผมเป็นนักวิชาการที่อยู่ฝั่งชาวบ้าน

คือต้องสารภาพเลยครับว่าที่ผมเรียนธรณีวิทยาเนี่ย ไม่ได้อยากเรียนเพราะวิชาชีพ แต่เป็นเพราะอยากเข้าป่า ใกล้ชิดธรรมชาติ เพราะวิชานี้ต้องมีการเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมในป่า ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมเรียนเพื่อจะไประเบิดมันทิ้ง ผมไม่รู้เลยว่าจบมาต้องระเบิดภูเขา คือเมื่อเราเจอแหล่งแร่ทรัพยากรก็จะต้องระเบิดเอามาให้คนใช้ ซึ่งขัดกับความรู้สึกตัวเองมาก เพราะผมเป็นคนที่ชอบเดินป่า ปีนเขามาก

แต่ก็รู้สึกดีตอนหลังว่า ถ้าไม่มีคนอย่างผมเนี่ยวิชาชีพของผมอาจจะต้องไปในทางเดียวก็ได้ กลายเป็นผมเรียนเพื่อมาคัดค้าน เพื่อมาเป็นฝ่ายชาวบ้าน ฝ่ายธรรมชาติ ตอนนี้ก็ไม่มีใครโกรธผมนะในสายวิชาชีพนี้ เพราะเขาเข้าใจ แต่สมัยก่อนตอนหนุ่ม ๆ ก็มีปะทะความคิดกันบ้าง เรียกว่าผมไม่อยากไปงานเลี้ยงรุ่นเลย เพราะผมกลัวว่าเขาว่าผมทำลายวิชาชีพ แต่พอผ่านเวลามาสักพัก ก็กลายเป็นว่าไม่มีใครเขาโกรธเคือง หรือมาว่าอะไร ยิ่งเป็นช่วงมีกระแสรักษาสิ่งแวดล้อมรักษ์ธรรมชาติ คนยิ่งเข้าใจ เมื่อสักสองสามปีก่อน กรมทรัพยากรธรณีก็เชิญผมไปเป็นกรรมการแร่แห่งชาติ เพราะว่าผมเป็นนักธรณีวิทยาคนเดียวที่รู้เรื่องสิ่งแวดล้อม แปลว่าหน่วยงานหลักเขาก็เข้าใจเรา”

สืบสานจิตวิญญาณนักอนุรักษ์

ศศิน เฉลิมลาภ : ตอนเด็ก ๆ ผมชอบอินเดียน่าโจนส์ ผมอยากเป็นนักโบราณคดี ผมฝังใจอยากใส่เสื้อซาฟารีที่มีสองกระเป๋าใหญ่ ๆ ตรงหน้าอก ผมมีโปสเตอร์หนังด้วยนะ คือผมชอบบุคลิกแบบนี้ ฟีลแบบนี้ แล้วผมก็ได้มาเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ธรณี โดยไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อ แต่คือมันห่างไกลจากนักโบราณคดีพอสมควร ที่บ้านไม่ได้คาดหวังว่าผมจะต้องโตขึ้นเป็นอะไรนะ ครอบครัวของผมเป็นครอบครัวข้าราชการ ผมเป็นลูกหลง ตอนผมเรียนมหาวิทยาลัยเขาเกษียณอายุการทำงานกันหมดแล้วครับ เขามีบำนาญ เลยไม่ได้มากดดันว่าผมจะต้องทำอะไร เป็นชนชั้นกลางในจังหวัดอยุธยา เป็นลูกคนเล็กด้วย มีอิสระในการใช้ชีวิต

