จิระ มะลิกุล
ชายผู้คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ไทยมายาวนาน ทั้งการเป็นผู้กำกับ และเขียนบทปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Head of Producer บริษัท gdh 559 จำกัด บริษัทที่เกิดขึ้นหลังการปิดตัวของจีเอ็มเอ็ม ไท หับ (GTH) เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และบริษัท หับ โห้ หิ้น บางกอก จำกัด คุณเก้งคือคอนเนคชั่นที่ส่งต่อมาจากคุณจ๋องในฉบับที่แล้ว
ตำแหน่ง Head of Producer มีหน้าที่อะไรบ้าง?
หลัก ๆ คือสร้างโปรเจ็กต์หนังขึ้นมาอย่างการสร้างหนังของที่นี่จะเป็นการนำไอเดียของผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์ มานั่งคุยกันเพื่อต่อยอดเป็นบทภาพยนตร์ แต่พอคุยกันแล้ว
ไอเดียโดยรวมจะไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง จะเป็นการร่วมแชร์ไอเดียจากหลาย ๆ คน อาจเปลี่ยนจากเดิมไม่มากจนถึงอาจกลายเป็นอีกแบบไปเลยก็มี บริษัทของเราจะเชื่อมั่นในบทภาพยนตร์ คือบทต้องดีก่อนถึงจะนำมาสร้างหนัง ถ้าบทไม่ผ่านก็ไม่ได้ทำ เราไม่ได้จำกัดแนวของหนัง ถ้าบทออกมาดี ไม่ว่าจะเป็นหนังตลก หนังผี หนังรัก หนังชีวิต เราก็ทำหมด ถ้าเรารู้สึกอินคนดูก็จะชอบด้วย เพราะฉะนั้นการสร้างโปรเจ็กต์เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดคือเริ่มตั้งแต่การคิดโครงสร้างคิดพล็อตของเรื่องบทไม่ใช่ไดอะล็อกนะครับ บทคือตัวเรื่องทุกอย่างมีผลต่อหนังทั้งหมด เป็นช่วงที่ใช้เวลาเยอะมาก เราจะไม่เห็นหนังจนกว่าจะถึงวันฉายจริง การพัฒนาบทบนโต๊ะประชุมจึงเป็นขั้นตอนที่ยากมากเพราะยังไม่มีใครเคยเห็นหนังได้เพียงจินตนาการโดยมีบทเป็นตัวกลาง พอสรุปบทได้ผู้กำกับจะนำไปทำต่อ ซึ่งเขาอาจจะเพิ่มเติมอะไรได้อีก เพราะเขาต้องอินกว่าคนอื่นเพราะเป็นคนดูแล คือหน้าที่การทำงานของผมคือประมาณนี้ครับ จะต่างจากโปรดิวเซอร์ทางฝรั่ง ที่ตำแหน่งนี้จะเป็นการหาทุนมาทำหนังมากกว่า สำหรับหนังไทยนั้นมีเงินที่จะทำ
แต่ไม่มีคนที่สร้างโปรเจ็กต์อย่างนี้มากกว่าครับ
หนังของบริษัทเรื่องไหนที่เขียนบทนานที่สุด?
สถิติตอนนี้อยู่ที่เรื่อง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ ใช้เวลาพัฒนาบททั้งหมด 4 ปีครับ ใช้คนเขียนบท ไป 3 คน ตอนสองปีแรกเขียนบทจวนจะเสร็จอยู่แล้ว แต่เราก็มาพบว่าเหมยลี่ สาวอายุ 30 ที่ยังไม่มีแฟน ไม่ควรจะมีเพื่อน บทในตอนแรกเหมยลี่จะมีเพื่อนสาว ตกเย็นมานัดเพื่อนไปกินข้าวแล้วเม้าท์กัน เราพบว่ามันไม่สนุกเพราะเหมยลี่มีที่พึ่ง เราเลยต้องตัดบทเพื่อนคนนี้ออกไปจากหนัง แต่การตัดตัวละครตัวหนึ่งออกจากหนังมันมีผลกระทบกับทั้งเรื่องเลย จึงต้องใช้เวลาในการแก้บทอีก 2 ปี ตอนนี้กำลังจะมีคนแซงแล้วครับ เป็นหนังของบอล ผู้กำกับที่ทำเรื่องแฟนฉัน ตอนนี้ใช้เวลาทำบท 3 ปีแล้ว
ส่วนใหญ่ผู้กำกับเป็นคนเขียนบทหนังที่ทำเองหรือเปล่า?
