ไอรีล ไตรสารศรี

ไอรีล ไตรสารศรี

ในแต่ละวันทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน ต่างกันที่ทุกคนนั้นจะบริหารเวลาที่มีอยู่อย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ต่างจากเธอคนนี้ ในแต่ละวันเธอมีเวลาเท่ากันกับเราทุกคน จนวันหนึ่งได้เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้นกับตัวเอง โรคร้ายได้ย่างกรายเข้าสู่วงจรชีวิตของเธอ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นตัวกระตุ้นให้เธอนึกคิดว่าชีวิตนี้ต้องหันมาทำอะไรสักอย่างให้กับเพื่อนร่วมโรคที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสทางการรักษา นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่าที่สุดของเธอ

“ย้อนกลับไปที่ตัวเองอายุ 27 ย่าง 28  เมื่อตอนปี 2554 ตอนนั้นกำลังวางแผนที่จะไปเรียนต่อที่อังกฤษแต่ว่าก็ต้องหยุดชะงักความฝันและอนาคตไว้ เพราะตรวจเจอว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ลามไปต่อมน้ำเหลือง เลยต้องรักษาอย่างเร่งด่วน ด้วยการผ่าตัดให้เคมีบำบัด 6 ครั้ง ฉายแสง 19 ครั้ง หลังจากนั้นก็ต้องกินยาต่อเนื่องมา จนถึงตอนนี้ก็ 5 ปีแล้ว  

“การที่เราต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้งมันทำให้เรามีความรู้สึกว่าเราเข้าใจและได้เห็นชีวิตความเป็นจริงของคนส่วนใหญ่ ว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราเป็นโรคมะเร็ง แต่แท้จริงแล้วมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่เป็นโรคนี้ หลังจากเกิดเหตุการณ์ช็อคครั้งใหญ่ในชีวิตซึ่งไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าตัวเองจะเป็นโรคนี้ มันเป็นเรื่องไกลตัวมาก ๆ จากนั้นจึงตั้งสติ เรียนรู้ ยอมรับความเป็นจริงอย่างมีสติ ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์เราก็ต้องมีการเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

“หลังจากที่ต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง พอเราไปเห็นคนที่เขาป่วยมากกว่าเราและขาดโอกาสทางการรักษา ยากไร้ ไม่มีทุนทรัพย์ นั่นก็ทำให้รู้สึกว่า เราเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งที่โชคดีนะ มีที่บ้านคอยซัพพอร์ตมีทุนทรัพย์ในการเข้าถึงการรักษาที่ดี ตอนที่ป่วยเรายังทุกข์ขนาดนี้ แล้วเขาจะทุกข์ขนาดไหน เลยเกิดแนวคิดที่อยากจะช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ขาดโอกาสในการรักษาเพราะเราเชื่อว่าการที่ผู้ป่วยจะมีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคต้องมีสองอย่างควบคู่กันคือ จิตใจที่เข้มแข็ง และการมีโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่ดี เลยเกิดโครงการ Art.for.Cancer ขึ้นมา ในระหว่างที่ตัวเองกำลังรักษาอยู่ผ่านทาง Facebook โดยเริ่มจากอะไรง่าย ๆ โดยใช้เรื่องของศิลปะมาเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงกลุ่มคนจิตอาสา การระดมเงินทุน โดยไม่ได้เน้นว่าต้องวาดรูปอย่างเดียว ก็คือเป็นกิจกรรมอะไรก็ได้ที่มัน Create 

“ในช่วงแรก ๆ ผลตอบรับก็ยังไม่ดีมากเท่าไหร่ เพราะว่ายังถือเป็นเรื่องใหม่ในตอนนั้น คนที่กดไลค์แฟนเพจก็มีแต่เพื่อน ๆ หลัง ๆ มาก็มีข้อความส่งเข้ามาชื่นชมมากมาย เกิด Impact จากสังคม จนทำให้เราคิดว่าตราบที่เรายังมีแรง เราจะต้องไม่หยุดทำ และจะทำอย่างไรให้โครงการนี้อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง ตอนนี้ก็คิดว่าอาจจะเป็นในรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ผลกำไรที่ได้ก็จะคืนสู่สังคม เพราะในอนาคตถ้าองค์กรของเราเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ มันจะต้องมีค่าใช้จ่ายหลาย ๆ อย่าง  

