The History Man : เอนก นาวิกมูล

The History Man : เอนก นาวิกมูล

The History Man นักปะชุนประวัติศาสตร์ : เอนก นาวิกมูล

       หลายคนรู้จักอาจารย์เอนก นาวิกมูล ในฐานะนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ นักเขียนสารคดีชื่อดัง หรือกระทั่งนักสะสมของเก่าระดับประเทศ แต่ตัวท่านเองนิยามการทำงานว่าเป็นนักปะชุนประวัติศาสตร์ งานเขียนด้านสารคดีมีออกมามากมายหลายร้อยเล่ม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกร็ดประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นชุดภาพเก่าเล่าอดีต ชุดเพลงพื้นบ้าน ไปจนถึงประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งใกล้ตัวของการดำเนินชีวิตทั้งสิ้น

       อาจารย์นัดเรามาคุยกันที่บ้านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์
ที่เก็บสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันมาจัดแสดง อาทิ เครื่องฉายหนัง อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ กล้องฟิล์ม ห้องเรียน ร้านตัดผม เครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ ที่นี่ตั้งอยู่ในซอย ศาลาธรรมสพน์ 3 นอกจากจะได้อรรถรสจากการสนทนาแล้ว ยังได้เห็นสิ่งของที่ไม่เคยเห็นหรือตกหล่นไปจากความทรงจำอีกด้วย

       ในฉบับนี้เราเน้นเรื่องราวในเกาะรัตนโกสินทร์ หากไม่ได้คุยกับนักปะชุนประวัติศาสตร์ท่านนี้ เรื่องราวคงจะไม่สมบูรณ์แน่ ๆ เนื้อหาบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกาะรัตนโกสินทร์เราจึงขอนำไปรวมให้ท่านอ่านในสกู๊ป และนี่คือเรื่องราวของชายผู้ได้ชื่อว่านักปะชุนประวัติศาสตร์แห่งสยามครับ

 

 

       “งานด้านประวัติศาสตร์มี 2 ระดับ คือระดับเล็ก ๆ กับ ระดับมหภาค เช่น คนเขียนหนังสือตำราประวัติศาสตร์เล่มหนา ๆ แต่ของผม ผมชอบเรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ทำด้วยความสนุก ทำด้วยความชอบมันก็มีความสุขครับ

       “ความสำเร็จของคนเขียนหนังสือคือมีคนอ่าน วัดได้ว่ามีคนอ่านด้วย มีคนพิมพ์ด้วย หลายคนเขาบอกว่าผมเขียนหนังสืออ่านง่าย เข้าใจง่าย ซึ่งอันนี้ตรงกับจุดประสงค์ที่ผมต้องการ ผมชอบอ่านหนังสือที่อ่านแล้วเข้าใจ ผมไม่ชอบการใช้คำที่เวิ่นเว้อ วกวน ถ้าเขียนสู่เป้าหมายเลย มันน่าจะตรงเป้ากว่า เหมือนเราอ่านหนังสือพิมพ์ เขาจะมีพาดหัวก่อนว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร ภายใน 3-4 บรรทัด แล้วค่อยขยายความ ผมเองเวลาเขียนหนังสือ ผมก็มักจะสรุปให้ฟังก่อนว่าผมจะพูดเรื่องอะไร ผมชอบเรื่องที่กระชับ มันก็ขึ้นอยู่กับสไตล์การเขียนของแต่ละคนครับ

       “คนเรามีความชอบต่างกัน ผมชอบเขียนหนังสือ คนอื่นก็ไม่จำเป็นต้องชอบเขียนหนังสือแบบผม เขาอาจจะชอบอย่างอื่น ก็ทำในสิ่งที่ถนัด 
มันจะได้ทั้งงานและความสุข ใครชอบแบบไหนก็พยายามไปทางนั้น และยิ่งถ้ามีโชคช่วยผมว่าไปสู่เป้าหมายได้ แต่ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับการ
กระทำต่าง ๆ ในชีวิตของเราด้วย แต่ขอให้มีความตั้งใจ ซึ่งตรงกับคำที่
พระพุทธเจ้าสอนว่ามีฉันทะ วิริยะ อันนี้แหละผมว่ามันจะนำพาชีวิตเราไปได้ครับ”

 

 

ชีวิตวัยเด็ก?

