แม่สลอง

แม่สลอง

ปลายฤดูฝนหมู่บ้านในหุบดอยแม่สลองกำลังเคลื่อนไหวกลางฝนพรำสายและฟากฟ้าทึมเทา ถนนสายหลักทอดยาวเป็นลาดเนิน โอบล้อมด้วยบ้านเรือน ร้านชา รีสอร์ต ร้านอาหาร ตั้งแต่เรียบง่ายไปจนถึงระดับภัตตาคาร ความคึกคักของบรรยากาศยามเช้าอยู่ตรงหัวโค้งและเนินเขาที่ตั้งของตลาดเช้า ผู้คนหลากเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ทั้งคนจีน อาข่า และนักท่องเที่ยวจากแดนไกล

ราวกับเมืองชนบทของจีนอันไกลลิบ หากใครมาถึงแม่สลองเมื่อราว 40 ปีก่อน แดนดอยลึกลับแห่งนี้เปลี่ยนหน้าตาไปจากจุดเริ่มต้นในวันวานอยู่ไม่น้อย เราเดินลอดโรงแรมซินแซโรงแรมไม้เก่าแก่ที่สร้างคร่อมทางเดินเข้าตลาด หลงเหลือเพียงฝรั่งแบ็คแพคที่ยังคงชื่นชอบโรงแรมเปี่ยมเรื่องราว

ในความงดงามเรียบง่ายของผู้คนที่ประกอบกันขึ้นเป็นคนของแม่สลอง นอกเหนือไปจากอาข่าและชาวเมี่ยน ประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดข้างบนนี้เห็นจะเป็นคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ หรือที่ใครต่อใครมักเรียกกันว่าจีนฮ่อ แต่จะให้ชัดเจนที่สุด คนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าของพวกเขาคืออดีตทหารจีนจากพรรคก๊กมินตั๋งของนายพลเจียงไคเช็ก ตัวแทนฝ่ายขุนศึกที่ต่อสู้กับกองทหารพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมาเจ๋อตุง

การขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์การเมืองของจีนในอดีตส่งผลให้เกิดการสู้รบรุนแรงขึ้นในจีน จนกระทั่งเจียงไคเช็กแพ้พ่าย จำต้องหนีไปตั้งพลอยู่ที่เกาะฟอร์โมซา หรือประเทศไต้หวัน กองทัพภาคใต้ หรือกองพล 93 ก็ถูกตัดขาดจากทัพใหญ่ เปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นทหารไร้สังกัด กึ่งสู้กึ่งถอยเพื่อหลบหนีการกวาดล้างหน่วงหนักจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ จากมณฑลยูนนานพวกเขาถอยร่นมาตั้งหลักในพม่า ในกองพล 93 เต็มไปด้วยนายทหารชั้นสูง ทหารเกณฑ์จากรายทาง รวมไปถึงครอบครัวทั้งผู้หญิงและเด็ก ๆ จนจัดตั้งเป็นรูปแบบกองทัพได้ 5 กองทัพ ภายใต้การบัญชาการของนายพลหลี่หมี

กองพล 93 รอนแรมทัพเข้าสู่เขตรัฐฉานของพม่า ความวุ่นวายต่าง ๆ จากการสู้รบหาพื้นที่มั่นส่งผลให้รัฐบาลพม่าต้องดำเนินการปราบปรามเหล่าทหารจีนพลัดแผ่นดินอย่างจริงจัง

หลังพ่ายแพ้ให้แก่ทหารพม่าและกองกำลังสนับสนุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่สมรภูมิเชียงลับในปี พ.ศ.2504 ทัพที่ 1, 2 และ 4 จำนวน 4,349 คน ได้อพยพโยกย้ายไปไต้หวันหลงเหลือตกค้างเพียงกองทัพที่ 3 ของนายพลหลี่เหวินฝาน และทัพที่ 5 ของนายพลต้วนซีเหวิน ที่ไม่ต้องการอพยพ นายพลทั้งสองท่านตัดสินใจนำผู้คนอพยพหนีการกวาดล้างของพม่า รอนแรมเข้าสู่แผ่นดินไทย โดยไร้การสนับสนุนจากไต้หวัน พวกเขากลายเป็นกองทัพตกค้าง มีรายได้จากการเก็บค่าคุ้มครองให้ขบวนพ่อค้าฝิ่นต่าง ๆ ที่กำลังเคลื่อนไหวพลุกพล่านแถบดินแดนสามเหลี่ยมทองคำตั้งด่านเก็บภาษีเถื่อน หรือกระทั่งค้าอาวุธสงคราม

