การข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

การข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

ในปี ค.ศ.1987 นั้นประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ปัจจุบันปี ค.ศ.2017 ประเทศไทยยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง โดยมีระดับรายได้ที่ยังห่างจากเกณฑ์ประเทศรายได้สูงอยู่มาก เป็นผลมาจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงในระยะเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งไม่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (innovation-driven economy) ได้ 

สิ่งนี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาหลายประเทศก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
พบว่า มีบางประเทศที่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจให้ก้าวข้ามจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ ซึ่งอาจเป็นบทเรียนที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้เพื่อจะพาประเทศก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง โดยตัวอย่างของนโยบายเศรษฐกิจบางประการที่ช่วยนำประเทศรายได้ปานกลางให้ก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เช่น

1. การพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าทุน
เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าและบริการภายในประเทศ เพื่อที่จะลดการพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศ ฉะนั้นในทางยุทธศาสตร์ของประเทศจึงต้องเลือกผลิตสินค้าหรือบริการที่เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด สินค้าทุน (Capital Goods) ถือเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างมากหากพัฒนาสำเร็จ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงโดยเปรียบเทียบกับสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีกจำนวนมาก

ประเทศรายได้ปานกลางที่พัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้สูงที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าทุนทดแทนการนำเข้า เช่น สาธารณรัฐเช็ก ที่ต้องเผชิญการขาดดุลการค้าที่สูง
ในช่วงปี ค.ศ.1992–2001 ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้าทุนจำนวนมาก จึงเริ่มต้นในการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า
ผ่านการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในสินค้าทุน เช่น
เครื่องจักร เป็นต้น มีผลทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศย่างก้าวกระโดดและเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวอย่างมาก 

2.  การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี
ระบบเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วจะพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิตสินค้าและบริการ โดยในทางยุทธศาสตร์ ประเทศสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าได้ผ่านการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสินค้าและบริการที่เป็นสินค้าทุน (Capital FDI) และมีการเตรียมบุคลากรที่มีความสามารถรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีไว้พร้อมแล้วจากนั้นพัฒนาต่อยอดด้วยการวิจัยและพัฒนา (R&D) ขึ้นเป็นนวัตกรรม 

ตัวอย่างประเทศที่ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางเป็นสู่ประเทศรายได้สูงผ่านการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น เปอโตริโก ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมยาหรือเภสัชกรรม อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมีบทบาทสำคัญต่อเปอร์โตริโก นอกจากนี้ยังมีนโยบายทางภาษี โดยการสนับสนุนด้านภาษีแก่บริษัทยาและอุตสาหกรรมไฮเทคที่ตั้งอยู่ในเปอร์โตริโก เป็นต้น

3. การยกระดับภาคบริการ
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยภาคบริการเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง เนื่องจากภาคบริการเป็นภาคที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ทางเศรษฐกิจได้สูง จากการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีรายได้สูงมีภาคเกษตรที่เล็ก แต่มีภาคบริการที่ใหญ่ โดยปริมาณแรงงานในภาคเกษตรของประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงทั้งหมดอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 ของกำลังแรงงาน เป็นต้น 

โครเอเชียเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง โดยที่ภาคบริการมีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยว รัฐบาลโครเอเชียลงทุนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่องทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโครเอเชียขยายตัวอย่างมาก มีรีสอร์ทเกิดขึ้นตามแนวชายฝั่งและหมู่เกาะต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามแนวชายฝั่งทะเลเอเดรียติก เพื่อให้บริการด้านการท่องเที่ยว จัดเลี้ยง และทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโครเอเชียสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 8 พันล้านปอนด์ต่อปี โดยในปี ค.ศ.2008 รายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึงร้อยละ 25 ของรายได้ประชาชาติ เป็นต้น

4. การทำให้รัฐวิสากิจมีประสิทธิสภาพ
การบริหารจัดการธุรกิจโดยภาครัฐของประเทศส่วนใหญ่ยังคงขาดประสิทธิภาพ ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจจำนวนมากขาดทุน โดยจากการศึกษาพบว่า การแปรรูปรัฐวิสากิจแบบถูกวิธีเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมขอ'ประเทศขยายตัว เนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิสภาพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาคอร์รัปชั่นของภาครัฐลดการขาดดุลงบประมาณที่ประเทศต้องอุดหนุนให้แก่รัฐวิสาหกิจจำนวนมากในแต่ละปี และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นเจ้าของในธุรกิจของรัฐอีกด้วย

ประเทศหนึ่งที่ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูงซึ่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมีบทบาทสำคัญ ได้แก่ ลัตเวีย ซึ่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจเกือบทั้งหมดไปเป็นของบริษัทเอกชน โดยรัฐบาลยังคงถือหุ้นไว้บางส่วน เช่น บริษัทขนส่งน้ำมัน Ventspils Nafta และบริษัทด้านโทรคมนาคมของประเทศอย่าง Lattelecom เป็นต้น โดยคงเหลือบริษัทขนาดใหญ่ของรัฐที่มีความสำคัญในทางการเมืองและความมั่นคงบางส่วน และบริษัทด้านพลังงานและสาธารณูปโภคของประเทศที่ไม่ได้แปรรูป จากการศึกษา พบว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจลัตเวียขยายตัวและกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น จากรายได้ต่อหัวประชากรที่เคยอยู่ที่ 3,590 เหรียญสหรัฐต่อปี ขยายตัวขึ้นเป็น 13,860 เหรียญสหรัฐต่อปี เป็นต้น

นี่เป็นเพียงบทเรียนบางส่วนของประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่สามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ประเทศเหล่านี้อาจมีบริบทที่แตกต่างจากประเทศไทย สิ่งที่ได้ผลในประเทศเหล่านี้อาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลกับประเทศไทยก็ได้ แต่อย่างน้อยแสดงให้เราได้เห็นว่าการก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางนั้นเป็นสิ่งที่ประเทศไทยสามารถทำได้ หากมีการกำหนดและการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม 

บทเรียนจากต่างประเทศ ในการข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง