ชมนิทรรศการ

ชมนิทรรศการ

หากมานั่งนับดูแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวที่คอยส่งเสริมและสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวอย่างมีสติ ตื่นรู้อยู่ตลอดเวลานั้นมีไม่มาก นับเป็นโอกาสอันดีของทีมงาน MiX ที่ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พาเรามาเยี่ยมชม “โครงการพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ในพระบรมชูปถัมภ์” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่พุทธศาสนิกชนไม่ควรพลาด 

อันดับแรกที่เราจะเห็นเมื่อได้มาเยือนวัดทิพย์สุคนธาราม คือพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานสูงเด่นเป็นสง่า จัดเป็นศิลปะแบบคันธาระ มีพุทธลักษณะที่เหมือนจริง เป็นพระพุทธรูปปางขอฝน หล่อด้วยโลหะสำริด ความสูง 32 เมตร ถือเป็นพระพุธรูปปางสำริดที่สูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีนามว่า “พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์” สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระพุทธรูปแห่งบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถานที่ได้ถูกระเบิดทำลายไป และเพื่อเป็นศูนย์รวมความเคารพสักการบูชาของเหล่าพุทธศาสนิกชนอีกแห่งหนึ่ง

ประวัติคร่าว ๆ ของวัดทิพย์สุคนธาราม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2547 โดยนางฉันท์ทิพย์ กลิ่นโสภณ และครอบครัว ได้ถวายที่ดิน 339 ไร่ เพื่อสร้างวัด โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้รับอุปถัมภ์การสร้างวัดมาตั้งแต่ต้น นอกจากผืนดินอันกว้างขวางนี้ บริเวณรอบ ๆ ยังถูกปรับภูมิทัศน์ให้กลายเป็น “พุทธอุทยาน” สามารถเพลิดเพลินได้ไม่รู้จบ ไม่ว่าจะเป็น อาคารนิทรรศการ, อาคารสำนักงานบริการนักท่องเที่ยว, อาคารขายของที่ระลึก, อาคารโรงอาหาร, อ่างเก็บน้ำในพระบรมราชินูปถัมภ์ และส่วนป่า/นิทรรศการกลางแจ้ง

หลังจากดื่มด่ำกับบรรยากาศโดยรอบไปแล้ว คราวนี้เข้าไปทำความรู้จักและชมบรรยากาศภายในอาคารนิทรรศการกัน เรียกว่าเป็นนิทรรศการชุด “อนุสรณ์แห่งการตื่นรู้” เป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจให้ศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนา ทั้งแก่นและเปลือกเพราะหากใครได้เข้าถึง “หัวใจของพุทธ” มากเท่าไหร่ การสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาจะก้าวหน้ายืนยาว และหยั่งรากลึกลงไปถึงแก่นมากขึ้นเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็น 4 โซน

โซน 1 “พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์” แสดงถึงที่มาของโครงการและรายละเอียดการจัดสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของสถาบันพระมหากษัตริย์ กับพระพุทธศาสนาอีกด้วย โซน 2 “การเดินทางของพระพุทธศาสนา” แสดงถึงต้นกำเนิดและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย โซน 3 “เจติยะ” สิ่งที่ควรบูชา แสดงถึงแก่นและเปลือกของพระพุทธศาสนา โซน 4 “คบเพลิงแห่งธรรม” แสดงถึงการสืบทอดพระพุทธศาสนา เมื่อใดคำสอนของพระพุทธองค์เข้าถึงกลางใจ...เมื่อนั้นพระพุทธศาสนาจะคงอยู่สืบไป ทั้งหมดนี้สามารถเดินชมไล่เรียงกันไปทีละโซนเป็นอาคารวนแบบก้นหอย พร้อมกับการนำเสนอแต่ละโซนมีความเข้าใจง่ายและมีความสวยงามแตกต่างกันไป 

ชมนิทรรศการกันเพลินจนลืมเวลา ก่อนกลับขอซึมซับอากาศบริสุทธิ์บริเวณสวนป่าพุทธอุทยานสักหน่อย เพราะตรงนี้สงบร่มรื่น เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมและพักผ่อนหย่อนใจ ได้ชมพรรณไม้ในพุทธประวัติที่นำมาดูแลรักษาให้เจริญงอกงามกลางอุทยานโดยมีต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นจุดศูนย์กลางสำคัญ แถมยังสามารถเดินชมนิทรรศการกลางแจ้ง แสดงเรื่องราวเหตุการณ์ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ผ่านงานประติมากรรมหลากหลายรูปแบบอีกด้วย 

การได้มาสงบจิตสงบใจ ซึมซับประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนา รวมถึงได้ชื่นชมบรรยากาศที่สวยงาม โปร่งโล่ง ทำให้เกิดความอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูก พุทธอุทยานแห่งนี้ถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนและเหล่าพุทธศาสนิกชนจากทุกสารทิศที่ได้มากราบสักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิต 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการอนุสรณ์แห่งการตื่นรู้

• ปิดให้บริการทุกวันจันทร์
• บริการนำชมโดยวิทยากร รอบละ 50 ท่าน ใช้เวลาในการชมนิทรรศการ 45 นาที
• วันอังคาร และวันศุกร์ เปิดเข้าชมเป็นหมู่คณะ วันละ 3 รอบ เวลา 10:00 น. (150 ท่าน) 13:00 น. (100 ท่าน) 14:30 น. (100 ท่าน)
• วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดเข้าชมสำหรับบุคคลทั่วไป วันละ 7 รอบละ 50 ท่าน เวลา 10:00, 10:45, 11:30, 13:00, 13:45, 14:30, 15:00 น. 

HOW TO GO?

• วัดทิพย์สุคนธาราม ตั้งอยู่ ถนนอู่ทอง–บ่อพลอย ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เริ่มต้นจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก ฝั่งตะวันตก) เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 (ถนนบางบัวทอง–สุพรรณบุรี) จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 357 (ทางเลี่ยงเมืองสุพรรณบุรี) ขับไปตามทางจนพบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 321 แล้วเลี้ยวซ้ายขับไปจนพบวงเวียนหอนาฬิกาบรรหาร–แจ่มใส ให้เลี้ยวซ้ายมุ่งสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 324 (ถนนอู่ทอง) ขับตามถนนไปเรื่อยๆ จนถึงสามแยกบ่อพลอย ให้เลี้ยวขวามุ่งสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3342 (ถนนอู่ทอง–บ่อพลอย) ตรงไปตามทางประมาณ 18 กม. ก็จะเห็นวัดทิพย์สุคนธารามตั้งอยู่ทางซ้ายมือ 
• สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 03-4510-993, www.phrabuddhametta.com หรือ www.facebook.com/phrabuddhametta 

 

อนุสรณ์แห่งการตื่นรู้ @วัดทิพย์สุคนธาราม