Folk Songs of The Southern : เอกชัย ศรีวิชัย
Folk Songs of the Southern รากเหง้าวัฒนธรรมท้องถิ่น : เอกชัย ศรีวิชัย
หนุ่มใหญ่แดนใต้ชายผู้มีความสามารถหลากหลายในวงการบันเทิง ตั้งแต่การเป็นนักร้อง นักแสดง หรือผู้กำกับ สิ่งที่เขาทำเป็นผลงานต่อเนื่องยาวนานซึ่งทุกคนยอมรับในความสามารถว่าเป็นคนคุณภาพท่านหนึ่งของประเทศ แต่สิ่งที่ไม่เคยหายไปจากใจของเขา เลยคือความเป็นตัวตนของคนท้องถิ่นภาคใต้ ที่สนับสนุนและผลักดันศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่ตลอดเวลา กว่าชีวิตจะมาถึงจุดนี้เขาได้ฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคมากมายด้วยความกตัญญูอย่างน่ายกย่องในความดีงามตลอดมา
“ชีวิตในวัยเด็กของผมค่อนข้างลำบาก คือเกิดมาในครอบครัวยากจนขนาดไม่มีที่ดินของตัวเอง ต้องอาศัยอยู่บนที่ดินของรัฐ เช่าที่นาเขาทำกินหากไปรับจ้างเกี่ยวข้าวถ้าต้องเกี่ยวข้าว 100 กำ ผมจะได้คืนมาเป็นของตัวเองแค่ 25 กำ ที่เหลือคืนให้เจ้าของที่นา ถ้าผมรับจ้างกรีดยางก็ต้องกรีดให้ได้ 100 เท่า ถึงจะมีปริมาณยางเท่ากับเจ้าของสวนยาง ผมเคยเป็นเกษตรกรปลูกพริกขี้หนูถึง 10 ไร่ ทำงานจนคนแถวบ้านคิดว่าเป็นคนบ้าไม่มีใครอยากเข้าใกล้ เพราะเดินแบกจอบแบกเสียมไม่พูดไม่จา พวกเขาคงกลัวโดนฟันอาจคิดว่าผมไม่เต็ม เพราะเด็กที่อายุ 15 คงไม่เดินไป ถางหญ้าทำงานบ้าขนาดนี้ ผมต้องหารายได้ทุกอย่างเพื่อครอบครัวเพราะผมเป็นลูกคนโตในขณะที่น้อง ๆ ยังเล็กหมดทุกคนเลย แล้วช่วงหลัง คุณพ่อผมก็แก่มากด้วย
“สาเหตุที่ครอบครัวยากจนส่วนหนึ่งมาจากคุณพ่อของผมเคยมีภรรยาหลายคนมาก่อน พอมาถึงภรรยาสุดท้ายคือคุณแม่ของผมท่านจึงไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย แต่คุณพ่อเป็นคนที่มีองค์ความรู้เรื่องหนังตะลุงและมโนราห์คือเป็นครูคนหนึ่ง ในตอนเด็ก ๆ ผมสงสัยมาตลอดว่าฐานะ ทางบ้านเราจนมาก แต่คุณพ่อยังฝึกให้ผมเล่นหนังตะลุง มโนราห์ ซึ่งท่านบอกว่าเราแบกวัฒนธรรมของแผ่นดินที่เงินมันซื้อไม่ได้เอาไว้ ผมถึงทำทุกอย่าง ที่จะรักษาสถานภาพของครอบครัวให้อยู่ได้โดยการทำงานรับจ้าง แต่ในขณะเดียวกันผมก็เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้านที่คุณพ่อเป็นคนสอนทุกวันทั้งเรื่องการร้องเล่นเต้นรำซึ่งติดตัวผมมาตลอด