ผมกับพ่อไม่สนิทกัน เพราะอายุห่างกันมาก เขาจะไม่สอนโดยตรงแต่จะทำให้ดู อย่างเขาชอบอ่านหนังสือพวกปรัชญา พุทธศาสนา แต่ไม่ค่อยชอบไปทำบุญ ไม่ชอบสวดมนต์ จะอ่านหนังสือปรัชญาชีวิต ปรัชญาพุทธ อย่าง ตัวกูของกู ของท่านพุทธทาสภิกขุ ศิษย์โง่ไปเรียนเซน ส่วนแม่ของผมเป็นครู ท่านก็จะสอนอะไรไปเรื่อย แต่เรื่องธรรมชาติเนี่ยผมชอบเองตั้งแต่เด็ก ชอบต้นไม้ ภูเขา ทะเล เพราะบ้านผมมีแต่ท้องนา กับโบราณสถานในเมืองอยุธยา ทำให้ผมมีความสุขเวลาได้ไปเที่ยวเขา ได้ไปเที่ยวทะเล ว่ายน้ำ ผมอยู่ในน้ำได้ครึ่งวันเลยนะ แม่คงรู้ว่าผมว่ายน้ำเก่ง ไม่จมน้ำแน่ เขาก็ไปทำธุระของเขาผมก็เล่นน้ำได้เป็นวัน ๆ  สู้กับคลื่น โต้ลม เล่นทราย 

ผมไม่ได้เอนทรานซ์เพราะได้โควตาพิเศษคณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ก็เลยไม่ได้ไปเรียนโบราณคดี แต่ผมชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับโบราณคดีนะ ตอนเด็กก็ชอบอ่านพวกต๋วยตูน อ่านพวกสามเหลี่ยมเบอมิวด้า แอตแลนติส มายา อ่านนิยายเชิงวิทยาศาสตร์เยอะมาก คือชอบเรื่องลึกลับพวกนี้ ชอบธรรมชาติเพราะผมมองว่าบางทีในป่าเขาหรือทะเลก็มีเรื่องลึกลับ และเมื่อ 30 กว่าปีก่อนเนี่ยมันไม่มีการเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อม เรียนเรื่องธรรมชาติ อนุรักษ์หรืออะไร เพราะมันมีแต่การเรียนเพื่อทำลาย เช่น จะทำยังไงให้ปลูกข้าวโพดได้เยอะ ๆ จะเปลี่ยนไร่ฝิ่นเป็นกะหล่ำปลีได้อย่างไร จะทำยังไงให้ชาวเขาได้มีเงิน 

ศศิน เฉลิมลาภ : ตอนนั้นสถานการณ์คือสหประชาชาติจะเน้นเรื่องทำยังให้คนจนรวยขึ้น เลี้ยงตัวเองได้มากขึ้น อย่างชาวนาก็ต้องทำให้ได้ผลผลิตเยอะขึ้นนะ ต้องใช้สารเคมีเยอะ ๆ เกษตรธรรมชาติคือเรื่องไกลตัว คนดีคือคนที่ทำให้ผลผลิตออกผลได้เร็ว ถางป่าทำไร่ข้าวโพดได้เร็ว เพื่อพ้นภาวะยากจน ทำยังไงให้ชนบทไทยมีไฟฟ้าใช้ นั่นคือเรื่องเมื่อปียุค พ.ศ. 2510 ที่ผมโตมา 30-40 ปีที่แล้ว คนดีคือคนที่ออกค่ายอาสาพัฒนา พัฒนากันจนกลายเป็นเมืองกันไปหมด จนตอนนี้รู้สึกไหมว่าตรงไหนมันคือชนบทกันแน่

อาจเป็นเพราะผมเป็นคนเมือง ก็เลยชอบชนบท คนชนบทก็อยากใช้ชีวิตแบบคนเมือง คือตอนนั้นมันไม่มีวิชาเกี่ยวกับธรรมชาติให้เรียน คณะสิ่งแวดล้อมไม่มี จนกระทั่งผมอยู่ ม.5 มันมีการคัดค้านเขื่อนน้ำโจนเกิดขึ้น มีเรื่องการต่อต้านโรงงานแทนทาลัมที่ภูเก็ต เพราะเป็นเกาะที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ผมอยากเรียนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ผมสนใจข่าวเหล่านี้ แต่มันไม่มีคณะให้เรียน ไม่มีเวทีให้ผมเล่น ตอนนั้นก็ไม่อยากเรียนชีวะ หรือวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพราะผมไม่อยากผ่ากบ ไม่อยากหักคอหนู ไม่อยากจับปลามาใส่ฟอร์มาลีน ผมไม่อยากฆ่าสัตว์ ส่วนพฤกษศาสตร์ก็ดูยากไป ผมเลยเลือกเรียนธรณีวิทยาเพราะอยู่กับหิน แต่ไม่รู้หรอกว่าจบมาจะต้องไปขุดแร่ ระเบิดหิน

