สร้างคนแบบ สิงคโปร์ เวียดนาม

สร้างคนแบบ สิงคโปร์ เวียดนาม

ผลการทดสอบความสามารถของเด็กซึ่งเขาจัดทำกันทุก 3 ปีจากเด็กอายุ 15 ปี จำนวนกว่าครึ่งล้านคนทั่วโลกที่เรียกว่า PISA หรือ โครงการประเมินนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Students Assessment) ของปีล่าสุดคือ พ.ศ.2558 ออกมาแล้ว ผมขอเลือกเฉพาะประเทศที่น่าสนใจมาให้ดูกันนะครับ

เห็นแล้วน่าตกใจใช่มั้ยครับ เพราะผลการทดสอบของเด็กไทยเราตกทั้งสามวิชาอีกแล้ว ดูจากคะแนนย้อนหลังไปอีกสองครั้ง เด็กไทยเราก็ได้ประมาณนี้แหล่ะครับ คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหรือสอบตกทั้งสามวิชาตลอดเลย ต่างจากสิงคโปร์ซึ่งเคยได้ที่ 5 จากการทดสอบใน พ.ศ.2552 และ ที่ 2 ใน พ.ศ.2555 มาปีนี้คว้าที่ 1 เลย แต่จะว่าไปแล้วผลการทดสอบปีที่แล้วซึ่งสิงคโปร์ได้ที่ 2 แพ้เด็กจีนก็เพราะในปีนั้นจีนเขาทดสอบเฉพาะเด็กในเซี่ยงไฮ้เท่านั้น พอปีล่าสุดจีนเขาเพิ่มเอาอีกสามเมืองคือ ปักกิ่ง, เซียงจู และกวางตุ้งเข้ามา ทำเอาอันดับของจีน ร่วงลงไปอยู่ที่ 10 เลยทีเดียว

แต่ที่ดีขึ้นผิดหูผิตาจนคนทั้งโลกต้องพูดถึงคือเวียดนามซึ่งเพิ่งเข้าร่วมทดสอบ PISA ครั้งแรกในการทดสอบครั้งที่แล้วคือ พ.ศ.2555 ซึ่งปีนั้นเด็กเวียดนามสอบได้ที่ 17 ของโลก ได้คะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ 525 การอ่าน 487 คณิตศาสตร์ 495 สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยและสูงกว่าเมืองไทยซึ่งได้คะแนน 438 / 438 และ 427 ตามลำดับ แต่พอมาปีนี้เด็กเวียดนามสอบได้ที่ 8 ของโลก พุ่งแซงเด็กฮ่องกง จีน เกาหลีใต้ อังกฤษ และเยอรมนีขึ้นมาอย่างน่าอะเมซิ่ง มาลองดูกันครับว่าทำไมเด็กสิงคโปร์และเด็กเวียดนามถึงได้เก่งอย่างนี้

สิงคโปร์นั้นถือว่าการศึกษาคือหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศตามแนวทางที่อดีตนายกฯ ลี กวนยิว วางเอาไว้ให้ การเรียนการสอนแบบ Bilingual โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักและให้เด็กเลือกเรียนอีก3 ภาษา คือ จีนกลางหรือแมนดาริน มลายู และทมิฬนั้น ทำให้คนสิงคโปร์กว่า 90% และสามารถพูดได้สองภาษาหรือมากกว่า ที่สำคัญสิงคโปร์เขาเน้นให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่ชอบและอยากศึกษา ให้ฝึกคิดวิเคราะห์มากกว่าท่องจำ เป็นการสอนแบบ Teach Less, Learn More 

แต่เรื่องสำคัญที่สุดผมว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สิงคโปร์เขาเน้นมาโดยตลอดก็คือมาตรฐานการสอน ซึ่งสิงคโปร์มองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของระบบการศึกษา ดังนั้นตั้งแต่ก่อร่างสร้างประเทศในปี พ.ศ.2508 สิงคโปร์จึงได้ลงทุนอย่างมากและต่อเนื่องเพื่อสร้างมาตรฐานการสอนให้มีคุณภาพสูงที่สุดในโลกให้ได้ โดยเขาทำให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ใช้เงินเดือนและเกียรติมาเป็นปัจจัยดึงดูดคนที่เรียนเก่งที่สุด 5% แรกของประเทศอยากจะมาเป็นครูให้ได้ และกำหนดให้ครูทุกคนจะต้องผ่านการฝึกอบรมที่สถาบันการศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพของครูได้อย่างเต็มที่ ทำให้ครูใหม่ทุกคนมีความสามารถในการสอน และสามารถเดินเข้าสู่ห้องเรียนไปสอนได้ด้วยความมั่นอกมั่นใจ แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือสิงคโปร์เขาทำเรื่องทั้งหมดนี้อย่างต่อเนื่องครับ ถ้าไม่ทำอย่างต่อเนื่องก็จะไม่ประสบความสำเร็จแบบนี้