ที่นี่ผมจะให้ผู้กำกับทุกคนอยู่ในทีมเขียนบทบางทีเขาอาจไม่ใช่คนจรดปากกาแต่เขาก็ต้องคิดอยู่ในทีม โครงเรื่องสำคัญ บทพูดก็สำคัญตัวละครนึกคิดและทำอะไรก็สำคัญ มันจะสัมพันธ์กันไปหมดทุกกระบวนการ ทุกอย่างต้องผ่านผู้กำกับทั้งหมด เขาต้องอินกับมันถ้าเขาไม่เห็นด้วยมันจะเหมือนการทำตามโพยหรือออเดอร์ ไม่มีความรู้สึกร่วมหรืออินไปกับสิ่งที่ทำ ผู้กำกับจึงต้องอยู่ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มโครงการจนจบ ถ้าอินกับมันงานจะออกมาดีแน่นอน เป็นสิ่งแรกที่เขาต้องนึกถึง หั่นชีวิตส่วนตัวเข้าไปในช่วงนั้น
การปรับเปลี่ยนจาก GTH มาเป็น gdh 559 ระบบการทำงานเปลี่ยนไปขนาดไหน?
ระบบการทำงานไม่เปลี่ยนเท่าไหร่นะครับ ที่เปลี่ยนไปคือไม่มีคุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ อยู่ในทีมแล้ว 11 ปีที่ผ่านมาคุณวิสูตรถือเป็นหลักใหญ่ของเรา เพราะเขารู้จักแฟนหนังไทยเป็นอย่างดี เราพยายามทำหน้าที่แทนในส่วนของเขาให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องหาสปอนเซอร์จะเป็นหน้าที่ของ CEO คุณจีน่า (จินา โอสถศิลป์) หน้าที่ของผมคือนำเสนอโปรเจ็กต์บนกระดาษไม่กี่แผ่น เสนอบทหนังเพื่อให้คุณจีน่าชอบให้ได้คือเสนองานกับผู้อำนวยการสร้างให้ผ่านการทำให้คนหนึ่งคนชื่นชอบหนังสักเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องยากนะครับ ถ้าคุณจีน่าชอบเขาจะผลักดันทุกทางให้หนังไปให้ไกลมากที่สุด ทั้งเรื่องการเงิน สปอนเซอร์ ทีมงาน นักแสดง โปรโมต ฯลฯ บริษัททำหนังจะต้องทำหนังให้ดีที่สุดเพื่อให้หนังสามารถขายตัวเองให้ได้ ต่อให้หน้าหนัง ตัวอย่างหนังจะดีขนาดไหน ถ้าหนังไม่ดีไม่สนุก ตัวหนังก็ไม่สามารถชนะใจคนดูได้ หนังก็อาจจะขายไม่ได้ด้วยเช่นกัน ผมว่าหนังกึ่งหนึ่งเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ อีกกึ่งหนึ่งเป็นเรื่องของแฟชั่น คนแต่ละรุ่นก็จะมีแบบแผนของแฟชั่นที่เขาชอบ ฉะนั้นรูปแบบที่นำเสนอจะต้องแปรเปลี่ยนให้เข้าคนในเจนเนอเรชั่นนั้น ๆ ผมว่าสมัยนี้การทำให้คนมาซื้อตั๋วหนังมันยากขึ้นนะ ด้วยราคาตั๋ว เวลาในการเดินทางมันเป็นกิจกรรมที่มากกว่าแค่มาดูหนัง ต้องนัดเพื่อน หนังจบต้องไปหาอะไรกินกันต่ออีก ฉะนั้นคุณค่าของหนังคือต้องทำให้คนมาดูในโรงภาพยนตร์ให้ได้ครับ
รู้จักคุณจ๋อง พงศ์นรินทร์ อุลิศ ได้อย่างไร?
จ๋องเป็นรุ่นน้องที่คณะ ผมเรียนนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ รุ่น 15 จ๋องเรียนประมาณรุ่น 22 เรียนไม่ทันกัน แต่เขาเป็นคนดังในคณะเป็นนักกิจกรรม และเป็นคนที่มั่นใจในตัวเองมาก
คณะเราผู้ชายค่อนข้างน้อย เขาเลยเป็นที่หมายปองของสาว ๆ และเป็นเหมือนผู้นำทางความคิดของคนรุ่นเขาด้วย ผมได้ยินมาว่าเขาทำกิจกรรมเชียร์มาตั้งแต่ตอนเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยแล้ว จ๋องกับเต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) จะเป็นคู่หูกัน ทำแฟตเรดิโอ ด้วยกัน จ๋องเป็นตำนานของนิเทศจุฬาฯ คนหนึ่งนะ งานกิจกรรมรุ่นน้องจะต้องเชิญพี่จ๋องมาร่วมงานเป็นประจำ เขาเป็นคนเก่งคนหนึ่งครับ