"พายเถิดพ่ออย่ารั้ง รอพาย" โดยสันติ เศวตวิมล

"พายเถิดพ่ออย่ารั้ง รอพาย" โดยสันติ เศวตวิมล

หน้าบ้านย่า...จะมีท่าน้ำสำหรับขึ้นเรือลงเรือ

ก็เหมือนบ้านขุนน้ำขุนนางทั้งหลาย ที่สร้างเรียงรายไปตามสองฟากคลองบางหลวง

ท่าน้ำของย่าสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงกระเบื้องว่าวเป็นรูปข้าวหลามตัด ซึ่งจะผิดไปจากหลังคาบ้านพระน้ำพระยาทั้งหลาย มักจะมุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ย่าบอกว่าบ้านของเราเป็นเพียงขุนนางเล็ก...เล็ก ไม่อาจเอื้อมที่จะมุงกระเบื้องเคลือบเหมือนวัด เหมือนวังให้งดงามโอฬาร

แต่ส่วนสำคัญของท่าน้ำ ไม่ได้อยู่ที่กระเบื้องมุงหลังคา

หากอยู่ที่เสาไม้เนื้อแข็ง ที่ลงรองรับท่า เลาไม้เต็งขนาดพองาม สามารถรับน้ำหนักเรือนท่าน้ำ ไม่พุกร่อนเมื่อน้ำซัดเซาะ

ย่าบอกว่า เสาต้นเต็ง ต้นรังก็พอเหมาะกับอัตภาพของเราแล้ว

ทุกเช้าปู่จะแต่งเสื้อตัวงาม ที่เรียกว่า “ชุดราชปะแตน” นั่งรอเรือมารับข้ามฟากเข้าวัง คะเนยังไม่ทันจะสายเรือแจวก็มารับ ย่าก็จะเก็บสำรับกับข้าวที่เอามาให้ปู่กินก่อนไปทำงาน

คนเรือลุงแก่กับหลานหนุ่ม จะพายเรือมาตรงเวลา คนแก่จะยืนพายคัดท้ายส่วนหลานจะนั่งพายหัวเรือ

สองคนลุงหลานช่วยกันจ้ำ...ช่วยกันพาย

ย่าเล่าว่าคนพายจะต้องระมัดระวัง เพราะพายด้านหลังจะผลักดัน

ลุงหลานจึงต้องพายเรือให้ประสานกัน ไม่เร็วจนเกินไปไม่ช้าแต่ให้พองาม

หากต่างคนต่างพาย ต่างคนต่างงัด ไม่รู้จังหวะจะโคน เรือจะลอยเคว้งคว้าง กว่าจะถึงปลายทางก็ไม่ทันการ

แต่คนเรือของปู่ไม่เคยทำให้ปู่เสียงาน เข้ามารับที่ท่าน้ำบ่ายก็พายมาส่งถึงหัวกระไดบ้าน

ย่าจะยืนส่งที่ตั้งแต่ฟ้าสาง ย่าจะนั่งรออยู่ตั้งแต่บ่ายควาย

เช้าสั่งบ่าวไพร่เตรียมสำรับกับข้าวให้กินก่อนไปทำงาน พอถึงบ้านยังไม่ทันพระอาทิตย์ตกย่าก็จะยกสำรับอาหารมาให้ปู่ถึงท่าน้ำ

เริ่มย่ำพระสุรสีห์ ยังไม่ทันที่ “ดาวประจำเมือง” จะโผล่ขึ้นทางตะวันตกดิน

ปู่จะกินอาหารที่ย่าจัดให้ร้อน...ร้อน อิ่มแล้วเข้าห้องแต่ยังไม่นอน

เมื่ออาบน้ำชำระกายผลัดผ้าผ่อน ปู่ก็จะกลับมาที่ท่านั่งสีไวโอลิน ดนตรีฝรั่งที่เพิ่งจะเข้ามา เล่นเพลิดเพลินเจริญวิญญาจน “ดาวจระเข้” โผล่ขึ้นขวางฟ้า ปู่จึงจะเข้านอนนิทรา และจะตื่นก่อนไก่ขันตะวันโผล่

ปู่ทำเช่นนี้ทุกเมื่อเชื่อวัน

ย่าเคยบอกว่าปูเหมือนดวงอาทิตย์ ขึ้นในตอนเช้า ลงในตอนเย็น หลับใหลในตอนกลางคืน และตื่นขึ้นในวันใหม่

วันไหน...ไหน ปู่ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ปู่เคยสอนหลาน...หลานว่า ทุกคนจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้เป็นประจำ สม่ำเสมอ เหมือนคนเรือที่พายเรือมารับปู่ทุกเช้า และส่งปู่กลับในตอนเย็น

แต่ย่าท้วงทักปู่ว่า ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป บางครั้งคนเรือป่วยไข้ไม่ได้พายเรือมารับ

แต่ปู่กลับท้วงว่า ถึงคนพายจะไม่มา แต่เรือก็ยังมา จะเปลี่ยนก็เพียงคนเรือหน้าใหม่ที่มารับทำหน้าที่แทน เมื่อคนแก่...หรือคนหนุ่มคนพายเรือขาประจำหายจากไข้ฟื้นจากโรค เขาก็จะกลับมาทำหน้าที่ตามเดิม

ด้วยความเชื่อเช่นนั้น บางครั้งที่ปู่เล่นดนตรีที่ท่าน้ำ ก็เคยได้ยินปู่ร้องเพลงจากบทโคลงสอนใจ ที่กวีโบราณท่านนิพนธ์ไว้บทหนึ่งว่า

    พายเถิดพ่ออย่ารั้ง    รอพาย

    จวนตะวันจักสาย      ส่อหน้า

    ของลดสิ่งควรขาย    จักขาด ค่าแฮ

    ตลาดเลิกแล้วอ้า      บ่นอื้อเอาใคร

ในตอนนั้นย่าก็จะสะกิดหลาน... หลาน ที่นั่งฟังปู่เล่นดนตรีฝรั่งร้องเนื้อเป็นภาษาไทย ให้ร้องตามแต่เป็นเนื้อเพลงที่ย่าเคยสอนให้หลาน... หลานฝึกร้องว่า 

...พายเถิดพาย ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า...

แล้วพวกเราจะหัวร่อคิดคักได้แกล้งปู่ด้วยความรักที่มีต่อปู่และย่าสิ่งเดียวกันกับสิ่งที่ท่านมอบให้กับเขากลับมาเช่นกัน 

สายน้ำที่ไหลกลับ บทที่ห้า "พายเถิดพ่ออย่ารั้ง รอพาย"