ส่วนเวียดนามนั้น นักการศึกษาทั่วโลกได้เข้าไปวิจัยและได้ข้อสรุปคล้ายกันว่าปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาคือ วัฒนธรรมของเวียดนาม เช่นความขยันของนักเรียน การทำงานหนักของครู และบทบาทของพ่อแม่

ครูเวียดนามสอนภายใต้ระเบียบวินัยที่เคร่งครัด ทำงานหนัก รับผิดชอบงานสอนเป็นหลัก เน้นผลการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมากซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของโรงเรียนที่ถูกส่วนกลางควบคุมอย่างเข้มงวด นักเรียนเวียดนาม เป็นคนขวนขวายมีความขยันเป็นพื้นฐาน และมีทัศนคติว่าความสำเร็จทางการศึกษาเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของ ชีวิตเขา เด็กเวียดนามจึงทุ่มเทอย่างจริงจังและขยันเรียนมากกว่าเด็กชาติอื่น ๆ ขณะที่พ่อแม่เวียดนามก็มีความคาดหวังสูงกับลูก จึงติดตามผลการเรียนอย่างใกล้ชิด ให้ความร่วมมือกับครูและยังช่วยระดมทุนให้โรงเรียนอีกด้วย

แม้ว่าจำนวนโรงเรียนของเวียดนามจะมีน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ แต่ทุกโรงเรียนกลับมีมาตรฐานสูงเทียบเท่าสากล เช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ แต่คอมพิวเตอร์แทบทุกเครื่องของโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยในเวียดนาม สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านเคเบิลใยแก้วซึ่งรัฐบาลร่วมกับเอกชนมาช่วยกันวางรากฐานเอาไว้ให้ ธนาคารโลกเคยเข้ามาทำการศึกษาและพบว่านักเรียนมัธยมของเวียดนาม 99.9% สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต

เรื่องไอทีกับการศึกษานี้รัฐบาลเวียดนามไม่ได้หยุดอยู่แค่การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตให้สถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่กลับมองไปไกลถึงโครงการมหาวิทยาลัยเสมือนหรือ Virtual University โดยไปขอความช่วยเหลือจากเกาหลีใต้ ให้มาช่วยเหลือในโครงการมหาวิทยาลัยเสมือน Virtual University ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮานอย และโปรแกรม e-Learning ของมหาวิทยาลัยเปิดแห่งฮานอย โดยรัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าที่จะใช้ ICT เพื่อการพัฒนานวัตกรรมและมาตรฐานของการเรียนการสอนให้สูงขึ้นไปอีก และยังมีนโยบายที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทั้งประเทศ โดยตั้งเป้าจะทำให้นักเรียน และประชาชนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่และทุกเวลาที่ต้องการ

เรื่องสุดท้ายที่สะท้อนว่าเวียดนามเขาเอาจริงเอาจังกับเรื่องการศึกษาของประเทศก็คือเรื่องงบประมาณเพื่อการศึกษาครับ แม้ว่าเศรษฐกิจจะพัฒนาน้อยกว่าประเทศอื่น ๆแต่เขาจัดงบประมาณเพื่อการศึกษาสูงมากคิดเป็น 24% ของงบประมาณของรัฐบาล หรือคิดเป็น 6.3% ของ GDP แม้ว่าเมื่อคิดเป็นเม็ดเงินจริง ๆ แล้วจะยังต่ำกว่างบประมาณเพื่อการศึกษาของประเทศอื่น ๆ แต่การใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพรวมกับวัฒนธรรมและยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่ผมเขียนถึงไปข้างต้นของเวียดนามก็ยังเพียงพอที่จะทำให้เด็กเวียดนามเก่งติด 1 ใน 10 ของโลกได้อย่าง ไม่ยากเย็น 

ผลการทดสอบความสามารถของเด็ก