       “ผมเกิดที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา พ.ศ. 2496 มีพี่ 6 คน ผมเป็นคนที่ 7 เป็นคนสุดท้อง เป็นพี่ผู้หญิง 5 คน คนที่ 6 เป็นผู้ชาย แล้วก็มาผม พ่อผมไปขอให้พระอาจารย์ที่พัทลุงตั้งชื่อให้ ท่านก็เขียนมาว่า เอนก ชื่อนี้พระอาจารย์เคว็ดตั้งให้ ด้วยความที่ผมสนใจเรื่องภาษาด้วย ผมก็มาเช็กว่า เคว็ด แปลว่า ไม่ตรง, เบี้ยว เพิ่งมารู้ว่าภาคกลางก็มีคำนี้อยู่ด้วย เป็นคำเก่าคำหนึ่ง เวลาเจอคำแปลก ๆ เก่า ๆ ก็ชอบมาเสาะหาคำตอบว่าทำไมเขาเรียกแบบนั้น เขาพูดแบบนั้น และมาเขียนลงในเฟซบุ๊กหลายคำเลยครับ

       “ในวัยเด็กจำได้ดีว่ากิจการทางบ้านเปิดเป็นร้านขายหนังสือแบบเรียน 
เครื่องเขียน เพราะฉะนั้นก็โตมากับหนังสือ แล้วบังเอิญว่าพ่อผมชอบเก็บข้าวของ พวกปฏิทินสวย ๆ และก็เก็บหนังสือทั้งแบบเรียนเก่า ๆ 
ทั้งหนังสือปกแข็ง หนังสือเด็ก ภาพวาด และท่านก็ชอบประดิษฐ์ เช่น ประดิษฐ์เครื่องฉายภาพขึ้นจอเอง ตั้งแต่ 50 กว่าปีก่อน มันก็ทำนอง
เครื่องฉายสไลด์ แต่ว่าท่านใช้กล่อง เอากระบอกไฟฉาย เอาอะไรต่อมิอะไร
มาสวมกัน ทำเครื่องพิมพ์เอง ซึ่งใช้การได้นะครับ ใช้ลังไม้ทำ ก็เลยทำให้ผมชอบเรื่องการประดิษฐ์ด้วย ชอบอ่านหนังสือด้วย แต่เรื่องกีฬานี่
ไม่ได้เรื่องเลย มีความตั้งใจมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าอยากเป็นคนเขียนหนังสือ ชอบเขียนหนังสือตั้งแต่เด็ก นั่งเขียนเพ้อฝันมาตั้งแต่ ป.3 - ป.4 เขียนมาตลอด จนถึงวันนี้ก็ยังเขียนอยู่ครับ

       “สมัยก่อนผมเรียนได้ที่ 1 ของห้องหลายครั้งนะครับ แข่งมากับ
เพื่อน ๆ บ้าง แต่ตอนหลังปรากฏว่าผมเบื่อการเรียน พอมาเรียนมหาวิทยาลัย เคยมีคนไปเขียนใน Google ว่าผมได้เกียรตินิยม ต้องขอแก้ข่าวว่าไม่ได้เกียรตินิยมนะครับ แถมยังได้ F มาหนึ่งตัว เลยต้องเรียน 4 ปีครึ่ง มารับปริญญาในปี 2520”

เริ่มเก็บสะสมหรือว่าสนใจของเก่าตั้งแต่เมื่อไหร่?

       “ตั้งแต่อยู่ในบ้านที่ขายหนังสือแบบเรียนนี่แหละครับ ผมชอบไปรื้อค้นลิ้นชักของพ่อ มันเป็นตู้กระจกมีบานพับสองข้าง ก็ชอบไปดูว่าพ่อใส่อะไรไว้ในนั้น มีทั้งของเล่น ปฏิทิน ภาพพิมพ์ของฝรั่ง ภาพถ่าย คือในบ้านจะมีภาพถ่ายญาติพี่น้อง มิตรสหายต่าง ๆ ที่เขามอบให้แก่กันเป็นความนิยมในสมัยก่อน แขวนตามข้างฝาเยอะ เผอิญว่าข้างบ้านเราเป็นร้านถ่ายรูป มีช่างถ่ายรูป เวลาเกิดน้ำท่วม คือสมัยก่อนมันไม่ใช่อุทกภัย มันมาตามฤดูกาล ญาติพี่น้องก็ไปพายเรือเที่ยวทุ่งกัน เพราะฉะนั้นผมเลยมีรูปภาพเที่ยวทุ่ง มีภาพที่น่าประทับใจจำนวนมาก มันล้วนแต่เป็นประโยชน์ทั้งนั้นเลย เพราะว่าในที่สุดก็ผมมาเห็นคุณค่าของการทำหนังสือสมุดภาพ ก็ทำให้ผมใช้ภาพเก่า ๆ ที่ในบ้านมีอยู่ เอามาใช้ตีพิมพ์ และผมถ่ายรูปเองด้วย ถ่ายมาตั้งแต่สมัย ม.ศ.1 ประมาณปี 2511 มันก็ทำให้เราคิดเรื่องสมุดภาพมาตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวันนี้ก็ยังต้องคิดทำสมุดภาพ ทำไปหลายจังหวัดแล้ว อยากให้ประเทศไทยมีสมุดภาพเยอะ ๆ ครับ