จุดเปลี่ยนของผมคือตอนที่ไปเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเลกับคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ ก็ได้เรียนรู้เรื่องระบบนิเวศ และเขาก็ให้ช่วยรักษาทะเลด้วยนะ ประมาณปี พ.ศ. 2529 เราก็คิดในใจว่ารักษายังไง ตอนนั้นขยะก็ไม่ได้เยอะ ทำให้มันติดอยู่ในใจว่ามันมีคนที่เขารักษาทะเลด้วยนะ และตอนเด็ก ๆ ผมได้เห็นระบบนิเวศที่มันสมบูรณ์แบบประทับใจมาก ๆ ที่อ่าววงเดือน เกาะเสม็ด ผมเห็นแนวประการังที่สมบูรณ์มาก มันสวยกว่าสิมิลัน หรือหมู่เกาะสุรินทร์ในตอนผมโตอีกนะ คือเป็นทุ่งประการังใหญ่เท่าสนามฟุตบอลที่อ่าววงเดือน คือมันสวยงามมากจนจำมาถึงทุกวันนี้ 

แต่อีกไม่ถึงสิบปีต่อมา ช่วงผมอยู่มหาวิทยาลัย ผมได้ไปเกาะเสม็ดอีกครั้ง สิ่งที่ผมเห็นคืออ่าววงเดือนที่เป็นทุ่งปะการังกลายเป็นท่าเรือ ที่จอดเรือสปีดโบ๊ทไว้รับส่งนักท่องเที่ยว มีสะพานยื่นเข้าไปเพ่ื่อรับเรือ ผมดำน้ำลงไปดูปรากฏว่าปะการังหายไปหมดแล้ว เหลือแต่เศษซาก ฉะนั้นมันถึงจำเป็นต้องมีนักอนุรักษ์ ถ้าไม่มีใครสักคนมาห้าม เราคงไม่เหลืออะไรให้จดจำ และนี่ไงคำที่ผมเคยไปค่ายก็ดังขึ้นว่าต้องรักษาทะเลนะ แต่มันไม่มีให้เราเรียนไง ไม่รู้ว่าจะเป็นนักอนุรักษ์ได้อย่างไร

ศศิน เฉลิมลาภ : จนมีการประชุมสิ่งแวดล้อมโลกจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศบราซิล ซึ่งตอนนั้นมีการถ่ายทอดทีวีผ่านดาวเทียมให้คนเห็นพร้อมกันได้ทั่วโลกเป็นครั้งแรก เราได้เห็นเรือเรนโบว์วอริเออร์ของกรีนพีซที่ขับตามเรือที่บรรทุกกากนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสเพื่อที่จะนำไปทิ้งในมหาสมุทร เรือของกรีนพีซก็เอากล้องวิดีโอตามไปถ่าย ทำให้เรือบรรทุกไม่กล้าทิ้งกากนิเคลียร์เพราะมีคนตามถ่ายทอดสดเพื่อเป็นข่าวไปทั่วโลก ทำให้เราเห็นว่า Information มันสามารถช่วยโลกได้นี่ เราก็เห็นว่ากระบวนการที่มีคนออกมาคัดค้านบางอย่างสามารถช่วยโลกได้จริง ๆ ทั้งชาวบ้านที่คัดค้านเขื่อนน้ำโจน หรือกระทั่งที่สืบ นาคะเสถียร ยิงตัวตายเพราะจะอนุรักษ์ป่าห้วยขาแข้ง 

