พื้นที่ออนไลน์ เยียวยาจิตใจ
คนเราอาจป่วยกายปีละไม่กี่ครั้ง แต่กับอาการป่วยใจนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน โดยเฉพาะจากความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน หรือปัญหารอบด้าน จึงทำให้ ‘วินัดดา จ่าพา’ ตัดสินใจก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม “RelationFlip” ขึ้น ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวบรวมนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คำปรึกษาและให้แนวทางในการรับมือกับปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้ที่ต้องการปรึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมทุกมิติของชีวิต ด้วยการจองเวลานัดหมายผ่านระบบออนไลน์
ด้วยคอนเซ็ปต์ของ RelationFlip คือ “Flip for the Better Version of Yourself” เพื่อคุณคนใหม่ที่รู้สึกดีขึ้นกว่าเมื่อวาน
“เรามองเห็นว่าชีวิตคนในปัจจุบัน บางคนเครียดบ่อยกว่าเป็นหวัดอีก แค่ฝนตกรถติด ทะเลาะกับเพื่อน ทำงานไม่ตรงสาย หรือเป็นหนี้เป็นสินก็เครียดแล้ว เราให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้มากแต่ก็เก็บไว้ก่อน จนมันทับถมส่งผลกระทบไปถึงเรื่องสุขภาพร่างกาย แทนที่เราจะรอไปถึงขั้นร้ายแรง ทำไมเราถึงไม่มีโซลูชั่นตรงนี้
“เซอร์วิสหลัก ๆ ของเราคือให้คำปรึกษา แต่ว่าเครื่องมือของเราเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ อารมณ์เหมือนเว็บ Agoda ที่เราต้องจองห้องพักหรือโรงแรมก่อน แต่อันนี้เราเปลี่ยนมาจองผู้ให้คำปรึกษาที่มีประสบการณ์ในหมวดหัวข้อต่าง ๆ เช่น ความสัมพันธ์ ความเครียดจากการทำงาน หรือด้านสุขภาพ แล้วจะมีแบบทดสอบให้ทำเพื่อประเมินเบื้องต้นก่อน คือบางคนมาแบบลอย ๆ แล้วมาเลือกเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วมันอาจไม่แมทช์กัน เราจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเบื้องต้นในส่วนของ RF Human Insight ประกอบระบบ Matching เพื่อเลือก RF Analytical Counselor ที่เหมาะสมที่สุด
“RelationFlip มีกระบวนการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอยู่ เรียกว่าเป็น Analytical Counselor ซึ่งเป็นการปรึกษากับ RFAC - Analytical Counselor แต่จะมีกระบวนการวิเคราะห์ออกมาว่าอะไรที่มันเหมาะสมกับคุณ มีมิติไหนที่คุณยังบกพร่องอยู่ คือบางคนโอเคเรื่องการทำงาน แต่เรื่องครอบครัวไม่โอเค มันก็ส่งผลกระทบไปถึงกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งคนที่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้และให้คำปรึกษาได้คงหนีไม่พ้นนักจิตวิทยา ปกติเราเครียดก็จะหาเพื่อนใช่มั้ย แต่เพื่อนบางทีก็ไม่ได้มีสกิลตรงนี้ บางทีอาจซ้ำด้วย มันไม่ถูกจุด เราควรจะระบายให้มันถูกที่ถูกทาง”
เมื่อปีที่ผ่านมา RelationFlip ได้รางวัลชนะเลิศเป็นหนึ่งในสี่ของโครงการ Banpu Champions for Change ปีที่ 6 แม้จะดำเนินงานได้เพียงไม่นานแต่ระหว่างการเดินทางเรียกได้ว่าเข้มข้นมาก ช่วงแรก ๆ เป็นเรื่องของการค้นคว้าและเก็บข้อมูล อีกอย่างต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรื่องแบบนี้ใหม่มาก ต้องเตรียมความพร้อมกันให้ดี บวกกับต้องปรับจูนนักจิตวิทยาให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ให้ทราบว่าเป้าหมายที่ทำอยู่เพื่ออะไร