“สมัยเป็นนักเรียนผมเป็นคนที่เรียนหนังสือเก่ง การเรียนในโรงเรียนประชาบาลยุคก่อนทุกโรงเรียนเวลาสอบต้องมารวมกันที่ตำบล ผมเป็นคนสอบได้ที่ 1 ของตำบลและที่ 1 ของจังหวัด แต่น่าเสียดายที่วันหนึ่งการเรียนของผมเรียนไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะรายได้ของครอบครัว ไม่เพียงพอเรียนต่อไม่ได้ ต้องออกมาอยู่บ้านฝึกหนังตะลุงเป็นจริงเป็นจัง ในขณะเดียวกันผมก็ต้องออกไปหาขวด หาซื้อเศษเหล็กมาขาย ตื่นตอน ตีสี่ตีห้าไปซื้อขนมมาขายให้คนแถวบ้าน จากนั้นผมก็ออกมาใช้ชีวิตอยู่กับ คณะหนังตะลุงถึง 4 ปี
“ในภายหลังอยากได้เครื่องดนตรีแต่ไม่มีเงินก็สมัครไปเป็นภารโรงเดือนละ 600 บาท เพื่อเก็บเงินซื้อกลองชุด ชีวิตการเป็นภารโรงได้เห็นอะไรหลายอย่างคือคนที่จบ ม.ศ. 5 สามารถเป็นครูได้ซึ่งเป็นอาชีพที่มั่นคง ก็เลยคิดว่าต้องเรียนหนังสือต่อให้ได้จึงไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่ต่อจนจบ
“วันหนึ่งทางคณะศึกษาผู้ใหญ่ที่เรียนจบพากันไปเลี้ยงฉลองในคาเฟ่ ผมสังเกตเห็นว่านักร้องเขามีพวงมาลัยเยอะ คือผมไม่ได้คิดอยากร้องเพลง เป็นนักร้องหรอก แต่อยากร้องเพลงเพื่อส่งตัวเองเรียนหนังสือก็เลยเลือกเดินทางสายนี้อย่างจริงจัง ไต่เต้าตัวเองขึ้นมาจนมีโอกาสขึ้นมาเป็น นักร้องคาเฟ่อยู่กรุงเทพฯ ในภายหลังผมก็ส่งตัวเองเรียนจนจบรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงสำเร็จ
“ตอนผมอายุ 20 ต้น ๆ มันเหมือนเป็นความบังเอิญขณะกำลังร้องเพลง อยู่ในคาเฟ่เจอนักข่าวท่านหนึ่ง ชื่อพี่ปุ๊ ภูเขาทอง เขาพาผมไปหาอาหรั่ง ไพรัช สังวริบุตร ซึ่งตอนนั้นอาหรั่งต้องการพระเอกหนังเกี่ยวกับ จักร ๆ วงศ์ ๆ ซึ่งผมได้รับเลือกให้เป็นพระเอกจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าวงการบันเทิง ต่อมาก็มีงานถ่ายแบบหนังสือแฟชั่น เอารูปไปให้เกศสยาม ติดตามร้านเสริมสวยอีกด้วย
“ผมเล่นหนังมาระยะเวลาหนึ่งก็มีครูเพลงชื่อ ชวนชัย ฉิมพะวงษ์ มาพบแล้วก็ชวนไปบันทึกเสียง ซึ่งการทำเพลงนั้นมีอุปสรรคหลายอย่าง แต่ท้ายที่สุดก็ได้ออกเทปในชื่อ เอกชัย ฉิมพะวงศ์ โดยมีเพลงดังคือ ‘พี่มีแต่ให้’ ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างมาก ต่อมาได้มีโอกาสทำวงดนตรีซึ่งมีนายทุนสนับสนุน ทำให้ผมต้องหยุดงานแสดงหนังแล้วออกเดินสายร้องเพลงแทน