ก็ทำให้ผมเริ่มคิดว่าการเรียนธรณีวิทยาจะช่วยอะไรได้บ้าง จึงเป็นที่มาของการไปทำเรื่องเหมืองคลิตี้ เหมืองโปแตช หรือที่ฝังกลบขยะใกล้แหล่งน้ำตรงปลวกแดง มันคือแรงบันดาลใจจากเกาะเสม็ด ว่าจะต้องมีกระบอกเสียงออกมาพูด จะสู้ได้หรือไม่ได้แต่ต้องมีคนรู้ว่าตรงนี้เนี่ยมันดีอยู่แล้ว อย่าไปทำลาย หรืออย่าไปสร้างอะไรที่กระทบกระเทือนสิ่งแวดล้อม อย่าไปทำลายธรรมชาติ อย่างที่เกาะเต่าเนี่ยผมมีเพื่อนอยู่ที่นั่น ก็ได้ไปทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เขาเล่าให้ฟังว่าตอนเด็ก ๆ เขาเอาปะการังมาทุบเล่นเพราะมันเยอะมาก พอเวลาผ่านมาไม่น่าเชื่อว่ามันจะหมดไปใกล้สูญพันธุ์ นี่ขนาดเกาะเต่านะครับ

ตอนเรียนจบปริญญาตรีก็ตัดสินใจว่าจะทำงานอะไรดี ปรากฏว่ามันไม่มีอะไรที่ใกล้เคียงกับสิ่งแวดล้อมให้เราทำ ก็เลยเรียนต่อโท แต่เบี่ยงการทำวิทยานิพนธ์มาเป็นเรื่องการจัดการพื้นที่แทน เอาข้อมูลธรณีวิทยามาวางแผนเพื่อจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จริง ๆ ก็อยากเป็นอาจารย์เลยนะ แต่ที่ผมเรียนเขาไม่เอาเพราะผมเป็นเด็กกิจกรรมที่ค่อนข้างหัวรุนแรงนิดหน่อย แต่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เขารับผมไปเป็นอาจารย์สอนที่ ม.รังสิต ตั้งแต่จบปริญญาตรี ตอนนั้นผมสอนวิชาธรณีวิทยา สำหรับวิศวกรโยธา คือสอนสร้างเขื่อน ระเบิดหิน ฯลฯ คือจริง ๆ ไม่ได้อยากสอน แต่ตอนเรียนปริญญาโท ผมไม่มีเงินเรียน เพราะที่บ้านส่งเสียจนเรียนจบปริญญาตรีก็ถือว่าพอสมควรแล้ว แต่ก็สอดแทรกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติเอาไว้เยอะ

อย่างตอนที่ต้องพานักศึกษาออกไปสำรวจดูธรณีวิทยา ลงพื้นที่ต่าง ๆ ก็พูดคุยสอดแทรกเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในวงเหล้าบ้างตอนสอนบ้าง ต้องบอกก่อนว่าตอนนั้นอายุผมก็ไล่เลี่ยกับพวกเขานั่นแหละ เด็กที่เรียนก็แฮปปี้ที่มีอาจารย์แบบนี้ คือผมเป็นเด็กกิจกรรม เป็นประธานเชียร์ ในการดูแลผู้คนรุ่นใกล้ ๆ กันเนี่ยสบายผมเลย ทุกวันนี้เวลาเจอลูกศิษย์ก็ยังเข้ามาทักผมบ่อย ๆ

