กชกร วรอาคม : ภูมิสถาปนิกหญิงไทย | Issue 144

กชกร วรอาคม : ภูมิสถาปนิกหญิงไทย | Issue 144

กชกร วรอาคม : Urban Landscape Architect ภูมิสถาปนิกหญิงไทย

กชกร วรอาคม ผู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นในการทำงาน ภูมิสถาปนิกหญิงไทย คนเดียวและคนแรก ที่เป็น Speaker ใน 2018 TED WOMAN (จัดขึ้นที่อเมริกา) เธอดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับการเป็นภูมิสถาปนิก และทำงานอดิเรกเพื่อสังคมเกี่ยวกับการนำศิลปะไปบำบัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพราะรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่มีแต่ความทุกข์ ศิลปะเปรียบเสมือนยารักษาโรคที่ไม่ใช่ยาไว้กินหรือสารเคมี แต่เป็นยาในเชิงจิตใจสามารถทำให้คนรู้สึกดีขึ้น ศิลปะสามารถทำให้ทราบถึงเรื่องราวของแต่ละบุคคลได้

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอได้เดินทางจากประเทศไทยไปสู่สหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ภูมิสถาปัตยกรรม ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด พอได้มาเรียนต่อที่นี่ก็รู้สึกได้เปิดหูเปิดตา และรู้สึกว่าสถาปัตยกรรมมันทำอะไรได้มากกว่าแค่สร้างสิ่งปลูกสร้างให้สวยอย่างเดียว มันทำให้เกิดประโยชน์ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ช่วยคลายความเหลื่อมล้ำทางสังคมยังได้ เหมือนอย่างการออกแบบพื้นที่สาธารณะ มันควรจะเป็นพื้นที่ของคนทุกชนชั้น 

“ได้ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่พักหนึ่ง งานวางผังตามเมืองต่าง ๆ หลายอย่างต้องถูกจัดการ ต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากกว่านี้ เรารู้สึกว่าวิชาชีพนี้มันสามารถให้คำตอบกับการแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่างของเมืองได้ จริง ๆ แล้วกรุงเทพมหานครก็เป็นเมืองที่ไม่ได้ต่างจากเมืองอื่น แต่ละเมืองจะมีเอกลักษณ์ที่ต่างกัน บ้านเราเป็นเมืองน้ำ นอกจากที่เราจะทำให้เมืองมันน่าอยู่ ดูดีสำหรับคนทั่วไปแล้ว เราก็ควรที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องน้ำ เพราะฝนตกเยอะ ต้องคิดว่าเราจะใช้การออกแบบให้เข้ากับเมืองได้อย่างไร แต่ละปีฝนก็ตกแบบคาดเดายากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยสภาวะการปรับเปลี่ยนทางภูมิอากาศ ดังนั้นก็อยากนำวิชาชีพที่เรียนมา ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมไปถึงประสบการณ์การทำงานในเมืองต่าง ๆ มาช่วยพัฒนาพื้นที่ในประเทศไทยให้มันดีขึ้น

“เมื่อกลับมาประเทศไทยก็ได้มีโอกาสเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในหลายพื้นที่ผ่านการออกแบบเชิงผสมผสาน Greenovative Design และ Social Entreprise ที่สามารถตอบสนองความต้องการเชิงธุรกิจและสร้างสรรค์สังคม ผลงานที่ถือว่าเป็น Masterpicec ของเธอเลยก็คือ โครงการอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ถนนจุฬาฯ 100 ปี และถนนจุฬาฯ ซอย 5 ได้รับรางวัล สถาปัตยกรรมดีเด่นปี 2018 สวน ณ ที่แห่งนี้เป็นมากกว่าสวนสาธารณะทั่วไป คือ สวนสามารถเป็นที่เก็บน้ำฝน มี Rain Water Tang สามารถเก็บน้ำฝนได้เท่ากับสนามอเมริกันฟุตบอลที่มีน้ำเติมขึ้นมา 1 เมตร สามารถใช้รดน้ำต้นไม้ในสวนเกือบ 30 ไร่นี้ได้นานประมาณ 1 เดือน เป็นสวนที่เก็บฝนทุกเม็ดที่ตกลงมาใช้หลักการเดียวกับโครงการแก้มลิงของในหลวงรัชกาลที่ 9” 

เรารู้สึกภูมิใจแทนที่เธอสามารถทำMasterpiece นี้สำเร็จ แต่กว่าจะผ่านลุล่วงไปได้มันไม่ใช่เรื่องง่าย เธอบอกว่าสิ่งที่รู้สึกมากกว่าความภาคภูมิใจ คือความตั้งใจที่ไม่ล้มเลิกในวันยาก ๆ 

“ทุกอย่างมีอุปสรรค เราต้องข้ามผ่านมันไปให้ได้ ปัญหาไม่ได้มีไว้ให้เรากลัวหรือรู้สึกท้อแท้มันมีทางออกและหนทางให้เราเลือกเดินเสมอ แต่เราไม่ควรเลือกทางที่มันง่าย สบายตัว เราควรยืนหยัดในทางที่มันถูก และใช่ แม้มันจะยากก็ตาม”

เธอยังเผยต่ออีกว่าถ้าทุกพื้นที่ในกรุงเทพมหานครสามารถเก็บน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง ก็จะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมเมือง และนอกจากเธอยังเป็นผู้ก่อตั้งองค์กร Landprocess ที่สร้างนวตกรรมสีเขียวให้กับเมือง ปีนี้เข้าปีที่ 6 แล้ว ได้ทำสวนบำบัดให้ทำโรงพยาบาลรามาธิบดี และยังมีอีกหลายโครงการที่เกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะเพื่อสังคม อาทิ Urban farm บนพื้นที่ดาดฟ้ากลางสยาม Siam Green Sky และพื้นที่สีเขียวที่คำนึงถึงเรื่องน้ำ เป็นพื้นที่สีเขียวที่ตั้งคำถามว่าเมืองจะอยู่กับสภาวะ Climate Change ได้อย่างไร และในอนาคตก็ยังคงมุ่งมั่น ตั้งใจทำโครงการเหล่านี้ที่สร้างนวตกรรมช่วยบำบัดทั้งคนและเมืองอีกต่อไป เพราะความตั้งใจและความต้องการของผู้คนและเมืองที่ทำมากแค่ไหนก็คงไม่พอ

ทั้งหมดนี้คงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความทุ่มเท ความพยายาม ได้เป็นอย่างดีในหลาย ๆ บทบาทที่ได้รับทั้งในด้านการศึกษา การทำงาน นักออกแบบ รวมไปถึงนักศิลปะ ที่สามารถนำสิ่งที่ตัวเองชอบ และสิ่งที่รักมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างสูงสุด ด้วยความคิดที่ว่างพลังเล็ก ๆ ของแต่ละคนในทุกสายอาชีพที่นำมารวมกันจะกลายเป็นแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่ที่มันสามารถนำมาต่อยอดและพัฒนาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้เราต้องมั่นใจเช่นนั้น 


More Information
•    นอกจากนี้แล้วเธอยังเป็นอาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
•    TED talks เป็นเวทีการประชุมสำหรับคนที่มีไอเดียดี ๆ ล้ำ ๆ มาแบ่งปันให้ทุกคนบนโลกรับรู้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Ideas Worth Spreading

 

 

ภูมิสถาปนิกหญิงไทย คนเดียวและคนแรก ที่เป็น Speaker ใน 2018 TED WOMAN