Elle แมวจับหนู
งานของเวอร์โฮเวนจัดอยู่ใน ‘สายโหด’ มักข้องแวะวนเวียนอยู่กับเรื่องเซ็กส์และความรุนแรง โดดเด่นในการสะท้อนตีแผ่พฤติกรรมมนุษย์ (ถ้าจะพูดให้ตรงกับความจริงมากยิ่งขึ้น คือการเปลือยสันดานดิบของตัวละคร)
เป็นหนังประเภทที่ดูจบแล้วหลอกหลอนติดค้าง มากกว่าจะรื่นรมย์จรรโลงใจนะครับ
Elle เป็นผลงานล่าสุด และเป็นหนังเรื่องแรกของเวอร์โฮเวนที่ถือสัญชาติฝรั่งเศส ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ นักแสดงหญิงชาวอเมริกันหลาย ๆ คนที่เขาทาบทามให้รับบทนำ ต่างพากันปฏิเสธหลังจากได้อ่านบท จนกระทั่งมาพบกับ อิซาเบลล์ อูแปต์
ซึ่งเคยอ่านและชื่นชอบนิยายเรื่อง Oh ของฟิลิป จา อันเป็นต้นเรื่องเดิมอยู่ก่อนแล้ว เธอแสดงความสนใจและตอบตกลง โครงการหนังเรื่องนี้จึงเริ่มคืบหน้าเป็นรูปเป็นร่างจนสำเร็จลุล่วง
อันที่จริงแล้ว หนังเรื่อง Elle มีคุณสมบัติทั้งเข้าข่ายและไม่เข้าข่ายเป็นหนังประเภทอีโรติกมากพอ ๆ กัน ในด้านที่ใช่ หนังมีเนื้อหาพัวพันกับเรื่องเพศโดยตรง และมีกลิ่นอายเซ็กซี่แทรกอยู่เป็นระยะ ๆ แต่ในทางตรงกันข้าม หนังแทบไม่มีฉากเปลือยหรือเลิฟซีนที่เน้นความเร่าร้อนยั่วยวนให้เห็นกันเลย มิหนำซ้ำประเด็นหลักของเรื่องเซ็กส์ในหนัง ยังเป็นเรื่องของการข่มขืน (จนหลายคนขนานนามเล่น ๆ จัดประเภทให้หนังเรื่องนี้อยู่ในแนวทาง Rape Comedy)
หนังเปิดฉากเริ่มเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่ มิเชล นักธุรกิจสาววัยห้าสิบกว่า โดนชายลึกลับสวมหน้ากากไอ้โม่งบุกจู่โจมเข้ามาในบ้าน ทำร้ายร่างกายและข่มขืนเธอ
ความไม่ปกติเริ่มค่อย ๆ เผยออกมา หลังจากคนร้ายเสร็จกิจหลบหนีไป มิเชลทำตัวเสมือนไม่เคยมีเรื่องร้ายเกิดขึ้นเธอเก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน อาบน้ำชำระล้างร่างกายไม่ได้แจ้งความกับตำรวจ มากสุดที่เธอทำ คือไปโรงพยาบาลเพื่อให้หมอตรวจร่างกาย
ความยอดเยี่ยมประการแรกของ Elle คือ พล็อตและวิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นการ “เล่นท่ายาก” ให้ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ง่าย สนุกชวนติดตามตลอดเวลา
“ท่ายาก” ของพล็อตและการเล่าเรื่องนั้นอยู่ที่ว่า เส้นเรื่องหลัก คือ นางเอกโดนข่มขืน หลังจากนั้นก็มีเค้าลางหลาย ๆ อย่างแสดงทีท่าว่า คนร้ายอาจย้อนกลับมาลงมือซ้ำ ขณะที่มิเชลก็ใช้ชีวิตตามปกติ ควบคู่ไปกับตระเตรียมรับมือ ทั้งเปลี่ยนกุญแจประตูทุกบานภายในบ้าน ซื้อหาสเปรย์พริกไทย และจัดหาอาวุธป้องกันตัวไว้ใกล้มือทั่วทุกแห่งภายในบริเวณบ้าน หัดยิงปืน สอดส่องสืบหาตัวคนร้ายขณะเดียวกันก็ย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ข่มขืน ทั้งคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและจินตนาการให้มันเป็นในแบบที่เธอปรารถนา (แง่มุมเกี่ยวกับการข่มขืนนี้หนังนำเสนอให้เห็นว่า มิเชลมีทั้งความกลัวเคล้าปนกับความพึงพอใจ)
เส้นเรื่องหลักที่กล่าวมา บอกเล่าแบบไม่ต่อเนื่อง ค่อย ๆ แทรกเข้ามาในหนังเป็นระยะ ๆ (โดยปริมาณและการปรากฏในหนังแล้ว มันดูเหมือนพล็อตย่อย ๆ มากกว่า แต่โดยความสำคัญต่อภาพรวม นี่คือแกนหลักของหนังอย่างปราศจากข้อสงสัย)