ทัพ 3 ของนายพลหลีเหวินฝาน เดินทางมาถึงอำเภอฝางของเชียงใหม่ แถบบ้านถ้ำง้อบ ขณะที่ทัพ 5 ของนายพลต้วนซีเหวินเริ่มพักทัพตั้งหมู่บ้านที่บ้านหัวเมืองงามของเชียงราย ก่อนจะโยกย้ายขึ้นมาหาอากาศสดสะอาดเหนือยอดดอยแม่สลอง โดยรัฐบาลไทยในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร ได้มอบหมายให้พลอากาศเอกทวี อจุลละทรัพย์ เสนาธิการทหารและพลโทเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รองเสนาธิการกองบัญชาการสูงสุด เป็นผู้เจรจากับทางไต้หวัน เพื่อแก้ปัญหากับกองทัพไร้สังกัดเหล่านี้

ครั้นตกลงกันไม่ได้ สหรัฐอเมริกาเสนอตัวเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจา ในปี พ.ศ.2513 รัฐบาลไทยจึงอนุญาตให้กองพลทหารจีนอาศัยอยู่ในแดนดินไทยในฐานะผู้อพยพ แลกกับการเป็นกองกำลังกันชนตามชายแดน รวมไปถึงป้องกันการแทรกซึมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เริ่มเคลื่อนไหวตามชายแดนกินเนื้อที่มากมาย พวกเขาเข้าร่วมสมรภูมิทั้งดอยหลวง ดอยวาว และดอยผาหม่น ผาตั้งอันลือเลื่อง

หมู่บ้านสันติคีรี คือชื่อหมู่บ้านบนดอยแม่สลองที่ตั้งโดยพลอากาศเอกทวี บ้านแสนสงบสุขกลางขุนเขาของทัพที่ 5 ที่คนจีนในยุคนั้นมักเรียกที่นี่ในความหมายเดียวกันว่า “เหมยซือเล่อ” ก่อเกิดขึ้นหลังสมรภูมิเขาค้อ อันเป็นภารกิจสุดท้าย พวกเขาได้ชื่อว่า “กองทหารจีนคณะชาติ” ก่อนปลดอาวุธให้รัฐบาลไทย

เรื่องราวของพี่น้องบนแม่สลองพาเราไปถึงพิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติภาคเหนือ ประเทศไทย ภายใต้อาคารชั้นเดียวที่ราวฉุดดึงเราสู่ฉากภาพยนตร์จีนอันคุ้นตาโถงด้านในโปร่งโล่ง เสาไม้ใหญ่โต ป้ายชื่อเหล่าทหารกองพล 93 วางเรียงราย ตามผนังทั้ง 3 ด้าน คือเรื่องราวที่พวกเขาพานพบ การฝึกฝน ศึกสงคราม รอยทางการเคลื่อนทัพ ตลอดจนคืนวันก่อตั้งหมู่บ้านในอดีต

วันที่เสียงปืนและสมรภูมิซึ่งเปรียบเหมือนเงาตามตัวได้พ้นผ่าน สู่วันที่ผืนแผ่นดิน แมกไม้ ไอหมอก รวมไปถึงการมีชีวิตร่วมผู้คนเชื้อชาติอื่นบนแดนดอย

คำถามถึงทางเดินชีวิตอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้ก็อาจไม่สำหลักสำคัญ

ตามสันดอยคือไร่ชาอู่หลงเรียงรายคล้ายภูเขาปูด้วยไหมพรมสีเขียว น่าแปลกที่แทบไม่มีใครนึกหน้าตาของหมู่บ้านบนแม่สลองอันแสนเรืองรุ่งเช่นนี้ออก หากเทียบไปกับวันที่คนรุ่นพ่อแม่ของเขาปลดปืนและหันหน้าลงสู่ผืนแผ่นดินที่เหมาะสมยิ่งกับพืชพรรณเมืองหนาว

จากมือที่จับปืนสู่จอบเสียม ภูเขาไม่ใช่สมรภูมิรบ แต่เป็นแปลงพืชผลไม้เมืองหนาว จากโครงการหลวง มันเหมือนชีวิตใหม่ที่ต้องการการประคบประหงมและงอกงาม

“แต่เดิมชาไม่ได้ผลดีนักครับ เราเติบโตมาจริง ๆ นี่ก็ด้วยการท่องเที่ยวอีกเป็นส่วนหลัก” ใครสักคนพาเราเดินลงไปในสวนชาอูหลงนอกหมู่บ้าน มันไล่ระดับเป็นแนวโค้งสีเขียว ชาวอาข่าหลากวัยมารับจ้างเก็บชากันตั้งแต่แดดเริ่มทอแสง