สืบทอดเจตนารมณ์

ศศิน เฉลิมลาภ : เคยโดนกดดันจากนักลงทุนไหม บางครั้งก็มีกลัว ๆ บ้าง แต่ไม่เคยเจออะไรหนัก ๆ นะครับ ผมห้อยพระหลวงพ่อทวด ผมชอบสวดคาถาหลวงพ่อทวดเวลาเจออะไรหน้าสิ่วหน้าขวาน อย่างตอนไปเหมืองคลิตี้ช่วงที่เป็นนักวิชาการ ไปเก็บตัวอย่างตะกอนเพื่อเอามาวิจัย ไปแบบจอมยุทธ์ ก็ไปกับมูลนิธิสืบนี่แหละ น้องที่เป็นเจ้าหน้าที่ก็ขับรถให้ ทีนี้รถดันไปติดหลุมเสียบเข้ากับขี้โคลน หน้าประตูเข้าเหมืองแร่ ตอนนั้นกลัวมาก คือผมลงไปขุดดินตะกั่วจนท่วมตัวเลยนะ ใช้เวลากว่าสองชั่วโมงกว่าจะออกมาได้ ลองคิดดูว่าคนในเหมืองมาเจอจะเป็นยังไง เขาไม่ต้อนรับแน่ ๆ สุดท้ายต้องไปเอารถไถของชาวบ้านมาลากให้ ในสภาวะนี้มันมีความกลัว กลัวตายเพราะมันเถื่อนมาก 

ไปไหนผมจะห้อยพระ เพราะทางแม่จะเชื่อเรื่องเหล่านี้ แต่ทางพ่อจะเป็นปัญญาชนที่ไม่เอาเรื่องวัตถุเลย ชีวิตผมผ่านหลาย ๆ เรื่องมาได้ด้วยคาถาชินบัญชรเลยนะ อันนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคลนะครับ ผมเป็นพุทศาสนิกชนที่เน้นสติปัญญาก็จริง แต่เวลาเรากลัวเนี่ยสติปัญญาอาจช่วยได้นิดหน่อย บางครั้งเราก็ต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือบางครั้งที่เข้าป่าคนเดียว ตอนกลางวันมันก็สวยดีแต่พอตกกลางคืนที่ผมอยู่คนเดียวมันก็น่ากลัว ผมก็ต้องสวดมนต์เพื่อที่จะผ่านคืนนั้นไปให้ได้

การรักษาป่าของเราไม่ได้ช่วยแค่สัตว์ป่าหรือต้นไม้อย่างเดียว แต่รวมถึงคนที่เขาอาศัยอยู่ในป่าด้วย อย่างช่วยพี่น้องกะเหรี่ยงที่เขาโดนคนไทยเอารัดเอาเปรียบด้วย หรืออาจโดนป่าไม้บางคนปฏิบัติไม่ดีใส่ ด้วยกฎหมายที่ไม่เอื้อด้วย เราเป็น NGO เราก็มุ่งไปที่เรื่องเหล่านี้ด้วย คือให้อยู่กันได้อย่างลงตัว คือเราอาจไปทับที่คนกลุ่มน้อยที่เขาอาศัยอยู่ตรงนั้นมาก่อน เขาไม่มีบัตรประชาชน ไม่ได้พูดภาษาไทย คนไทยก็เหยียดเขา คนพม่าก็เหยียดเขา เขาก็เป็นปกาเกอะญอนะ แปลว่าเขาก็เป็นคนเหมือนกัน แต่ดันไปทำเหมือนเขาเป็นลิงเป็นค่าง 

คนกะเหรี่ยงเขากราบไหว้ฤษี ซึ่งเป็นผู้สืบทอดพุทธศาสนาของเขานะ ไม่ใช่ฤษีแบบอินเดียที่เข้าทรงหรืออะไร ช่วงเข้ามามูลนิธิสืบใหม่ ๆ ผู้ใหญ่เขาก็พาผมไปไหว้พ่อปู่ฤษีที่เขานับถือกันในป่า ผมก็ไม่ได้เชื่อนะ แต่ก็ไม่ลบหลู่ ไปกับเขาแต่ไม่ได้เข้าไปไหว้ใกล้ ๆ ผมก็ไปยืนอยู่บนหน้าผาที่มองเห็นศาลไกลออกมา ก็ยกมือไหว้บอกว่าผมอยากจะช่วยพี่น้องกะเหรี่ยงนะ ให้คุ้มครองผมด้วย เท่านั้นแหละปรากฏว่ามีพลังงานบางอย่างวิ่งเข้ามาชนผมจนขนลุกไปทั้งตัว รู้สึกได้ถึงพลังงานนั้น ก็เลยคิดว่าฤษีท่านคอยช่วยเหลือเราอีกแรงด้วย เพราะเราทำเพื่อลูกหลานของเขา 