       “ผมจะเล่าบรรยากาศสมัยนั้นให้ฟังสักหน่อย อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เดิมขึ้นกับอำเภอสทิงพระ ตั้งเมื่อปี 2460 แล้วก็เป็นเมืองเก่า เพราะมันอยู่ในสมุดข่อยตั้งแต่ 3-4 ร้อยปีมาแล้ว ซึ่งเขาพบกันเมื่อ 20 กว่าปีก่อน อยู่ทางเหนือสุดของจังหวัดสงขลา ถ้าขึ้นไปอีกเป็นหัวไซ ชะอวด ของนครศรีธรรมราช เหนือสุดของทะเลสาบของสงขลาเป็นพื้นราบกว้างใหญ่คล้ายภาคกลาง ถึงเวลาน้ำท่วม น้ำก็ท่วมไปทั่วครับ ระโนดเป็น
อู่ข้าวอู่น้ำของสงขลา ชาวนาทำนากัน แล้วก็มีคนที่รับซื้อข้าวไปส่งที่สงขลา ระยะห่างกัน
ประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร แต่ก่อนจะไปถึงตัวเมืองสงขลาต้องนอนในเรือไปหนึ่งคืน 
ผมไปเรียนต่อในโรงเรียนมหาวชิราวุธที่สงขลา ลงเรือประมาณ 1 ทุ่ม ถึงสงขลาประมาณ ตี 4-5 แล้วแต่น้ำมากน้ำน้อย

       “สมัยก่อนถือว่าเป็นที่กันดาร เขาว่าห่างไกลจากตัวเมืองมาก แต่คนระโนดรัก
การศึกษาครับ คือ หลายคนสนใจส่งลูกไปเรียน ไม่ว่าจะเป็นชาวนาหรือพ่อค้า ส่งมาเรียนทั้งในตัวเมือง ในกรุงเทพฯ ผมรู้สึกภูมิใจนะครับ ที่คนระโนดเขารักใคร่กัน มีจัดงานระโนดสังสรรค์มา 50 ปีแล้ว และผมเองก็เคยได้รับใช้งานประจำปีนี้ เป็นบรรณาธิการหนังสือให้หลายครั้ง ในการทำหนังสือก็พยายามเขียนเรื่องเกี่ยวกับระโนด และเอารูปเก่า ๆ 
ของระโนดมาพิมพ์ให้ เมื่อปี 2557 ทำสมุดภาพระโนดเล่มใหญ่ หนา 300 กว่าหน้า 
และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ครบรอบหนึ่งร้อยปีโรงเรียนบ้านระโนด (ธัญเจริญ) 
โรงเรียนที่ผมเรียนตอน ป.1-4 กรรมการมาปรึกษากัน ให้ผมช่วยทำสมุดภาพ ทำไป 
200 กว่าหน้า ใช้ภาพจากที่เก็บ ๆ กันมา ถือว่าเป็นความภูมิใจถึงเราเป็นคนห่างไกลก็จริง 
แต่เราชอบการทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย

       “ระโนดมีสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง ผมต้องขอเล่าให้ฟัง คือเมื่อก่อนบ้านมีสองชั้น 
พ่อผมจะอุ้มผมขึ้นไปบนระเบียง แล้วก็ชี้ไปที่ทุ่งนา ตรงข้ามที่คลองกั้นอยู่ ถัดจากนั้นเป็นที่นา 
แกก็บอกว่า สมัยก่อนในทุ่งนาแถบเหนือทะเลสาบสงขลามีช้างชนิดหนึ่ง เป็นช้างขนาดเล็ก
กว่าช้างทั่วไป เรียกกันว่า ช้างค่อมหรือช้างแกลบ ห้องสมุดเล็ก ๆ ที่ผมทำบนชั้น 2 ของบ้าน มีหนังสือระโนดสังสรรค์ปี 2511 คุณโกวิทย์ บัวทองจันทร์ เขียนหนังสือ แล้วก็มีคนเอาไปทำรายการวิทยุ คือเขาเอาสารคดีไปแปลงเป็นบทสนทนาวิทยุ ชื่อเรื่อง ช้างทุ่งระโนด ผมอ่านแล้วประทับใจมาก อยากจะเห็นตัวจริง
แต่ช้างพวกนี้สูญพันธุ์หมดแล้ว มันถูกยิง ถูกฟัน ถูกแทง 
ในปี 2480 กว่า ๆ นี่เอง ผมรู้สึกเสียดาย เลยพยายามออกไปตามหา ในปี 2522 ผมก็ลงไปถามคนเก่า ๆ ว่า
ช้างแกลบหน้าตาเป็นอย่างไร เคยเจอที่ไหน และจนวันนี้
ผมก็ยังเอ่ยถึงเรื่องนี้อยู่ และก็ยังอยากกระตุ้นให้มีคนไปขุดโครงกระดูกช้างแกลบขึ้นมา เพราะรู้แหล่งแล้วว่า
มีคนฝังกระดูกลูกช้างไว้ครับ แต่ยังไม่เจอนักโบราณคดีที่อยากทำ เพราะขนาดไดโนเสาร์อายุร้อยล้านปีแล้วยังขุดได้ แต่ช้างแกลบผ่านมายังไม่ถึงร้อยปีเลย ทำไมจึงไม่มีคนขุด อันนี้เป็นเรื่องคาใจผมมาก