“เรื่องของงานเพลงมันไม่ได้ไปดีตลอด ก็ล้มลุกคลุกคลานกันมาเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งผมนึกถึงคำที่พ่อผมเคยพูดเอาไว้ว่า ถ้าเลิกเล่นหนังตะลุง หรือเลิกเรื่องราวของมโนราห์เมื่อไหร่ชีวิตจะพัง พอมาคิดดูระหว่างเดินทาง ทำวงดนตรีมันไม่ราบรื่นเท่าไหร่ คือจะดังก็ไม่ดังจะมีเงินก็มีบ้างไม่มีบ้าง แล้วบังเอิญเพลงลูกทุ่งของ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง คือ รักน้องพร เวลานั้นมีชื่อเสียง อย่างมาก ผมก็คิดว่าถ้าเรานำตัวละครหนังตะลุงคือ เท่ง ทอง แก้ว หนูนุ้ย ลุกขึ้นมาเป็นนักร้องบ้างจะเป็นยังไง ก็เลยจับเอาหนูนุ้ยมาร้องสำเนียงใต้ เป็นเพลงแปลงของ รักน้องพร คือผัวน้องพร พอทำออกมาเท่านั้นแหละในภาคใต้ ถือว่าดังสุด ๆ คือขายดีจนเทปหนึ่งม้วนขายได้ในราคาถึง 200 บาท ในยุคนั้น คือปั้มเทปไม่ทันเลย ผมจึงมานึกถึงคำของพ่อทันทีคือถ้าไม่ห่างรากเหง้า ของตัวเองจะทำอะไรก็สำเร็จ
“จากนั้นผมก็คิดว่าเราต้องเดินทางเกี่ยวกับเรื่องของวัฒนธรรมพื้นบ้าน คือการเป็นพระเอกหนังจักร ๆ วงศ์ ๆ มันไม่ใช่ตัวตนของเรา แล้ววันหนึ่งผมมีโอกาส ได้ไปดูลำตัดที่หวังเต๊ะแสดงมีการร้องเพลงฉ่อย อีแซว ซึ่งผมขำมาก ก็ได้ไอเดีย คือต้องเอาเรื่องของวัฒนธรรมพื้นบ้านที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเข้าใจ คือของภาคกลางมาปรับใช้กับงานเพลงในแบบฉบับของตัวเอง จึงเป็นที่มาของเพลงหมากัดที่ดังระเบิด ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาผมจึงเข้าใจและเดินทางในเรื่องของวัฒนธรรมพื้นบ้านจนถึงทุกวันนี้
“คือผมไม่ได้หากินทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน เพียงแต่ตรงส่วนนี้คือเส้นเลือดของผมมาตั้งแต่แรก แต่เราไม่ได้รู้จักที่จะนำมาใช้เท่านั้นเอง วันหนึ่งเราได้กลับมาหาวัฒนธรรมพื้นบ้านที่เป็นตัวตนของเราจริง ๆ ก็ทำให้กลับมาสำเร็จได้
“ตั้งแต่ผมเริ่มจำความได้คุณพ่อผมสอนเรื่องมโนราห์หนังตะลุง พอมา วันหนึ่งชีวิตเราผกผันมาเป็นนักร้องซึ่งต่างจากคำว่าเป็นศิลปินพื้นบ้าน พอสมควร แต่ในขณะเดียวกันเมื่อผมได้เป็นนักร้องอย่างจริงจัง มันเป็นโอกาสทองของผมที่ไม่ควรจะปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไป คือต้องนำเอาวัฒนธรรมพื้นบ้านมาสอดแทรกความเป็นนักร้อง หรืออย่างน้อยที่สุดให้มันเป็นทางเลือกกับคนได้บริโภคงาน แล้วผมได้ส่งไม้ต่อให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้รับทราบและซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่น หากผมยังทำงานไหวและมีพลังอย่างนี้ ผมจึงสร้างงาน ที่เหมือนหนังสือเล่มหนึ่งโดยไม่ต้องเปิดอ่าน แต่สามารถเสพสัมผัสความสุขความบันเทิงได้ด้วยการดูซึ่งในชีวิตผมต้องทำขึ้นมา
