บ้านวังกรด

บ้านวังกรด

ลมแม่น้ำแผ่วพัดเย็นสบายในต้นฤดูหนาว ตรอกเล็ก ๆ เส้นนั้นยึดโยงอยู่ระหว่างสถานีรถไฟเก่าแก่และแม่น้ำสายโบราณ

สองฟากขนาบข้างอยู่ด้วยอดีตอันผ่านพ้น เรื่องเล่าของคนสามสี่รุ่น และภาพตรงหน้าที่ยืนยันได้ว่า หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งริมสายน้ำน่านในพิกัดของจังหวัดพิจิตรนั้นเต็มไปด้วยคืนวันทอดยาว

ยามเช้าเงียบสงบ หลังพระสงฆ์จากวัดวังกลมคล้อยหลังจากย่านบ้านเหนือ รถไฟเที่ยวล่องเงียบเสียง ย่านเก่าที่มีชีวิตจริงแท้ ไร้การปรุงแต่ง ก็ดำเนินไปเหมือนทุกคืนวัน

จริง ๆ ภาพเช่นนี้อาจเริ่มมาตั้งแต่ยุคของชายชรารุ่นก๋งที่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์จีนทุกเช้าในห้องแถวแถบบ้านเหนือ ซึ่งจะว่าไปก็เป็นชุดห้องแถวที่สร้างขึ้นในยุคหลังตลาดดั้งเดิมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย มันทอดยาวจากตามถนนเทศบาล
จากบ้านเหนือไปบ้านใต้ โดยมี “ซอยกลาง”  ซอยเทศบาล 9 เป็นถิ่นฐานเก่าแก่แต่แรกเริ่ม

วังกรดนั้นเป็นชื่อเรียก 1 ใน 4 ของตลาดริมน้ำน่านแสนมีเสน่ห์แห่งนี้ จากแต่เดิมกว่าร้อยปีที่เริ่มมีผู้คนมาปักหลักอาศัยในชื่อบ้านท่าอีเต่า การก่อร่างปรับเปลี่ยนไปตามการปกครอง สู่บ้านบุ่งอันเป็นชื่อตำบล และที่เป็นชื่อติดปากผู้เฒ่าผู้แก่ในชื่อวังกลมก็ด้วยตรงคุ้งน้ำหน้าหมู่บ้านในแม่น้ำน่านนั้นหมุนวนเป็นวงกลม ก่อนที่จะเปลี่ยนไปตามชื่อสถานีรถไฟ ด้วยเพราะชื่อวังกลมไปซ้ำกับชื่อสถานีหนึ่งในภาคอีสาน สู่การเป็น “วังกรด”เมื่อปี พ.ศ.2451 ต่อเนื่องมายาวนาน

การเดินทางในอดีตนำพาผู้คนให้มาทำมาหากินและตั้งชุมชนที่วังกรด แม่น้ำน่านเป็นเส้นทางหลัก การล่องเรือขึ้นเหนือพาพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนมาสู่บ้านวังกรด พวกเขาตั้งบ้านเรือนและค้าขายกันในยุคเริ่มแรก ก่อนที่การเกิดสถานีรถไฟวังกลมจะเปลี่ยนภาพหมู่บ้านริมคุ้งน้ำให้กลายเป็นย่านตลาด โดยผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งคือหลวงประเทืองคดี คหบดีผู้ใช้ชีวิตอยู่ที่วังกลมในอดีต หลวงประเทืองคดีและเหล่าชาวบ้านร่วมกันเริ่มสร้างตลาดขึ้น จนวังกลมกลายเป็นย่านซื้อขายที่สำคัญของพิจิตร กล่าวกันในยุคสมัยนั้นว่า วังกลมเจริญกว่าพิจิตรเสียอีก

ด้วยพิกัดที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำและทางรถไฟมากกว่าตัวเมืองพิจิตร ทำให้วังกลมกลายเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าของผู้คนทั้งจากตัวเมืองและอีกหลากหลายพื้นที่รายรอบ ตลาดที่หลวงประเทืองคดีและชาวบ้านร่วมกันสร้างนั้นหันหน้าชนซอยเทศบาล 9 หรือ “ซอยกลาง” ในปัจจุบัน แต่ละห้องแถวไม้เรียงรายด้วยร้านค้านานาชนิด ๆ ตั้งแต่ร้านขายของเบ็ดเตล็ด เครื่องมือประมง อาหาร ร้านทองร้านเย็บผ้า ร้านขายยาแผนโบราณ ฯลฯ ใครสักคนรำลึกความหลังครั้งยังเด็ก ว่าตรงหน้าซอยกลางเต็มไปด้วยผู้คนจากสากเหล็ก วังทรายพูน และที่มาไกลก็คนแถบบ้านมุงในเขตอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ในปัจจุบัน