       “อีกเรื่องหนึ่ง พอผมเรียนที่ธัญเจริญจบ แล้วก็มาต่อระโนดวิทยามูลนิธิ ซึ่งต้องบอกว่า เป็นโรงเรียนที่ผมภูมิใจเช่นเดียวกัน คือ มีครู 4 สหาย อายุ 25-26 ปีเอง 
มีความคิดที่จะสร้างโรงเรียนขึ้นเพื่อให้ชาวระโนด 
ที่ไปมาลำบากในการไปเรียนในจังหวัดได้เรียนที่ใกล้บ้าน ปรากฏว่าทั้ง 4 คนสามารถที่จะก่อตั้งโรงเรียนนี้ได้ 
ตั้งแต่ปี 2480 และผมก็ได้เรียนที่นี้ ตอนหลังโรงเรียนนี้
ก็ร้างไป แล้วก็ยกให้ทางรัฐบาล แล้วรัฐบาลก็ย้ายไปตั้งอีกที่หนึ่ง ที่เดิมตรงนี้ 16 ไร่ก็ยังว่างอยู่ วันหนึ่งมี
พี่ประเสริฐ อุปถัมภ์ ก็โทรมาบอกว่า เขาคุยกับเพื่อน ๆ 
ว่าอยากใช้พื้นที่ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ ทำเป็นสวน 
คิดกันว่าจะชื่อสวนอะไร ผมก็ตอบโทรศัพท์เดี๋ยวนั้น
เลยว่า ตั้งชื่อว่า สวนบูรพาจารย์ เพื่อรำลึกถึงครูเก่า ตอนหลังคุณถาวร เสนเนียม เป็นศิษย์เก่าก็หาเงินมาช่วยสร้างจนเสร็จ มีรูปปั้นครูทั้ง 4 ท่าน และก็มีพิพิธภัณฑ์ของระโนด ซึ่งก็มีผมเป็นบ.ก. อยู่ด้วย พอจบ
จากระโนด ก็มาต่อ ม.ศ.1 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ 
เป็นโรงเรียนที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เคยเรียนโรงเรียนนี้ ผมก็ได้ทำหนังสือให้โรงเรียนเก่า
หลายเล่มเช่นเดียวกัน รวมสมุดภาพอยู่หลายเล่ม 
ไม่ต่ำกว่า 8-9 เล่ม จากนั้นก็มาต่อ โรงเรียนวรนารีเฉลิม 
เป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด 2 ปี แล้วก็มาเรียนรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปี 2520 ก็รับปริญญา หลังเพื่อน
ไปปีหนึ่งครับ แล้วก็ออกมาทำงานเขียนหนังสือ”

 

 

ตอนเข้ามากรุงเทพฯ สมัยก่อนสนามหลวงเป็นยังไง?

       “สนามหลวงเป็นสนามกว้าง ๆ เมื่อรัชกาลที่ 1 สร้างกรุงรัตนโกสินทร์มา ก็สร้างสนามหลวงขึ้นมาด้วยเพื่อเป็นที่ตั้งงานพระเมรุ หรือว่าจัดงานอะไรต่าง ๆ 
แต่ว่าสมัยก่อนสนามหลวงมีแค่ครึ่งเดียวของที่เห็นในปัจจุบัน ปัจจุบันเขาว่ามีประมาณ 66 ไร่ เพราะฉะนั้น
สมัยก่อนมีครึ่งเดียวก็คือ 30 กว่าไร่ คือด้าน
พระบรมมหาราชวัง อีกครึ่งหนึ่งเป็นวังหน้า น้องชายของรัชกาลที่ 1 อยู่ ตอนหลังรัชกาลที่ 5 ก็รื้อออกหมด 
สนามหลวงเลยกว้างขึ้นมาเป็นรูปวงรีเหมือนในปัจจุบัน ในยุคกลางรัชกาลที่ 5 ก็คือประมาณปี 2430 สนามหลวงเป็นที่จัดงานพระเมรุเป็นหลัก ถือว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มโหฬารมาก

