รัจนา พวงประยงค์
สมัยนี้หากพูดถึงเรื่องของนาฏศิลป์ไทยให้ใครสักคนฟังก็คงจะคิดว่าเป็นเรื่องของศิลปะชั้นสูงที่เข้าถึงยาก แนวคิดแบบนี้อาจถูกต้องเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะเขาเหล่านั้นอาจยังไม่เคยเจองานแสดงชั้นเลิศที่ทำให้ประทับใจ หรือบางทีอาจยังไม่ได้พบการแสดงของ “รัจนา พวงประยงค์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย-ละคร) พ.ศ.2554 ที่มีชั้นเชิงการแสดงและอารมณ์สมจริงชนิดที่เรียกว่าตีบทแตกกระจายในละครแทบทุกเรื่องที่ท่านเล่นยากที่ใครจะเสมอเหมือน โดยเฉพาะบทบาทเมรีขี้เมาจากเรื่องรถเสน (พระรถ-เมรี) ที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านมาจนถึงทุกวันนี้
ด้วยความรู้ความสามารถด้านนาฏศิลป์ไทยอันโดดเด่นชนิดที่หาคนมาเทียบเคียงได้ยาก ท่านเป็นครูผู้ถ่ายทอดมรดกอันล้ำค่านี้สู่ลูกศิษย์ ด้วยเทคนิคการสอนเฉพาะตัว และด้วยบุคลิกที่เป็นคนมองโลกในแง่ดี แม้จะมีอายุ 76 ปีแล้ว ท่านก็ยังเป็นที่รักใคร่ของลูกศิษย์และคนในวงการนาฏศิลป์อย่างไม่เสื่อมคลาย
ครูรัจนา พวงประยงค์ เกิดที่เขตพระนคร กรุงเทพฯ แม้คนในครอบครัวจะมีพื้นฐานเรื่องของนาฏศิลป์มาก่อน แต่เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน พี่สาวของท่านเสียชีวิตขณะกำลังเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนนาฏศิลป คุณพ่อจึงได้ส่งท่าน ซึ่งเป็นบุตรสาวคนรอง เข้าไปศึกษาเพื่อเป็นตัวแทนของพี่สาวไปเรียนในโรงเรียนนาฏศิลป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาท่านก็ได้เริ่มศึกษาวิชานาฏศิลป์อย่างจริงจัง
“การเข้าเรียนนาฏศิลป์ในสมัยก่อนยากค่ะ เพราะต้องใช้สมองในการจำเพลงมาก ต้องรู้ว่าร้องยังไงมีจังหวะยังไงต้องแยกให้ถูก ครูต้องใช้ความรู้ความสามารถทุกอย่างมาสอนเรา เช่น ครูเขาจะปรบมือเสียงดังเพื่อทดสอบ คือถ้าเราหันมาครูจะรู้แล้วว่าหูเราไม่บอด ครูดูกิริยาเราละเอียดมากไม่เหมือนกับการสอบเข้าข้อเขียน แต่สมัยนี้หน้าตาสวยก็เข้ามาเรียนได้เลยไม่เหมือนสมัยก่อน
“เมื่อดิฉันเข้ามาเรียนเขาก็จะมีการเปรียบเทียบกับพี่สาว มีคนบอกว่าไม่เห็นสวยเลยดำมาก หน้าตาก็ไม่เป็นมิตรกับใคร ในการฝึกนาฏศิลป์ครั้งแรกก็ได้รับเลือกให้เป็นตัวพระซึ่งช่วงฝึกลำบากมาก เพราะครูจะให้คุกเข่านานมาก โดยที่ครูมีไม้ไผ่อันหนึ่งเสียบข้างหลังให้ตัวตรง พอตอน
ม.4 ก็โชคที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวนาง คือรับบทเป็นนางเบญจกาย (ตัวละครในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นธิดาของพิเภก) จากนั้นจึงได้มาเป็นลูกศิษย์ของครูเจริญจิต ภัทรเสวี ซึ่งคนนาฏศิลป์นับถือเรียกว่าแม่เริญ ท่านเก่งในเรื่องการแสดงละครและโขน ถือว่าเป็นครูผู้สร้างดิฉันขึ้นมา