เจตนารมณ์ของผมคือการให้ป่าไม้คงอยู่ สัตว์ป่าไม่โดนฆ่าตาย และทำให้คนอยู่กับป่าได้ ผมทำเรื่องพวกนี้มาโดยตลอด และก็บรรลุเป้าหมายไปเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา คือมีกฎหมายเพื่อทำให้คนอยู่กับป่าได้ ซึ่งผมก็สู้เรื่องพวกนี้มาตลอดทั้งเก็บข้อมูล สร้างความเข้าใจ เก็บตัวอย่าง สู้ในทางปฏิบัติ เขาอยู่กันยังไง มีผลกระทบอย่างไร ฯลฯ จนเขาเชิญผมเป็นกรรมาธิการในการร่างกฎหมายข้อนี้ขึ้นมา จนกระทั่งมีกฎหมายคนกับป่าขึ้นมา แม้มันอาจจะยังไม่ถึงกับดีนัก เพราะมีหลายความคิดเห็น แต่ก็ถือว่าสิ่งที่ผมตั้งใจและบอกกับพ่อปู่ฤษีไว้เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน สำเร็จแล้ว มีกฎหมายเกิดขึ้นมา ตอนนี้ก็กำลังดำเนินแนวทางตามนั้นอยู่

NGO ฝ่ายค้านทุกรัฐบาล

ศศิน เฉลิมลาภ : ผมนับตัวเองเป็น NGO แต่ไม่รู้ว่าเพื่อนนัก NGO นับผมเป็นพวกเดียวกับเขาหรือเปล่า นิยามคำว่า NGO มาจาก Non-Government Organization องค์กรพัฒนาเอกชน โดยไม่แสวงหาผลกำไร ที่ไม่ใช่ของรัฐ ซึ่งต้องบอกก่อนว่าการพัฒนาโดยองค์กรของรัฐ หลาย ๆ ครั้งคือดีนะ เขาพัฒนาในภาพใหญ่ เช่น ถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพด สร้างเขื่อน คือมันดีไหม มันดีสำหรับคนส่วนใหญ่ เอาสารเคมีมากระตุ้นผลผลิตให้ได้เยอะ ๆ มันก็ดีนะ แต่! มันมีผลกระทบไหม อย่างไร อย่างเขื่อน ข้อดีเยอะ แต่มันกระทบสัตว์ป่า พันธุ์พืช ต้นไม้ คนที่อยู่ในป่า หรือสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ดีไหม ดีนะ คนในพื้นที่มีงานทำเพิ่ม แต่มันปล่อยสารพิษไหมล่ะ คือไอ้ตรงที่มีผลกระทบต่อคนส่วนน้อยเนี่ย NGO ต้องเข้าไปช่วย เพราะรัฐเขาไม่สนใจไม่ช่วยอยู่แล้ว เพราะคนพวกนี้ถือว่าต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่

ฉะนั้น NGO จะต้องเข้าไปคัดค้าน ซึ่งก็มีบางคนคิดว่า NGO ต้องค้านไปทุกเรื่อง อย่างเรื่องโรงงานพลังไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น NGO ก็คือต้องดึงไว้ อย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงโดยใช้พลังงานทางเลือก พัฒนาอย่างยั่งยืนเนี่ยมันก็เป็นอีกทางเลือก ซึ่งก็ใช้ได้เหมือนกัน หรือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ก็เริ่มมาจากหมอที่เป็น NGO ต่อไปถ้าแบน 3 สารพิษเพื่อการเพาะปลูกได้ ก็อาจจะมีสารเคมีตัวใหม่เข้ามาอยู่ดี เกษตรกรอาจไม่พอใจในตอนนี้เพราะผลผลิตไม่เท่าเดิม เมื่อมันลงตัวคนส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ถูกกระตุกจากคนเล็ก ๆ พวกนี้ทั้งนั้น 