รถไฟนำทั้งความเจริญและการติดต่อกับโลกภายนอกมาสู่บ้านวังกรด ทว่าแม่น้ำน่านก็เป็นอีกทางหนึ่งที่นำพาสินค้าและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาให้คนรุ่นบรรพบุรุษของพวกเขามาเนิ่นนานไม่ต่างกัน ว่ากันว่าตรงท่าน้ำริมแม่น้ำน่านนั้น ทั้งเรือเมล์เขียว เมล์แดง เรือเร่ขายของที่พวกเขาเรียกกันว่า “เรือฮ้วยจุ๊ง” นั้นจอดเรียงรายตั้งแต่รุ่งเช้ายังมีเรือมอญที่นำพาสินค้าจากภาคกลางขึ้นมาห้วงยามนั้นยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำ คนวังกรดต้องใช้สลิงโยงข้ามฝั่งในการขนถ่ายสินค้าหรือเอาจักรยานขึ้นเรือข้ามฟากแม่น้ำและปั่นต่อไปในตัวเมืองพิจิตร

ความเฟื่องฟูของตลาดวังกรดดำเนินไปควบคู่กับอาคารบ้านเรือนที่เหยียดขยายจากเพียงแค่ในซอยกลาง แผ่ขยายออกไปตามวันเวลา หากเอาหอนาฬิกาบ้านวังกรดเป็นจุดหลัก ถนนเทศบาลที่ลากยาวตั้งแต่บ้านเหนือจดบ้านใต้นั้นเรียงรายโอบล้อมอยู่ด้วยเรือนแถวไม้สองชั้นอันเป็นห้องแถวไม้จากแบบของการรถไฟฯ มีรูปทรงและสัดส่วนเหมือนกันหมด ส่วนที่เก่าแก่สมัยตั้งต้นชุมชนนั้นอยู่ในซอยกลาง เรียงรายเป็นแถวแนวไปจดแม่น้ำน่าน ส่วนซอยเทศบาล 11 หรือ “ซอยโรงหนัง” ที่อยู่ข้าง ๆ ซอยกลางนั้น เป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวเป็นส่วนใหญ่ และต่างก็เก็บงำอดีตการค้าของวังกรดไว้ในความเก่าคร่ำคร่าเช่นเดียวกัน

ตลาดแห่งหนึ่งได้ผันผ่านทั้งเฟื่องฟูและราโรย การคมนาคมที่สะดวกทางถนนทำให้คนรายรอบเดินทางข้ามแม่น้ำไปสู่อำเภอเมืองฯ ได้ง่ายขึ้น จากที่คนเมืองต้องถ่อมากินก๋วยเตี๋ยว ซื้อข้าวซื้อของที่วังกรด กลับกลายเป็นด้านตรงกันข้าม ลูกหลานบางคนก็โยกย้ายไปร่ำเรียน ไปทำงานต่างถิ่น หลงเหลือเพียงเรือนแถวไม้ทอดยาวเรียงรายพร้อมอดีตที่ตกทอดอยู่ในอาคารไม้และความทรงจำของคนที่ยังอยู่กับมัน

ซอยกลางจากที่เคยคึกคักกลับกลายเป็นบ้านอยู่เสียเป็นส่วนใหญ่ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 การรถไฟฯ มีนโยบายจัดการพื้นที่ตลาดวังกรดให้เป็นระเบียบมากขึ้น ห้องแถวไม้สองชั้นที่ทอดขนานจากบ้านเหนือและบ้านใต้ที่สร้างโดยการรถไฟฯ แทนแผงตลาดในอดีตดึงคนออกมาจากซอยกลางหลายหลัง บ้านเรือนเปลี่ยนมือ ทว่าก็ยังเวียนวนอยู่ในกรรมสิทธิ์ของคนวังกรดไม่เปลี่ยนแปลง

ตามแนวอาเขต บานประตู หรือฝาบ้านแต่ละหลังในซอยกลางดูซีดเซียว แต่ก็เต็มไปด้วยเค้าความโอ่อ่า จินตนาการถึงคืนวันรุ่งเรืองได้ไม่ยาก ผ่านศูนย์การเรียนรู้ที่ห้องหมายเลข 43 ห้องแถวที่ด้านในจัดแสดงเครื่องใช้และโมเดลจำลองชุมชนวังกรด ทั้งหมดจัดทำโดยมหาวิทยาลัยศรีปทุมครั้งมีการศึกษาและฟื้นฟูด้านสถาปัตยกรรมชุมชนหลายปีมาแล้ว

ซอยกลางเปิดเผยภาพแห่งคืนวันผ่านถ้อยคำของผู้ที่ยังอยู่อาศัย ซึ่งส่วนใหญ่คือเหล่าคนเฒ่าคนแก่ที่ต่อสู้จนพอมีฐานะ ลูกหลานไม่ไปเติบโตทำงานที่กรุงเทพฯ ก็มักโยกย้ายไปอยู่ในเมืองใหญ่อื่น ๆ หลงเหลือเพียงเมื่อบานประตูบานเฟี้ยมของแต่ละหลังเปิดออก มันจะฉายชัดอยู่ด้วยอิริยาบถของผู้คนและข้าวของเครื่องใช้โบราณที่ตกทอดกันมา