ส่วนอื่น ๆ ที่เหลือของหนัง ร้อยเรียงกันด้วยเนื้อเรื่องรองหลาย ๆ เหตุการณ์ ตั้งแต่ชีวิตของมิเชลล์ในที่ทำงาน (เธอเป็นเจ้านายที่ร้ายกาจ จนลูกน้องพากันเกลียด), สัมพันธ์สวาทแบบลักลอบกับสามีของเพื่อนรัก, อารมณ์หึงหวงที่มิเชลมีต่ออดีตสามีที่หย่าร้างกันไปแล้ว เมื่อพบว่าเขากำลังคบหากับเด็กสาวคนหนึ่ง, ความพยายามที่จะลืมและเลี่ยงการเผชิญหน้ากับพ่อของตนเอง (ซึ่งติดคุกด้วยข้อหาฉกาจฉกรรจ์ร้ายแรง), ความสัมพันธ์ระหองระแหงกับแม่ซึ่งมีคนรักเป็นชายหนุ่มที่เห็นชัดว่ามีเจตนาปอกลอกทรัพย์สมบัติ), ความเจ้ากี้เจ้าการของมิเชลที่มีต่อลูกชาย (ซึ่งคบหาอยู่กินกับหญิงสาวที่มิเชลไม่ถูกชะตา), ความพึงพอใจในหนุ่มเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามผู้มีภรรยาเป็นคนเคร่งศาสนา
หนังเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่กระจัดกระจาย ดูเหมือนสะเปะสะปะไร้ทิศทางในเบื้องต้น ได้อย่างสนุกมือ และค่อย ๆ ขมวดเข้ามาโยงใยเกี่ยวข้องทีละน้อยจนกระทั่งสานต่อประกอบกันเป็นภาพรวมที่น่าทึ่งมาก
ในหนังประเภทลึกลับเขย่าขวัญ มีการแบ่งกว้าง ๆ ออกเป็น 2 แบบ คือ พล็อตจำพวก “ใครเป็นคนร้าย?” ซึ่งเน้นการสร้างความเคลือบแคลงน่าสงสัยให้กับตัวละครรายล้อม และนำไปสู่การหักมุมสร้างความประหลาดใจเมื่อเฉลยตัวคนร้ายที่แท้จริง อีกแบบหนึ่งคือพล็อตที่เรียกขานกันว่า “แมวจับหนู” ซึ่งเผยให้เห็นคนร้ายและเหยื่อกันตั้งแต่ต้นแล้วเน้นไปยังรายละเอียดอย่างการไล่ล่า การเผชิญหน้า การขับเคี่ยวชิงไหวชิงพริบ กรรมวิธีที่แต่ละฝ่ายเลือกใช้
Elle เข้าข่ายทั้ง 2 จำพวก เริ่มต้นด้วยการเป็นพล็อตแบบ “ใครเป็นคนร้าย?” (และเฉลยประมาณช่วง 2 ใน 3 ของเรื่อง) แต่โดยรวมตลอดทั้งเรื่อง เป็นพล็อตแบบ “แมวจับหนู” อย่างเด่นชัด
ลักษณะ “แมวจับหนู” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ เรื่องของมิเชลกับคนร้ายลึกลับเท่านั้น แต่เป็นพฤติกรรมของเธอกับผู้คนรอบข้างทั้งหมด มิเชลคือแมว ขณะที่คนอื่น ๆ เป็นหนู (แม้กระทั่งคนร้ายที่ข่มขืนเธอในตอนต้นเมื่อเฉลยว่าคือใครแล้ว หมอนี่ก็กลายเป็นหนูสำหรับมิเชลทันที)
ความเป็น “แมวจับหนู” ใน Elle ไปไกลกว่าเหยื่อและผู้ไล่ล่าในคดีอาชญากรรม แต่ครอบคลุมไปถึงความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ชายทุกคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวมิเชล) จนกระทั่งอีกนัยหนึ่ง หนังเรื่องนี้ก็เต็มไปด้วยการกดขี่เอารัดเอาเปรียบทางเพศอย่างเด่นชัด โดยผู้ชายกลับกลายเป็นฝ่ายถูกกระทำ
พูดอีกแบบคือ หนังเน้นรายละเอียดเกี่ยวกับการเล่นบทบาทเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ที่เหนือกว่าและได้เปรียบของมิเชล ด้วยกลวิธีต่าง ๆ นานา ทั้งใช้ความเข้มงวดดุดัน ใช้มารยาหญิง ใช้ความเจ้ากี้เจ้าการ ใช้ความเด็ดเดี่ยว ใช้เล่ห์เหลี่ยมเพทุบาย ฯลฯ