ที่ว่าค้านทุกเรื่องมันจึงไม่แปลก เพราะ NGO จะทำงานตามอุดมคติ แต่รัฐจะทำเพื่อคนส่วนใหญ่ อย่างมูลนิธิสืบนาคะเสถียรก็เหมือนกัน ที่ผมคัดค้านเขื่อนแม่วงศ์เพราะเราดูแลอยู่ตรงนั้น อย่างคนที่อำเภอลาดยาวหรืออำเภอสว่างอารมณ์เขาก็เลยเกลียดผม ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะเขาต้องการใช้น้ำ แต่ผมอยากให้อนุรักษ์พันธุ์เสือ ซึ่งการจัดการน้ำยังมีวิธีอื่นให้ทำได้อีกหลายวิธี แต่ถ้าเสือสูญพันธุ์เนี่ยเราหามาคืนไม่ได้อีกแล้ว จำได้เลยวันนั้นในห้องประชุมพอผมค้านให้รักษาเสือเถอะ ทั้ง ส.ส. ทั้งหัวคะแนนมองผมด้วยสายตาไม่เป็นมิตรแล้ว เสียงโห่เสียงอะไรก็ดังไปตามเรื่อง ซึ่งตอนที่เราพูดก็ไม่มีใครในห้องประชุมเขาอยากฟังหรอก แต่ว่าคำชี้แจงหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เราเสนอเขาจะมีบันทึกเอาไว้ แล้วผมก็ออกมาสู้ทางอื่นต่อ

ศศิน เฉลิมลาภ : กำลังใจหรือไฟของผมก็มาจากปะการังที่หายไปในวันนั้นแหละ เพราะถ้าไม่มีคนค้านเลยของทุกอย่างก็จะหมดไปในที่สุด เพราะคนก็มีความต้องการต่อไปที่ไม่สิ้นสุด ต้องการไฟฟ้า ต้องการน้ำ ต้องการการคมนาคมสะดวกสบาย ต้องการบริโภคอาหารมาก ๆ ต้องการโน่นต้องการนี่ สุดท้ายมันก็ไม่เหลืออะไรให้อนุรักษ์อีกต่อไป คนต้องการไปเที่ยวเกาะเสม็ดไปดูความสวยงามแต่ก็ต้องแลกด้วยการทำลายระบบนิเวศมีผลกระทบกับสัตว์น้ำต่าง ๆ คือก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเราโง่หรือเปล่า หรืออาจไม่มีความรู้กันเลยก็ได้ในเรื่องนี้ ดังนั้นก็จะต้องมีคนทำ ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในคนส่วนน้อยเหล่านั้น

แรกเริ่มผมไม่เคยคิดเลยนะ ว่าในปัจจุบันผมจะมีภาพลักษณ์อย่างนี้ เพราะเขาจ้างผมมาดูเรื่องคนในป่าเป็นหลัก ซึ่งอันนี้ก็มี Conflict ไปขัดแย้งกับกรมป่าไม้อีกเพราะเราไปช่วยชาวบ้าน ทางชาวบ้านก็คิดว่าเราอยู่ข้างเดียวกันกับกรมป่าไม้อีก เราก็ไปยืนอยู่ตรงกลาง ซึ่งสิ่งที่มูลนิธิสืบทำก็คือไปค้านสิ่งที่จะกระทบกับเขตผืนป่าตะวันตก ตอนแรกผมก็เข้าไปเป็นนักวิชาการตัวเล็ก ๆ ในมูลนิธิเล็ก ๆ อย่างตอนค้านเขื่อนครั้งแรก วันที่เข้าไปประชุมวันแรก ก็เจอรุ่นพี่ที่กรมชลประทานเขาก็ทักเลย เอ้า อ.ศศินมาแล้วดีเลย เดี๋ยวไม่มีฝ่ายค้าน ทั้งห้องประชุมหันขวับมามองด้วยสายตาที่ไม่ดีนัก พอผมชี้แจงเสร็จก็เลยขอไปเข้าห้องน้ำและขับรถกลับเลย ทำให้รู้ว่าเวทีต่อไปผมต้องเตรียมตัวอย่างไร 