สุดซอยกลางชนแม่น้ำน่าน หากเลี้ยวซ้ายจะนำพาไปสู่ศาลเจ้าพ่อวังกลมอันเป็นที่เคารพนับถือของคนวังกรด ที่จะต่อออกไปยังซอยเทศบาล 7 หรือ “ซอยศาลเจ้า” ซึ่งเมื่อเราเดินเลาะกันต่อไป เรือนแถวไม้ชั้นเดียวชำรุดทรุดโทรมหลายห้องก็บ่งบอกถึงคืนวันอันผ่านพ้นไม่มีสิ่งใดคงทนต่อหน้าวันเวลา

ตรอกเล็ก ๆ แห่งนั้นกลับไปเชื่อมโยงกับทางหน้าตลาด มันเงียบเชียบเสียยิ่งกว่าซอกซอยใดในวังกรด เรือนแถวไม้แบบชั้นเดียวทอดยาวไปจนประชิดโรงหนังโบราณ ที่แต่เดิมคนวังกรดและผู้คนหลากหลายใช้เป็นอีกหนึ่งแหล่งบันเทิงเริงรมย์

“หน้าโรงหนังนี่ของกินมากมาย คนขวักไขว่ สมัยนั้นนอกจากลิเก งิ้ว ก็มีหนังนี่ล่ะ ที่ดึงคนจากที่อื่นให้มาวังกรด” ลูกหลานวังกรดเองก็ไม่เคยลืมหมูสะเต๊ะของเฮียฮ้อ ลูกชายของตั้งเต๊กไต๋  ตระกูลเก่าแก่ของที่นี่ “ขายตั้งแต่ปี 2500โน่น หลัง ๆ เฮียขายเฉพาะงานงิ้วช่วงศาลเจ้าทำบุญ แต่เลิกละ เดี๋ยวนี้ค่าโสหุ้ยต่าง ๆ มันแพง” เฮียฮ้อไขกุญแจและแหวกบานเฟี้ยมเขรอะฝุ่นออกให้แสงลอดเข้าไปในโรงหนังมิตรบรรเทิงด้านในก่ายกองด้วยข้าวของปนเป ทั้งที่เคยใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่ก็เป็นเก้าอี้ โต๊ะ รถเข็นที่ใครต่อใครต่างเอามาฝากไว้ 

เราขึ้นไปบนชั้นสอง บริเวณที่วางเครื่องฉายหนัง มองลงไปยังความเวิ้งว้างกลางแสงสลัว เฮียฮ้อชี้นั่น บอกโน่น เล่าถึงภาพต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นใน “วิกตาเหงี่ยม” ของคนวังกรดที่ถูกกาลเวลาย่อยสลายและพ่ายแพ้ต่อวัฒนธรรมการดู “ทีวี” ไปหลายสิบปีที่ผ่านพ้น

ซอยโรงหนังมาสิ้นสุดตรงหน้าตลาดใกล้หอนาฬิกา ใครหลายคนพาเราเข้าบ้านโน้น ออกบ้านนี้ ไปดูจักรเย็บผ้าโบราณที่ใช้ตัดผ้าอ็อกซ์ฟอร์ด หรือชุดทำงาน โดยป้าประนอมร้านรองเท้าร้านเดียวในวังกรดอย่างรัตนสุวรรณของคุณแสนสุขและป้าสายหยุดยังคงเก็บเครื่องมือที่ใช้ตอกและแซะพื้นรองเท้าไว้เป็นอย่างดี

คลับคล้ายว่าเรื่องราวการค้าขายโบราณที่หล่อหลอมบ้านวังกรดยังคงหลั่งไหลถ่ายเทจากชีวิตและความทรงจำของคนที่นี่จากรุ่นสู่รุ่น มันอาจเป็นภาพธรรมดาสามัญที่ใครก็ตามอาจพบเห็นได้ในเรือนบ้านย่านตลาดในหลายท้องที่

แต่หากให้เวลาและจำแนกลึกลงในแต่ละเศษเสี้ยวทรงจำ มันล้วนเต็มไปด้วยอดีตเฉพาะตนเฉพาะอย่าง ซึ่งอาจมีเพียงแต่ผู้สร้างมันขึ้นมาเองเท่านั้น ที่เข้าใจว่ามันแตกต่างกับหนทางอื่นเช่นไร

ตลาดเก่าและเรื่องเล่า คล้ายแลนด์มาร์กหนึ่งในไม่กี่อย่างของย่านการค้าโบราณแห่งเมืองพิจิตร