ขณะที่ตัวเรื่องและเหตุการณ์ดูโลดโผนเปี่ยมสีสัน (บางเหตุการณ์ก็แทบจะเรียกได้ว่า ‘น้ำเน่า’ ประมาณละครโทรทัศน์จำพวกแม่ผัวลูกสะใภ้อิจฉาริษยากัน) สิ่งที่ตัวละครกระทำต่อกัน กลับเต็มไปด้วยความเรียบ ลึก ห้อมล้อมด้วยเหตุผลความเป็นไปได้ และหนักแน่นสมจริง
ตรงนี้เชื่อมโยงไปถึงจุดเด่นต่อมาของหนัง นั่นคือ การผสมผสาน ระหว่างท่วงทีลึกซึ้งเป็นหนังอาร์ต เข้ากับรสนิยมบ้าน ๆ แบบหนังเพื่อการค้าทั่วไปได้อย่างกลมกล่อมแนบเนียน
หลังจากดูหนังเรื่อง Elle จบ ผมสรุปและจับประเด็นไม่ได้นะครับ ว่าสาระสำคัญและแก่นเรื่องคืออะไร? หัวใจสำคัญของหนังคือ การถ่ายทอดพฤติกรรมและสภาพจิตใจของมิเชล ซึ่งเป็นตัวละครที่มีมิติซับซ้อนสุด ๆ อีกรายหนึ่งในโลกภาพยนตร์
มีทั้งความป่วยไข้ในจิตใจ ความผิดเพี้ยนในรสนิยมทางเพศ มีความเป็นผู้หญิงเก่งและแกร่ง ความร้ายกาจและด้านที่น่าเห็นอกเห็นใจ ฯลฯ
มิติที่หลากหลายในตัวละครมิเชลนั้นมีมากมาย เกินกว่าจะสรุปและจำกัดความโดยรวบรัดนะครับ แต่ที่น่าทึ่งก็คือ หนังสามารถทำให้ผู้ชมเชื่อและยอมรับในทุก ๆ ด้านของมิเชลว่าทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อยู่ในบุคคลคนเดียวกัน
Elle เป็นงานโชว์ของ 3 คน แรกสุดคือ เดวิด เบิร์ค ผู้เขียนบทดัดแปลงจากนิยาย ซึ่งสามารถเก็บความและถ่ายทอดเหตุการณ์ยุ่งเหยิงสับสน ให้ง่ายต่อการติดตาม และดำเนินเรื่องได้อย่างลื่นไหล
ถัดมาคือ พอล เวอร์โฮเวน ซึ่งคุมทิศทางและบรรยากาศของหนังออกมาได้อย่างน่าทึ่ง มีทั้งความสยองลึก ความตื่นเต้นเร้าใจ ความดิบเถื่อน ความเซ็กซี่เย้ายวน และที่สำคัญคือ แพรวพราวไปด้วยอารมณ์ขันร้าย ๆ กับตลกหน้าตายอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางเนื้อเรื่องที่จริงจัง (บางตอนอารมณ์ขันก็ปรากฏขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์ถึงขั้นเลือดตกยางออกเข้าขั้นคอขาดบาดตายเลยทีเดียว)
คนสุดท้ายคือ อิซาเบลล์ อูแปต์ การแสดงของเธอไม่ได้มีฉากแสดงอารมณ์ชนิดจะแจ้งเด่นชัด อย่างเช่น เศร้าสะเทือนใจจนน้ำตาซึมเอ่อ หรือโกรธเกรี้ยวระเบิดความในใจ แต่เป็นการแสดงในแบบเฉย นิ่งไม่สะทกสะท้านต่อทุกสถานการณ์ ด้วยสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงเป็นปกติ ทว่าสิ่งที่น่าอัศจรรย์ก็คือ ทุกคำพูดและการกระทำของเธอ สามารถอธิบายให้เห็นถึงความคับแค้น ความริษยา ความมุ่งมั่นเอาชนะความกลัว ความเหี้ยมเกรียม หรือารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ นานาสารพัดสารพันออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา
วิธีการแสดงของอูแปต์นั้น ดูผิวเผินก็เหมือนไม่มีอะไร ไม่รู้ว่าเล่นดีตรงไหน แต่คำอธิบายง่าย ๆ ก็คือ เธอสามารถโน้มน้าว ทำให้ผู้ชมเชื่อคล้อยตาม และผูกพันกับตัวละคร ไปสู่การผจญภัยที่เต็มไปด้วยความโลดโผนทางอารมณ์ความรู้สึกสารพัดได้เนียนมาก
พูดอีกแบบคือ นี่เป็นสุดยอดของการที่นักแสดงสามารถตีความตัวละครได้อย่างลึกซึ้งถ่องแท้ แล้วถ่ายทอดความลึกทั้งหมดผ่านการแสดงอย่างเป็นรูปธรรม เป็นบทและวิธีการแสดงที่ยาก และทำออกมาได้สมบูรณ์เต็มร้อย