“เมื่อเราแมทช์กับ RF Analytical Counselor แล้วก็สื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ โดยฝั่งทาง RF Analytical Counselor จะเป็นฝ่ายติดต่อกลับไป ซึ่ง RF Analytical Counselor พื้นฐานคือต้องเป็นนักจิตวิทยาอยู่แล้ว ไม่ใช่เราไปเอาเขามาอบรม ทุกคนคือมีแบคกราวน์ทางด้านนี้โดยตรง คนไหนมีความสนใจที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็มารวมตัวกัน เท่าที่ถามทุกคน คือเขามีไอเดียที่อยากทำ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน
“ตอนนี้มีทีมงานประมาณ 25 คน พวกเขาอยากให้เรื่องคำปรึกษาทำนองนี้ เป็นเรื่องปกติ เมืองนอกเขาไปไกลมาก ขณะที่บ้านเราแค่บอกให้เพื่อนไปหาหมอจิตแพทย์ ยังดูเป็นคนบ้าเลย ฉะนั้นจุดเริ่มต้นของเราคือการทำให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้เป็นเรื่องปกติ คุยกับนักจิตวิทยาเหมือนคุยกับเพื่อนที่มีประสบการณ์ ดีกว่าคุณไปคุยลอย ๆ คำแนะนำผิดหรือถูกก็ไม่รู้”
กลุ่มเป้าหมายหลักของ RelationFlip คือกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยจะติดต่อไปทางองค์กรเพื่อให้ดูแลพนักงาน เหมือนเป็นอีกหนึ่งสวัสดิการที่พนักงานบริษัทควรจะได้รับ เป็นการให้คำปรึกษากับพนักงานเป็นรายบุคคล แล้วมีการเก็บข้อมูล หรือ Data Analysis ที่ทำงานร่วมกับ HR
ของบริษัท แทนที่จะเป็นการปรึกษาลอย ๆ แต่เป็นการดูแลภาพรวมขององค์กรเลยว่าจริง ๆ แล้วความสุขหรือศักยภาพของพนักงานในองค์กร เฉลี่ยคะแนนเป็นเท่าไหร่ ซึ่งทาง RelationFilp มีมาตราการในการรักษาข้อมูล ความลับส่วนบุคคล RF Personal Report ถือเป็นนโยบายชั้นสูงสุดของเรา
“ที่ผ่านมากลุ่มเป้าหมายเราเป็นคนทั่วไป แต่ด้วยความที่อยากให้มันเกิดผลกระทบมากพอ เราอาจจะต้องร่วมกับภาคเอกชน เราจึงปรับแผนมาตรงนี้ สมมติเราดูแลพนักงานหนึ่งคน ซึ่งเขาอาจเป็นเสาหลักของครอบครัว แล้วเขาอาจจะต้องไปดูแลลูกเขาอีก เวลามีปัญหาเรื่องลูกก็จะมาปรึกษาเรา เท่ากับบริษัทได้ดูแลทั้งตัวพนักงานเอง และครอบครัวพนักงานด้วย ส่วนคนทั่วไปก็สามารถปรึกษาได้ เพียงแต่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลัก ต้องขอเริ่มในส่วนขององค์กรก่อน แต่ยังไงสุดท้ายเราก็มีความคาดหวังที่จะดูแลทั้งหมดอยู่แล้ว”
อนาคตของ RelationFlip เธอมีความคาดหวังอยากให้ทุกองค์กรมีสวัสดิการแบบนี้อยู่ ทุกคนควรได้รับการดูแล เพราะพนักงานคือคนที่ขับเคลื่อนองค์กรให้ไปข้างหน้า เป็นคนที่ขับเคลื่อนสังคม หรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกอย่าง แล้วผลลัพธ์สุดท้ายจะส่งผลดีต่อไปเป็นทอด ๆ เมื่อตัวเราดี สังคมดี โลกก็จะดี เพียงแค่เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ เพียงจุดเดียว
Know Them
• RelationFlip จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ช่วงนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการรับสมัครนักจิตวิทยาและทดสอบระบบอยู่
• ตอนนี้ RelationFlip ได้ร่วมมือกับ GLab ศูนย์นวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะเห็นได้ว่าตัว RelationFlip ไปอยู่ในเว็บไซต์ SETsocialimpact ซึ่งเป็นกลุ่มสังคมของตลาดหลักทรัพย์ นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถเข้าถึงองค์กรต่าง ๆ ได้
• Relationfilp มีความเชื่อว่าหากดูแลพนักงานหรือคนในองค์กรให้มีความสุข ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เมื่อความรู้สึกภายในถูกเติมเต็ม
แล้ว พวกเขาเหล่านั้นย่อมสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างมหาศาลแก่สังคมโดยรวมในท้ายที่สุด
• หากบริษัทหรือองค์กรใด สนใจอยากให้ทีม RF Analytical Counselor สร้างผลกระทบเชิงบวกจากภายในองค์กรสู่สังคมอย่างยั่งยืน
ติดตามต่อได้ที่ Facebook: Relationflip