ผ่านกระบวนการแบบนี้มาจนเริ่มแกร่งกล้า หลัง ๆ ผมเลยรู้ว่าเราเองก็เป็นตัวสำคัญในกระดาน หลัง ๆ นี่มาถึงผมก็ไปนั่งข้างผู้ว่าฯ เลย ซึ่งเขาก็ไม่เอาเรานะ แต่ผมรู้ว่าโซฟาข้างหน้าคือที่ที่ปลอดภัยที่สุด เรื่องอะไรผมจะไปนังด้านหลังให้มีสายตาจ้องมองเล่า มาถึงผมก็เดินไปสวัสดีคนใหญ่คนโต สวัสดีครับพี่ ๆ ส.ส.ผมก็นั่งทำหน้าที่ของผมตรงนั้น คิดว่าคงไม่มีใครกล้าต่อยผมตรงนั้นมั้ง (ขำ) ซึ่งผมก็คงสู้เขาไม่ได้ แต่ถ้าโดนต่อยนี่เข้าทางเลย ยิ่งไม่สวนด้วยนะ ชนะเลย เพราะมันเล่นกันด้วยสื่อไงครับ

ศศิน เฉลิมลาภ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เมื่อก่อนเขาจะมีกองทุนที่ฝากธนาคารไว้แล้วนำดอกเบี้ยมาใช้ แต่ยุคผมเนี่ยมันไม่ได้แล้ว คือดอกเบี้ยน้อยมาก เราก็เปิดรับบริจาคจากประชาชนทั่วไป ก็เคยมีน้อง ๆ ในกรรมการมูลนิธิเคยพูดกับผมนะว่าพี่ศศินมีภาพลักษณ์แบบนี้ แล้วกลุ่มทุนหรือบริษัทเอกชนจะอยากบริจาคได้ยังไง ผมก็ตอบเขากลับไปว่า ถ้าอย่างนั้นก็เปลี่ยนตัวประธานมูลนิธิสิครับ เพราะผมจะไม่รับเงินจากกลุ่มทุนแบบนั้น แต่ผมจะรับบริจาคจากคนทั่วไปที่เขาอยากให้เราเป็นกระบอกเสียงไปค้านแทนพวกเขา

เพราะเวลาเราจะไปคัดค้านอะไรเราต้องไปหาข้อมูลก่อน เอาตำราหลาย ๆ เล่มมาย่อยให้อ่านเข้าใจง่ายแล้วปั้มตรามูลนิธิสืบออกมาก่อน แค่ขั้นตอนนี้ก็ใช้พลังงานอย่างมากแล้วนะครับ ต้องใช้ความเป็นวิชาการค้าน พิมพ์ออกมาแล้วนำไปเสนอให้กับหน่วยงานที่เราค้าน ต้องจัดเสวนา พานักข่าวลงพื้นที่ ต้องไปชี้แจงกรรมธิการ หาแนวร่วมออกมา คือมันไม่ได้ง่ายนะครับ และงานด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่งานที่ต้องใช้อาสาสมัคร คือผมจะหงุดหงิดนิดหน่อยเวลาคนมาถามว่าต้องการอาสาสมัครไหม เพราะงานที่ผมทำต้องทำฟูลไทม์ นักวิชาการต้องลงพื้นที่จริง หาข้อมูลเพื่อทำเอกสารประกอบ ไม่สามารถใช้นักวิชาการที่จะมาช่วยเฉพาะเวลาที่เขาว่างได้ ไม่ทันหรอกครับ

Photo : Pornsarun Soithong

ศศิน เฉลิมลาภ : Environmental Conservation อุดมคติและชีวิตนักอนุรักษ์ | Issue 158