7 เรื่องไม่จริง “วงการหนัง”
ช่วงต้นปี 1936 ผู้อำนวยการและนายทุนอย่าง เดวิด โอ เซลสนิค ไปติดต่อซื้อนิยาย Gone With The Wind มาจาก มาร์กาเร็ต มิทเชลล์ โดยหวังว่าจะให้ คลาร์ก เกเบิ้ล แสดงบทของ บัทเลอร์ ทว่า พระเอกเจ้าเสน่ห์ดัน “ติดสัญญา” ค่ายหนังเมโทร โกลด์วิน อีก 3 ปี ถ้าเป็นยุคนี้ ผมมั่นใจว่า ไม่มีการรอ...แต่เมื่อเป็นคนอย่าง โอ เซลสนิค เขาเลือกที่จะรออีก 36 เดือน โดยไม่นั่งเผาเวลาไปเปล่า ๆ แต่ใช้เวลาคอย 3 ปีนั้น ตระเตรียมงานสร้างไปด้วย
เรื่องข้อมูลเบื้องหลังนี้ เมื่อถูกตรวจสอบก็พบว่า เป็นความจริงทุกประการ...ไม่เหมือนหลาย ๆ เรื่องในวงการหนังบ้านเรา ที่ข่าวออกมาแต่ไม่เป็นความจริง หรือถ้าจริง...ก็จริงครึ่งลวงครึ่ง นี่คือ 5 สูตรข่าวหนังที่ไม่ค่อยจะจริงนักจากประสบการณ์ที่ “ยุ่งเกี่ยว” กับหนัง ในฐานะคนข่าวและนักวิจารณ์ รวมไปถึงกรรมการสำนักต่าง ๆ ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา
1. รายได้ของหนัง
เรามักจะได้ยินข่าว “กระตู้วู้” กันตลอดว่า หนังเรื่องนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำเงินมหาศาลอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เป็นสิ่งที่ “รับรู้” กันมานานแล้วว่า มีตัวเลขเมคกันระดับหนึ่ง บางค่ายเอาเงินดอลฯ เอาเงินปอนด์ เอาเงินเยน คูณเป็นเงินไทยซะ เวลาได้มาก ๆ ก็เอามาโฆษณาโครมคราม เช่นถ้าหนังทำเงิน 100 ล้านเหรียญ ก็มาตูมตามว่า ได้ 3,000 ล้านบาท! (มีงี้ด้วย) แต่เรื่องข้างต้นจบลงเมื่อมี App ที่คนในวงการสามารถเช็ครายได้จริงได้....แต่ถึงจะเช็คได้ ค่ายหนังก็ยังใช้ “หน้าแผง” เน้นย้ำรายได้แบบไม่จริงตามฉาก เช่น ถ้าโรงหนังทำหนังเอง เวลาหนังออกฉายก็เทโรงเต็มตัวหมดหน้าตัก พอหนังได้ร้อยล้านก็โฆษณาว่านี่คือหนังไทยปรากฏการณ์...มันจะปรากฏการณ์ได้อย่างไร ในเมื่อหนังเรื่องอื่น ๆ ไม่มีรอบฉาย พูดง่าย ๆ คือ หนังเข้าฉาย ทุกเรื่องได้ความมากน้อยของรอบ ไม่เท่ากันเลย...ปรากฏการณ์จึงไม่สามารถใช้ได้ เพราะมันเกิดจากโรงตัวเอง จริงไหม
2. ภาพยนตร์เพื่อคนทั้งประเทศ