       “ทีนี้ตอนหลังเวลาที่ว่างจากงานพระเมรุ ก็เป็นที่ว่างบ้าง เป็นที่เล่นว่าวบ้าง เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจบ้าง 
ในช่วงจอมพลประพาส จารุเสถียร ปี 2490 ชาวบ้านก็เริ่ม
ไปขายหนังสือหลังกระทรวง ตอนหลังถูกตำรวจจับ 
ชาวบ้านเลยมาร้องขอว่า ให้ช่วยจัดที่ทางให้หน่อย ยุคนั้น
ตลาดนัดอยู่ที่สวนสราญรมย์ครับ มีหลักฐานจากหนังสือปัญญา-เรณูเที่ยวตลาดนัด ตอนหลังก็มีการจัดระเบียบขึ้น เริ่มมาขายแถวแม่พระธรณีบีบมวยผม

       “ส่วนตลาดนัดสนามหลวงน่าจะเกิดในปี 2500 กลายเป็นตลาดนัดที่มีชื่อเสียงขึ้นมา จนกระทั่งถึงปี 2525 มีการฉลองกรุง ก็ต้องย้ายไปอยู่ที่สวนจตุจักร ก็เป็นอันว่าจบตำนานตลาดนัดสนามหลวงในปี 2525 ถามว่าตลาดนัดสนามหลวงสนุกมั้ย ต้องบอกว่าสนุกมากครับ เพราะว่าฝั่งแม่พระธรณีก็มีร้านขายหนังสือเก่า 
กลางสนามหลวงมีร้านขายของเก่า ถ้วยโถโอชาม แปลก ๆ 
เก่า ๆ พวกผ้า เสื้อ สัตว์เลี้ยง ของกิน ก็ซื้อได้ที่นั่นเลย 
วันเสาร์อาทิตย์จะเป็นวันที่ตลาดนัดสนามหลวงครึกครื้นมาก มีคนไปต่อรถเมล์กันเยอะแยะ สมัยก่อนถึงมีการพูดขำ ๆ ว่า ให้ไปเจอกันที่ตลาดนัดสนามหลวงไปต่อรถเมล์ที่นั่น จะได้เจอกัน

       “เวลาไม่มีตลาดนัดก็มีเล่นว่าว พนันว่าว มีเมี่ยงคำ
ไปขาย มีคนปูเสื่อ มีคนเดินขายปลาหมึกย่าง มันก็เป็นความรื่นรมย์ของคนยุคนั้น แต่ข้อเสียคือความเฉอะแฉะ ตอนหลังรัฐบาลก็พยายามที่จะปรับให้ดูดีขึ้น ให้เป็นระเบียบ แล้วมันก็สวยงามขึ้นจริง ๆ สนามหลวงมีหน้าที่
รับใช้แผ่นดินมานานมากนะครับ 200 กว่าปีก็ยังรับใช้
อยู่จนถึงวันนี้ ผมคิดว่าเป็นสนามประวัติศาสตร์ มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นในที่นั่นมากมาย ทั้งโศกทั้งเศร้า ทั้งดีใจ และเป็นเรื่องที่น่าค้นคว้าด้วยครับ

แล้วทำไมตกกลางคืนต้องมีผู้หญิงมาขายบริการตามต้นมะขาม?

       “กรณีที่มีคนมาขายบริการ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็แล้วแต่ ผมก็เห็นใจนะครับ ผมไม่เห็นว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องตลก สำหรับคนที่จะไปเรียกว่าเขาเป็น
ผีขนุนหรือผีโคนมะขาม ผมคิดว่าเขาพ่ายแพ้ต่อชีวิต 
ริมคลองคูเมืองเดิมที่บางคนอาจจะเรียกคลองหลอด จริง ๆ ต้องเรียกคลองคูเมืองเดิม ถ้าคลองหลอดต้องเป็น
คลองที่ไปเชื่อมกับคลองรอบกรุง มีหลอดราชบพิธ
กับหลอดเทพธิดา ตรงโรงแรมรอยัลรัตนโกสินทร์ 2 หลอด 
เป็นหลอดตรง ๆ คนเหล่านี้คงมีชีวิตอีกแบบหนึ่ง 
ส่วนใหญ่เขาก็ไปอยู่ที่โคนต้นไม้มืด ๆ ที่ต้นขนุน
ริมคลองหลอด ริมคลองคูเมืองเดิม แล้วก็ไปหลับนอนตามแต่เขาจะหาโรงแรมแถวนั้น ผมว่าเป็นวิถีชีวิตของคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งผมเห็นใจครับ ถ้าเขามีทางที่ดีกว่านี้ผมว่าเขาก็น่าจะไป”

บ้านอาจารย์อยู่ไหน ตอนมาเรียนจุฬาฯ?