“นั่นก็คือการทำภาพยนตร์ที่สอดแทรกเรื่องของวัฒนธรรมพื้นบ้าน เพราะผมมีประสบการณ์จากวงการบันเทิงทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังมาสักระยะพอมาถึงตรงนี้ก็มันตกผลึก แต่สิ่งที่ผมอยากจะทำคือจับเอาสิ่งที่ผมอยากให้มันอยู่ต่อก็คือวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่าง มโนราห์ หนังตะลุง รองเง็ง ลิเก เพลงฉ่อย อีแซว ลำตัด หมอลำ ทุกอย่างอยู่ในฝันของผมหมดแต่ได้เลือกหยิบ สิ่งที่อยากทำเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองโดยเลือกทำหนังเรื่องโนราห์ ซึ่งเป็นภาคต่อจากเรื่องเทริดที่ทำออกมาก่อนหน้านี้
“เจตนาของผมมีอยู่สองอย่างเพื่อต้องการเอาไว้บอกกล่าวลูกหลานมโนราห์โดยชาติกำเนิดว่า ประเพณีวัฒนธรรมคุณต้องสืบทอด เรื่องต่อมาคือสัญลักษณ์ในการกราบไหว้บูชาครูบาอาจารย์คือเทริด ว่าต้องทำอย่างไรให้เหมาะสม วันนี้ผมเดินไปที่โรงมโนราห์ผมไม่เห็นเทริดวางอยู่บนพื้นแล้ว แต่พวกเขาเอามา วางไว้ข้างบนด้วยความเคร่งครัดในขนบธรรมเนียม ผมอยาก สื่อสารว่าในมุมมองของเด็กเรื่องของวัฒนธรรมมันไม่เท่และไม่ได้เงิน แต่ในมุมมองของผู้ใหญ่หากพรุ่งนี้เขาตายไปจะไม่มีใครสืบทอด แล้วถ้าเด็กถามผมในสิ่งนี้ว่าทำเพื่ออะไร ผมจะตอบว่านี่คือความภูมิใจที่เราได้แบกวัฒนธรรมของแผ่นดินเอาไว้
“ถ้าเราไปเจอใครคนหนึ่งกำลังก่ออิฐอยู่ที่วัดแล้วเข้าไปถามว่า กำลังคุณทำอะไร เขาอาจตอบมาว่าผมเป็นช่างก่อสร้าง หรืออีกคำตอบคือผมกำลังสร้างกำแพงให้วัด เหมือนกับหมอสูตินารี ที่กำลังทำคลอดหมอเขาอาจบอกว่าตัวเองไม่ได้แค่ทำคลอดแต่กำลังดึงมนุษย์คนหนึ่งให้ออกมาใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ คือความหมายมันต่างกันผมจึงเน้นให้คนรักในขนบธรรมเนียมประเพณีจากสิ่งที่ทำกำลังสร้างมันขึ้นมาด้วยใจ
“แม้กระทั่งเรื่องของการให้โอกาสคนทางการศึกษาผมก็ให้ทุนเด็กเรียนมาตลอดหลายปี คือถ้าเด็กคนไหนอยากเรียนผม ก็ให้ทุนแต่ว่าไม่ค่อยได้นำเสนอ แต่ตอนนี้หยุดให้ทุนไปประมาณ 2 ปี เมื่อก่อนผมให้ทุนประมาณ 72 ทุนต่อปี ซึ่งเด็กเหล่านี้มีคน ที่เรียนตั้งแต่มัธยมจนกระทั่งจบปริญญาตรีแต่มีข้อแลกเปลี่ยนคือต้องเล่นอะไรเป็นก็ได้เกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น รำมโนราห์ เล่นหนังตะลุง เป่าปี่ หรือตีโม่งเป็น ถึงจะได้ทุนจากผมนี่คือสิ่งที่เป็นผลิตผลที่ผมปลูกขึ้นมา
