พรปีใหม่
ผมได้ยินเพลง “พรปีใหม่” ในช่วงเทศกาลปีใหม่มาทุกปี ตั้งแต่จำความได้ แต่ได้ยินด้วยความเข้าใจผิดมาตลอดด้วยความเขลาว่า เป็นผลงานเพลงของครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งคณะสุนทราภรณ์
จวบจนเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่เราเรียกกันติดปากว่า “ในหลวง” บ้าง “พระเจ้าอยู่หัว” บ้าง ทรงเสด็จสวรรคตไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพระราชประวัติพระราชกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพ ฯลฯ ที่หลายคนไม่เคยรู้ ไม่เคยทราบหรือเคยทราบแต่ลืมไปแล้ว ได้ถูกหยิบยกมาบอกเล่า ถ่ายทอดสู่สาธารณชนอย่างแพร่หลายโดยละเอียดในหลากหลายแง่มุม ผ่านสื่อมวลชน
ผมจึงได้พบความจริงว่า แท้จริงแล้วเพลงพรปีใหม่นี้ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ในบรรดาเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีมากมายถึง ๔๘ เพลง และทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2494 เมื่อคราวที่เสด็จนิวัตพระนคร (เสด็จกลับจากต่างประเทศ) มาประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เพราะทรงมีพระราชประสงค์จะพระราชทานพรปีใหม่แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงขึ้นก่อน แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิรินิพนธ์คำร้องเป็นคำอวยพรปีใหม่ ซึ่งก็คือเนื้อเพลงที่เราได้ยินกัน
เมื่อเสร็จแล้วจึงพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ.2495 เป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นทุกปีชาวไทยก็ได้รับพระราชทาน “พรปีใหม่” ผ่านเสียงเพลงนี้ โดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง เรื่อยมา
นอกเหนือจากทรงพระราชทานพรปีใหม่ผ่านบทเพลงแล้ว ยังทรงส่งความปรารถนาดีถึงพวกเราผ่าน ส.ค.ส.พระราชทาน ที่ทรงปลีกเวลาจากพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่มีมากมาย มาทรง “ปรุ” แถบโทรพิมพ์หรือเทเล็กซ์ เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2530 ซึ่งเจ้าเทเล็กซ์ที่ว่านี้ ใครเกิดไม่ทันแล้วสงสัยว่าคืออะไร ก็ไม่ต้องกลุ้มใจขมวดคิ้วครับ ไปถามอากู๋ กูเกิ้ลได้ พิมพ์คำว่า “TELEX คืออะไร” ก็จะทราบคำตอบเอง
แม้ว่าต่อมาจะทรงปรับวิธีประดิษฐ์ ส.ค.ส.ของพระองค์มาใช้คอมพิวเตอร์ ก็ยังคงแนวคิดหรือคอนเซ็ปต์เดิม คือจะทรงประมวลเหตุการณ์บ้านเมือง ปัญหาและอุปสรรคที่ประเทศต้องพบเจอในปีที่ผ่านมา อันแสดงถึงความห่วงใยในพสกนิกรของพระองค์ (และอีกเช่นกัน) ที่พวกเราก็ไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องส.ค.ส. เว้นแต่จะได้อ่านหนังสือพิมพ์ในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เพราะหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ นิยมนำไปตีพิมพ์ในวันแรกของปี
ส.ค.ส. หรือบัตรอวยพรปีใหม่พระราชทานที่ผมจำได้ และชอบมากเป็นพิเศษ คือของปี พ.ศ.2542 อันเป็นช่วงที่ประเทศเราอยู่ในยุคหลังฟองสบู่แตก เศรษฐกิจย่ำแย่ หลายบริษัทล้มละลาย ผู้คนตกงาน (คล้าย ๆ กับปีนี้แหละครับ) จึงทรงประดิษฐ์ ส.ค.ส. เป็นภาพของพระมหาชนกกำลังว่ายน้ำในมหาสมุทรหลังจากเรือแตก แล้วมีนางเมขลาเหาะผ่านมาแล้วถามเพื่อลองใจว่า ท่านจะว่ายไปทำไมให้เหนื่อยเปล่า ไม่มีประโยชน์ ในเมื่อมองไม่เห็นฝั่งเลย
พระมหาชนกจึงตอบว่า ถึงจะมองไม่เห็นฝั่งก็จะว่ายต่อไป เพราะ “โภคะทั้งหลาย มิได้สำเร็จด้วยเพียงคิดเท่านั้น” นางเมขลา เป็นการให้กำลังใจเหล่าพสกนิกร ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ให้พยายามอดทนมีความเพียรพยายามทำหน้าที่การงานใช้ชีวิตต่อไปให้ดีที่สุด เพราะความสำเร็จ ย่อมไม่เกิดด้วยการคิด
ปี 2559 ที่ผ่านมา น่าจะเป็นปีที่ยากลำบากและท้าทายที่สุดปีหนึ่งในชีวิตของหลายคน ส.ค.ส. ประจำปี 2542 ดังกล่าว จึงน่าจะเหมาะสมที่จะอัญเชิญมาฝากคุณผู้อ่าน MiX ทุกท่าน ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพกายและใจ แข็งแรง มีสติ มีปัญญา มีความเพียร และอดทน ที่จะผ่านอุปสรรคทั้งหลายไปได้ด้วยดี
สุขสันต์วันที่เรายังมีลมหายใจอยู่ จนสามารถพูดคำว่า “สวัสดีปีใหม่ครับ”