       “ผมมาเรียนจุฬาฯ ปี 2515 มาพักที่บ้านของพี่สาวคนที่สองครับ ที่บางโพ สมัยก่อน
นั่งรถเมล์ทหาร หรือไม่ก็ขึ้นสาย 16 วิ่งจากเตาปูนไปจุฬาฯ นั่งรถ 2 สายนี้เป็นหลัก เวลาไปสนามหลวงก็นั่งรถสาย 64 คนขับและกระเป๋ารถเมล์แต่งชุดสีขาว สะอาดตามาก 
เป็นรถเมล์ที่น่าประทับใจมาก ตอนเรียนปี 2 ก็ย้ายมาอยู่หอพักจุฬาฯ อยู่ที่นี่ 4 ปี 
มีกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นหลายอย่างครับ”

จบจากจุฬาฯ เรียนรัฐศาสตร์ ทำไมเบนเข็มมาเป็นนักเขียน?

       “จริง ๆ แล้วผมอยากเขียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนมันมีคำว่า นักประพันธ์ไส้แห้ง 
คำนี้แหละที่สกัดคนไว้เยอะเหมือนกันครับ แต่ผมชอบ ก็เลยเขียนหนังสือมาตลอด 
ได้เงินมาก็เอามาซื้ออุปกรณ์ถ่ายรูป ซื้อฟิล์ม ซื้อเทป ตั้งแต่ทำเรื่องสั้นลงนิตยสารชัยพฤกษ์ เรื่องละ 30 บาทเมื่อปี 2510 พี่เขยผมเป็นปลัดอำเภอ บอกว่า ถึงแม้จะเป็นปลัด 
เป็นตำรวจ หรือเป็นข้าราชการ ก็เขียนหนังสือได้ ผมก็เลยเรียนรัฐศาสตร์จุฬาฯ จะได้ใช้
หรือไม่ได้ใช้ก็ตาม มันมีประโยชน์ทั้งนั้นในการได้เรียนมหาวิทยาลัย ต่อมามีอาจารย์ผม
ท่านหนึ่ง ท่านแนะนำให้ผมลองไปสมัครงานหนังสือพิมพ์เจ้าพระยา รัฐบาลยุค
คุณธานินทร์ กรัยวิเชียร ปี 2520 ก็ได้เป็นนักเขียนลงหนังสือพิมพ์ เป็นงานสารคดีเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่ผมอยากทำนั่นแหละครับ ตอนหลังถูกปฏิวัติ แต่ผมก็ยังเขียนหนังสืออยู่ ทำหนังสือเศรษฐกิจการเมืองอยู่เป็นปี

       “ต่อมามีเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนมหาวชิราวุธด้วยกัน เขาจบโบราณคดี ได้งานที่กรมศิลปากร แล้วก็ถามผมว่าอยากไปอยู่ บางกอกรีดเดอร์มั้ย ผมก็ไปครับ อยู่ประมาณปีกว่า ตอนหลังก็ลาออก ตอนนั้นเขียนหนังสือไปด้วย ในช่วงที่อยู่ นสพ.เจ้าพระยา ก็ได้เขียนหนังสือชื่อ เพลงนอกศตวรรษ ทำเกี่ยวกับเรื่องเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ซึ่งมันกำลังถูกลืมหายไป ผมก็ออกไปตะลุยหาพ่อเพลงแม่เพลง รวมเพลงประมาณ 22 เพลง ต่อมามติชนมาพิมพ์ซ้ำผมแก้เป็น 45 เพลง ก่อนหน้านั้นผมทำ เพลงยังไม่สิ้นเสียง ทำเป็นหนังสือแจกงานปิยะมหาราช นี่เป็นหนังสือเล่มแรกของผม ตอนนี้เขียนมา 190 กว่าเล่ม ผมก็ทำหนังสือ อยู่กับหนังสือมาตลอดครับ

       “ตอนนี้กำลังเขียนหนังสือและรวมงานเขียน เรื่อง ป้าสำอางค์ วนิพกพเนจร ของ แอ๊ด คาราบาว อันนี้ก็เขียนมา 2-3 ปีแล้ว พยายามที่จะให้ได้ตีพิมพ์ กำลังขัดเกลาแล้วก็หาคนวาดภาพประกอบ อีกสองสามเล่ม คือ ชุดขนมและข้าวของ และก็งานพิมพ์คลาสสิก นอกนั้นก็เป็นสมุดภาพ ช่วยงานแพทยสภา ทำสมุดภาพ การแพทย์และ
การศึกษาสาธารณสุข ให้ดูภาพแปลก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์ และอีกอย่างหนึ่งคือเขียนเฟซบุ๊ก เขียนเป็นประจำครับ ไม่อยากปล่อยให้เวลาว่าง เขียนเรื่องที่มีความรู้
หรือเรื่องที่พอมีสาระก็โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก”

 

 

ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ กับเมืองโบราณ อาจารย์มีหน้าที่อะไร?

