สายน้ำที่ไหลกลับ บทที่สอง อยู่กับหงส์ ก็เป็นหงส์ อยู่กับกา ก็เป็นกา
บ้านในคลองบางหลวง...ไม่ใช่เป็นบ้านของย่า แต่เป็นบ้านเจ้าของนามสกุล “บุนนาค” ที่สืบสายมาจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อย่าออกเรือนมาแต่งงานกับปู่ ขุนนางหนุ่มกรมนครบาล ปู่ได้รับเงินประทานจาก “กรมพระนเรศวรฤทธิ์” ให้ไปก่อร่างสร้างตัว ปู่จึงย้ายจากบ้านพักในวังมะลิวัลย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยามาอยู่ในคลองบางหลวง แต่ปู่เลือกที่ดินริมคลองสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาขาที่แยกจากคลองบางหลวงมาทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองสาน ซึ่งเป็นความต้องการของย่า ที่อยากจะอยู่ไม่ไกลจากบ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งอยู่ริมคลองบางหลวง
บ้านที่ปู่สร้างเป็นบ้านไม้ ทรงมะนิลา ตามฐานะของขุนนางผู้น้อย ย่าเคยเล่าว่าในยุคสมัยนั้น บ้านที่สร้างด้วยอิฐก่อถือปูน ที่เรียกว่าตึกนั้น ล้วนแต่เป็นบ้านเจ้านาย ปู่เจียมตัวว่ามาจากชาวสวนเมืองนนท์ จึงเริ่มต้นชีวิตเรียบง่าย บ้านหันหน้าเข้าสู่คลอง เหมือนบ้านปู่ที่อยู่ริมคลองบางซื่อ ตลาดขวัญ นนทบุรี ส่วนหลังบ้านก็เป็นสวนปลูกต้นไม้มากมาย ร่วมทั้งผลหมากรากไม้ มีมะม่วงยายกล่ำ ทุเรียนก้านยาว มะปราง มะตาด ที่ย่าเล่าว่าปู่ขนเอามาจากเกาะเกร็ด เพราะเป็นไม้ผลของคนเมืองนนทบุรี อยากให้ย่าที่เป็นสาวเมืองหลวงได้ลิ้มรส
ความจริงย่าก็ไม่ใช่คนคลองบางหลวงมาก่อน ถ้าจับความเล่าขานกันมา บรรพบุรุษย่าเป็นคนบางปลาสร้อย หรือเมืองชลบุรี ย่าเล่าว่าคนเมืองนี้เป็นที่รู้กันมาช้านานว่าเป็นเมืองน้ำเค็ม ชีวิต คนที่นั่นจึงเข้มข้น ออกไปทางนักเลง เป็นแหล่งซ่องสุมโจรทั้งทางบกทั้งทางทะเล หัวหน้าโจรที่มีชื่อเสียงในยุคสมัยกรุงแตก เรียกกันว่า “นายทองอยู่ นกเล็ก” เมื่อสมัยที่พระเจ้าตาก (สิน) รวบรวมคนไทยกู้ชาติจากไอ้พม่าข้าศึก เคยเสด็จมาเมืองบางปลาสร้อย ชักชวนให้คนไทยรักชาติมารวมกำลังกันสู้ศึก นายทองอยู่ นกเล็ก ตระบัดสัตย์ ประพฤติตัวเป็นโจร พระองค์จึงสั่งประหารชีวิตที่วัดใหญ่อินทาราม ในคราวนั้นบรรพบุรุษของย่าตามพระเจ้าตาก (สิน) มาช่วยกู้ชาติ พระองค์จึงโปรดให้มาอยู่รวมกันในคลองบางหลวงคลองใหญ่นี้อยู่ข้างพระราชวัง ปากคลองมีป้อมปืนที่เรียกกันว่า “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” ครอบครัวของย่าเป็นคนปากคลองบางหลวง หรือที่มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า “คลองบางกอกใหญ่”
ในคลองบางหลวง จึงเป็นที่อยู่อาศัยของคนที่อพยพมาจากหลายที่หลายทาง นับตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาแตก ด้วยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของ “พระเจ้ากรุงธนบุรี” ตระกูลของย่าเป็นคนบางปลาสร้อย เชื้อสายจีน กราบไหว้ “ซำปอกง” ที่วัด “กัลยาณี” ปากคลอง ตรงข้ามกับพระราชวังของพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งมีเชื้อสายเป็นจีนเช่นกัน พวกคนไทยเชื้อสายฝรั่งโปรตุเกส มาจากอยุธยาก็มารวมอยู่ที่ใกล้คลอง มีวัดซางตาครู๊ส ไหว้พระเยซู ถัดเข้าไปในคลองก็จะเป็นหมู่ของคนไทยเชื้อสายอิสลามกราบไหว้ “พระอัลลอฮ์” ลึกเข้าไปในคลองก็จะมีคนมอญไหว้ “พระพุทธ” ทุกคนทุกศาสนามารวมกันอยู่ในคลองบางหลวง อย่างมีสันติสุขทั่วหน้า
เรื่องราวหลากหลายที่ย่าเล่าให้ฟังยังจำได้
เหมือนประโยคที่ย่าเคยพูดให้ได้ยินเสมอว่า
อยู่กับหงส์ก็เป็นหงส์ อยู่กับกาก็เป็นกา
เคยถามย่าว่าหงส์กับกาแตกต่างกันอย่างไร?
คำอธิบายของย่าที่ว่าไว้ว่า ถึงจะเป็นนก บินได้ แต่พฤติกรรมของหงส์กับกานั้นแตกต่างกัน หงส์เลือกกินเลือกอยู่ ไม่สมสู่กับนกอื่น ถือศักดิ์ศรีเป็นสำคัญแม้ตัวตายก็ไม่คลายสัจจะ หงส์จึงได้รับการสรรเสริญว่าเป็นนกชั้นดีมีสกุลรุนชาติ ต่างกับกา เป็นนกที่ไม่เลือกกินเลือกอยู่ ไม่ถือศักดิ์ศรี ไม่มีสัจจะ ขอเพียงว่ามีชีวิตรอดไปวัน...วัน พร้อมตระบัดสัตย์ได้ทุกสถานตามนิทานที่เล่าขานกันมา กาจึงเป็นนกที่ถูกดูหมิ่นดูแคลน ขนของกาจึงเป็นสีดำ เป็นสีแห่งความเศร้าหมอง ไม่งดงามเท่ากับขนของหงส์จึงเป็นสีทอง เป็นสีสันความสุขของผู้ประพฤติตนดี
เรื่องหงส์กับกา ย่านำมาเปรียบเทียบและนำมาอธิบายให้ได้เข้าใจ ย่ายังเคยพาไปเที่ยวชม “วัดหงส์รัตนาราม” ที่อยู่ปากคลองบางหลวง วัดตรงกันข้ามบ้านดั้งเดิมของย่า ชี้ชวนให้ดูเลาหงส์ทองคู่ ตั้งอยู่หน้าวัด และหน้าบันพระอุโบสถซึ่งเป็นรูปหงส์เช่นกัน ย่าบอกด้วยว่า “คนคลองบางหงส์” ถือว่าวัดหงส์เป็นเครื่องหมายให้คนในคลองรำลึกนึกถึงว่า เราเลือกอยู่ในถิ่นฐานบ้านช่องที่ดีเช่นพญาหงส์ เราจะไม่บินต่ำร่อนลง เยี่ยงอีกาไร้สกุลรุนชาติ คนคลองบางหลวง จึงรักในศักดิ์ศรี เยี่ยงบรรพบุรุษที่เลือกสถานที่แห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสร้างบ้านเมืองใหม่ ยามเมื่อบ้านแตกสาแหรกขาดเมื่อครั้งกรุงเก่าที่หมดสิ้นไป