“หากมองถึงอนาคตของโครงการนี้ในส่วนแรกก็อยากจะต่อยอดให้ Art.for.Cancer มีระบบระเบียบมีรูปแบบโครงสร้างที่ชัดเจนมากขึ้น มีแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่จะเป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ป่วย ผ่านผู้ป่วยที่ใช้ชีวิตร่วมกับมะเร็งได้อย่างมีความสุข อีกส่วนก็คือการระดมเงินทุนเหมือนเดิม โดยให้ผู้ป่วยเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับเรา และได้รับรายได้ 50% ผ่านกิจกรรมที่เขามีศักยภาพ เช่น การสอนแต่งหน้า การสอนวาดภาพ การทำขนม ฯลฯ
ซึ่งโครงการ Art.for.Cancer ก็จะเป็นเหมือน Mentor ให้ลงทุนให้ แล้วมาแบ่งกัน 50% อีกส่วนก็หมุนเวียนเข้าสู่โครงการเพื่อเพื่อนร่วมโรคของเขาอีก ซึ่งส่วนนี้เราก็มีการหาข้อมูลมาแล้วบ้างว่าช่วงที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาหรือให้เคมีบำบัดนั้นเขาจะไม่สามารถเดินทางออกไปทำงานนอกบ้านได้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นบางคนเป็นมะเร็งแล้วทั้งยังต้องป่วย ทั้งยังต้องตกงานอีก 

“ส่วนของรายได้ที่เราได้รับมาจากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ นั้นทางกองทุน Art.for.Cancer ก็จะนำไปมอบให้กับโรงพยาบาลศิริราช  โรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยมีคุณหมอจากแต่ละโรงพยาบาลเป็นผู้ดูแลกองทุน และพิจารณาว่าเงินจะถูกนำไปช่วยในเคสไหนบ้างตามความเหมาะสม บางรายอาจจะเป็นค่าเดินทาง บางรายอาจเป็นค่าที่พักเมื่อมาทำการรักษา กระจาย ๆ กันไปหลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้ช่วยจนหายขาดค่ะ

“ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีอยู่เสมอ การเป็นมะเร็งถือว่าเป็นความโชคดีในชีวิตที่เราได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างต่อสังคม ทำให้เกิดเป้าหมายของชีวิตที่ชัดเจนขึ้นว่าเรามีชีวิตที่เหลืออยู่เพราะอะไร? ถ้าไม่เป็นมะเร็งก็คงคิดไม่ได้แบบนี้  โครงการดี ๆ แบบนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น นั่นเลย ทำให้รู้สึกว่าเราโชคดีที่เป็นมะเร็ง” เธอกล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม 

Know her
• โครงการ Art.for.Cancer ไม่ได้จำกัดแค่วาดภาพ แต่หมายรวมถึงศิลปะในทุกแขนง
• ถ้าโมเดลนี้ประสบความสำเร็จในอีก 10 ปี ข้างหน้า อาจจะเกิดโครงการศิลปะเพื่อช่วยเหลือสังคมในด้านอื่น ๆ  
• เธอเรียนจบสาขา MA Design Management at Northumbria University - Newcastle, UK
• หลังจากที่หายป่วยจากมะเร็งเต้านม ตอนนี้เธอกำลังกลับมาป่วยเป็นโรคมะเร็งที่ปอด ทำให้รู้ว่ามะเร็งสามารถเกิดซ้ำได้ 
• ติดตามความเคลื่อนไหวและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งมอบความหวังดีต่อผู้ป่วยมะเร็งที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ กับโครงการ Art.for.Cancer ได้ที่ www.facebook.com/ArtforCancerbyIreal

ใช้เวลาที่เหลือให้คุ้มค่าที่สุด Strength mind and spend time to be worth