จากตัวเลขช็อคตาตั้ง 400 กว่าล้านบาทของ “หลวงพี่แจ๊ส” ในไตรมาสแรกของปี 2016 ทำให้ “วิธีคิด” ของค่ายหนังไม่น้อยเปลี่ยนไปหมดพวกเขามองว่าความสำเร็จของหลวงพี่แจ๊ส สะท้อนถึงจุดจบของหนังที่คิดเพื่อคนดูทั้งตลาดแล้ว ...ฉะนั้น คำว่า ภาพยนตร์ของคนดูทั้งประเทศจึงเป็นคำคุยเชิงขนบ เนื่องจากปี 2016 ข้ามมา 2017 เราจะเห็นว่าหนังไทยเริ่มค่อย ๆ ลดระดับความเป็น Mass ออกมาเป็น Segment และ Specific ชัดเจน คือมุ่งเน้นลงไปเลยว่า นี่คือหนังไทยเจาะอีสาน เจาะภาคเหนือ หรือเจาะภาคใต้ บางเรื่องทำ Sound Track ภาษาท้องถิ่นกันแบบตรง ๆ เลย เพราะนี่คือยุคสมัย แมสตาย และเซคเมนท์มา
3. นักข่าวอำนาจหมด
ถึงปี 2017 แล้ว โลกแทบจะไปเที่ยวดาวอังคารผ่าน App กันได้แล้ว ยังมีนักข่าวบันเทิงรุ่นใหญ่ออกมาพูดปาว ๆ เขียนปึงปังว่า ดาราหนัง นักแสดงหนัง ยังต้องพึ่งพานักข่าวบันเทิงในการทำมาหากิน ซึ่งจะว่าไป...คอลัมนิสต์หรือนักเขียนไดโนเสาร์ท่านนั้น ไม่ได้หันมาส่องกระจกดูเลยว่า หมดยุคที่คนบันเทิงต้องพึ่งพาปลายปากกานักข่าวนานแล้ว พวกนักแสดงเขามีเว็บ มีแอพฯ มี IG มีเฟซบุ๊กมีสารพัดที่เร็วกว่า ไดเรคท์กว่าสื่อเก่าหรือ Old Media พวก นสพ. และทีวีไปแล้วหมดยุคเรียกดารามาขึ้นเตียง ทานข้าว มาเคล้าคลอเคลีย พวกเธอสามารถคุยกับแฟน ๆ 2-3 ล้านคนได้ทันที แล้วคุณเขียนหนังสือน่ะ เคยสำรวจตัวเองมั้ยว่า มีคนอ่านถึง 50 คนรึเปล่า! หรือพวกมี Follow 7-8 หมื่น อย่าไปโชว์เชียวนา เพราะตอนนี้ยอดต่ำ ๆ เขาเล่นกัน 3 แสน
4. หนังดีคนจะมาดูเอง
อันนี้ก็เคยจริง แต่ตอนนี้ไม่จริงแล้ว เคสของหนังเข้าชิงออสการ์ล่าสุดถึง 9 เรื่อง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ว่ากันตามจริง จากการตามดูหนังทุกเรื่องที่เข้าชิง (ยกเว้น Fences พึ่งแผงสีลม) ปีนี้ต้องบอกว่า หนังชิงออสการ์ดี 100% ยกเว้นหนัง Hidden Figure ที่ Cliche ทำซ้ำกับหนังคนดำเป็นเหยื่อ จนน่าเบื่อ (ตัวละครเพศผู้ในหนังคนดำ มักจะดูเลวดูแย่บ่อย ๆ เพื่อทำให้คนดูสงสารคนผิวสี) แต่รายได้ของหนังชิงออสการ์ปีนี้ ไม่ได้ดีอย่างที่คิด เพราะโรงหนังขยับเวลาไปอยู่รอบ
ที่ไม่ใช่เวลาทั่วไป บางเรื่องในบางโรง ฉาย 14.00 น. วันทำงาน และฉายรอบ 21.00 น. วันปกติคำพูดเชิงขนบที่ว่า หนังดี คนจะมาดูเอง ใช้ไม่ได้ในยุคที่คนไทยดูหนังเดือนละสองเรื่องเท่านั้น เพราะความจริงกว่าคือ หนังดี คนจะมาดูเอง ถ้าโรงหนังช่วยขยับรอบให้มันเอื้อต่อคนดูด้วย