“สิ่งที่เราต้องเรียนเรียนรู้คือต้องแยกเสียงดนตรีกับจังหวะร้องให้ออกโดยเริ่มจากไปฟังระนาด เพื่อให้ลงพร้อมกับเสียง หน่อย น้อย นอย หน่อย ไล่เสียงพร้อมระนาดจนจบพร้อมเพลงเชิดนอก แล้วต้องไปซ้อมรำกับตัวละครลิงซึ่งยากมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งกำลังนั่งกันเพลิน ๆ อยู่ดี ๆ ครูตบโต๊ะปั้ง! เสียงดังมาก เราก็สะดุ้งตกใจคิดว่าทำอะไรผิด แต่ท่านบอกว่าท่านี้ที่ต้องตกใจตอนชะโงกหน้าเมื่อเจอกับลิง เราชื่นชมในเทคนิคการสอนคือครูละเอียดมากจนเราเองสงสารมือท่านที่เจ็บ เชื่อไหมว่าใช้เวลาซ้อมทั้งหมดถึง 3 เดือนกว่าจะได้ออกแสดงในงานหนึ่ง”
จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตของครูรัจนาคือการได้รับบทเป็นนางเมรีขี้เมาจากเรื่องรถเสน ที่ถือว่าสร้างชื่อเสียงในการแสดงให้ท่านอย่างมาก ด้วยการสวมบทบาทตัวละครตีบทแตกชนิดที่เรียกว่าหากใครที่ได้ชมการแสดงของท่านต้องมีความรู้สึกหลงใหลในตัวละครนี้อย่างแน่นอน
“ครั้งแรกที่ทราบว่าได้รับเลือกให้เล่นด้วยความที่เราเป็นเด็กก็รู้สึกดีใจเพราะได้เป็นนางเอก แต่พอมาดูบทจริง ๆ แทบจะร้องไห้ทันทีเพราะไม่รู้ว่านางเมรีต้องกินเหล้าเมาต้องไปตามสามีและต้องกลั้นใจตาย ยังแอบคิดในใจเลยว่าตัวเองยังไม่มีสามีจะให้เราเป็นตัวนี้ได้ยังไง ท่านอธิบดี
ธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) ก็เรียกดิฉันไปถามว่าเห็นบทหรือยังเอาบทไปท่องให้ได้ แล้วก็ให้เงินแม่เริญ (เจริญจิต ภัทรเสวี) 1 ร้อยบาทเพื่อพาดิฉันไปสนามหลวง
“ระหว่างที่นั่งกินหมูสะเต๊ะแม่เริญบอกว่า หยุดกิน! นั่น ๆ เห็นคนเมาเดินมาใช่ไหม คืออาการของคนเมาจะเดินเซไปมากอดขวดเหล้าแล้วก็พูดอ้อแอ้อยู่ในลำคอคนเดียว จุดนี้แหละที่ครูให้เราดูแล้วจำเอาไว้ใช้เป็นตัวอย่าง แต่ก็บอกไปว่าไม่ไหวหรอกแม่ แม่ตะหวาดกลับมาว่าต้องไหว! ละครมันมีบทแบบนี้ด้วยกลับไปอ่านบทให้เข้าใจ คือดิฉันไม่อยากเล่นตัวแบบนี้เพราะเห็นเพื่อนคนอื่นเขาเป็นนางเอกนั่งนิ่งหน้าสวยงามอยากเป็นแบบนี้มากกว่า
“หลังจากนั้นจำได้ว่ากำลังเรียนหนังสืออยู่ตอน 11 โมง มีประกาศว่าใครที่ชื่อรัจนาให้ไปหาอธิบดีธนิต คือโดยพื้นฐานท่านเป็นคนดุมาก ก็คิดในใจว่าเงิน 1 ร้อยบาทที่เอาไปใช้ พอมาถึงท่านไม่ได้ถามเรื่องเงิน แต่ท่านถามว่าไปสนามหลวงเห็นอะไรมาบ้างก็ตอบว่าเห็นคนเมาค่ะ ก็แอบกระซิบบอกแม่เริญว่าหนูไม่รำ ยังไงก็ไม่รำ แม่บอกว่าไม่มีเงินใช้คืนเขานะเงินตั้ง 1 ร้อยบาท ท่านอธิบดีได้ยินคงรำคาญก็บอกให้ไปปรึกษากันข้างนอก