“คือถ้าผมไม่ทำสิ่งนี้ผมจะไม่สามารถบอกบรรพบุรุษได้เลยว่าตอนที่มีชีวิตอยู่ ในขณะที่มีสถานภาพพอมีพอใช้ ทำไมถึงไม่มอง สิ่งเหล่านั้นเลย ทั้ง ๆ ที่เรื่องของวัฒนธรรมมันทำให้โลกพัฒนา แล้วกล่อมจิตใจเด็กไม่ให้เข้าไปยุ่งกับสิ่งอโคจร แล้วทำไมถึงไม่ทำ ไม่สืบทอดมัน
“ชีวิตผมไม่ได้หยุดแค่นี้แต่จะทำจนกว่าลมหายใจหมด ใครไม่ทำไม่เป็นไรแต่ผมจะทำ คือทำด้วยตัวคนเดียวมาตลอดชีวิตอยู่แล้ว ผมอยากบอกว่าวัฒนธรรมพื้นบ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครให้การสนับสนุนทั้งที่เป็น DNA ของทุกคน คือผมก็น้อยใจ แต่ผมต่อสู้ในนามของตัวเองด้วยเงินของตัวเอง สิ่งที่ผมดีใจคือ เมล็ดพันธุ์บันเทิงมากมายที่ผมปลูกมันเริ่มงอกขึ้นมาในภาคใต้แล้ว
“ที่ผมทำแบบนี้ยังมีคนตั้งคำถามตลอดเวลาว่าจะเป็น นักการเมืองไหม ผมบอกเลยว่านักการเมืองไม่ได้หอมหวนสำหรับผม แล้วนักการเมืองไม่ใช่เป้าหมายที่ผมอยากทำแต่บังเอิญว่าสังคมกับการเมืองมันใกล้กันมาก เพราะนักการเมืองมักเข้ามาหาสังคม ซึ่งการที่ผมก้าวมาทำเพื่อสังคมหยุดที่ตรงนี้พอแล้ว ผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองเป็นเข็มเย็บผ้าก็ควรจะเย็บผ้าอย่าไปทำอย่างอื่น
“ชีวิตผมที่ผ่านมาทำหลายอย่าง แล้วจะใช้คำว่าศิลปินได้หรือเปล่าไม่รู้ เพราะว่าศิลปินในนิยามของผมคือคนที่ทำอะไรไม่มีผลประโยชน์ ทุกวันนี้เรากำลังทำธุรกิจศิลป์ แต่ของผม ถ้าเปลี่ยนธุรกิจศิลป์กับศิลปะ มันมีศิลปะอยู่ 70 % มีธุรกิจศิลป์อยู่ 30 % เพื่อปะทังชีวิตเรา ฉะนั้นผมตอบไม่ได้ว่าผมรักการเป็นนักร้อง นักแสดง หรือผู้กำกับ แต่ผมรักทุกอย่างที่ทำให้คน มีความสุข แต่ต้องเป็นความสุขบนกำพืชของตัวเอง
“ภาพที่คนเห็นผมก้าวเดินทุกวันนี้ผมไม่ได้ก้าวไปคว้าเงิน แต่ผมก้าวไปสร้างงานเพื่อให้โอกาสแล้วสิ่งที่วาดฝันของผมเอง หนังตะลุง มโนราห์ ลำตัด หรือหมอลำ จึงควรเป็นทรัพย์สมบัติของคนทั้งประเทศ เพียงแต่ผมโชคดีที่เกิดมาในศาสตร์ของ หนังตะลุง มโนราห์ในภาคใต้จึงเลือกทำทุกอย่างเพื่อรักษาวัฒนธรรมพื้นบ้านนี้เอาไว้”
TEXT : Passaponge Prerajirarat
PHOTO : Nutchanun Chotiphan