       “เมืองโบราณที่จริงก็ไปอยู่ลอย ๆ ครับ เขาก็ไม่ได้มอบหมายงานอะไรมากมาย อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ผมอ่านหนังสือท่านมาตั้งแต่เรียนมัธยม ประทับใจมาก 
อ่านแล้วซาบซึ้งมากครับแล้วก็เสียดายที่วัดวาอาราม 
ที่พระท่านรื้อกุฏิ วิหาร เจดีย์ ศาลา ท่าน้ำเก่า ๆ ออก เพื่อสร้าง
ของใหม่ สะเทือนใจครับ ผมเข้ามากรุงเทพฯ ปี 2515 ก็เลยใช้หนังสือศิลปะ ของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ออกเดินสำรวจ ขึ้นรถเมล์ไปสำรวจวัดต่าง ๆ อาจารย์สำรวจไว้ 200 กว่าวัด ผมสำรวจไป 80 กว่าวัด วันไหนว่าง ๆ ผมก็ออกไป ไปเดินริมคลองมหานาค นั่งเรือสำรวจไปเรื่อย ทำแผนที่แล้วบันทึก ถ่ายรูปมา ทำแบบนี้มาตลอดครับ

       “อยู่ศูนย์สังคีตศิลป์มา 23 ปี อยู่มาตั้งแต่แรกเปิดเลย 
เริ่มเปิดครั้งที่ 1 ให้คนมาดูทุกวันศุกร์เป็นวันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2522 รายการครั้งที่ 1 เพลงอีแซว ที่เขาให้มาช่วย 
เพราะผมคุ้นเคยกับพวกเพลงพื้นบ้าน ผมออกไปสำรวจ 
ได้รู้จักแล้วก็เคยสัมภาษณ์ป้าชื้น หุ่นกระบอก, ครูเทียบ คงลายทอง, ตาคม ยายต่วน เพลงฉ่อย, ครูพูน เรืองนนท์ ละครชาตรี หนังตะลุงกรุงเทพฯ แล้วก็มีหน้าที่มาจัดรายการเกี่ยวกับพื้นบ้านพื้นเมือง และอีกศุกร์หนึ่งก็คือ ศุกร์สนทนาวิชาการ จัดวันศุกร์ที่ 2 ของเดือน มีหน้าที่เชิญคนที่มีความรู้
เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์มาขึ้นเวที ไม่ว่าจะเป็นพ่อเพลง แม่เพลง จำอวด หรือว่านักวาดการ์ตูน อย่างอาจารย์ปยุต เงากระจ่าง รายการศูนย์สังคีตศิลป์มีประมาณพันกว่ารายการ เป็นคลังความรู้มหาศาลเลย มันมีชีวประวัติของคนเหล่านี้อยู่ในเทปที่ศูนย์สังคีตศิลป์เยอะมากนะครับ เอาแฟลชไดร์ฟไปขอได้ที่ ชั้น 2 ธนาคารกรุงเทพ สาขาตะนาวครับ”

นอกจากเขียนบันทึกประวัติศาสตร์แล้วยังทำบ้านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย?

       “ตอนนี้ผมดูแลบ้านพิพิธภัณฑ์มาพร้อมเพื่อน ๆ 17 ปี
แล้วครับ บ้านพิพิธภัณฑ์เปิดครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 
4 กรกฎาคม 2544 เปิดทุกเสาร์-อาทิตย์ เพราะเป็นงานอาสาสมัคร อาสาสมัครบางคนเป็นอาจารย์ เป็นนิสิต 
มีประมาณ 10 กว่าคนเท่านั้นเอง มีหน้าที่เปิดปิดประตู ปัดกวาด
เช็ดถู ผมเองก็ไปกวาดถนน ทำความสะอาดบ้านเรือนรอบนอก 
เราตั้งบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมา เพราะว่าสมัยก่อนเรามีพิพิธภัณฑ์ไว้เก็บงานเก่า ๆ โบราณ จารึก พระพุทธรูป 
งานประณีตศิลป์ อันนี้เป็นสิ่งที่มีค่ามาก เพราะวังเก่า ๆ ที่ร้างไป 
หรือว่าย้ายออก ก็ต้องเก็บของประณีตศิลป์เหล่านั้น
จัดแสดงให้ประชาชนได้ชม แต่ชีวิตชาวตลาด ชาวเมืองเราไม่ค่อยเห็นคุณค่า เพราะคิดว่าเดินไปในตลาดก็เห็นแล้ว 
เราก็เลยลืมเก็บกล่องสบู่เก่า ๆ ลืมเก็บของเล่นเก่า ๆ ลืมเก็บสมุด ปากกา ดินสอ ยางลบ แล้วก็ลืมเก็บอีกสารพัดอย่าง ที่มันเป็นของใกล้ตัว เลยคิดว่าจะหาเมื่อไหร่
ก็ได้ แต่ในที่สุดมันก็หาไม่ได้แล้ว ผมจะบอกให้ว่ากล่องขนมที่ออกแบบสวย ๆ ในวันนี้ลองเก็บไว้ ไปเปิดอีก 10 ปีข้างหน้า หรือแม้แต่เดือนหน้ายังหากลับมา
ไม่ค่อยได้เลย