“แม่เริญบอกว่าเล่นบทนี้ไม่ยากให้ดูไม้กระดานว่ามีกี่แผ่น ก็เดินไม่ให้ตรงสักแผ่นสิท่านอธิบดีธนิตคงได้ยินที่เราคุยกันก็บอกให้ดิฉันลุกขึ้นลองเดินแบบไม่ตรง แล้วดิฉันก็ทำตาปรือแบบคนเมาเดินไปหาท่านอธิบดี ท่านถามว่าเข้ามาทำไมจึงตอบกลับว่าก็สั่งให้มาไม่ใช่รึ ท่านเสียงดังมากบอก ไป! พอบอกไปเท่านั้นดิฉันก้มลงกราบอย่างเร็วแล้วออกไปทันที ก็คิดว่าท่านคงโกรธมาก แต่ก็แอบดีใจที่ชีวิตนี้ไม่ต้องแสดงบทนี้อีกแล้ว ในเวลาไม่นานนักเห็นแม่เริญหิ้วปิ่นโตเข้ามาหาแล้วบอกว่า มากินข้าวกับแม่เร็วแล้วพรุ่งนี้มาซ้อมบทพูดนะ คือได้เล่นบทเมรีขี้เมาแม่ดีใจด้วย แล้วท่านก็ร้องไห้ แต่ดิฉันกลับเป็นทุกข์ไม่มั่นใจว่าจะเล่นได้ หลังจากนั้นแม่เริญก็ค่อย ๆ สอนบทและเทคนิคต่าง ๆ ที่มีจนหมด ใช้เวลาซ้อมอยู่ 3 เดือนจึงได้ออกไปแสดง ผลปรากฏว่าเมื่อการแสดงสิ้นสุดลงทุกคนที่ไปชมปรบมือกันดังมากเหมือนเป็นก้าวแรกที่ทำให้คนเริ่มรู้จักเรา”
ในยุคนั้นครูรัจนามีการแสดงอื่น ๆ อย่างมโนราห์และโขนรวมถึงการรับบทต่าง ๆ มากมาย ด้วยความสามารถของท่านที่เหมือนเป็นนักแสดงดึงดูดเรียกผู้ชมที่สามารถเก็บเงินค่าตั๋วในแต่ละเรื่องได้ครั้งละ 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่เยอะมากในสมัยนั้น
“ต้องขอบคุณทุกคนในคณะที่เล่นดี แล้วตัวเราเองก็แสดงดีด้วยคือไม่ได้ชมเองนะแต่มันเกิดความภูมิใจมาก ดิฉันไม่เคยหลงตัวเองเลยอาจเพราะคุณพ่อคุณแม่อบรมมาดีมีครูอาจารย์คอยชี้แนะทำให้ชีวิตการแสดงนั้นรุ่งโรจน์ ในช่วงเวลานั้นเหมือนเป็นดาวของการแสดงนาฏศิลป์ก็ว่าได้ แต่ดาวของเราไม่ได้แพร่หลายเหมือนคนที่อยู่ในวงการบันเทิงหน้าจอทีวี อย่างถ้ามีคนอยากถ่ายรูปเราหากไม่มีการทำหนังสือผ่านต้นสังกัดก็ไม่สามารถทำได้ แล้วค่าอัดรูปสมัยนั้นแพงมากใบละ 2 บาท ทำให้ไม่ค่อยมีรูปออกมาให้เห็นในปัจจุบัน แต่ดิฉันก็มีความรู้สึกว่ารูปไม่สำคัญเท่าผลงานที่เราทำจริง ๆ
“หลังจากมีชื่อเสียงก็เล่นละครอีกหลายเรื่องอย่างนางวิฬาร์ ในเรื่องไชยเชษฐ์ บทนางแก้วหน้าม้า ตอนรำเย้ยซุ้ม บทนางยี่สุ่น ในเรื่องลักษณวงศ์ บทนางมณฑาตอนลงกระท่อม หรือกุมภณฑ์ถวายม้า จนมีคนให้สมยานามว่านางตลาด หรือนางริษยาแต่จริง ๆ แล้วต้องเรียกให้ถูกว่านางละครนอก
“ตัวละครที่ดิฉันเล่นนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นตัวที่แรง ๆ ทั้งนั้นค่ะ จำได้ว่าเคยเล่นเป็นตัวดีอยู่ตัวเดียวคือมะเดหวี ไหว้พระ จากเรื่องอิเหนาจากนั้นก็ไม่มีแบบนี้อีกเลย ตัวละครที่เกิดขึ้นมาทุกตัวต้องมีการปรึกษากันระหว่างครูมาโดยตลอดว่าเล่นอย่างนี้ดีไหมถ้าดีก็เล่นไป ถามว่าอายหรือเปล่าคือความอายมันหมดไปแล้วตอนนี้มีแต่ความสนุกอย่างเดียว
