นั่ง-นอนนานเสี่ยงตายไว
มีงานวิจัยความเชื่อถือระดับสูงสุด คือ ระดับ Meta-analysis ทำการศึกษาจากงานวิจัย 16 งานวิจัย โดยรวมกันมีการศึกษาในคนมากกว่า 1 ล้านคนทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยนักวิจัย Ulf Ekelund และคณะได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับโลก อย่าง Lancet
โดยเป็นที่ทราบกันมานานแล้วจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมนั่งกินนอนกิน หรือ นั่ง ๆ นอน ๆ ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวนั้น มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงในภาวะเรื้อรังจำนวนมาก รวมถึงเพิ่มอัตราตายด้วย แต่ยังค่อยเป็นที่ทราบกันเท่าไหร่นักว่า การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวนั้น ช่วยลดหรือกำจัดความเสี่ยงจากการนั่งนาน ๆ หรือไม่ จึงได้มีการตรวจสอบความสัมพันธ์ของพฤติกรรมนั่ง ๆ นอน ๆ กับ การเคลื่อนไหวร่างกาย ว่ามีความสัมพันธ์ต่ออัตราตายในทุกสาเหตุอย่างไรบ้าง
โดยศึกษาแบบ Prospective Cohort Study ถึงจำนวนชั่วโมงในการนั่งในชีวิตประจำวัน หรือ เวลานั่งดูทีวี กับการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยรายงานผลกระทบต่ออัตราการตายจากทุกสาเหตุ อัตราการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ หรืออัตราการตายจากมะเร็งเต้านมมะเร็งลำไส้ หรือ มะเร็งลำไส้และทวารหนัก
โดยการศึกษานี้ทำในประชากรจำนวน 1,005,791 คน โดยติดตามไปตั้งแต่ 2-18.1 ปี และพบว่ามี 84,609 คน (8.4%) เสียชีวิต
การแปลผลสรุปว่า การออกกำลังกายในระดับสูง คือ ออกกำลังแบบหนักปานกลางประมาณ 60-75 นาทีต่อวัน ดูเหมือนว่าจะช่วยกำจัดความเสี่ยงจากอัตราการตายที่สัมพันธ์กับการนั่งนาน ๆ ต่อวันได้
แต่อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายในระดับสูงเช่นนี้ ช่วยลดความเสี่ยงแต่ไม่ถึงกับเป็นการกำจัดความเสี่ยงในการเพิ่มอัตราการตายจากการนั่งดูทีวีนาน ๆ
เพราะฉะนั้นพอจะสรุปอีกครั้งได้ว่า การนั่งทำงานนาน ๆ นั้น ถ้าได้ออกกำลังกายชดเชยประมาณ วันละ 1 ชั่วโมงทุกวัน ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องผลของการนั่งนาน
แต่สำหรับการนั่งดูทีวีนั้น อันตรายกว่าเพราะถ้านั่งดูทีวีนาน ๆ หลายชั่วโมงต่อวัน ต่อให้ออกกำลังกายชดเชยถึงวันละ 1 ชั่วโมง ก็ยังไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงจากการนั่งดูทีวีได้ทั้งหมด ทำได้แค่การลดความเสี่ยงลงเท่านั้น
ซึ่งผลลัพธ์นี้เป็นหลักฐานต่อข้อดีของการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสังคมที่ซึ่งมีการเพิ่มจำนวนของประชากรที่นั่งทำงานนานหลายชั่วโมงต่อวัน และอาจกลายเป็นคำแนะนำทางสาธารณสุขในอนาคต