หลังปี พ.ศ.2525 ที่การท่องเที่ยวเริ่มนำคนมาสู่แม่สลอง ฝรั่งจากทัวร์ป่าแถบแม่อาย ท่าตอน ตามเส้นทางเชียงราย-เชียงใหม่ เริ่มอยากขึ้นมาเห็นผู้ที่ร่วมรบกับ ผกค. คนไทยที่นิยมเที่ยวบนทางทรหดก็เช่นกัน ที่ฝ่าฟันทางยากขึ้นมาหาพวกเขา

ไม่เพียงโรงแรมแรกอย่างซินแซที่กลางตลาด แต่หมายรวมไปถึงรีสอร์ตในยุคแรกอย่างแม่สลองรีสอร์ตของนายพลหลุ่ยยี่เถี่ยน คุ้มนายพลรีสอร์ตของลูกชายนายพลต้วน รวมไปถึงแม่สลองวิลลา ที่จำเริญเป็นเจ้าของ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาเปลี่ยนชีวิตพวกเขาให้งอกงาม ราวปี พ.ศ.2533 ตัวแทนจากแม่สลองเดินทางไปถึงไต้หวันเพื่อรับกล้าพันธุ์ชา ทั้งอูหลงเบอร์ 12 ชิงชิง สี่ฤดู อู่หลงก้านอ่อน มันงอกงามและเต็มไปด้วยวิธีการดูและรวมถึงการชงอันแสนพิเศษ ความเป็นคนจีนถูกถ่ายทอดออกมาให้คนทั่วไปได้สัมผัส ร้านชา อาหารเมนูยูนนาน สำเนียงภาษา ตลอดจนวิถีชีวิตต่าง ๆ เคล้าผสมในสายลมหนาวของแม่สลอง ทั้งหมดส่งผลให้ภาพปัจจุบันบนถนนสายหลักเต็มไปด้วยร้านชาบรรยากาศดี รีสอร์ตสวยสบาย รวมไปถึงทิศทางใหม่ ๆ ที่พวกเขาเลือกพัฒนา

หน้าคุ้มของนายพลต้วนซีเหวินคือหนึ่งในดาวน์ทาวน์ของแม่สลอง ร้านอาหาร ร้านค้าที่ระลึกไม่มีใครไม่คิดถึงเขา

หากหมายถึงผู้คนเชื้อสายจีนที่เดินเหินหายใจอยู่บนแม่สลองและอีกหลายหุบดอยเราขึ้นไปเคารพสุสานนายพลต้วน หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของแม่สลองและทหารจีนคณะชาติที่เล่าถึงผู้นำของคนบ้านแม่สลองในอดีต หลุมศพของท่านนายพลตั้งอยู่เหนือยอดเนิน มองลงไปยังหมู่บ้านอันเป็นสุขได้เต็มตา ไม่ไกลกัน 

พระธาตุเจดีย์ศรีนครินทราสถิตมหาสันติคีรีสง่างามย้อมแสงเย็น แดดอุ่นสาดส่องจับหมู่บ้านจีนแห่งหนึ่งซึ่งเติบโตไปจากวันที่บรรพบุรุษของพวกเขาปักใจเลือกเอาทำเลตรงหน้าเป็นเรือนตาย 

คล้ายเรื่องราวของผู้คนกลุ่มหนึ่งที่รอนแรมยาวไกลหลายแผ่นดินกำลังฉายภาพอบอุ่นอยู่ตรงนั้น ณ ที่ที่ชีวิตปราศจากเสียงปืน เสียงระเบิด และไม่ต้องพบเผชิญกับการสู้รบอีกต่อไป

ภาพงดงามของแม่สลองแทบทุกวันพาเราย้อนไกลไปถึงที่มาของคนกลุ่มหนึ่งอันมากมายอยู่ทั้งศึกสงคราม ความหวัง การดิ้นรนทนสู้ รวมไปถึงคืนวันอันงดงามเมื่อชีวิตก้าวเดินมาสู่สุดสายปลายทาง เป็นทั้งภาพ ทั้งเรื่องเล่า รวมถึงชีวิตที่หลงเหลืออันเต็มไปด้วยความงดงามที่หล่อหลอมอยู่ในหุบดอยแห่งหนึ่งซึ่งห่มคลุมด้วยอายหมอกและสายลมหนาว

ชีวิตหยัดยืนกลางคลื่นขุนเขา