“ผ่านไปหลายปี บางคนเพิ่งเคยได้ดูการแสดงก็เข้ามาบอกเพิ่งรู้ว่ากรมศิลปากรมีการแสดงแบบนี้ เคยมีผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมเดินเขามาหาแล้วบอกว่าอยากให้ครูเล่นกุมภณฑ์ถวายม้า ตอนนั้นดิฉันอายุ 70 แล้วการแสดงนี้ต้องมีฉากต้องกระโดดขึ้นกระโดดลง ก็บอกไปว่าครูอยากเล่นนะแต่โช้คครูไม่ค่อยดีแล้วก็ขำ ๆ กัน”
แม้จะดูเหมือนว่าประสบความสำเร็จบนเส้นทางที่เลือก แต่ในอดีตคนที่เป็นศิลปินนาฏศิลป์นั้นมักเจอคำครหาที่บอกว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน เมื่อได้ยินเสียงวิจารณ์เหล่านี้ตรงกันข้ามครูรัจนากลับสร้างผลงานจนเป็นที่ยอมรับกลบเสียงเหล่านั้นลงอย่างน่าภาคภูมิ
“ใครที่บอกว่าอาชีพของเราเต้นกินรำกินต้องกลับไปคิดใหม่ เพราะดิฉันได้เข้าพบผู้หลักผู้ใหญ่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ลองคิดดูว่าคนเต้นกินรำกินจะเข้าเฝ้าได้อย่างไร ความสำคัญของนาฏศิลป์และคนที่ทำอาชีพนี้มีเกียรติและศักดิ์ศรี พระองค์ท่านให้ความสำคัญมากในเรื่องนาฏศิลป์โดยเฉพาะได้มีการตั้งโขนพระราชทานขึ้นมา เหล่านี้จึงทำให้มีการยอมรับมีเรียนการสอนที่แพร่หลายมากขึ้น
“ตรงนี้เองสะท้อนถึงวงการนาฏศิลป์ด้วย เดี๋ยวนี้การศึกษาไปไกลมากมีการเชิญศิลปินมาพูด มีชั่วโมงแอคติ้งมีว่าละครเรื่องนี้เป็นอย่างไร ใช้สื่อออนไลน์ให้รู้จักกันทั้งทางการเรียนและการสอบ อย่างครูถามว่าเด็กรู้จักวรรณคดีไหม ตอบเลยว่าน้อยกว่าสมัยก่อนมาก นี่คือสิ่งที่เราต้องเริ่มให้พวกเขาซึมซับ และหากผู้อำนวยการทุกโรงเรียนบรรจุวิชาตรงนี้เข้าไปครูว่านาฏศิลป์ไทยไม่ตาย สิ่งที่น่าห่วงอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของโซเชี่ยลได้ถ่ายทอดนาฏศิลป์ออกมาซึ่งมีทั้งที่ถูกและผิด ถ้าให้เด็กเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง เขาจะไม่เดินทางผิดต้องให้เขามีความรู้ที่ถูกต้องแล้วศิลปะจะไม่เสื่อมถอยเลย
“ในปั้นปลายชีวิตก็คิดว่าตัวเองจะเดินได้อีกเท่าไหร่เพราะตอนนี้อายุ 76 ปีแล้ว แต่ดิฉันเป็นคนที่ไม่หยุดคิดอย่างการเดินทางออกต่างจังหวัดไปเห็นการแสดงมโนราห์ แล้วเจอการรำท่านั้นท่านี้ก็จดเอามาเรียนรู้เป็นของเราเอง มีคนถามว่าแม่ไม่เหนื่อยเหรอที่ทำแบบนี้ต้องเดินทางไกล
ไปหลายที่ ก็ถือว่าเป็นการเดินทางชมวิวสวย ๆ ในต่างจังหวัด เรียนรู้เก็บข้อมูลกันไปนี่คือสิ่งที่มีความสุขเราจะลืมความเหนื่อยความเศร้าในทันที
“ด้วยความเป็นศิลปินเวลาที่เราเดินลงจากเวทีมันจะมีความคิดที่เข้ามาในหัวว่าจะเหลือเวลาเล่นได้อีกกี่ปี พอคิดอย่างนี้จึงเกิดความท้อ แต่ถ้าได้ขึ้นบนเวทีเมื่อไหร่ความรู้สึกมันจะเป็นอีกแบบว่าฉันไมใช่คนอายุ 70 ฉันต้องเล่นให้ได้ คือทำวันนี้ให้ดีที่สุดแล้วจะทำตลอดไปจนกระทั่งหมดแรง
