Beauty  and the Beast

Beauty and the Beast

การผลิตซ้ำรอบที่ล้านแปด (เว่อร์ไป) ของเทพนิยายปรัมปราอย่าง Beauty and the Beast โดยได้สาวน้อยโลกเวทมนต์ อย่าง Emma Watson มาเป็นสาวน้อยผู้อาภัพ ที่ต้องถูกขังในปราสาทร่วมกับเจ้าชายอสูร รวมถึงบรรดาเครื่องใช้ ที่โชคร้ายถูกสาปจากการทำอะไรไม่คิดถึงจิตใจคนอื่นของเจ้าชาย

ครั้งนี้ทีมผู้สร้าง Walt Disney เลือกที่จะทำให้ Beauty and the Beast เดินตามรอยเส้นอนิเมชั่นของตัวเอง ซึ่งก็แน่นอนว่ามันจะต้องประสบความสำเร็จค่อนข้างชัวร์ ทำให้สามารถคาดหวังได้เลยว่ามันจะเพลิดเพลินด้วยสีสันของเหล่าสิ่งของพูดได้ตามต้นฉบับแน่นอนซึ่งการทำหนังแบบสูตรสำเร็จตายตัวแบบนี้ ก็ถือเป็นความแปลกใหม่ของ Walt Disney เหมือนกัน ในขณะที่หนังในสตูดิโออื่น ๆ ที่อยู่ในเครือของตัวเอง กลับพยายามที่จะนำเสนอแนวทางแปลกใหม่ที่ฉีกออกไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นหนังในเครือลูคัส ฟิล์ม หรือแม้แต่กระทั่งหนังของ Marvel Studio สงสัยจะเกรงกลัวแบบที่สตูดิโออื่นเลือกที่จะแหวกขนบของตัวเองทำแล้วเจ๊งบ๊งเละเทะก็เป็นได้

สิ่งที่แตกต่างสำหรับในเวอร์ชั่นนี้กับอนิเมชั่นที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นประเด็นของสถานะความเป็น “คนนอก” ของตัวละครต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัว เบลล์ ที่ถูกยัดเยียดสถานะความเป็นคนนอกของสังคม เพียงเพราะเธอแค่เป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่ใฝ่เรียนรู้ แตกต่างจากหญิงสาวชาวบ้านคนอื่น ๆ หรือความเป็นคนนอกของเจ้าชายอสูร ในมุมมองของรูปลักษณ์ภายนอก บาทหลวงผิวสีที่ถูกมองว่าแปลกแยกทางสังคม หรือแม้กระทั่งความเป็นคนนอกของเลอฟู ผู้ติดตามกัสต็อง ในมุมของเพศทางเลือกที่ไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้ตัวเขาต้องปิดบังตัวตนที่แท้จริงของตัวเองไว้ในส่วนลึกที่สุดของตนเอง 

จึงไม่น่าแปลกใจที่ในท้ายที่สุด เลอฟูกลับโอนเอนเป็นผลให้ปันใจย้ายฝั่ง พร้อมกับติดแฮชแท็ก #ทีมชาววัง เพราะว่าฝ่ายชาววังนั้นใจกว้างและให้เกียรติกับความหลากหลายที่มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางชนชั้น (ความรักของเจ้าชายอสูรกับหญิงชาวบ้าน) ความหลากหลายทางเพศ (ที่ไม่เหยียดความเป็นเพศทางเลือกของเลอฟู ซึ่งในกรณีนี้รวมไปถึงการที่ชาวบ้านตาดำ ๆ ต่างมองสิ่งที่เบลล์ทำเป็นการเหยียดอีกกรณีหนึ่งด้วย ซึ่งในยุคสมัยนั้นการรู้หนังสือของผู้หญิงถือเป็นสิ่งที่ผิดธรรมเนียมประเพณี) หรือแม้แต่การไม่เหยียดสีผิว (รูมิแยร์กับคนรักสาวผิวสี รวมไปถึงสาวผิวสีนักร้องในวังเอง ในขณะที่ชาวบ้านต่างวางนักบวชผิวสีไว้ในสถานะคนที่แปลกแยกจากสังคม) ถึงแม้ว่าการแทรกความแตกต่างทั้งหลายในเรื่องนี้จะดูเหมือนถูกยัดเยียดเกินความจำเป็นก็ตาม

อีกประเด็นที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้เกี่ยวกับความโรแมนติกของหนังเรื่องนี้ซีนประทับใจก็จะเป็นซีนที่เบลล์กำลังอ่านโคลงให้เดอะ บีสต์ ที่กำลังบาดเจ็บฟัง ซึ่งเมื่อจบวรรคแล้วนั้น เจ้าชายอสูรของเราก็สามารถต่อโคลงดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที ซีนเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนไม่มีอะไรซีนนี้นั้นได้ให้ความหมายของ “ความเข้าใจ” ซึ่งกันและกันได้อย่างล้นปรี่ออกมานอกจอเลยทีเดียว เสมือนกับการบอกใบ้ว่า “คนนอก” ทั้งสอง สามารถเจอคนที่ใช่ของกันและกันแล้ว ซึ่งเปรียบได้กับชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นคู่รักในรูปแบบไหนก็ตาม สิ่งที่จะทำให้ทั้งคู่สามารถเดินทางแห่งคู่รักไปได้ยาวตลอดรอดฝั่ง ก็เห็นจะเป็นสิ่งนี้ สิ่งที่บ่งบอกว่าพวกเขาทั้งคู่มีความเข้าใจในสิ่งเดียวกัน มีความชอบในลักษณะเดียวกัน รวมไปถึงทัศนคติการมองโลกที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นี่คือแก่นที่จะนำพาคู่รักให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างยั่งยืนที่แท้จริงครับ 

ความเป็นคนนอกที่ถูกยัดเยียด