       “ผมก็เลยตั้งคำขวัญขึ้นมาว่า ‘เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า’ คำนี้ใช้มาตั้งแต่จัดงานอวดของตอนทำนิทรรศการอยู่ศูนย์สังคีตศิลป์ ตัวบ้านพิพิธภัณฑ์นั้น ผมอยากเห็นพิพิธภัณฑ์แบบนี้มากนะครับ แต่คงไม่มีใครคิดว่าจะต้องมีพิพิธภัณฑ์เก็บชีวิตชาวตลาด
ชาวเมือง เวลาไปพิพิธภัณฑ์จะเห็นแต่พระพุทธรูป ทำไงถึงจะมีพิพิธภัณฑ์เก็บของแปลก ๆ สวย ๆ เก็บวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์เก่า ๆ ให้ดู ก็เลยชักชวนเพื่อนฝูง
มาช่วยกันทำพิพิธภัณฑ์ แต่ตอนนั้นไม่มีอะไรทั้งสิ้น เริ่มต้นที่ 0 เลย มีเพื่อนคนหนึ่ง
เสนอว่าให้จัดนิทรรศการ เลยเกิดงานอวดของเล่นไขลานขึ้น อันนี้มีนัยยะนะครับ อวดของเล่นไม่ได้เอามาประชันกัน แต่เป็นการไขลานให้เกิดความคิดในการเก็บข้าวของแบบนี้ เริ่มขายความคิดที่ศูนย์สังคีตศิลป์ เพราะผมนั่งทำงานอยู่ที่นั่น
มีเวทีอยู่แล้ว จัดครั้งแรกเมื่อ 8 มกราคม 2531 ครั้งที่ 2 วันที่ 8 เมษายน 2531 คนมาดูกันเยอะมากครับ เพราะอวดของ 500 จำพวก ใครมีอะไรก็เอามาก็โชว์กันได้ 
พอโชว์เสร็จก็เอากลับไป

       “ช่วงปี 2534 อาจารย์สุกรี เจริญสุข มาซื้อที่ดินในซอย ศาลาธรรมสพน์ 3 อานิสงส์ของการจัดงานส่งผลมาถึงตอนนี้ คือ คุณป้อม ฝ่ายขายที่ดิน เขาเคยไปดู
นิทรรศการครับ เขาก็เลยบอกเดี๋ยวจะขอที่จากเจ้าของที่ดินให้เป็นส่วนรวม 1 แปลง 
จะได้ทำพิพิธภัณฑ์กัน แล้วก็เริ่มเล่นดนตรี ฉายหนัง ทำอะไรต่ออะไรกัน จนได้เงิน
มาสร้างอาคารบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ของที่อยู่ในนี้ได้มาจากการบริจาคทั้งนั้น เมื่อก่อน
โหลงเหลง ๆ เดี๋ยวนี้ของเต็มไปหมดแล้วครับ เปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตอนนี้เราก็วางแผนขยายกันอยู่ ซึ่งคราวนี้ใหญ่เป็นโกดังเลยก็ว่าได้ กำลังอยู่ในช่วง
ตกแต่งและเตรียมการ ก็เอาของเก่าของสะสมไปโชว์คล้ายกับที่นี่แต่เยอะกว่าใหญ่กว่า 
ครอบคลุมหลายหมวดมากกว่า ก็ยังไม่รู้ว่าจะเสร็จพร้อมเปิดให้บริการเมื่อไหร่นะครับ 
ยังไงก็ฝากติดตามด้วยครับ”

 

TEXT : Aumlove & Sasatorn
PHOTO : Nutchanun Chotiphan

#mixmagazinethailand #Interview #เอนกนาวิกมูล #ประวัติศาสตร์ #พิพิธภัณฑ์