“วันหนึ่งถ้าตายไปครูไม่เสียดายชีวิตหรอกเพราะได้ถ่ายทอดวิชาออกไปแล้ว อย่างการเปิดหน้าต่างในละครปกติเขาถอดกลอนแล้วเปิดออกไปเลย แต่ในละครของเราจะมีลีลาเปิดหน้าต่างลอยหน้าลอยตาจะมีขั้นมีตอน ที่ดิฉันมาอยู่ตรงนี้ได้ต้องขอบคุณเหล่าบรรดาครูทั้งหมดโดยเฉพาะแม่เริญที่ดูแลเรามาจนถึงทุกวันนี้ ดิฉันถึงบอกว่ารางวัลศิลปินแห่งชาติขอมอบให้แม่เริญที่คอยอบรมพร่ำสอนมาตลอดชีวิต”
รางวัลศิลปินแห่งชาตินี้เองถือได้ว่าเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของศิลปินทุกท่าน เพราะกว่าจะได้มาต้องสั่งสมผลงานและการทำงานหนักให้คนยอมรับมาทั้งชีวิต การได้รางวัลนี้มาจึงถือได้ว่าเป็นตัวแทนกำลังใจแห่งความสำเร็จที่สังคมให้ความสำคัญกับศิลปินไทยอยู่เสมอ
“การจะให้รางวัลใครสักคนนั้น โดยหลักแล้วดิฉันคิดว่าผู้ใหญ่ในกรมกองต้องสอดส่องข้าราชการของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก ดูประวัติของเขาว่าทำอะไรมาแค่ไหน แล้วตั้งกรรมการของตัวเองขึ้นมาเลยว่าคนของเรามีความสามารถควรยกย่อง แต่ความจริงไม่ใช่แบบนี้การที่ดิฉันได้เป็นศิลปินแห่งชาติเพราะได้บารมีของบรมครูท่านหนึ่งที่อยากเห็นดิฉันได้อะไรกลับมาในชีวิตครูบ้าง ท่านแนะนำให้ดิฉันมาเอาใบสมัครศิลปินแห่งชาติไปกรอก แต่ดิฉันเปลี่ยนใจไม่ได้ส่งเพราะกลัวการผิดหวังกลัวหลายอย่าง
“จนมาปีที่ 2 ท่านก็เรียกไปเชิงขู่ว่าถ้าไม่ส่งปีนี้เราไม่ต้องมาคุยกัน จากนั้นดิฉันก็เลยให้ลูกศิษย์ช่วยรวบรวมผลงานของตัวเองขึ้นมาทำส่งคณะกรรมการ แล้วก็โชคดีที่ฟ้าคงเปิดให้กรรมการทั้ง 10 ท่าน มองเห็นความดีที่ทำปรากฏว่ามีการลงคะแนนในปีนั้นดิฉันได้คะแนนสูงสุดได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติพอดี
“การได้รางวัลศิลปินแห่งชาติมันจึงเหมือนการเป็นตัวแทนของแม่เริญเพราะท่านไม่เคยได้อะไรเลย คือคนเราจะดูกันด้วยความรวยความจนแม่เริญเขาเป็นคนพื้นบ้าน แม่จะใส่เสื้อนุ่งกระโปรงน้ำเงินเก่า ๆ ตัวหนึ่งพร้อมกระเป๋า เดินมาจากราชดำเนินเพื่อมาสอนเราเท่านั้นเอง ชีวิตท่านจึงมีแต่ให้อย่างเดียว
“มีบางคนสงสัยว่าทำไมดิฉันถึงได้เป็นศิลปินแห่งชาติ เพราะเขาไม่มองสิ่งที่เราทำมาตลอด ดิฉันสามารถยืนเชิดหน้าว่าฝีมือการแสดงนั้นถือว่าดีแต่ก็ยังไม่ดีกว่าครูที่สอนเรา เราเดินตามรอยเท้าครูที่ท่านได้เหยียบเอาไว้แต่เราจะไม่ซ้ำรอยเท้าท่าน ในอีกด้านหนึ่งเราก็เป็นครูถ่ายทอดวิชา
ให้กับลูกศิษย์รุ่นสู่รุ่นมามากมาย เท่านี้ก็คงเพียงพอกับคำว่าศิลปินแห่งชาติแล้ว