หัวใจที่ไม่แพ้
กีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โอลิมปิกได้จบลงไป หลังจากนั้นหนึ่งเดือนการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก ก็เริ่มต้นขึ้นที่บราซิลกับการแข่งขัน 22 ชนิดกีฬา โดยการแข่งขันกีฬาคนพิการ พาราลิมปิกจัดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 15 มีการบรรจุกีฬาเรือแคนู และไตรกีฬา เพิ่มเติมเข้ามา
จุดเริ่มต้นของการแข่งขันพาราลิมปิก เริ่มเมื่อ 68 ปีที่แล้ว ตอนนั้น คุณหมอลุดวิก กูทแมน ศัลยแพทย์ผู้รักษาเหล่าทหารชาวอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 2 เห็นทหารมีความเศร้าและหดหู่ คุณหมอจึงมีความคิดว่ากีฬาสามารถเยียวยาความเศร้า และความสูญเสียของทหารผ่านศึกที่สูญเสียอวัยวะสำคัญในสนามรบได้ ซึ่งการแข่งขันกีฬานั้นจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายและจิตใจ คุณหมอจึงได้เริ่มจัดการแข่งขันกีฬาผู้พิการขึ้น แรก ๆ ก็แข่งกันในกองทัพ
หลังจากนั้นก็เริ่มแข่งกันในวงกว้างขึ้น ในปี 1960 จากการแข่งกีฬาคนพิการนานาชาติก็ถูกปรับระบบมาสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกคนพิการ โดยในปัจจุบันยึดตามประเทศที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก จะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพพาราลิมปิกควบคู่ในปีเดียวกัน
ซึ่งในปีนี้นักกีฬาพาราทีมชาติไทยของเราได้สิทธ์ไปแข่งขันถึง 46 คน การแข่งขันครั้งที่ผ่านมานักกีฬาทีมชาติไทยของเราทำผลงานได้ดี 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง ปีนี้เรามีความหวังจาก บอคเซีย นำโดย พัทธยา เทศทอง, เทเบิลเทนนิส จาก รุ่งโรจน์ ไทยนิยม, เรวัฒน์ ต๋านะ แชมป์โลกวีลแชร์
หากเราย้อนกลับไปอ่านประวัติของนักกีฬาแต่ละคนแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ กว่าที่พวกเขาจะก้าวเข้ามาสู่การแข่งขันระดับโลกแบบนี้ ชีวิตที่เคยผ่านจุดสิ้นหวังที่สุด จุดที่ท้อแท้ที่สุด แต่พวกเขาสามารถลุกขึ้นสู้ และสร้างแรงผลักดัน อย่าง พัทธยา เทศทอง เจ้าของเหรียญทองจากกีฬาบอคเซีย เคยโดนล้อโดนแกล้ง เคยขังตัวเองอยู่แต่ในห้อง เคยคิดฆ่าตัวตาย แต่กีฬาสามารถกลายมาเป็นสิ่งเติมเต็ม เป็นเป้าหมายสำคัญในการใช้ชีวิต
รุ่งโรจน์ ไทยนิยม เจ้าของเหรียญทองจากเทเบิลเทนนิส พาราลิมปิก ที่ลอนดอน เคยถูกล้อเลียน คำดูถูก จากเพื่อน ๆ อยู่เสมอถึงความผิดปกติของแขน ขา แต่จากความกดดันครั้งนั้น ทำให้รุ่งโรจน์ เกิดแรงฮึด และคิดว่าสักวันเพื่อน ๆ จะต้องไม่เรียกเขาแบบนี้ คุณพ่อของรุ่งโรจน์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า “หากมีลูกพิการ อย่าเก็บลูกไว้ที่บ้าน อย่าอายสังคม พาลูกออกมาเรียนรู้สังคมภายนอก และยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น” พลังใจและการสนับสนุนจากคนรอบข้างจึงเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จ
การฝึกซ้อมของนักกีฬา ก็ซ้อมโปรแกรมหนักเช่นเดียวกับนักกีฬาปกติ บางครั้งพวกเขาก็ท้อและเหนื่อย แต่ด้วยใจที่มุ่งมั่นทำให้พวกเขาเหล่านี้ก้าวผ่านอุปสรรค และกลายมาเป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งขันกีฬาระดับโลก จากการเริ่มต้นที่ติดลบ แต่เหล่านักกีฬาสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส
สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญของพวกเราทุกคน ก็คือความคิดค่ะ คนเรามักจะมีความคิดกังวลเวลาเจอเรื่องแย่ ๆ คิดว่าเป็นเรื่องยากและไม่สามารถทำได้ มีเรื่องเล่าจากนักกีฬาคนพิการว่าวันหนึ่งเมื่อเขากลับมาที่บ้าน พ่อแม่มีเรื่องกลุ้มใจมาก และพูดคำว่า “ทำไม่ได้” นักกีฬาคนนั้น ก็ตอบไปว่าไม่มีอะไรยากหรอกครับ ขนาดผมที่มีอวัยวะไม่สมบูรณ์ยังทำได้เลย หลังจากนั้นเขาก็สร้างแคมเปญ “Yes I Can” เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่ท้อแท้
หากใครที่กำลังเจออุปสรรคหนัก ๆ เรื่องแย่ ๆ ลองเปลี่ยนมาใช้คำว่า “Yes I Can” ตามเหล่านักกีฬาพาราลิมปิก พวกเขาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีอะไรยากเกินไป ขอแค่เชื่อว่า “ฉันทำได้” และพวกเรามาร่วมเป็นกำลังใจเชียร์ให้กับความมุ่งมั่นและหัวใจที่ไม่แพ้ของเหล่าทัพนักกีฬาในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ ที่ริโอ เดอ จาเนโร 7-18 กันยายน กันนะคะ